Skip to main content

 Abdulloh Wanahmad; AwanBook

เมื่อพูดถึงประเด็นความขัดแย้งทางด้านความคิดที่กำลังเกิดขึ้นในดินแดนปาตานี สิ่งหนึ่งที่สังคมมิอาจจะปฏิเสธได้คือบทบาทและพลังทางความคิดที่แฝงอยู่ ณ ปลายลิ้นของผู้รู้ทางศาสนาอิสลามหรือที่เรียกว่า “บรรดาอูลามาอฺ” ที่มีต่อปัญหาถึงข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ไข

หลายร้อยปีมาแล้วที่สังคมปาตานีตกอยู่ภายใต้สภาวการณ์ของความขัดแย้งทางความคิดกับผู้ปกครองที่มีความแตกต่างกับสังคมปาตานีอย่างสิ้นเชิง ทั้งในยุคเผด็จการครองเมืองจนถึงยุคประชาธิปไตย ในขณะที่ทางภาครัฐเองต่างพยายามค้นหาแนวทางทฤษฏีใหม่ๆ อยู่เนืองนิจ เพื่อต้องการเอาชนะหัวใจของมวลชน อันเป็นข้อบ่งชี้ถึงความสำเร็จแห่งชัยชนะทางด้านการเมืองและการปกครองของรัฐ ที่มีต่อชนชาวแห่งพลเมืองของประเทศ

ในนานาวิถีที่ภาครัฐได้งัดกลเม็ดเคล็ดลับต่างๆ ออกมาใช้ ทั้งการต่อสู้ในด้านจิตวิทยา ด้วยการทุ่มเทเม็ดเงินอย่างมหาศาลในการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้สังคมปาตานีได้มองเห็นถึงความเอาใจใส่ของภาครัฐที่มีต่อประชากรกลุ่มน้อย หรือที่เรียกว่ากลุ่มชนชายขอบอย่างปาตานี แต่อย่างไรก็ตามรัฐเองมิได้มองลึกลงไปยังรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมปัญหาภาคใต้ยิ่งแก้เหมือนยิ่งแน่น ยิ่งเกาเหมือนยิ่งคัน

ถึงแม้ว่าเราที่เกิดมาในยุคที่โลกมีความเจริญรุ่งเรืองของความเจริญเติบโตแห่งยุคสมัย ตามสภาพการณ์ของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่ด้วยบทบันทึกทางประวัติศาสตร์นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้สามารถมองเห็นถึงความเป็นไปของสังคมมลายูปาตานีว่า ที่ผ่านมานั้นสังคมปาตานีได้ประสบพบเจอกับความหวาดกลัว ใช้ชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้นมาโดยตลอด ถึงแม้ในสภาพทางสังคมจะดูเหมือนว่า บ้านเมืองและชุมชนได้มีการพัฒนาโดยรัฐอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองที่รัฐได้ทุ่มเทเม็ดเงินอย่างมากมายตามกรอบที่รัฐได้กำหนดไว้นั้น สังคมมลายูปาตานียังคงมีความล้าหลังในทุกๆ ด้าน

สิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็คือการที่รัฐเลือกใช้วิธีการเมืองนำการทหารตามแนวทางแห่งรัฐ หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ การเอาบรรดาผู้รู้ทางศาสนามาบรรเทาความร้อนแรงแห่งไฟที่กำลังลุกไหม้อย่างโหมกระหน่ำ เพื่อหวังว่าจะสามารถดับเปลวไฟนั้นได้ไม่มากก็น้อย อย่างน้อยก็สามารถเบี่ยงเบนประเด็นความสนใจของสังคมก็ยังดี

หลายครั้งที่บรรดาอูลามาอฺได้ออกมาปรามถึงความไม่ถูกต้องของการต่อสู้ด้วยอาวุธของฝ่ายที่จับอาวุธต่อสู้กับรัฐ และหลายครั้งก็ออกมาให้ข่าว ให้สัมภาษณ์ในลักษณะการเอาใจภาครัฐมากกว่าที่จะสื่อสารความจริงให้รัฐเองได้รับรู้ เพราะหากความจริงไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมา การแก้ไขปัญหาก็มิอาจสำเร็จได้ฉันใดก็ฉันนั้น

