Skip to main content
มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “สื่อเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน” หากเปลี่ยนแปลงการสื่อสารได้ก็สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ และการที่อุตสาหกรรมสื่อภายใต้สภาวิชาชีพและสมาคมต่างๆประกาศ “ปฏิรูปสื่อ” อีกครั้งภายใต้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นและยินดีปรีดาแก่ผู้คนอีกต่อไปด้วยเหตุผลหลายประการ ยิ่งในยุคสมัยที่อุตสาหกรรมสื่อขยายตัวมากขึ้น เพราะมีพื้นที่ (Platform) ของ ‘สื่อใหม่’ และ ‘สื่อดิจิตอล’ เข้ามาต่อเติม ขณะเดียวกันบางพื้นที่อย่างสื่อสิ่งพิมพ์ก็หดตัวลงอย่างน่ากังวลใจ อุตสาหกรรมสื่อนี้สัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างไรกับ “สื่อพลเมือง” “สื่อภาคประชาชน” ที่ไม่ใช่อุตสาหรรมสื่อ ทว่าโดยพื้นที่การสื่อสารเหล่านี้ต้องมาอยู่ในภูมิทัศน์ใหม่เดียวกัน จึงถือโอกาสคุยยาวๆ กับ ‘ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์’ คำถามสำคัญคือ สื่อจะช่วยให้ประเทศไทยฟื้นคืนสู่สังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร?

สัมภาษณ์พิเศษ “อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์”: ผลักการสื่อสารภาคประชาชนสร้างสังคมประชาธิปไตย

ฐิตินบ โกมลนิมิ

ภาวิณี ไชยภาค

 

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “สื่อเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน” หากเปลี่ยนแปลงการสื่อสารได้ก็สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ และการที่อุตสาหกรรมสื่อภายใต้สภาวิชาชีพและสมาคมต่างๆประกาศ “ปฏิรูปสื่อ” อีกครั้งภายใต้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นและยินดีปรีดาแก่ผู้คนอีกต่อไปด้วยเหตุผลหลายประการ ยิ่งในยุคสมัยที่อุตสาหกรรมสื่อขยายตัวมากขึ้น เพราะมีพื้นที่ (Platform) ของ ‘สื่อใหม่’ และ ‘สื่อดิจิตอล’ เข้ามาต่อเติม ขณะเดียวกันบางพื้นที่อย่างสื่อสิ่งพิมพ์ก็หดตัวลงอย่างน่ากังวลใจ อุตสาหกรรมสื่อนี้สัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างไรกับ “สื่อพลเมือง” “สื่อภาคประชาชน” ที่ไม่ใช่อุตสาหรรมสื่อ ทว่าโดยพื้นที่การสื่อสารเหล่านี้ต้องมาอยู่ในภูมิทัศน์ใหม่เดียวกัน 

          และในสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านสังคม จึงถือโอกาสคุยยาวๆ กับ ‘ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์’ หรือที่รู้จักกันดีในนาม “อ.ย่า” อดีตอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นการปฏิรูปสื่อ อีกทั้งยังเป็นเสาหลักของการเรียกร้องในการพิทักษ์ปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนเสมอมา

สื่อจะช่วยให้ประเทศไทยฟื้นคืนสู่สังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร?

          อ.ย่า วิเคราะห์ภาพให้เราเห็นช่วงหลัง 10 ปีที่ผ่านมานี้ เราเห็นปรากฎการณ์อุตสาหกรรมสื่อที่เคยมอง ‘สื่อทางเลือก’ ‘สื่อพลเมือง’ ว่าเป็นสื่อไม่มืออาชีพ เหยียดเขาชิงจรรยาบรรณ ไม่มองคุณค่าเชิงข่าวเท่าใดนัก อยากจะพูดเรื่องของตัวเองหรือชุมชุมก็พูดไป แต่อุตสาหกรรมสื่อเองกลับไปงมหาประเด็นจากสื่อสังคมออนไลน์ (social media) จากสื่อเล็กๆ ที่ถูกมองว่าเป็น ‘สื่อทางเลือก’ ที่มีเนื้อหาสาระ มีประเด็น ดึงมาเป็นที่มาของข่าวได้ และสามารถกำหนดวาระของข่าวสารได้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของท้องถิ่น เรื่องส่วนตัว เรื่องบันเทิง ฯลฯ นี้คือการสู้เพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมสื่อเอง

