Skip to main content
ฟารีดา ปันจอร์
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้
 

หลังจากกระบวนการสันติภาพมินดาเนาดำเนินมาได้ระยะหนึ่งตามโรดแมบที่ได้กำหนดไว้  โดยถึงขั้นตอนที่ร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร (The Proposed Bangsamoro Basic Law - BBL) กำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยสมาชิกรัฐสภาของฟิลิปปินส์  กระทั่งในวันที่ 25 มกราคม  2558 ที่ผ่านมา เกิดเหตุปะทะครั้งใหญ่ระหว่างขบวนการติดอาวุธ (MILF, BIFF, PAGs) และกองกำลังพิเศษ (Special Action Force –SAF) ระหว่างปฏิบัติการพิเศษต่อต้านการก่อการร้าย ที่เรียกว่า Oplan Exodus ที่เมืองมามาซาปาโน ในจังหวัดมากินดาเนาทางตะวันตกของเกาะมินดาเนา ความรุนแรงระรอกใหม่นี้ถือเป็นเหตุการณ์สูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีการเซ็นกรอบข้อตกลงบังซาโมโร (Framework Agreement  on the  Bangsamoro - FAB) ระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front - MILF) เมื่อวันที่  27 มีนาคม 2557  มีผลทำให้กองกำลังพิเศษซึ่งขึ้นตรงต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ (The Philippine National Police -PNP) เสียชีวิตไป 44 นาย  กลุ่มขบวนการติดอาวุธ อย่างน้อย 18 รายและพลเมืองอีก 4 คนเสียชีวิต ก่อให้เกิดคำถามขึ้นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นผลกระทบและท้าทายอย่างไรต่อ กระบวนการสันติภาพที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ระหว่างรัฐบาลและ MILF

ภาพประกอบ  1: สถานเกิดเหตุการณ์ปะทะหว่างกองกำลังพิเศษ SAF และกลุ่มติดอาวุธ (ที่มา http://www.rappler.com/newsbreak/in-depth/82803-mamasapano-combat-zone-saf-story)

หากจะกล่าวถึงประสบการณ์ของฟิลิปปินส์ ความรุนแรงในระหว่างการดำเนินกระบวนการสันติภาพไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ในช่วงปี  2539  2543  และ 2546  กระนั้นก็จำเป็นต้องอาศัยเวลากว่ากระบวนการสันติภาพจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ สำหรับเหตุรุนแรงในครั้งนี้ถือว่ากระทบต่อกรอบเวลาและขั้นตอนที่เหลืออยู่ของกระบวนการสันติภาพ  ทั้งการพิจารณาร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร และขั้นตอนของการก่อตั้งรัฐบาลบังซาโมโรในช่วงปี 2559  หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่เมืองมามาซาปาโน สภานิติบัญญัติของฟิลิปปินส์ได้ชะลอการกระบวนการร่างกฎหมายบังซาโมโรเอาไว้ทันที  โดยพวกเขาได้หันให้ความสำคัญกับการสืบหาข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ปะทะที่เกิดขึ้น เพื่อค้นหาสาเหตุต่างๆ จากคณะกรรมการแต่ละชุด ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสืบหาข้อเท็จจริงครั้งนี้

ประเด็นที่ได้รับความสนใจและถูกตั้งคำถามทันทีจากสมาชิกรัฐสสภาของฟิลิปปินส์ คือความจริงใจของฝ่าย MILF ต่อกระบวนการสันติภาพ เนื่องจากหลังจากเหตุการณ์ มีคลิปวิดีที่ฝ่ายกองกำลังพิเศษที่ถูกทำร้ายเผยแพร่ออกมาในโซเชียลมีเดียมีหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นการกระทำของ MILF  และได้เชื่อมโยงว่า  MILF เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งวุฒิสมาชิกท่านหนึ่งถึงกับถอนการรับร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรเข้ามาพิจารณาในสภา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการไม่ยอมรับผลที่เกิดขึ้นจากการกรอบข้อตกลงบังซาโมโรก่อนหน้านี้  อย่างไรก็ตาม ฝ่าย MILF มีโอกาสชี้แจงในครั้งแรกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวทีการรับฟังความคิดเห็นของวุฒิสภา (The Senate hearing on the Mamasapano clash) ต่อกรณีการปะทะในเหตุการณ์ที่เมืองมามาซาปาโน

