Skip to main content

กลุ่มซูวารอปัตตานี
http://voicepeace.org

ที่นี่มาเลเซีย... 

ดินแดนแห่งความหลากหลายทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรม และที่สำคัญคือการมีพรมแดนเชื่อมต่อกับ 3 จังหวัดชายแดนใต้อันเป็นพื้นที่ที่ความแตกต่างเป็นชนวนหนึ่งของความแตกแยก เราน่าจะลองมาดูกันว่าในมาเลเซียดินแดนด้านกลับทางศาสนาซึ่งคนไทยพุทธเป็นประชากรกลุ่มน้อยเสียยิ่งกว่าประชากรซาไก มาเลเซียมีวิธีการอย่างไรที่ทำให้ ‘คนไทยพุทธ’ ในมาเลเซียจึงไม่รู้สึกเป็นอื่น 

“คนไทยในมาเลเซียมีเกือบห้าหมื่นคน ส่วนซาไกมีเกือบแสนคน” บันเทิง โพธิ์แก้ว กำนันคนไทยพุทธคนเดียวในมาเลเซียกล่าวแสดงความเป็นชนกลุ่มน้อยมากในต่างแดนอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากอดีต แต่ถึงกระนั้นตำบลตาเซะที่เขาดูแลก็เคยได้เป็นตำบลดีเด่นปี 2000 จากสุลต่านแห่งมาเลเซียด้วย  

“ที่นี่เขายอมให้มีตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านและกำนันคนไทยดูแลกันเอง ปกติมาเลเซียจะไม่ให้ชาติอื่นเข้าดำรงตำแหน่งเหล่านี้เลย มีที่นี่ที่เดียว” กำนันย้ำถึงสิทธิพิเศษซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความแตกต่างไม่ขยายตัวกลายเป็นความขัดแย้งหรือความรุนแรง นอกจากนี้ยังช่วยอธิบายให้เห็นภาพโครงสร้างการปกครองทั่วไปของมาเลเซียว่า มลายูมุสลิมเท่านั้นจึงจะมีตำแหน่งผู้นำทางการได้ สำหรับชนชาติอื่นๆมากที่สุดคงเป็นได้แค่ตำแหน่งประธานคณะกรรมการหรือหัวหน้ากลุ่มเท่านั้น แต่สำหรับคนเชื้อสายไทยดูเหมือนจะได้รับการเปิดโอกาสที่มากกว่า ซึ่งที่ผ่านมายังเคยมีผู้ได้รับตำแหน่งวุฒิสภามาเลเซียถึง 4 สมัยด้วย  

“คงเพราะที่นี่มีคนไทยเยอะ” กำนันกล่าวถึงที่มาของสิทธิพิเศษ สำหรับชุมชนคนไทยบ้านตาเซะ ท่านเล่าย้อนไปว่า เมื่อก่อนในหมู่บ้านจะมีปนๆกันไปทั้งคนไทย จีน อิสลาม แต่คนไทยเลี้ยงหมู อิสลามเลยย้ายออกไป ต่อมาคนไทยมีถึง 300 - 400 หลังคาเรือน ส่วนคนจีนและอินเดียยังมีอยู่ในชุมชนบ้าง ด้านมุสลิมจะมีเฉพาะเจ้าหน้าที่เข้ามาเป็นครั้งคราว ในการจัดการความสัมพันธ์จะใช้การอยู่กันแบบเคารพไม่หมิ่นกัน ไม่ดูถูกศาสนากัน ภายในคนไทยเองก็ไม่ชิงตำแหน่งกัน  