          ขณะที่ ‘สื่อใหม่’ ‘สื่อพลเมือง’ ‘สื่อประชาชน/ประชาสังคม’ ทั้งหลายกลับเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ในความเล็กของเขาก็พยายามก่อตัวใหม่ สร้างพื้นที่สาธารณะในกลุ่มของตนเอง ซึ่งเครือข่ายนี้อาจอยู่ในโลกออนไลน์และซ้อนทับกับเครือข่ายที่ผูกพันกันในโลกออฟไลน์ที่อยู่ในชุมชนจริงด้วย กลายเป็นว่าฐานและเสียงเหล่านี้จริงจังมากขึ้น ‘สื่อภาคประชาชน’ ไม่ได้ปรากฏตัวในอุตสาหกรรมสื่อในลักษณะแจ้งเพื่อทราบ ทว่าคุณภาพที่ต่างออกไปของ ‘สื่อพลเมือง’ ต่างหากที่เข้าไปเขย่ากระบวนการสื่อสารทั้งหมด รวมทั้งเขย่าวิธีคิดของอุตสาหกรรมสื่อด้วย

          ภูมิทัศน์ใหม่บนโครงสร้างใหม่และพื้นที่การสื่อสารรูปแบบใหม่ของการสื่อสารทำให้คนที่เคยเป็นผู้รับสารเปลี่ยนไปเป็นคนพูดและกำหนดเนื้อหาข่าวสารได้ด้วยตัวเขาเอง และเมื่อเขาได้พูดแล้วทีนี้คงให้หยุดไม่ได้ เพราะเขาเปลี่ยนไปแล้ว และนี่คือรูปธรรม ‘สิทธิเสรีภาพ’ ที่มักพูดถึงกันและฟังดูจับต้องไม่ได้ ทว่าวันนี้จับต้องได้แล้ว และมันเกิดการเปลี่ยนแปลงข้างในตัวคนขึ้นมาจริงๆ ซึ่งแต่ละคนอาจจะบอกเล่าได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเขาบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถประมวลเป็นทฤษฎีได้ “วันนี้ผู้สื่อสารเป็นผู้แสดงออกที่ทรงพลัง ไม่ได้เป็นเพียงคนรับสารอย่างในอดีต ที่ไม่เคยมีโอกาสส่งเสียง” อ.ย่า ยังอธิบายรูปธรรมมากขึ้น

          “แม้กระทั่งคนที่มีอายุมากแล้ว คิดว่าเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารเหล่านี้ยากจัง แต่พอมีวิทยุชุมชน เขาได้ไปจัดรายการเอง มีผู้หญิงคนหนึ่งเรียนจบเพียง ป.4 จากที่ไม่ค่อยได้เขียนหนังสือ ก็มีสมุดจดสคริปต์เอง เขียนตัวหนังสือตัวใหญ่ๆ เขียนจนสวย ส่วนอุปกรณ์ก็สามารถเรียนรู้จนใช้เป็น เครื่องคอมพิวเตอร์ของเขามีการแปะว่ากดตัวไหนอย่างไรบ้าง และต้องใช้คำสั่งอะไรช่วงไหน แม้ช่างประจำรายการไม่มาผู้สูงอายุก็สามารถจัดรายการวิทยุด้วยตัวเองได้ เพราะเขาใช้อยู่ทุกวัน พูดให้เพื่อนในชุมชนฟังทุกวันตรวงเวลาและทำอย่างสม่ำเสมอ ไปหาเรื่องราวมาคุย”