ภาพประกอบ 2: ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 โมฮาการ์ อิกบาล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพของ MILF  ชี้แจงต่อวุฒิสภาในเวทีรับฟังความเห็น ต่อกรณีการปะทะในเหตุการณ์ที่เมืองมามาซาปาโน  (ที่มา: http://www.rappler.com/nation/83730-full-text-mohagher-iqbal-statement-senate-hearing)

 

ความท้าทายต่อมาคือ เกิดคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของกลไกยุติความรุนแรงในระหว่างการดำเนินกระบวนการสันติภาพ หรือ การละเมิดข้อตกลงหยุดยิงโดยคู่ขัดแย้ง กล่าวคือมีหลักฐานที่ชี้ว่าในช่วงก่อนการปฏิบัติการ SAF และ MILF ไม่มีประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานที่ปฏิบัติการในพื้นที่กับ คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการหยุดยิง เช่น คณะกรรมการร่วมเพื่อลดการเป็นปรปักษ์ (Coordinating Committee of the Cessation of Hostilities -CCCH) และคณะทำงานเฉพาะกิจ (Ad Hoc Joint Action Group - AHJAG)

จากข้อสงสัยสู่รายงานการสืบหาข้อเท็จจริงฉบับต่างๆ

หลังจากวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา สื่อสารมวลชนในประเทศต่างให้ความสนใจและให้ข้อมูลเกี่ยวกับจากปฏิบัติการของ SAF ในปฏิบัติการ Oplan Exodus ว่าเป็นปฏิบัติการเพื่อการจับกุมตัวผู้ก่อการร้ายที่ทางรัฐบาลฟิลิปปินส์และสำนักงานสอบสวนกลางหรือ FBI  สหรัฐอเมริกา ต้องการมากที่สุด คือ Zulkifli Bin Hir alias หรือ “Marwan”  และ Amin Baco ชาวมาเลเซีย  อีกทั้งหัวหน้ากลุ่ม Abu Sayaff ซึ่งก็คือ Ahamad Akmad atabl Usman (Usman) ชาวฟิลิปปินส์  ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ควบคุมของ MILF  ปฏิบัติการดังกล่าวของ SAF ทำให้เกิดการปะทะระหว่างกองกำลัง SAF  กับ MILF กลุ่มนักรบอิสระอิสลามบังซาโมโร (Bangsamoro Islamic Freedom Fighters -BIFF) และกองกำลังติดอาวุธอิสระอื่นๆ  (Private armed groups – PAGs)  มีผลทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แม้จะสามารถสังหาร Marwan ได้แทบจะในทันที

ความสูญเสียดังกล่าวทำให้ สื่อมวลในประเทศให้ความสนใจในประเด็นของการ ปฏิบัติการต่อสู้ที่ผิดพลาด (Misencounter) ทำให้ตำรวจชุดกองพิเศษเสียชีวิตถึง 44 นาย นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริง ทั้งจากฟากฝั่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ  ซึ่งมีประมาณ 7  หน่วยงาน ได้แก่  สมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรของฟิลิปปินส์  คณะกรรมการสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์  (The PNP Board of Inquiry) กองทัพฟิลิปปินส์ (Armed Forces of the Philippines) กระทรวงยุติธรรม (The Department of Justice-DOJ) คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฝ่าย MILF (The MILF Special Investigative Commission) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Commission on Human Rights -CHR) และคณะกรรมระหว่างประเทศเพื่อประเมินติดตามกระบวนการสันติภาพ  (International monitoring team of the peace process- IMT)  การสืบหาข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์ดังกล่าขวเกิดขึ้นเพื่อที่จะทำให้เกิดความเข้าใจต่อประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อสงสัยจากมุมมองของแต่ละหลายฝ่าย อีกทั้งการเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงกระบวนการและขั้นตอนสู่สันติภาพมินดาเนาของในอนาคต

