Skip to main content
‘ประชาไท’ เป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์แห่งแรกในประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2547 และเมื่อสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆต้องขยายตัวเองลงสู่โลกอินเตอร์เน็ต ‘ประไท’ จึงไม่ใช่สื่อกระแสรองหรือ ‘สื่อทางเลือก’ อีกต่อไป แต่อยู่ในสถานะที่เป็น ‘หัวหอก’ ของ ‘พื้นที่สื่อภาคประชาชน’ อย่างมีนัยยะสำคัญ เราจึงชวน ‘ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข’ บรรณาธิการคนปัจจุบัน คุยถึงทิศทาง ‘พื้นที่สื่อภาคประชาชน’ ในอนาคตและการปรับตัวของ ‘ประชาไท’ เพื่อรับมือกับภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป และภูมิศาสตร์การสื่อสารย่อมต้องปรับตัวตาม ย้อนดู ‘ 10  ปี ‘ประชาไท’ ณ จุดเริ่มต้น “วันนี้มองเห็นอะไร?”

 

สัมภาษณ์ ‘ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข’: อนาคตพื้นที่และสื่อภาคประชาชนอยู่ตรงไหน?”
ฐิตินบ  โกมลนิมิ
ภาพประกอบโดย Siamintelligence.com

 

‘ประชาไท’ เป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์แห่งแรกในประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2547 โดยแนวคิดของ ‘จอน อึ๊งภากรณ์’ ซึ่งต้องการทำสื่อที่เป็นอิสระไม่ถูกควบคุมโดยหน่วยงานภาครัฐ โดยได้แรงบันดาลใจจากสื่อในประเทศฟิลิปปินส์ ชื่อ ‘มินดานิวส์’  มากกว่าการนำเสนอข่าวที่ไม่เป็นข่าวแล้ว ความโดดเด่นของ ‘ประชาไท’ คือการเปิดพื้นที่ให้สื่อพลเมือง สื่อภาคประชาชนค่อยๆเติบโตสามารถสื่อสารเรื่องของเขาเองได้ รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้บทสัมภาษณ์และข้อเขียนของนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว องค์กรสิทธิ และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ปรากฎตัวจนสามารถกำหนดวาระข่าวสารของสังคม

          และเมื่อสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆต้องขยายตัวเองลงสู่โลกอินเตอร์เน็ต ‘ประไท’ จึงไม่ใช่สื่อกระแสรองหรือ ‘สื่อทางเลือก’ อีกต่อไป แต่อยู่ในสถานะที่เป็น ‘หัวหอก’ ของ ‘พื้นที่สื่อภาคประชาชน’ อย่างมีนัยยะสำคัญ เราจึงชวน ‘ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข’ บรรณาธิการคนปัจจุบัน คุยถึงทิศทาง ‘พื้นที่สื่อภาคประชาชน’ ในอนาคตและการปรับตัวของ ‘ประชาไท’ เพื่อรับมือกับภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป และภูมิศาสตร์การสื่อสารย่อมต้องปรับตัวตาม

ย้อนดู ‘ 10  ปี ‘ประชาไท’ ณ จุดเริ่มต้น “วันนี้มองเห็นอะไร?”

          “‘ประชาไท’ เกิดขึ้นมาในยุคที่ ‘พื้นที่ข่าวสารภาคประชาชน’ น้อยมาก พื้นที่ข่าวเต็มไปด้วยข่าวภาครัฐ ธุรกิจ และชนชั้นนำ เป็นการเกิดและเติบโตควบคู่มากับอินเตร์เน็ทและการสื่อสารทางเทคโนโลยี ทำให้ประชาไทกลายเป็นองค์กรแรกของภาคประชาชนที่เปิดพื้นที่ให้กับข่าวสารเหล่านี้ ดังนั้น ‘พื้นที่ข่าวสารภาคประชาชน’ น่าจะเป็นเรื่องของเครื่องมือใหม่ๆที่มาพร้อมกับ ‘สื่อใหม่’ มากกว่าจะบอกว่าเป็นเนื้อตัวของประชาไทเอง เพียงแค่ว่าในยุคก่อตั้งนั้น ‘ประชาไท’ เพียงเป็นผู้บุกเบิก จากนั้นก็มีคนตามมาเพราะการเชื่อมต่อของอินเตอร์เน็ต ความแพร่หลายของเฟสบุ๊ค และโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟรแพร่หลายมากขึ้น การเชื่อมต่อข่าวสารของผู้คนมากขึ้นนั่นเอง เป็นเรื่องของยุคสมัยของเทคโนโลยีมากกว่าความดีความชอบของ ‘ประชาไท’”