          แง่นี้ การสื่อสารภาคพลเมืองหรือการสื่อสารภาคประชาชนเป็นทั้งกระบวนการสื่อสารและกระบวนการศึกษาที่เข้าไปเติบโตในตัวตนของแต่ละคน การสื่อสารเช่นนี้จึงมีคุณค่าและมีเสน่ห์สำหรับทุกคน ทำให้คนสามัญธรรมดามีเรื่องราว มีบทสนทนาได้คุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเขา บางคนสามารถต่อเติมออกแบบสร้างการระดมทุนกลับเข้ามาที่ชุมชนได้อีกด้วย ซึ่งต่างกันอย่างมากับคนดังที่ได้มีพื้นที่ในอุตสาหกรรมการสื่อสารที่มาปรากฎตัวหน้าจอโทรทัศน์หรือพื้นที่ข่าวสารแล้ววันหนึ่งก็หายไป
ฉะนั้น อุตสาหกรรมสื่อเองมีทั้งคู่แข่งและเพื่อนไปพร้อมกัน โดยภูมิทัศน์ข่าวสารเปลี่ยนไปจริงๆเพราะคุณภาพการสื่อสารของพวกเราทุกคนที่ถูกดึงเข้าไปสู่กระบวนการสื่อสารมิติใหม่ๆ

อนาคต ‘สื่อภาคพลเมือง’ จะมีคุณภาพสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม

          สำหรับแนวโน้มในอนาคต อ.ย่าฉายภาพง่ายๆ “บางคนใช้สื่อใหม่ สื่อสังคมออนไลน์จนติด บางคนใช้คุยตลอดเวลา เหล่านี้สะท้อนความคุ้นเคยกับ ‘สิทธิเสรีภาพ’ ที่เป็นปัจจัยหลักไปแล้ว คำถามที่ชวนคิดคือการใช้สื่อดังกล่าวเพื่อตอบโจทย์อะไรในชีวิตหรือเพื่อเชื่อมโยงเครือข่าย”

          “ตัวอย่างเช่น การกดไลค์ให้กันในเฟสบุ๊ค หลายคนเตือนว่าให้คิดก่อนอย่าเพิ่งรีบกดนะ แต่เราลองตีความการกดไลค์เห็นได้ว่ามันมีความหมายหลายนัยยะ บางทีเพียงแค่บอกเพื่อนว่าคิดถึง ไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นนั้น จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเจ้าของประเด็นก็ไม่รู้ และยังมีความหมายอื่นอีก เช่น ไม่ได้เจอกันตั้งนานแล้วนะ เขารู้นะเห็นแล้วกด คิดถึงกัน ได้ยินแล้วที่พูดออกมา ฯลฯ เพราะฉะนั้นในอนาคต คนที่ใช้เฟสบุ๊ควันนี้อาจจะเปลี่ยนคุณภาพการสื่อสารเป็นอย่างอื่นได้อีก”

          “หรือถ้ามีลักษณะของเครือข่ายที่อยู่บนแพลทฟอร์มการสื่อสาร นี่ก็สะท้อนโลกสัญลักษณ์ของชุมชนออฟไลน์สามารถผูกพันเชื่อมโยงแน่นแฟ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อความเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน กระบวนการสื่อสารเช่นนี้เป็นโลกคู่ขนานกับอุตสาหกรรมสื่อ และกลายเป็นพื้นฐานของสังคมไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเพื่อนนักเรียนเก่า กลุ่มเพื่อนร่วมงาน กลุ่มเพื่อนร่วมงานที่ไม่ใช่องค์กรเครือข่ายเดียวกัน กลุ่มวิชาชีพ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นของผู้คนมากขึ้น ฐานสังคมจะแน่นขึ้นและพร้อมที่จะมีใจในการขับเคลื่อนร่วมกัน แสดงออกทั้งให้ร่วมงาน แสดงออกเพื่อให้เกิดประชามติบางอย่าง ตัวอย่างที่เห็นชัดมากไม่ต้องโต้แย้งกันเลย เช่นการช่วยเหลือฟื้นฟูภัยพิบัติ เวลาระดมความช่วยเหลือจากแต่ละหมู่บ้านมาทำเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วม การระดมคนระดมความคิดทรัพยากรเข้ามาช่วย ระดมคนเพื่อช่วยคนจมน้ำคนเสียชีวิต ล้วนแล้วแต่ตอบโจทย์ว่า ทุกคนทำได้”