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ที่บรรดาอูลามาอฺออกมาเคลื่อนไหวภายใต้การดูแลและการร้องขอจากรัฐ เป็นการบ่งบอกถึงความไม่เป็นธรรมชาติของข้อมูลที่บรรดาอูลามาอฺเหล่านั้นได้เผยออกมา และรัฐเองก็อาจจะรู้อยู่แก่ใจว่า สิ่งที่บรรดาอูลามาอฺออกมาให้ข้อมูลนั้น โดยเฉพาะในประเด็นที่ข้องเกี่ยวกับศาสนาจะถูกต้องเป็นจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ ในเมื่อพวกเขาต้องออกมาพูดท่ามกลางการเฝ้าดูและจดบันทึกถ้อยคำทุกตัวอักษรของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง

 

บทบาทอูลามาอฺหลังการพูดคุยสันติภาพที่เคแอล?

คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่ามกลางความสูญเสียของผู้คนทั้งพุทธและมุสลิมในดินปาตานี ทั้งคนธรรมดาและข้าราชการ บรรดาอูลามาอฺในพื้นที่จะไม่รู้สึกระแคะระคายหัวใจเลยฤา? ในฐานะที่เป็นผู้คนชั้นสูงในหมู่สังคมที่ถูกกดทับมานานนม ที่จะไม่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงบทบาทอะไรให้เห็น อย่างน้อยเป็นการออกมาเคลื่อนไหวในรูปแบบการบรรยายธรรม การกล่าวปราศรัยในที่ต่างๆ การออกมาแสดงทัศนะต่างๆ เพื่อให้สังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้มีความสงบสุขร่มเย็นตามความเข้าใจของการนิยามคำว่า “สันติภาพ” ในรูปแบบและทัศนะที่พวกเขาเข้าใจ

ในห้วงก่อนเดือนรอมฏอนปีที่แล้ว(2013) บทบาทของผู้รู้บางคนเริ่มออกมาแสดงวาทะเด็ดที่มีสอดคล้องกับบรรยากาศ ณ เวลานั้น ที่ยังอยู่ในช่วงของการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คงจะเป็นการยุติการก่อเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฏอน อันเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของคณะพูดคุยของฝ่ายไทย ที่ได้ยื่นเสนอให้ฝ่ายขบวนการรับไปพิจารณาและปฏิบัติ อย่างน้อยเพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งสันติในเดือนอันประเสริฐของมุสลิม และเป็นการลดเหตุรันแรงลงสำหรับฝ่ายความมั่นคง เหนือสิ่งอื่นใดก็เป็นการทดสอบฝ่ายขบวนการภายในตัวว่า สามารถบังคับกองกำลังที่อยู่ใต้อาณัติได้จริงหรือไม่?

การยื่นข้อเสนอดังกล่าว อันเนื่องมาจากการเรียกร้องของบรรดาอูลามาอฺบางคน ที่เห็นว่าควรจะยุติบทบาทการต่อสู้ทางอาวุธในช่วงเดือนรอมฏอน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถประกอบศาสนกิจได้อย่างปลอดภัยไร้กังวลกับเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้น

จากข้อเสนอดังกล่าวเราสามารถสรุปพอสังเขปได้ดังนี้ว่า การออกมาขอร้องให้ยุติการลดเหตุรุนแรงหรือละเลิกในช่วงดังกล่าว เป็นการยอมรับว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น คือสงครามระหว่างผู้ปรารถนาปลดปล่อยตัวเองจากอาณัติแห่งรัฐ ที่เข้ามาปกครองด้วยวิถีที่ไม่ชอบธรรม ทั้งในเชิงรัฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ที่มีศาสนาคอยขับเคลื่อนอุดมการณ์ในการต่อสู้

แต่ถ้าไปศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้ของอิสลาม ไม่ได้มีการระบุหรือกล่าวแจ้งในการให้ยุติสงครามในเดือนรอมฏอนแต่อย่างใดไม่ นอก เพราะการสงครามในอิสลามนั้นคือภารกิจอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่การก่อสงครามในรูปแบบอาชญากรแต่อย่างใด และสงครามในอิสลามหลายครั้งด้วยกันที่เกิดขึ้นในเดือนรอมฏอน?

