Skip to main content

หมายเหตุ: ข้อเขียนนี้ เป็นการเรียบเรียงจากการบรรยายในห้องเรียนรายวิชาสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และสันติภาพ หลักสูตรปริญญาโท สาขาความขัดแย้งและสันติศึกษา สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2558 บรรยายโดย Dr. Norbert Ropers และนางสาวอภิชญา โออินทร์ อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา

00000

การจัดการกับอดีต (Dealing with the past) เป็นประเด็นที่สำคัญและซับซ้อนมากในการศึกษาเรื่องความขัดแย้งและสันติภาพ โดยประเด็นดังกล่าวจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับช่วงระยะเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่มีความขัดแย้งและความรุนแรง ไปสู่สังคมที่มีความสัมพันธ์ใหม่ที่ปราศจากความรุนแรงทางตรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้าง นอกจากนี้การเปลี่ยนผ่านลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นในกรณีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตยด้วย ซึ่งทั้งความขัดแย้งรุนแรงและระบอบเผด็จการมักมีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นเสมอ ทั้งที่กระทำโดยรัฐและกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่สังคมกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบใหม่หรือความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบใหม่ ผู้คนมักตั้งคำถามว่า เราจะจัดการกับอดีตอันเจ็บปวดของผู้คนที่ถูกละเมิดอย่างไร?

ก่อนจะเรียนรู้ว่ามีเรามีวิธีการจัดการกับอดีตอย่างไรบ้าง ขั้นแรกเราควรทำความเข้าใจว่าในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน เราจะต้องเผชิญกับความย้อนแย้งพื้นฐานระหว่างเป้าหมายสองประการ ได้แก่ “สันติภาพ” และ “ความยุติธรรม” อย่างไรบ้าง

มักจะมีการพูดกันอยู่เสมอว่าเป้าหมายปลายทางของการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งคือได้มาซึ่ง “สังคมที่มีสันติภาพและเป็นธรรม (Just Peace)” ในแง่หนึ่ง สันติภาพและความยุติธรรมเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันและหนุนเสริมกันเสมอ กล่าวคือ สังคมจะก้าวเข้าสู่สันติภาพเชิงบวกได้ ก็ต้องมีโครงสร้างที่เอื้อต่อความยุติธรรมสำหรับคนทุกกลุ่ม ในขณะเดียวกันจะสร้างสังคมที่เป็นธรรมและปราศจากความรุนแรงทางตรงได้ก็ต้องอาศัยกระบวนการสันติภาพ จะเห็นได้ว่าทั้งงานด้านยุติธรรมและงานกระบวนการสร้างสันติภาพต่างก็มีความสำคัญพอๆกัน แต่ในอีกแง่หนึ่ง งานที่มีเป้าหมายซึ่งหนุนเสริมกันและกันดังกล่าวก็มีความตึงเครียดบางอย่างปรากฏอยู่ ลองพิจารณากรณีการสร้างสันติภาพในซูดานใต้ ซึ่งเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2009 มีคำสั่งจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) ให้จับกุมประธานาธิบดี Omar al-Bashir ของซูดาน ด้วยข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) และก่ออาชญากรรมสงคราม (War crimes) (ดูเพิ่มเติม) แต่คำสั่งจับกุมดังกล่าวถูกคัดค้านโดย African Union (AU) และ Organization of Islamic Cooperation (OIC) ด้วยข้อกังวลที่ว่าการจับกุมประธานาธบดี Bashir จะทำลายกระบวนการเจรจาสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ เนื่องจากเขาเป็นหนึ่งในคนสำคัญของกระบวนการดังกล่าว

คำถาม: คุณจะเลือกให้จับกุมและลงโทษทันทีเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนใน Darfur ที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมที่เขาก่อ แต่การเจรจาเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอาจล้มเหลว หรือจะเลือกให้ชะลอการจับกุมและปล่อยให้ Bashir เข้าร่วมกระบวนการเจรจาจนเสร็จสิ้นและได้ข้อตกลงที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งอาจทำให้เขาได้รับการลงโทษช้าลงหรืออาจจะไม่ต้องรับโทษ (Impunity) หากมีการตกลงกันระหว่างการเจรจา? กรณีเช่นนี้คุณจะตัดสินใจเลือกอย่างไร เพราะเหตุใด?

มาถึงตรงนี้ คุณเริ่มเห็นความย้อนแย้งและความตึงเครียดที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านแล้วหรือยัง?

กระทั่งในพื้นที่ความขัดแย้งที่ยังไม่ถึงช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นทางการ เราก็สามารถสังเกตความตึงเครียดดังกล่าวได้จากการทำงานเพื่อสร้างสันติภาพขององค์กรสองประเภท ได้แก่ องค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนและองค์กรที่ส่งเสริมสันติภาพ

ประเภทแรก องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามักมีเป้าหมายสูงสุดคือ “ความยุติธรรม” และยึดมั่นในความยุติธรรมและการเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการสากล หลักการนั้นถูกละเมิด ผู้กระทำผิดจะต้องได้รับการประณามและลงโทษ ผู้เสียหายจะต้องได้รับการชดเชย จะเห็นได้ว่า กิจกรรมหลักๆขององค์กรประเภทนี้ ได้แก่ การออกแถลงการณ์ประณามผู้กระทำผิด การเรียกร้องต่อรัฐให้ยกเลิกนโยบายหรือมาตรการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ในการรณรงค์/การสืบสวนเพื่อตีแผ่ความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งนี้ ตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กรเหล่านี้มักพิจารณาที่ “ผลลัพท์” กล่าวคือ กรณีการละเมิดได้รับการสอบสวนและจัดการอย่างเป็นธรรม รวมถึงผู้กระทำผิดได้รับการลงโทษ ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างงานด้านสิทธิมนุษยชนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งมีการจัดตั้งอาสาสมัครปฏิบัติการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Rangers)  เพื่อทำภารกิจในการเก็บบันทึกและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ความขัดแย้งทั่วประเทศ โดยภารกิจดังกล่าวมีเป้าหมายระยะยาวเพื่อการตีแผ่ข้อมูล ประณามผู้กระทำผิด และผลักดันให้มีกระบวนการสอบสวนและลงโทษผู้กระทำผิดเหล่านั้น (ดู ตัวอย่างองค์กรที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน)