          “ในมิติทางการเมืองยิ่งชัดมากขึ้น ยุคสมัยนี้ หลายคนบอกว่าสามารถปฏิวัติประชาชนด้วยทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ค โดยสื่อสังคมออนไลน์ทั้งสิ้น ที่กล่าวถึงล่าสุดคือ ‘Fire Chat’ แอพพลิเคชั่นซึ่งใช้งานอย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้ประท้วงและสนับสนุนการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยในเกาะฮ่องกง คล้ายกับสถานการณ์ในประเทศไทยยุคพฤษภาทมิฬ ปี 2535 ที่กล่าวกันว่าเป็นยุคโทรศัพท์มือถือ หรือกรณีประเทศฟิลิปินส์การต่อสู้กับอำนาจรัฐของเขา เครื่องมือคือการส่งข้อความสั้น (SMS) ฯลฯ จะเห็นว่าสื่อที่ถูกมองว่าเป็นสื่อเล็ก สื่อทางเลือก สื่อนอกกระแส หรือจะบอกว่าเป็นสื่ออินดี้ สื่อพลเมืองก็ตาม สื่อเหล่านี้ล้วนเป็นอิสระ ทุกคนสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของตนเองทางการเมือง หนึ่งคนหนึ่งเสียง ถ้ามีความผูกพันมาก มีการทำอะไรร่วมกันมากเครือข่ายเหล่านี้ก็จะดำรงอยู่อย่างมีชีวิต แต่ถ้าหากว่าทั้งเครื่องมือและตัวเราไม่ตอบโจทย์ ไม่เกิดความผูกพันกัน ก็จะไม่เข้ามาสู่การเชื่อมต่อระหว่างกัน ซึ่งธรรมชาติของสื่อเหล่านี้เคลื่อนไหวรวดเร็วชวนให้เราติดตามไปไม่สิ้นสุด”

          “เรามองเห็นภาพข้างหน้าว่า การสื่อสารจะช่วยเสริมฐานให้เครือข่ายซ้อนเครือข่ายมากขึ้น แล้วประโยชน์ที่เกิดก็ทวีคูณขึ้น แต่สังคมไทยมักดึงมิติที่เป็นด้านลบออกมา สร้างความกลัวที่มักพูดกันว่าใช้อารมณ์ในการสื่อสาร รัฐเองก็บอกว่าเราถูกใช้ไปในการล่อลวงทางอาชญากรรมต่างๆมากกว่าการใช้ข้อมูล ทำให้เรากลัว ‘สื่อใหม่’ และตำหนิว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตัวทำลายความมั่นคง ประเด็นที่สะท้อนออกมาของ ‘สื่อใหม่’ จึงเป็นด้านตรงข้ามของประโยชน์ มีคำแนะนำจากกูรูด้านรัฐว่าไม่ควรใช้สิ่งนี้ ซึ่งคำแนะนำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ผิดยุคผิดสมัย เพราะขณะนี้ประชาชนทุกคนสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและเข้าถึงการสื่อสารด้วยตนเองแล้ว”

การสื่อสาร - “สิทธิเสรีภาพ” คือลมหายใจของสังคม

          “แท้ที่จริงทุกคนได้สื่อสารใน ‘สื่อใหม่’ หากปราศจากมันชีวิตก็อยู่ได้แต่ก็ดูขาดวิ่น เหมือนลมหายใจติดขัด ในที่สุดแล้ว ทุกคนจะเข้าใจเหมือนเราต้องกินข้าว ต้องทำบางสิ่งในชีวิตประจำวัน และนี่เองที่เราเรียกว่า ‘สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบในชีวิตนั่นเอง”