 

เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์(การต่อสู้)ของอิสลามซึ่งเกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน ***

1. สงความบัดรฺ เกิดขึ้นในวันที่ 17 รอมฎอน ฮ.ศ. 2 ตรงกับเดือนมกราคม ค.ศ. 624 (พ.ศ. 1167) เป็นการทำสงครามระหว่างมุสลิมกับพวกกุเรซ ปรากฏว่ามุสลิมได้รับชัยชนะ

2.จัดเตรียมกองทัพเพื่อทำสงครามสนามเพลาะหรือสงครามพันธมิตร ในเดือนรอมฏอน ปี ฮ.ศ. 5 ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 1170 (ค.ศ. 627) ส่วนสงครามเพลาะเกิดขึ้นในเดือนเชาวาล ฮ.ศ. 5

3. พิชิตมักกะฮฺ ในวันที่ 21 รอมฎอน ฮ.ศ. 8 (มกราคม ค.ศ. 630 – พ.ศ. 1173)

4. การทำลายเจว็ดต่างๆ หลังจากการพิชิตมักกะฮฺ โดยที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอลัยฮิวาซัลลัม ได้ใช้ให้คอลิด อิบนฺวะลีด ไปทำลาย อัลอุซซา อัมรฺ อิบนฺลอาศ ไปทำลายสุวาดฺซะอาดฺ อิบนฺเซต อัลอัชฮะลียฺ ไปทำลายมะนาตฺ

5. เดือนรอมฎอน ฮ.ศ. 10 ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺอลัยฮิวาซัลลัม ได้ส่งท่านอาลี อิบนุ อบีฎอลิบ ไปยังเยเมนเพื่อเผยแผ่อิสลาม

6. เดือน รอมฎอน ปี ฮ.ศ. 53 (ค.ศ. 672 พ.ศ. 1215) ได้มีการพิชิตเกาะโรดส์ (Rodec) ซึ่งอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในสมัยของคอลีฟะฮฺมุอาวียะฮฺ อิบนุอบีซุฟยาน

7. เดือนรอมฎอน ปี ฮ.ศ. 91 (ค.ศ. 710 พ.ศ. 1253) ฎอริก อิบนุซิยาด ได้นำกองทัพมุสลิมพิชิตดินแดนทางตอนใต้ของประเทศสเปนปัจจุบัน ซึ่งแต่ก่อนนี้เรียกว่า "เอ็นดาลูเซีย”

8. เดือนรอมฎอน ปี ฮ.ศ. 92 (ค.ศ. 711 พ.ศ. 1254) ได้เกิดสงครามระหว่างฎอริก อิบนุซิยาดกับกษัตริย์โรดริกแหล่งเสปนและชัยชนะเป็นของฎอริก

11. เดือนรอมฏอน ปี 129 (ค.ศ. 746 พ.ศ.1289) อบูมุสลิม อัลดูรอซานี่ ได้เรียกร้องให้ตระกูล อัลอับบอส ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองอาณาจักรอิสลาม

12. เดือนรอมฏอน ปี ฮ.ศ. 584 (ค.ศ. 1187 – พ.ศ. 1730) ซอลาฮุดดีน อัลอัยยูบียฺสามารถเอาชนะพวกครูเสด และได้ยึดดินแดนส่วนใหญ่ที่พวกครูเสดยึดครองไปกลับคืนมา เมื่อถึงเดือนรอมฏอนบรรดาที่ปรึกษาของท่านได้แนะนำให้ท่านหยุดพักการสงครามในเดือนรอมฏอน แต่ท่านกล่าวเหมือนเป็นการเตือนสติว่า“อายุนั้นสั้นนัก และวาระแห่งความตายไม่แน่นอน”แล้วท่านก็ยกกองทัพรุกคืบหน้าต่อไปจนสามารถยึดป้อมซ้อฟดฺได้ในกลางเดือนรอมฏอน