          “อย่างไรก็ตาม คุโณปการของการนิยามช่วงชิงพื้นที่ข่าวของชาวบ้านเป็นเรื่องสำคัญ ส่งผลการเปลี่ยนแปลงต่อการพัฒนาของชาวบ้าน โดยชาวบ้าน เพื่อชาวบ้านอย่างยิ่ง โดยเฉพาช่วง 4-5 ปีให้หลังพบว่าข่าวชาวบ้าน ข่าวภาคประชาชนที่เกิดจากขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเต็มไปหมด โดยที่สื่อกระแสหลักไม่สามารถตามมาขยายผลให้มีพลังมากขึ้น หลายข่าวของชาวบ้านมีนัยยะสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงและโลกที่เปลี่ยนไป แต่กลับไม่เคยถูกนำไปขยายผลหรือสังเคราะห์ให้เป็นเรื่องราวมากขึ้น อนาคตข้างหน้า ข่าวชาวบ้านเหล่านี้มีแนวโน้มจะร้อยรัดกันเป็นนโยบายของภาคประชาชนและก่อรูปการเปลี่ยนแปลงเป็นทิศทางการพัฒนาโดยชาวบ้านเองมากขึ้นเรื่อยๆ”

          ข่าวชาวบ้านที่จะมีผลต่อทิศทางของการพัฒนา อย่างเช่น เห็นเลยว่าการชิงอำนาจรัฐของไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีภาคประชาชนปนอยู่ในสถานการณ์นั้นด้วย ทีนี้เป็นโจทย์ต่อไปว่า ‘พื้นที่ของภาคประชาชน’ หรือชาวบ้านจะกลับมาอยู่ในแนวเดียวกับนักการเมืองหรือชนชั้นที่มาจากการเลือกตั้ง หรือ จะเป็นชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่ยังต้องถกเถียงและติดตามอยู่อย่างมีนัยะเช่นเดียวกัน แต่หนีไม่พ้นว่าภาคประชาสังคม ภาคประชาชนมีบทบาทอยู่มากในการเข้าร่วมชิงอำนาจรัฐในช่วงครึ่งทศวรรษหลังที่ผ่านมา คิดว่าสิบปีข้างหน้าพื้นที่ข่าวสาร หรือพื้นที่การผลิตข่าวของภาคประชาชนจะต้องเลือกเหมือนกันว่าคุณจะเข้าไปอิงกับอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาประชาสังคมไทยหันกลับไปสู่พลังอำนาจที่มาจากกลุ่มราชการกับอำนาจของกองทัพ คิดว่าเป็นบทเรียนพอสมควร และจะเกิดขึ้นในอีกสิบปีข้างหน้า เชื่อว่า 5 ปีแรกจากนี้ ภาคประชาสังคมน่าจะได้บทเรียนพอสมควรจากการไปเข้ากับอำนาจอนุรักษ์นิยมดังกล่าว

          “ผมมั่นใจ การเป็นแนวร่วมกับอำนาจและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะได้ผลมากกว่า พื้นที่ข่าวของประชาชนที่ร้อยรัดกันเป็นนโยบายการพัฒนาแบบใหม่ คนที่ตอบรับได้ดีกว่าคือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง มากกว่าราชการ”

        “สังเกตว่าราชการและกองทัพเองพัฒนามาแล้วกว่า 50-60 ปี ทว่า ‘พื้นที่ภาคประชาชน’ น้อยลงไปเรื่อยๆตลอดมา โดยประวัติศาสตร์เป็นแบบนั้นและโดยโครงสร้างของอำนาจก็เป็นแบบนั้น เพราะอำนาจของราชการนั้นฐานคือการไม่ไว้ใจชาวบ้าน เราเห็นได้ชัดว่าอำนาจนำของราชการและกองทัพมีแต่กีดันพื้นที่ของชาวบ้านให้ลดน้อยถอยลง เช่น ลดพื้นที่ของอบต.ลง บทบาทของอบต.ที่เคยเฟื่องฟูมากเมื่อ 5 ปีหลังก็กลายเป็นแฟ่บและเล็กลง ถึงวันหนึ่งแม่น้ำสายของภาคประชาชนจะไหลมารวมกับแม่น้ำของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง”

ภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยน ภูมิทัศน์ของการสื่อสารก็ต้องปรับ

          ชูวัสยังคาดการณ์อีก “ข่าวสารของภาคประชาชนจะยกระดับมากขึ้น ขณะนี้มีเครือข่ายภาคประชาชนกำลังสื่อสารเรื่องของตนเองอยู่มากและกระจัดกระจาย ในระดับปัจเจกเลย หลังจากที่ เฟสบุ๊คเข้ามามาอิทธิพลให้โลกเสมือนเชื่อมต่อและทาบทับบางส่วนกับโลกจริง จึงสามารถสร้างพื้นที่การสื่อสารให้กับทุกคนได้แล้ว พื้นที่เหล่านั้นขยายเฟื่องฟูเต็มไปหมด ทุกคนสามารถสื่อสาร แชร์ข่าวสาร แต่ในทศวรรษหน้าจะเป็นช่วงเวลาแห่งการยกระดับการสื่อสารระดับปัจเจกบุคคลอย่างเด่นชัดและเท่าทันสื่อมากขึ้น เช่น รู้ว่าแชร์ข่าวแบบไหน ส่งต่อข่าวกันแบบไหนที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงและสร้างความน่าเชื่อถือได้ รู้ว่าข่าวไหนเป็นข่าวมั่ว ข่าวปล่อย หรือข่าวที่ขายความกลัว สังเกตจากการที่เรารู้ว่าการปล่อยข่าวของเรามีผลกระทบต่อสิ่งใดบ้าง การแชร์ข่าวในลักษณะที่ไม่กลั่นกรองจะมีผลกระทบต่อใครและสิ่งใดบ้าง นี้เป็นเรื่องท้าทายแต่เชื่อว่าเกิดขึ้นแน่นอน”
ดังนั้น ภาคประชาสังคมที่กำลังมุ่งมั่นผลิตข่าวสาร อาจจะยกระดับการผลิตข่าวสารไปในตัว อย่าง ‘ประชาไท’ ก็จะยกระดับไปสู่การเท่าทันสื่อมากขึ้น มีการสื่อข่าวเชิงคุณภาพมากขึ้น 

           ก้าวต่อไปยุทธศาสตร์และวาระหลักของ ‘ประชาไท’

          ‘ประชาไท’ ยังเน้นเรื่องของการเปิดพื้นที่ข่าวสาร โดยเฉพาะช่วงหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ‘พื้นที่ข่าวสารของประชาชน’ ที่น้อยอยู่แล้วก็ยิ่งน้อยลงไปอีก คนคิดต่างไม่เหลือพื้นที่การบอกเล่าปัญหาระบายความรู้สึก จึงกลับมาเรื่องเดิมที่เคยทำ คือ ใครไม่มีพื้นที่ข่าวเราเปิดพื้นที่ให้ นี่เป็นยุทธศาสตร์ตั้งแต่ช่วง 1-2 ปีแรก ณ การก่อตั้ง ‘ประชาไท’ และคงหนีไม่พ้นในเรื่องของการสื่อสารประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ที่ท้าทายกับวาทกรรมหลักที่มากับกระแสของการปฏิรูป ที่จะทำไปพร้อมกับงานส่งเสริมศักยภาพการสื่อสารข่าวพลเมืองที่เป็นงานหลักอีกด้านหนึ่งในอนาคต