          “ ‘สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก’ ดูเป็นสิ่งพื้นๆแต่หากหายไปทำให้ผู้คนรู้สึกมืดมิด อึดอัดเหมือนกำลังจมน้ำ และหลังจากรัฐประหารครั้งล่าสุด ก็มีผู้คนจำนวนมากรู้สึกว่าเราใกล้จมน้ำ จำเป็นต้องคว้าอะไรไว้ อยู่ในลักษณะปริ่มๆ ยังไม่จมทีเดียวแต่ก็อยู่อย่างยากลำบากด้วยอากาศที่น้อยนิดแต่ยังไม่ตายสักที ปัญหาสังคมไทย คือ ฝ่ายที่มีอำนาจมักมองเรื่องนี้อย่างหวาดระแวง ไม่ได้เข้าใจว่า ‘สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก’ เป็นสิิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่สามารถจะไปเอาออกจากประชาชนได้”

           การเติบโตของ ‘สื่อใหม่’ สื่อเล็กสื่อน้อยไปสร้างความกังวลให้กับผู้มีอำนาจ พูดได้ว่าการใช้อำนาจในประเทศไทยอยู่ในดีเอ็นเอ ก่อนหน้านี้ยังพอมีความหวังบ้าง แต่พอจะก้าวเดินสู่เส้นทางประชาธิปไตยกลับไปไม่เป็นและเลือกก้าวถอยหลังบ่อยครั้งและไปกันใหญ่ และ ‘สิทธิเสรีภาพ’ ก็ถูกกระทบอย่างมากจากการก้าวถอยหลัง เพราะการแสดงออกของประชาชนยิ่งทำให้ผู้มีอำนาจอยากจะคงความอนุรักษ์ไว้ มอง ‘สิทธิเสรีภาพ’ ด้วยความหวาดระแวงขึ้นเรื่อยๆ ผลสะท้อนไปที่ผู้มีอำนาจก็ยิ่งติดลบมากขึ้น ในขณะที่ประชาชนถูกกดแรงมากขึ้นเรื่อยๆเป็นลำดับ เราจึงเห็นการแสดงออกแบบสุดเหวี่ยงจากประชาชนจำนวนหนึ่ง ที่เมื่อถูกกดแล้วไประเบิดในความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงหรือการแสดงออกในระดับเล็กๆก็ตาม

          “สังเกตว่า สิบปีที่ผ่านมานี้ การแสดงออกและภาษาท่วงทำนองถูกกดลงไปเรื่อยๆ จึงมีการแสดงออกในลักษณะเหวี่ยงออกมาที่เรียกว่า ‘hate speech’ หรือคำพูดที่แสดงออกถึงความเกลียดชังกัน เป็นการสะท้อนถึงการไม่ปล่อยให้การสื่อสารเป็นไปตามธรรมชาติ”

           การถูกกดไม่ให้สื่อสารนั้น ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ประชาชนระเบิดความรู้สึกออกมา แต่ก่อนหน้านั้นเขาถูกกดในเชิงเศรษฐกิจ ถูกแย่งชิงทรัพยากร พื้นที่ทางการเมือง รวมทั้งพื้นที่ทำมาหากินหายไปหมด และถูกทำให้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน ยิ่งชาวบ้านทำมาหากินไม่ได้ ไม่ว่าจะคนชายทะเล คนบนภูเขา ชาวนา ชาวสวน ขายข้าวไม่ได้ ขายยางไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำมาหากินเชิงพาณิชย์หรือขนาดเล็กน้อยล้วนทำให้เขาอยู่ไม่ได้ ดังนั้น ยิ่งทำให้เขาต้องใช้สิทธิใช้เสียงรวมตัวกันให้เสียงดังมากขึ้นเพื่อผลักดันกู้ชีพตัวเองให้อยู่รอด เพราะสังคมประชาธิปไตยหมายถึงสังคมที่ทุกคนอยู่รอด ไม่ใช่แค่คนบางกลุ่มอยู่รอดเท่านั้น

