Skip to main content

สุวรา แก้วนุ้ย อาจารย์นักวิจัย,
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มอ. ปัตตานี

 

“โพลสันติภาพช่วยสร้างบทสนทนาที่มีความหมาย เป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นกลไกที่สามารถ ‘ต่อสาย’ ระหว่างประชาชนและนักการเมืองได้อย่างเป็นระบบ มากกว่านั้น โพลดังกล่าวยังช่วยสร้างการประนีประนอม หาจุดร่วม และช่วยทดสอบร่างข้อตกลงสันติภาพ เป็นวิธีในการช่วยสร้างกิจกรรมในหลากหลายช่อง (multi-track activity)” -- Dr.Colin John Irwin

โพลสันติภาพถูกพัฒนาขึ้นโดย Dr.Colin John Irwin นักวิจัยประจำสถาบันไอริชศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์ (Queen’s University) ณ กรุงเบลฟาสต์ เมืองหลวงของไอร์แลนด์เหนือ โดยทำโพลสันติภาพ 10 ครั้ง ในช่วงระหว่างปี 1996-2008 ซึ่งการทำโพล 8 ครั้งในจำนวน 10 ครั้ง ทำในช่วงที่มีการเจรจาสันติภาพกันอย่างเข้มข้น ช่วงปี 1996-2000 โพลสันติภาพนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการสร้างฉันทามติสำหรับ ‘Belfast Agreement’ ในปี 1998 ที่สามารถนำเสียงของประชาชนเข้าสู่กระบวนการเจรจาได้ทางหนึ่ง ทว่าเกิดขึ้นโดยตนเองไม่ได้ ต้องเดินคู่ไปกับกระบวนและกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และโพลสันติภาพต้องทำควบคู่ไปกับกระบวนการทางการเมืองอื่นๆ ที่มุ่งเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

โพลสันติภาพ (Peace Poll): ความหมายและคุณลักษณะ

โพลสันติภาพ คือ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ/ สันติสุข ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่การสอบถามความคิดเห็นในภาพรวมการดำเนินงานกระบวนการสันติภาพ/ สันติสุข การสำรวจมุมมองต่อสาเหตุความขัดแย้ง การสอบถามทางเลือกต่างๆ ที่อาจเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา ไปจนกระทั่งถึงข้อคิดเห็นที่เกี่ยวกับข้อตกลงและการนำข้อตกลงไปสู่การปฏิบัติ โพลสันติภาพแตกต่างจากโพลทั่วไป คือ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในปัญหาความขัดแย้ง โดยเฉพาะคู่ขัดแย้งหลักจำเป็นต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น โดยมีคุณลักษณะเฉพาะ ดังนี้

  1. ขัดแย้งหลัก และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับรู้ว่าจะมีการทำโพลสันติภาพ
  2. ทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนในการร่วมร่างแบบสอบถามและมีความเห็นชอบกับทุกคำถามที่นำไปสอบถามประชาชน
  3. การประมวลผลและการวิเคราะห์ข้อมูล จะดำเนินการโดยคณะวิชาการที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งจะเผยแพร่ผลการสำรวจสู่สาธารณะในวงกว้างต่อไป

โพลสันติภาพ (Peace Poll): ประโยชน์ต่อกระบวนการสันติภาพ/ สันติสุข

  • ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ/ สันติสุข ในลักษณะที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ไม่ตั้งอยู่บนความรู้สึกหรือการคาดเดา
  • ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตนมีช่องทางในการแสดงออกความคิดเห็น และนำไปสู่ความรู้สึกเป็นเจ้าของในกระบวนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
  • กระตุ้นให้สังคมได้รับรู้ และตื่นตัวกับกระบวนการสันติภาพ/ สันติสุข
  • เป็นโอกาสให้คู่ขัดแย้งและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในปัญหาความขัดแย้ง ได้ทำงานร่วมกัน

โพลสันติภาพ (Peace Poll): ขั้นตอนการดำเนินการในเชิงหลักการ

  1. ประสานกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักเพื่อชี้แจงแนวคิดและขั้นตอนการดำเนินการ
  2. ร่วมคิดและร่างแบบสอบถาม รวมทั้งกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะสอบถาม โดยให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ร่วมกัน
  3. ดำเนินการสอบถามประชาชนกลุ่มเป้าหมาย
  4. ประมวลผลและวิเคราะห์ผลการสำรวจ
  5. นำเสนอต่อสาธารณะ

โพลสันติภาพ (Peace Poll) VS การสำรวจความเห็นด้านสันติภาพ (Peace Survey)

ที่ผ่านมา ท่ามกลางความขัดแย้งและความรุนแรงยืดเยื้อเรื้อรังในพื้นที่ชายแดนใต้ มีสถาบันการศึกษาจำนวนหนึ่งทั้งในส่วนกลาง กรุงเทพฯ และในพื้นที่ ได้ออกแบบการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสันติภาพขึ้น หากพิจารณาการทำโพลเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพในภาคใต้ที่ผ่านมา ยังเป็นเพียงการสำรวจความเห็นด้านสันติภาพ โดยเป็นการวิจัยที่เน้นการศึกษารวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อสอบถามความคิดเห็น ทัศนคติ ความรู้สึก ที่เป็นส่วนสนับสนุนในกระบวนการสันติภาพ ซึ่งเป็นการค้นหาข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ในทางปฏิบัติหากจะยกระดับให้การสำรวจความเห็นด้านสันติภาพ เป็นโพลสันติภาพนั้น จำเป็นต้องมีความเชื่อมโยงกับคุณลักษณะเฉพาะ 3 ประการของโพลสันติภาพด้วย