“อยู่กันมาตั้งแต่รุ่นปู่ทวด ทวดผมมาจากธารโต ส่วนพ่อตาเป็นคนทุ่งลุง (หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา) คนไทยอยู่กันไปไกลถึงบ้านโป่ง ห่างจากที่นี่ไปอีก 13 กิโลเมตร ตรงนั้นมีคนไทยราว 20 หลังคาเรือนมีวัดเหมือนกัน แต่ค่อนข้างเป็นป่า ไม่รู้ทำไมไปอยู่กันตรงนั้น ชุมชนซาไกก็อยู่ที่นั่นด้วย” กำนันเล่าถึงครอบครัวตัวเอง ซึ่งความสัมพันธ์กับเครือญาติฝั่งไทยนั้นแกว่ายังไปมาหาสู่ตลอด โดยมากเป็นการบอกงาน เช่น แต่งงาน หรืองานตายซึ่งเมื่อไปก็ได้รับการต้อนรับกันดี  

“แต่เด็กๆไม่ค่อยไป หนักเข้าก็เริ่มเลือนๆกัน ลูกผมก็พยายามพาไป แต่คงเป็นเรื่องของแต่ละครอบครัว” รอยยิ้มของกำนันดูจางลง เราไม่รู้เหมือนกันว่ากำลังคิดอะไรอยู่ แต่ดูเหมือนอะไรบางอย่างที่มองไม่เห็นกำลังผลักความคุ้นเคยที่เป็นมาให้แยกห่างออกจากกันไปเรื่อยๆ เราจึงเปลี่ยนเรื่องไปถามถึงซาไกซึ่งเป็นอีกชาติพันธุ์หนึ่งในมาเลเซีย แต่มีส่วนหนึ่งอพยพมาจากฝั่งไทย กำนันอธิบายว่า รัฐบาลมีวิธีการดูแลที่แตกต่างออกไปจากคนไทย คือ จะมีองค์กรของรัฐโดยเฉพาะมาดูแลสวัสดิการของซาไก เช่น จัดสรรรายได้ให้ มีการสงวนเขตป่าให้อยู่ เพราะซาไกอยู่บ้านไม่ค่อยได้ คือ ถ้ารัฐให้บ้านเขาก็ไปนอนใต้ถุน จึงต้องให้อยู่กับป่า แต่รัฐบาลก็พยายามส่งเสริมให้เรียน มีอุซตาซไปสอนศาสนาและพยายามให้รับอิสลาม แต่เขาก็ยังไม่นับถือ ยังมีความเชื่อของตัวเอง หลังๆอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง จึงเห็นบางคนที่เรียนสูงๆได้รับราชการ ส่วนมากเป็นทหารและมีชื่อเสียงมากด้านความตงฉิน  

เมื่อถามถึงสถานการณ์ทางฝั่งไทย  กำนันตอบว่า เหตุการณ์ความรุนแรงต่างที่เกิดขึ้นนั้นก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะสาเหตุใด แต่ถ้าให้พูดเรื่องสิทธิในการดูแลตนเองของคนมลายูมุสลิมในประเทศไทยแล้วดูเหมือนจะได้รับมากกว่ามาเลเซียเสียอีก 

“บางคนว่ารัฐ (ไทย) ไม่เข้าถึงประชาชนตามบ้าน แต่คนไทยที่นี่ (มาเลเซีย) ฟังแล้วคนอิสลามในไทยทำได้ทุกอย่าง นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ก็ให้มุสลิมเป็นได้ แต่ที่นี่ห้ามต่างชาติดำรงตำแหน่งเลย มีเฉพาะที่นี่ (บ้านตาเซะ) เป็นข้อยกเว้น”  

เราลองขอความเห็นให้ตรงจุดลงไปที่ข้อเสนอเขตปกครองพิเศษอย่าง ‘นครปัตตานี’ ตามแนวคิดของ พล.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่เป็นข่าวคึกโครมในไทยก่อนหน้านี้ กำนันตอบว่า “มันก็หมือนจะให้พิเศษอยู่แล้ว เลือกตั้ง อบต. ก็เหมือนเขตพิเศษ มุสลิมได้รับเลือกตั้งเข้ามาก็เยอะ ก็ให้มุสลิมดูแลกันเองแล้วจะเอาอะไรอีก แต่ที่นี่ไม่ได้เลย จะสร้างวัดยังต้องเขียนโครงการว่าสร้างที่อยู่ของคนไทย และต้องเก็บเงินสร้างกันเอง และใช้คำว่าวัดไม่ได้ จึงใช้คำว่า “สภาสงกรานต์” 