          สังคมประชาธิปไตยของชาวบ้านอยู่ที่ชายฝั่งทะเล ไร่นา ริมเขามันเท่ากันไปหมด ความอยู่รอดสำคัญทั้งสิ้น คำว่าไม่รอดของชาวบ้านคือความตาย แต่ว่าบ้านเรากลับตีค่าราคาไม่ให้เท่ากันก็ยิ่งสร้างปัญหาทับถมหลายมิติมากขึ้น

          ความที่ ‘สื่อพลเมือง’ เกิดขึ้นมาแล้ว อนาคตก็จะดำรงอยู่และแปลงโฉมมีคุณภาพ สร้างสรรค์ สร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น เพราะผู้คนเห็นประโยชน์จากการสื่อสาร จากแต่เดิมที่คิดเพียงแค่เป็นผู้ติดตามเป็น Follower ด้วยเป็น ‘สื่อใหม่’ ไม่คุ้นเคย แต่ก็พบว่าเขาได้เป็นเจ้าของพื้นที่การสื่อสารแล้วและสามารถสร้างบทสนทนากับสังคมสาธารณะได้ เป็นเจ้าของเรื่องราวของเขาเองได้ พื้นที่ทางการเมืองถูกเปิดออกมาและขยายตัวมากขึ้นแล้ว สิ่งเหล่านี้จะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ

          “กรณีตัวอย่าง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วิทยุชุมชนเปิดพื้นที่ให้ผู้ฟังโทรศัพท์เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และผู้ฟังก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอหนทางในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วย ฟังดูแล้วน่าจะเป็นผลบวก ชาวบ้านได้ทลายความกลัวและความขัดเขินที่จะแสดงความคิดเห็น คนในชุมชนสังคมตรงนั้นเริ่มเรียนรู้แล้วว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ากลับมองต่างออกไป รู้สึกวิตกกังวลกับความกล้าเสนอความคิดเห็นของชาวบ้าน”
การสื่อสารของ ‘สื่อพลเมือง’ และ ‘สื่อภาคประชาชน’ ทำให้สังคมก้าวเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านแล้ว และผู้มีอำนาจก็ได้ยินเสียงประชาชนแล้วเช่นกัน แต่เขาทำเป็นไม่ได้ยิน ความท้าทายจึงมีอยู่ว่าจะเปลี่ยนเสียงเหล่านี้ให้เป็นเสียงที่มีคุณภาพได้อย่างไร?

การสื่อสารหลอมรวม “โครงสร้างความรู้สึกของสังคม”

          “จริงแล้ว การเคลื่อนไหวของ(สื่อ)ภาคพลเมืองทำให้พื้นที่การเมืองและโครงสร้างอำนาจเปลี่ยนทีละเล็กละน้อย เปลี่ยนทุกวัน พอสะสมเข้าก็เป็นคลื่นใหญ่โถม เช่น การรัฐประหารครั้งนี้ก็เป็นตัวชี้วันหนึ่งที่บอกว่าพื้นที่การเมืองเปลี่ยนไปอย่างมาก จึงต้องเอาปืนเอารถถังออกมากดผู้คนไว้ ปรากฏการณ์เช่นนี้บอกเราว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเปลี่ยนไปอย่างมากแล้ว และคนกุมอำนาจก็พยายามเดินถอยหลังให้อนาคต ซึ่ผู้คนจำนวนมากจะไม่อดทน เพราะเป็นสิ่งฝืนธรรมชาติมาก”