          สิ่งที่จะทำมากขึ้นคือ พยายามจะทำให้เรื่องเท่าทันสื่อกลายเป็นวาระหลักของการสื่อข่าวภาคพลเมือง ทั้งการตั้งคำถามเชิงคุณภาพของการสื่อข่าวของนักข่าวพลเมือง การสร้างสมดุลย์ข่าวสารในการเปิดใจเขาเปิดใจเรา เช่น ไม่มองมุมผลประโยชน์ของตนเองด้านเดียวแต่ต้องดูว่าผลกระทบของตนเองนั้นเป็นผลประโยชน์ของคนอื่นที่ได้บวก หรือเมื่อคนอื่นได้ลบ คุณได้บวก สภาวะแบบนี้จะต่อรองกันอย่างไร เจรจากับสิ่งเหล่านี้อยางไร พื้นที่ข่าวสารเหล่านี้จะไปเปิดพื้นที่ของการเจรจาต่อรองมากขึ้น ให้เป็นพื้นที่ของสังคมที่สงบมากขึ้น และส่งเสริมกระบวนการเจรจาในการต่อรองผลประโยชน์มากขึ้น มากกว่าการชี้วัดเชิงศีลธรรมว่าฉันทำอย่างนี้เพราะฉันเป็นชาวบ้าน และชาวบ้านเป็นคนดี ต้องให้พื้นที่ข่าวเป็นพื้นที่ต่อรองเพื่อประโยชน์สาธารณะที่มากขึ้น รู้ว่าในทุกนโยบายมีได้มีเสีย หากเราเสียเราต่อรองอย่างไร หากได้เราต่อรองอย่างไร

          เมื่อขอให้ขยายความคำว่า “เท่าทันสื่อ” สำหรับนักข่าวพลเมืองให้เข้าใจได้มากขึ้น? ชูวัส อธิบายว่าการเท่าทันสื่อ ถือเป็น ‘เครื่องมือ’ เลย คือ (หนึ่ง) วิธีการมองอย่างใจเขาใจเรา มองอย่างรอบด้าน มองจากมุมได้มุมเสีย เพื่อจะอยู่ร่วมกันกันมากกว่าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเพียงเท่านั้น หรือเอาแต่ได้เพียงเท่านั้น เพราะไม่มีใครเอาแต่ได้แล้วได้ทั้งหมด แต่เราต้องการให้เกิดเพื้นที่เข้าใจและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

          (สอง) การรู้ว่าข่าวสารของเราที่ผลิตเป็นเครื่องมือของใคร ใครได้ประโยชน์ รู้ว่าโครงสร้างของสื่อทั้งระบบเป็นอย่างไร และตัวเองอยู่ตรงไหนในฐานะนักข่าวพลเมือง หรือจะทำงานกับสื่อต่างๆในโครงสร้างการสื่อข่าวอย่างไร รู้เรื่องเสรีภาพของพลเมืองในการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ นี้เป็นเรื่องของการยกระดับการสื่อสารของนักข่าวพลเมืองให้มีพื้นที่มากขึ้น ขายประเด็นข่าวให้ได้มากขึ้นได้อย่างไร ทำให้ข่าวของเขาเป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากขึ้นได้อย่างไร พูดง่ายคือลดช่องว่างการสื่อสารมวลชนมาสู่การสื่อข่าวแบบพลเมืองให้ใกล้กันมากขึ้น

          (สาม) รู้ว่าจะสื่อข่าวที่อ่อนไหวอย่างไร ข่าวความขัดแย้ง จริยธรรมในการสื่อข่าวของตนเอง เครือข่าย ณ จะสื่อข่าวนั้นๆ เป็นหลักสูตรที่ประชาไทเตรียมไว้เรีบร้อยแล้วในการอบรมสิ่งเหล่าต่อนักข่าวพลเมืองรุ่นใหม่

“พื้นที่ข่าว” และการกำหนดวาระของ “ข่าวพลเมือง”

          หากประเมินพื้นที่ของนักข่าวพลเมืองและภาคประชาชน สำหรับชูวัสแล้ว “ใน 10 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยอาจจะไม่เห็นว่านักข่าวพลเมืองเป็นตัวเป็นตนอย่างไร เพราะวิธีคิดของเราในการมองสื่อคือ ข่าวสารประเด็นนั้นเมื่อถูกนำเสนอแล้วเกิดผลกระทบอะไรบ้าง  แต่สื่อพลเมืองนั้น มองแบบนั้นไม่ได้ เพราะผลกระทบของสื่อพลเมืองเป็นการแทรกซึมและเป็นเครือข่ายที่ส่งพลังจนเกิดการกำหนดวาระข่าวสารของสื่อกระแสหลัก”