อย่างไรก็ตาม  กำนันบอกว่า สิ่งทดแทนที่ทำให้คนไทยพุทธในมาเลเซียรู้สึกสบายและทำให้ไม่มีปัญหาความขัดแย้งคือเรื่อง ‘สวัสดิการ’ เช่น การศึกษา ซึ่งนอกจากนักเรียนจะได้โรงเรียนสายสามัญแล้ว การที่ไปเรียนเสริมที่วัดทำให้อ่าน เขียนไทยได้ จึงทำให้เด็กได้ 2 ภาษา ซึ่งถือว่าได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ เพราะเวลาออกไปทำงานจะมีเงินพิเศษตรงนี้ให้ นอกจากนี้ ศักดิ์ศรีของการปกครองส่วนท้องถิ่นก็ถือว่ามีมาก อย่างกำนันก็ถือว่ามีตำแหน่งเทียบเท่ากับรองปลัดอำเภอ นอกจากมีอำนาจตัดสินใจในชุมชนแล้ว เงินเดือนขั้นต่ำยังสูงถึงคือ 13,000 บาท แต่สำหรับกำนันบันเทิงซึ่งดำรงตำแหน่งนานเงินเดือนจึงขึ้นไปเกือบถึง 25,000 บาท ซึ่งการขึ้นเงินเดือนปกติจะขึ้นราวปีละ 500 – 600 บาท มีบ้านพักและมีสำนักงานประจำตำแหน่งให้ ทั้งนี้ ตำแหน่งกำนันมาจากการแต่งตั้งภายใต้อำนาจเลขาธิการรัฐ ผู้ที่จบอนุปริญญา (ประมาณ ม.5) ก็สามารถสมัครได้  

นอกจากนี้ ระบบการกระจายอำนาจของมาเลเซียยังรองรับด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้ท้องถิ่นสามารถเชื่อมโยงชี้แจงปัญหากับส่วนกลางได้แม้จะเป็นชุมชนห่างไกล โดยกำนันจะต้องมีหน้าที่ป้อนข้อมูลทางอินเตอร์เน็ทเกี่ยวกับชุมชนสม่ำเสมอ ทำให้รัฐส่วนกลางสามารถดูข้อมูลได้ทันที ข้อมูลหลักที่ต้องรายงานได้แก่ จำนวนประชากรหญิง/ชาย อายุ ที่ดินทำกิน ที่ดินรกร้าง การไฟฟ้า การประปา สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รายได้ของหัวหน้าครอบครัวซึ่งจะนำมาใช้ประมินความยากจน ถ้าเฉลี่ยแล้วมีรายได้หัวละ 1,000 บาทต่อเดือนจะถือว่าจนที่สุดต้องให้การช่วยเหลือ แต่คนที่นี่ส่วนมากไม่จน คือ ถ้าถูกประเมินว่าจน รัฐจะให้เงินอีกหัวละ 9,000 บาท นอกจากนี้จะตกแต่งบ้านและส่งเสียค่าเล่าเรียนให้ 

“ถ้ามีอย่างวงเวียนชีวิต รับรองว่ากำนันโดนเรียกสอบแน่” กำนันกล่าวติดตลกถึงรายการทีวีบ้านเราที่เสนอเรื่องราวรันทดของชีวิตมาเรียกน้ำตาได้ทุกวี่วันตลอดเป็นสิบปี แต่ถึงบัดนี้ก็ยังไม่เคยมีระบบที่ดีมารองรับผู้ด้อยโอกาสเพื่อแก้ปัญหาเสียที  

“คนที่นี่มีสวนยาง มีโฉนดที่ดินของตัวเอง ตรงนี้สบายกว่าซาไกเพราะไม่มีสิทธิรับโฉนด” กำนันบันเทิงกล่าว ส่วนเราเมื่อมองย้อนกลับไปที่บ้าน การปฏิรูปที่ดินยังคงเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงไม่ว่าจะมีการเรียกร้องกันมานานหลายสิบปีแล้ว 