          “โดยต้องระวังสิ่งที่เรียกว่า ‘โครงสร้างทางความรู้สึกของสังคม” (Structure of feeling) ที่ความรู้สึกผู้คนมาผนึกรวมกันโดยธรรมชาติ เช่น เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ว่าใครอยู่อาชีพไหนก็ได้รับผลกระทบร่วมกันไปทั้งหมด สินค้าราคาตก ผลิตผลทางการเกษตรขายไม่ได้ ฯลฯ และหากโครงสร้างอำนาจยังผูกขาดแบบที่เรามีรัฐบาลทหาร จะมีช่องทางแสดงออก ตอบคำถาม และแก้ปัญหาในแบบที่ประชาชนเรียกร้องต้องการหรือรับได้ หากทุกอย่างยังต้องรอให้ผู้อำนาจจัดการตามแต่เขาจะออกแบบภายใต้คำสวยหรูว่า ‘โรดแมป’ ในระยะเวลาที่เขากำหนดเองทั้งสิ้นทั้งปวง เมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ความรู้สึกร่วมของสังคมจะพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง”

          “โครงสร้างความรู้สึกจะค่อยๆก่อตัว เพราะคนไม่ได้เลิกไปมาหาสู่กัน เลิกคุยกัน คนยังทำงานความคิดร่วมกันอยู่ตลอด เฟสบุ๊คยังเป็นพื้นที่สื่อสารทางการเมืองที่สำคัญในยุคสมัยนี้ และยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในพื้นที่ออฟไลน์ด้วย หลายอย่างอาจคุยในเครือข่ายแล้วไม่ได้พูดให้เสียงดัง ที่เรากำลังทำกันอยู่คือ ‘หรี่เสียงลง’ ข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวยังถึงกัน เพียงแต่ว่าเมื่อมีกฎหมายความมั่นคงบังคับใช้อยู่ คนก็จะระวังไหวหรี่เสียงไปก่อน ฝ่ายรัฐบาลทหารก็ตีความแบบนี้จึงไม่ยกเลิกกฎอัยการศึก เพราะรู้ว่าเสียงที่หรี่ไว้จะดังขึ้น แต่โดยข้อเท็จจริง เสียงที่หรีไว้เมื่อเปิดพื้นที่ให้มีการสื่อสารกันจริงๆก็จะรู้ว่าไม่มีอะไร เหล่านี้เป็นการสื่อสารในระบบประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่ที่ตั้งท่าไว้คือ อาการไม่ไว้วางใจ และผูกขาดการการแก้ไขบ้านเมืองไว้ที่ชนชั้นปกครอง”

นิยาม ‘สื่อพลเมือง’ ให้กว้างขวางเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม

          สำหรับ ‘สื่อพลเมือง’ เครือข่ายสื่อภาคประชาชนที่กำลังเคลื่อนไหวรวมตัวกันอยู่นั้น อ.ย่า แนะนำทิ้งท้าย “ที่ผ่านมา เราใช้คำว่านักข่าวเยอะ มีนักข่าวพลเมือง เพื่อให้สื่อสารเข้าใจง่าย สร้างตัวตนและสร้างประโยชน์ได้ดี อนาคตเราอาจต้องประยุกต์คำ ‘นักสื่อสารพลเมือง’ ‘สื่อพลเมือง’ ก็ได้ เพื่อให้คนรู้สึกว่าเขามีเรื่องสื่อสาร และแตกต่างจากความเป็นนักข่าว ที่ไม่สามารถตระเวนเป็นนำข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาสื่อสาร การใช้คำที่เปิดกว้างขึ้นเพื่อความหมายที่เปิดกว้างให้ทุกคนในชุมชนทุกอาชีพ เขาสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้ ฉะนั้นในพื้นที่ของ ‘สื่อพลเมือง’ จะมีศิลปะ กวีนิพนธ์ นิทาน สารคดี การสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ ที่ทำให้ ‘สื่อพลเมือง’ รู้สึกภาคภูมิใจที่มายืนตรงนี้ได้้ โดยไม่จำกัดต้องเป็นเรื่องของข่าวเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมืออาชีพ เพราะทุกคนมีเรื่องเล่าที่จะแบ่งปันมากขึ้นในฐานะเจ้าเของเรื่อง เจ้าของประสบการณ์”