          “ในช่วงที่ผ่านมา มีข่าวสารของสื่อประชาชนแทรกในพื้นที่ของข่าวกระแสหลักเต็มไปหมด อย่างเช่น ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมา ย้อนกลับไป 10 ปี ข่าวเกี่ยวกับชายแดนใต้เป็นข่าวของกองทัพ ของรัฐ แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว สื่อกระแสหลักล้วนแล้วแต่เล่นข่าวของชาวบ้านทั้งสิ้น และประเด็นถูกกำหนดจากพื้นที่ทั้งสิ้น คำถามคืออะไรทำให้สื่อกระแสหลักเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ หรือพื้นที่ข่าวแบบนี้มากขึ้น ชี้เป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากพลังของนักข่าวพลเมือง พลังของสื่อภาคประชาชนที่สร้างผลกระทบทำให้วาระข่าวสารเปลี่ยนไป”

          “รวมทั้งการเสพข่าวก็ผันแปรมาเสพข่าวในเฟสบุ๊คมากขึ้นนี้ผันตรงต่อการกำหนดวาระข่าวสารในหัวของนักข่าว การเลือกข่าวของกองบรรณาธิการข่าวของสื่อหลัก ข่าวแบบเพื่อขายได้ในสื่อกระแสหลักก็ยังมีอยู่ แต่ข่าวความทุกข์ร้อนของชาวบ้านก็เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ นี่ก็เห็นได้ชัด”

          “ตัวชี้วัดหนึ่งที่น่าสนใจคือ อะไรที่ทำให้สื่อกระแสหลักมีคุณภาพมากขึ้นในการเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้าน นั่นก็คือการเกิดขึ้นและเติบโตของสื่อภาคพลเมืองนั่นเอง แล้วสื่อภาคพลเมืองคุณจะเห็นจากที่ไหน เราก็จะเห็นจากในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ที่กำลังเติบโตขึ้นนั่นเอง”

          “เห็นชัดสุดคือในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ สิบปีก่อนเราอาจเคยพูดถึงการเกิดขึ้นของสื่อกระแสรอง สื่อใหม่ แต่ปัจจุบันนี้ สื่อเหล่านั้นได้พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นสำนักข่าว เป็นผู้กำหนดวาระข่าวสาร เราอาจจะไม่เห็นทีวีของภาคใต้ ไม่เห็นหนังสือพิมพ์ของภาคใต้เพิ่มจำนวนขึ้น แต่จะเห็นเว็บสำนักข่าวทางเลือกเต็มไปหมดเลย ทั้ง Deep South Wath, สำนักสื่อวาระตานี สำนักข่าวอามาน ฯลฯ และสื่อเหล่านี้สามารถกำหนดประเด็นให้กับนักข่าวสื่อกระแสหลักให้ลงไปทำประเด็นที่แตกต่างจากวาทกรรมของสื่อกระแสหลัก ซึ่งไม่เคยมีมา แต่ไม่ง่ายที่ปรากฎการณ์จากชายแดนใต้จะไปเกิดขึ้นที่ภาคเหนือหรือที่อีสาน เพราะทั้งสองภาคมีหน่วยงานช่วยเหลือชาวบ้าน มีตัวแทนชาวบ้านในการจัดการปัญหาได้ง่ายกว่า ความซับซ้อนของปัญหาในพื้นที่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เครือข่ายนักข่าวพลเมืองและสื่อประชาชนของภาคใต้เข้มแข็งมาก”

          “กรณีภาคใต้เป็นตัวอย่างชัดมากว่านักข่าวพลเมืองเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ในภาคอื่นๆโครงสร้างทางสังคมไม่เหมือนกัน การดิ้นรนเพื่อหาพื้นที่การสื่อสารจึงมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เราสามารถทำให้สื่อมวลชน สื่อกระแสหลักมีสถานะการสื่อข่าวได้เท่ากับสื่อภาคประชาชน ภาคประชาสังคม แปลว่ามีผลต่อน้ำหนักข่าวและการรับรู้ของสังคม เพราะมีเสียงอื่นๆขึ้นมีแข่งขันกับข่าวของรัฐและข่าวของกองทัพ และเป็นเสียงที่ดังกว่าด้วย”