ในทางหลักการวิจัยเชิงสำรวจการทำโพลสันติภาพเป็รส่วนหนึ่งของการสำรวจความคิดเห็นด้านสันติภาพ ดังแสดงตามภาพ Peace Poll VS Peace Survey ในเอกสารแนบ

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการนำโพลสันติภาพมาใช้ในภาคใต้

       1. จะทำให้โพลสะท้อนความเห็นของกลุ่มศาสนาและชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างสมดุลได้อย่างไร? ภูมิหลังในทางด้านศาสนาและชาติพันธุ์นั้นจะมีความสัมพันธ์กับการมองปัญหาและแนวทางการแก้ไขของผู้ที่ตอบคำถามในภาคใต้ สัดส่วนมุสลิมกับพุทธ 80:20 ฉะนั้น การสำรวจต้องพิจารณาความเห็นทั้งแบบภาพรวมและการดูความเห็นภายในกลุ่มด้วย มิฉะนั้น จะเสี่ยงต่อการมองข้ามความเห็นของกลุ่มคนพุทธ

       2. จะทำให้โพลเป็นอิสระและเป็นกลางได้อย่างไร? โพลที่เอียงข้าง (Partisan Poll) อาจจะทำให้เกิดปัญหามากกว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพยายามที่จะใช้โพลเพื่อการผลักดันวาระหรือรักษาสถานภาพของตนเอง การทำโพลต้องทำโดยกลุ่มที่มีอิสระและเป็นกลาง มีแหล่งทุนที่เป็นกลางและต้องพยายามนำเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเข้ามาร่วมในกระบวนการนี้

      3. จะใช้วิธีทำโพลอย่างไรให้คนกล้าแสดงความคิดเห็นที่แท้จริง? วิธีการทำโพลต้องทำให้เกิดความมั่นใจและกล้าแสดงความคิดเห็น ประเด็นเรื่องการปกครองพิเศษหรือเอกราชเป็นประเด็นอ่อนไหว การให้เจ้าหน้าที่ที่เขาไม่รู้จักไปสอบถามต่อหน้า อาจจะทำให้ผู้ตอบไม่กล้าพูดความจริง อาจให้ผู้ตอบแบบสอบถามตอบกลับแล้วส่งไปรษณีย์กลับมา โดยไม่ระบุชื่อผู้ส่งอาจจะมีการทำแบบสอบถามเป็นสองภาษา คือ ไทย - มลายู เพื่อให้สื่อสารได้ดียิ่งขึ้น

     4. จะใส่เรื่องเอกราช (Merdeka) ในการทำโพลสันติภาพได้หรือไม่? การเรียกร้องเอกราชเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญไทย การใส่ประเด็นนี้เข้าไปในฐานะตัวเลือกทางการเมืองรูปแบบหนึ่งจะทำได้หรือไม่ การใส่เรื่องนี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้ฝ่ายรัฐไทยไม่พอใจ อาจจะนำไปสู่การแทรกแซงเพื่อยุติการทำโพลได้ แต่ว่าหากไม่ใส่ประเด็นนี้เข้าไป ก็อาจจะทำให้ชาวมลายูมุสลิมวิจารณ์ว่าโพลขาดความสมดุล โจทย์เฉพาะหน้าคือ ภายใต้บริบทหลังรัฐประหาร เพดานของข้อถกเถียงในการทำโพลสันติภาพจะทำได้แค่ไหน อย่างไร

     5. จะนำคู่ขัดแย้งเข้ามาสู่กระบวนการร่างคำถามสำหรับโพลสันติภาพได้อย่างไร? คู่ขัดแย้งต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบคำถาม และต้องสัมพันธ์กับประเด็นที่ถกเถียงกันในแทร็ก - 1 การนำเอาบุคคล/หน่วยงานต่างๆของ ‘Party A’ และ ‘Party B’ มาร่วมกันออกแบบโพล จะเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง

     6. บริบทการเมืองส่วนกลางจะเป็นปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการทำโพลสันติภาพหรือไม่ อย่างไร? บริบทการเมืองส่วนกลางซึ่งที่ผ่านมามีการแตกแยก ไร้เสถียรภาพจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อความก้าวหน้าของกระบวนการสันติภาพในภาคใต้

    7. จะมียุทธศาสตร์ในการทำงานกับสื่อเพื่อทำให้โพลสันติภาพมีผลสะเทือนต่อการดำเนินนโยบายมากขึ้นได้อย่างไร? สื่อเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญมากในการทำโพลสันติภาพ การทำงานของสื่อ ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกที่ผ่านมายังคงไม่ค่อยเอื้อต่อกระบวนการสันติภาพมากนัก การสร้างความสัมพันธ์อันดีและการให้ความรู้สื่อกระแสหลักในเรื่องโพลสันติภาพ การใช้สื่อทางเลือกเป็นช่องทางในการสื่อสารข้อมูลที่มีความลึกมากขึ้น ในระยะยาวจำเป็นจะต้องสร้างสื่อที่มีแนวคิดวารสารศาสตร์สันติภาพให้มากขึ้นด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. ศูนย์ทรัพยากรสันติภาพ. แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับโพลสันติภาพ (Peace Poll). สรุปจาก Colin Irwin.2012. The People’s Peace: Pax Dei’ How Peace Poll are Democratizing the Peace Making Process. Scotts Valley, CA: CreateSpace.
  2. สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้. สรุปการประชุมปฏิบัติการ การติดตามตรวจสอบและการรายงานสันติภาพ (Peace Monitoring and Reporting workshop).วันที่ 13-15 ตุลาคม 2557 ณ โรงแรมเอทัส สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร. สรุปสาระสำคัญและเรียบเรียงโดย ฐิตินบ โกมลนิมิ.
File attachment
Attachment Size
slide1_2.jpg (122.12 KB) 122.12 KB