อย่างไรก็ตาม กำนันยอมรับว่า มาเลเซียก็มีปัญหาเหมือนกัน อย่างในชุมชนของเขาก็มีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรก เพราะมีหลายพรรค หลายหัว ทำให้ความคิดขัดแย้งกัน อาจมีบ้างที่เอาไปนินทากันตามร้านกาแฟ แต่เมื่อมีงานชุมชนก็ยังมาช่วยกัน ปัญหายาเสพติดก็มีบ้างแต่ไม่เยอะ ส่วนมากจะเป็นกัญชา ถ้าเด็กจบ ม. 5 มีงานรองรับ ที่ไม่ทำงาน เกาะพ่อแม่กินก็มีแต่ไม่มาก หากเรียนจบสามารถทำราชการ ทหาร ตำรวจได้ แต่ส่วนมากนิยมไปทำงานบริษัทเอกชนเพราะเงินเดือนสูงกว่า  

“ไม่รู้จะแก้อย่างไร ไม่มีความเห็น” กำนันตอบเมื่อเราถามถึงทัศนะในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในฝั่งไทย “เราก็ไม่รู้ว่าในหมู่บ้านฝั่งไทยเขาอยู่กันอย่างไร เคยไปปัตตานี หาดใหญ่ สงขลา เห็นคนลำบากเยอะแต่รัฐบาลไม่มีงบพิเศษช่วยเหลือ รวมทั้งอาจเป็นเรื่องของการชิงอำนาจทางการเมือง” เขาขยายความ  

“ถ้าไม่มีฝ่ายหนึ่งแพ้หรือหยุดก็คงยาว ขอยกตัวอย่างบ้านพ่อตาที่ย้ายมาจากทุ่งลุงสมัยก่อน ย้ายมาก็เพราะมีเรื่องกัน มีการแก้แค้นกันไปมากว่าสิบปี จนหลานคนหนึ่งก่อคดีแล้วหนีมาอยู่ที่นี่ 5-6 เดือน เขาคิดว่าไม่มีอะไรแล้วก็กลับไปจึงถูกอีกฝ่ายยิงเสียชีวิต หลานเป็นคนสุดท้าย จากนั้นจึงตกลงกันว่าจะหยุด เหตุการณ์จึงสงบ คำว่าหยุดคือหยุดสักฝ่ายหนึ่ง เมื่อก่อนผมเข้าไปที่ทุ่งลุงไม่ได้เพราะกลัว แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีอะไร เป็นเรื่องนานมาแล้ว”  กำนันให้ข้อคิดแม้ว่าการหยุดความแค้นคงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก และไม่รู้ว่าจะหาใครมาคุยเพราะบัดนี้ก็ยังมองเห็นตัวตนของคู่ขัดแย้งไม่ชัด แต่มันก็อาจเป็นทางออกหนึ่งถ้าพยายามในทัศนะของเขาในฐานะคนที่เคยสูญเสียจากเหตุการณ์แบบนี้คนหนึ่ง

ปัจจุบัน  กำนันบันเทิงอายุใกล้ครบ 58 ปีและกำลังจะเกษียณในปีนี้ ชีวิตหลังจากนี้คือรับบำนาญ ใช้ชีวิตเรียบง่ายและคงเป็นที่ปรึกษาในฐานะผู้หลักผู้ใหญ่สำหรับชุมชนไทยพุทธในประเทศเพื่อนบ้านของเราต่อไปเรื่อยๆความสุขแบบนี้คงมีได้เฉพาะสำหรับผู้คนในดินแดนที่ความแตกต่างไม่ใช่เงื่อนไขของความรุนแรง เราได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งความสงบแบบนี้คงกลับคืนมาที่ดินแดนปลายด้ามขวานของเราอีกครั้ง