สู่เส้นทาง...สร้างพลังข่าวภาคประชาชน

          เมื่อถามถึงการก้าวเดินในอนาคต ชูวัส บอกว่า ‘ประชาไท’ ปรับตัวเชิงรุกรับมือภูมิศาสตร์ทางการเมืองและการสื่อสารในอนาคต ในหลายข่าวเชิงประเด็นมีเครือข่ายเจ้าของเรื่องและนักวิชาการเข้ามาช่วยสื่อสารให้แล้ว ยกเว้นบางข่าวที่ทีมงานประชาไทยังต้องให้ความสำคัญเพราะไม่มีใครกล้าทำ เช่น ข่าวผลกระทบจากมาตรา 112 ข่าวสิทธิมนุษยชน เป็นต้น และต้องไปสู่การการยกระดับการสังเคราะห์ข่าว การจัดการเชิงประเด็นให้มากขึ้น วางแผนว่าในปี 2515 ต้องสังเคราะห์ข่าวสารภาคประชาสังคมให้มีทิศทางเป็นการขับเคลื่อนเชิงประเด็น เชิงนโยบาย มีพลังในการสื่อสารได้อย่างไร

          สอง หันไปสู่งานอบรมสร้างศักยภาพการสื่อสารให้เครือข่ายมากขึ้นหวังว่าจะเป็นแรงกระเพื่อมให้ขยับสร้างพื้นที่ข่าวสารมากขึ้นไปด้วย สำหรับแผนเสริมศักยภาพโดยนั้น ภายใต้ ‘มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาชุมชน’ มี ‘ประชาไท’ ขาหนึ่งและเพิ่งเปิดอีกขาหนึ่งคือ ‘ศูนย์การเรียนรู้สื่อ’ (Media Learning Center - MLC) เป็นอีกองค์กรหนึ่งภายใต้มูลนิธิเมื่อปี 2556 ทำหน้าที่อบรมเป็นหลักกับองค์กรเครือข่าย 3 กลุ่มเป้าหมายหลักคือ 1. นักข่าว (journalist) คือสื่อกระแสหลักเดิม เช่น นักข่าวท้องถิ่นที่ไม่มีองค์กรหรือสถาบันรองรับในการเพิ่มพูนศักยภาพขอเขา 2. เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ และ 3.ประชาชนทั่วไปที่จะเป็นตัวเชื่อมของเครือข่าย (node) หรือไอดอลในเฟสบุ๊คต่อไป

           3 กลุ่มหลักที่มองไว้ข้างต้น มีโปรแกรมเข้าไปรองรับ เช่น การอบรมเรื่องเสรีภาพและความปลอดภัยในการใช้อินเตอร์เน็ต (Smart & Security digital) เป็นต้น และสำหรับกลุ่มนักข่าวภาคประชาชนอาจปรับให้เป็นระดับที่สูงขึ้น จริงมี 7 หลักสูตร คือ (1) การถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสื่อ ข่าว เสียง และภาพ (2) นวัตกรรมการผลิตสื่อ (3) การรายงานความขัดแย้งและเรื่องละเอียดอ่อน (4) จริยธรรมและการเซ็นเซอร์ (5) ความปลอดภัยในการใช้สื่อดิจิตอล (6) เศรษฐกิจ การเงิน การติดตามตรวจสอบค่าใช้จ่าย และการสร้างธรรมาภิบาลในท้องถิ่น และ (7) การสืบสวนการทุจริตและคอรัปชั่น การใช้พรบ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ รวมทั้งเรื่องยุทธศาสตร์สื่อ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เห็นภาพรวมโครงสร้างสื่อ สามารถออกแบบทั้งสื่อและสารในขบวนการเคลื่อนไหวและการสื่อสารได้ องค์กรมียุทธศาสตร์องค์กร สื่อก้ต้องมียุทธศาสตร์การสื่อสารเช่นกัน ว่าควรมีการวางยุทธศาสตร์อย่างไร รวมทั้งเรื่องการสื่อสารการตลาดขององค์กรและการขับเคลื่อนเชิงประเด็นด้วย