ในขณะเดียวกันก็มีงานอีกประเภทหนึ่งที่มีเป้าหมายคือ “สันติภาพ” ซึ่งองค์กรที่ทำงานด้านนี้จะใช้แนวทางที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติและนำไปสู่เป้าหมาย กล่าวคือ ค่อยๆ ดำเนินการไปที่ละอย่าง เป็นขั้นตอนไป มีการปรับแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับช่วงเวลาและระดับของความขัดแย้ง นอกจากนี้ผู้ทำงานลักษณะนี้มักมีปฏิสัมพันธ์กับทุกฝ่ายแต่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Multi-partiality) รวมถึงมีการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบ กิจกรรมส่วนใหญ่ขององค์กรประเภทนี้จะเกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวก การไกล่เกลี่ยตัวกลาง การเชื่อมโยงผู้คนต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งร่วมกัน ทั้งนี้ ตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กรเหล่านี้มักพิจารณาที่ “กระบวนการ” กล่าวคือ ความสามารถในการประคับประคองกระบวนการสร้างสันติภาพให้ดำเนินต่อไปได้ ผ่านกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างฝ่ายต่างๆ และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการประนีประนอม พร้อมทั้งแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ สำหรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ตัวอย่างองค์กรด้านการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ได้แก่ Shalom Foundation

ตารางเปรียบเทียบลักษณะขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรด้านสันติภาพ

 

งานสิทธิมนุษยชน

งานเพื่อแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง

ความยุติธรรม

สันติภาพ

แนวทางที่ยึดตามหลักการ

แนวทางที่เน้นความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

ประณามผู้กระทำผิด

มีปฏิสัมพันธ์กับทุกฝ่ายแต่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Multi-partiality) รวมถึงมีการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อฝ่ายต่างๆ (Showing sympathy)

การรณรงค์/การสืบสวนเพื่อตีแผ่ความจริง

การอำนวยความสะดวก การไกล่เกลี่ยตัวกลาง การเชื่อมโยง

ความสำเร็จดูที่ผลลัพท์

ความสำเร็จดูที่กระบวนการ

 

แน่นอนว่า ในทางปฏิบัติ ลักษณะขององค์กรสองประเภทไม่ได้แตกต่างกันอย่างเด็ดขาดดังตารางข้างต้น แต่มีลักษณะบางอย่างร่วมกันอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม หากคุณพิจารณาลักษณะการทำงานขององค์กรทั้งสองประเภทอย่างคร่าวๆ ดังกรณีตัวอย่างองค์กรในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ข้างต้นแล้ว จะพบความขัดแย้งบางอย่าง แม้ว่าองค์กรทั้งสองมีเป้าหมายสูงสุดที่ “สังคมที่มีสันติภาพและเป็นธรรม (Just Peace)” เหมือนกันก็ตาม เช่น สมมติว่ามีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เก็บรวบรวมโดยอาสาสมัครปฏิบัติการสิทธิมนุษยชน รวมถึงเรียกร้องให้ไต่สวนและลงโทษผู้กระทำการละเมิด ในขณะที่องค์กรส่งเสริมสันติภาพพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ขัดแย้งเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกระบวนการเจรจาไกลเกลี่ยระหว่างกลุ่มต่างๆในอนาคตอันใกล้ การเปิดเผยข้อมูลนั้นอาจทำให้การเตรียมกระบวนการเจรจาต้องหยุดชะงัก เนื่องจากคู่ขัดแย้งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะไม่มีความเชื่อมั่นในกระบวนการอีกต่อไป แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเจรจาโดยที่ผู้กระทำผิดไม่ได้รับการลงโทษ (Impunity) ก็อาจทำให้เกิดสันติภาพที่ไม่แน่นอนและไม่ยั่งยืน เป็นต้น

            ท้ายที่สุด เราในฐานะผู้ปฏิบัติการเพื่อสร้างสันติภาพด้วยงานด้านต่างๆ อาจจะไม่สามารถก้าวข้ามภาวะย้อนแย้งดังกล่าวได้อย่างสิ้นเชิง แต่การดำเนินกิจกรรมและพันธกิจขององค์กรอย่างระมัดระวัง โดยตระหนักถึงงานและพันธกิจขององค์กรอื่นๆ ที่อาจหนุนเสริมหรือขัดแย้งกัน ก็จะทำให้การสร้างสันติภาพในภาพรวมดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในการพิจารณาความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า การกระทำที่เป็นการละเมิดดังกล่าวเป็นสาเหตุหรืออาการของความขัดแย้ง เพื่อให้เห็นความซับซ้อนที่มากขึ้นและพลวัตที่รวดเร็วขึ้นในขณะที่ความขัดแย้งขยายตัวและยืดเยื้อ ดังภาพ

รูปแสดงการตีความการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เอกสารอ้างอิง

Jonathan S. et al. (2010). Dealing with the Past (Vol. 50). Bern: Federal Department of Foreign Affairs FDFA.