13. เดือนรอมฏอน ปี ฮ.ศ. 658 (ค.ศ. 1259 – พ.ศ. 1802) กำลังทหารของอาณาจักรมะมาลิกภายใต้การบัญชาของ ซุลฏอน ซ๊อฟุตดีน กุฏูซฺ และมีแม่ทัพชื่อ อัซซอเฮร บัยบรัสสามารถเอาชนะกำลังทหารของพวกมองโกล ภายใต้การบัญชาการของไดโบกอ ผู้แทนของโฮลาโก ณ. สมรภูมิ อัยนฺ ญาลูต ด้วยชัยชนะในครั้งนี้ทำให้หยุดการรุกคืบหน้าของพวกมองโกลในการยึดครองอาณาจักรอิสลามได้สำเร็จ

14. วันที่17 รอมฏอน ปี ฮ.ศ. 1393 (ค.ศ.1973-พ.ศ.2516) กองทัพอียิปต์ได้บุกข้ามคลองสุเอซเข้าไปยังทะเลทรายซีนายเพื่อยึดดินแดนอียิปต์ที่อิสราเอลยึดครองไปกลับคืนมา

***ที่มา: อ.มูนีร มูฮำหมัด
www.al-islahsamakom.org/main/content.php

เมื่อมองดูจากปรากฏทางประวัติศาสตร์ข้างต้นแล้วนั้น เราสามารถเข้าใจได้ว่าในอิสลามไม่มีการหักห้ามในการทำสงครามใดๆ แต่สิ่งที่บรรดาอูลามาอฺในพื้นที่ต่างออกมาเรียกร้องให้ยุติการต่อสู้นั้น ไม่รู้ว่าเอาตัวบทหลักฐานมาจากแหล่งใดของประวัติศาสตร์ และสิ่งที่เราได้เขียนนำเสนอในที่นี้ มิได้เป็นการสนับสนุนการก่อเหตุความรุนแรงในเดือนรอมฏอนแต่อย่างใด เพียงแต่อยากให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ข้อมูลบางส่วน โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายได้ตระหนักว่า การออกมาเรียกร้องเพื่อให้เกิดความสงบสันติโดยบรรดาอูลามาอฺอันเป็นผู้รู้ในสังคมนั้น เป็นการตอบโจทร์ในการแก้ไขปัญหาให้กับภาครัฐได้หรือไม่อย่างไร เพราะความจริงเท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถาวรและยั่งยืน

แต่ด้วยบรรยากาศของการพูดคุยที่กำลังอยู่ในขั้นริเริ่ม ถึงแม้คำร้องขอนั้นจะไม่ได้อยู่ในความคิดหรือข้อปฏิบัติของฝ่ายนักต่อสู้ก็ตาม แต่เพื่อความอยู่รอดในทางการเมือง ฝ่ายขบวนการก็จำเป็นจะต้องรับพิจารณาและดำเนินการในที่สุด ถึงแม้ว่าจะไม่ได้บรรลุตามที่ได้ตกลงกันไว้ก็ตาม เพราะต่างฝ่ายต่างไม่สามารถควบคุมกองกำลังที่อยู่นอกการบังคับบัญชาได้ โดยเฉพาะฝ่ายไทยที่ไม่สามารถรักษาสัญญานั้นได้

จะด้วยเหตุผลอันใดที่บรรดาอูลามาอฺออกมาเคลื่อนไหวในการเสริมสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพก็ตาม แต่นั่นเป็นนิมิตรหมายที่ดีสำหรับทุกฝ่าย ที่จะต้องช่วยกันค้นหาความจริงว่า สุดท้ายแล้วปัญหาปาตานีจะต้องลงเอยอย่างไร เพราะในที่สุดรัฐเองก็ไม่อาจทนอยู่ในสภาพอย่างนี้เป็นร้อยปีได้อย่างแน่นอน ถึงวันนั้นแล้วก็คงจะต้องยอมรับความจริงในสิ่งที่ประชาชนปาตานีปรารถนา ถึงแม้มันจะขมขืนก็ตาม!