             ช่วงท้ายชวนคุยถึง “การปรับตัวของพื้นที่ข่าวโดยรวม” ชูวัส ชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่นักข่าวพลเมือง ข่าวภาคประชาชนกำลังยกระดับศักยภาพของตนเองขึ้นเรื่อยๆ แปรผันกับความเป็นมืออาชีพของนักสื่อสารมวลชนทั้งหลายในโลกของทีวีดิจิตอล 48 ช่องจะลดลง และคนสื่อสารสองกลุ่มนี้จะปรับตัวเข้าหากัน เราจะเห็นว่าไวรอลวีดีโอแพร่หลายออกมามากขึ้นด้วยฝีมือของสื่อประชาชน สื่อพลเมือง ต่อไปจะเป็นยุคของการจัดการข่าวสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้กระทั่งทีวีดิจิตอลที่ต้องการลดต้นทุน ถ้ามีคนมาทำให้ ทำไมเขาจะไม่เอาเนื้อหาสาระจากผู้ผลิตอิสระ

            “ดังนั้น นักข่าวพลเมืองในอนาคตจะต้องเดินหน้าเป็นมืออาชีพมากขึ้น เป็นการปรับตัวเข้าหากันระหว่างสื่อกระแสหลักกับสื่อทางเลือกอย่างมืออาชีพ ทักษะคือจริยธรรมต่างๆที่สื่อมวลชนควรมี การสื่อข่าวอ่อนไหวได้ การรู้ว่าข่าวของตนจะสร้างและมีผลกระทบอย่างไรต่อคนดู คนอ่าน รู้ว่าจะทำตลาดข่าวสารของตนเองอย่างไร วิธีสื่อสารสื่อสารอย่างไรในการนำเสนอ รู้ว่าใช้งานสื่อสังคมออนไลน์อย่างไรให้มีประสิทธิภาพอย่างหลากหลายช่องทาง ทักษะเรื่องมัลติมีเดีย การหลอมรวมสื่อโดยมีประเด็นของคุณเข้มแข็งมากขึ้น ทิศทางจะไปอย่างนั้น”

            “นักข่าวพลเมืองจะต้องทำงานกันเป็นเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนประเด็นและขยับเชิงนโยบาย อาจจะมีองค์กรที่ทำหน้าที่นี้ออกมา เช่น change.org พยายามผลักประเด็นเล็กๆ เข้าสู่การผลักเป็นนโยบายด้วยการลงชื่อสาธารณะ และ ‘ประชาไท’ เองก็จะหันกลับมาทำหน้าที่นี้มากขึ้น รวมทั้งการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ข่าวสารสู่การผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะ หรือหลอมหลายๆเครือข่ายเข้ามาทำงานด้วยกัน เพราะฉะนั้น องค์กรที่จะเข้ามาจัดการข่าวสารองค์ความรู้เช่นนี้จะเป็นเทรนด์เช่นกัน อาจจะมีคนทำน้อยก็จริงแต่ควรเป็นยุทธศาสตร์ที่ควรจะเป็น อย่าง change ก็จำเป็นต้องมีมากขึ้นเช่นกัน”

             อนาคตพลังการสื่อสารจากประชาชนคือความหวังของเรา.

             ……………………………………………………………………….

หมายเหตุ:  บทสัมภาษณ์พิเศษนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘สารตั้งต้น’ เล่ม 3 วารสารเพื่อการขับเคลื่อนสังคม ที่วางอยู่บนฐานคิด “พลังสื่อขับเคลื่อนในมือคุณ” (new media people can do) เพราะเมื่อภูมิทัศน์การสื่อสารเปลี่ยนแปลงไป วาระข่าวสารและการสื่อสารไม่ได้ผูกขาดในมือนักสื่อสารมืออาชีพอีกต่อไป และเน้นย้ำว่าสิทธิการสื่อสารเป็นเรื่องของทุกคนที่เทคโนโลยีสนับสนุนให้ทุกคนทำได้มากขึ้นจนเป็นพลังแห่งพลเมืองผู้เปลี่ยนแปลง เนื้อหาสาระจึงเป็นเรื่องราวเพื่อถ่ายถอดประสบการณ์ เปิดพื้นที่การสื่อสาร รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนลุกขึ้นมาสื่อสารเรื่องราวต่างๆ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม ชุมชน ท้องถิ่นให้ดีขึ้น ส่งเสริมสนับสนุนสังคมประชาธิปไตยและเคารพต่อเสียงที่แตกต่างกัน โดย ‘สารตั้งต้น’ เล่ม 3-4 จะออกมาต้นปี 2015