           แล้ว ‘สื่อพลเมือง’ จะไปสู่การกำหนดวาระทางสังคมได้อย่างไร?  “ก็ด้วยเรื่องที่สื่อสารแล้วกระทบใจ กระทบคนในชุมชนจะเป็นวาระขึ้นมา สังเกตว่าบางคดีที่เป็นที่กล่าวขวัญกันเพราะคนจะรู้สึกว่า เอ๊ะ มันยุติธรรมหรือเปล่า คนที่ไม่ขี้สงสัยก็อาจจะเริ่มสงสัย คนขี้สงสัยมากก็เริ่มที่จะอึดอัดแล้ว ทุกๆเรื่องในสังคมหนึ่งๆไม่ว่าจะใหญ่เล็กก็ตาม โครงสร้างความรู้สึกร่วมของสังคมจะสะท้อนออกมาเองผ่านการสื่อสาร เพราะถ้าเรื่องนี้ทำให้เราอึดอัด สงสัย สงสัยทำไมนายพลมีทรัพย์สินมากนัก เมื่อสังคมสงสัยมากเจ้าตัวก็ต้องขยับเข้ามาตอบ ปล่อยให้คนสงสัยมากยิ่งขึ้นก็ไม่ดี จะมีวาระอย่างนี้เกิดขึ้น อย่าลืมว่าสังคมมี ‘สารตั้งต้น’ มีความรู้มีประสบการณ์เดิม พอเห็นอย่างนี้ก็เริ่มเดาทางได้จากความสงสัยนั่นเอง”

          “หรือกรณีบทเรียนการสื่อสารจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นบทเรียนของสังคมใหญ่ได้ว่า สื่อพลเมืองจะทำงานร่วมกับสื่อหลักได้อย่างไร จนกระทั่งสื่อพลเมือง สื่อทางเลือกในพื้นที่สามารถกำหนดวาระของข่าวสารทำงานร่วมกับสื่อระดับชาติและขยายพื้นที่พูดคุย ขยายพื้นที่ทางการเมืองเพื่อร่วมกันผลักดันหาวิธีการเรียนรู้อยู่ร่วมกันได้ สถานะอุตสาหกรรมสื่อ สื่อกระแสหลัก ยังมีความสำคัญมีอำนาจในการกำหนดกรอบคิดของสังคม และสร้างวาทกรรมกระบวนการสันติภาพได้ซึ่งจำเป็นต้องรักษาพื้นที่นี้ไว้ เพราะสื่อทุกประเภทจะต้องพาไปสู่การหาประชามติเพื่อหาทางออกจากความรุนแรง”

           เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะช่วยกันผลักการสื่อสารภาคประชาชนสร้างสังคมประชาธิปไตยร่วมกันได้อย่างไร?
           ………………………………………………………………………………

หมายเหตุ:  บทสัมภาษณ์พิเศษนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘สารตั้งต้น’ เล่ม 3 วารสารเพื่อการขับเคลื่อนสังคม ที่วางอยู่บนฐานคิด “พลังสื่อขับเคลื่อนในมือคุณ” (new media people can do) เพราะเมื่อภูมิทัศน์การสื่อสารเปลี่ยนแปลงไป วาระข่าวสารและการสื่อสารไม่ได้ผูกขาดในมือนักสื่อสารมืออาชีพอีกต่อไป และเน้นย้ำว่าสิทธิการสื่อสารเป็นเรื่องของทุกคนที่เทคโนโลยีสนับสนุนให้ทุกคนทำได้มากขึ้นจนเป็นพลังแห่งพลเมืองผู้เปลี่ยนแปลง เนื้อหาสาระจึงเป็นเรื่องราวเพื่อถ่ายถอดประสบการณ์ เปิดพื้นที่การสื่อสาร รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนลุกขึ้นมาสื่อสารเรื่องราวต่างๆ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม ชุมชน ท้องถิ่นให้ดีขึ้น ส่งเสริมสนับสนุนสังคมประชาธิปไตยและเคารพต่อเสียงที่แตกต่างกัน โดย ‘สารตั้งต้น’ เล่ม 3-4 จะออกมาต้นปี 2015