ภาพประกอบ 3: ความสูญเสียที่เกิดขึ้นของกองกำลังเศษ SAF (ที่มา http://www.rappler.com/newsbreak/in-depth/82803-mamasapano-combat-zone-saf-story)

มุมมองที่หลากหลายจากรายงานสืบหาข้อเท็จจริง

วันที่ 13 มีนาคม  2558 คณะกรรมการสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ ได้เผยแพร่รายงาน 130 หน้า ว่าด้วยการปะทะที่เมืองมามาซาปาโน ในบทสรุปผู้บริหารของคณะกรรมการชุดนี้ได้มุ่งไปสู่คำถามสำคัญในหลายประเด็นด้วยกันว่า ตำรวจจากชุดหน่วยรบพิเศษดังกล่าวถูกสังหารได้อย่างไร ใครที่เป็นผู้ที่รับผิดชอบการตายของพวกเขา สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดการปะทะและกองกำลังไหนที่เผชิญหน้ากับกองกำลัง SAF ในรายงานมีข้อค้นพบหลายประเด็นด้วยกัน แต่มุ่งเน้นไปที่ประเด็นต่างๆ ได้แก่ ความรับผิดชอบของประธานาธิบดีต่อการปฏิบัติการทางทหาร  การไม่ปฏิบัติตามสายการบังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชา การดำเนินงานที่ผิดพลาดในขั้นตอนของการปฏิบัติการ และ ความผิดพลาดของ SAF ในการประสานกลไกการหยุดยิงตามข้อตกลงหยุดยิง แม้รายงานประกอบไปด้วยข้อมูลที่มีความหลากหลายรอบด้าน กระนั้นรายงานชิ้นนี้ก็ยังมีข้อจำกัดการเข้าถึงข้อมูลสำคัญๆ เช่น ข้อมูลปากคำของประธานาธิบดี  ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของกองทัพฟิลิปปินส์ และหลักฐานการรับส่งข้อมูลทางโทรศัพท์ในช่วงของการปฏิบัติการ ซึ่งจำเป็นต้องตรวจสอบด้วยกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์

ภาพประกอบ 4: รายงานคณะกรรมการสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ (ที่มา: http://www.untvweb.com/news/report-ng-boi-sa-mamasapano-clash-bubusisiin-ng-nbi-nps-special-investigation-team/)

 

วันที่ 17 มีนาคม  วุฒิสภาได้เผยแพร่ร่างรายงานฉบับเต็ม 129  หน้า ว่าด้วยเหตุการณ์ปะทะที่เมืองมามาซาปาโน ในรายงานฉบับนี้ได้ระบุถึงความรับผิดชอบของประธานาธิบดีที่ได้สั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่เคยถูกสั่งพักงานไว้ก่อนหน้านี้เป็นผู้บัญชาการปฏิบัติการ อีกทั้งยังได้ระบุถึงความผิดพลาดและมีคำถามต่อความน่าเชื่อถือในปฏิบัติการทางทหารซึ่งส่งผลให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ไม่ได้ใช้คำว่าการปฏิบัติการดังกล่าวเป็น “การต่อสู้ที่ผิดพลาด”  แต่ใช้คำว่า  “การสังหารหมู่” ทำให้นายตำรวจเสียชีวิต 44 คน ซึ่งเป็นผลจากการต่อสู้ระหว่าง SAF และ MILF โดยรายงานระบุว่ากลุ่ม MILF นั้นเป็นผู้เริ่มระดมยิงอาวุธเข้าใส่กองกำลังพิเศษก่อน กระนั้นเป็นประเด็นนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับรายงานของ MILF  สุดท้ายรายงานของวุฒิสภายังสะท้อนให้เห็นที่มุมมองที่ไม่เห็นด้วยต่อสำนักงานที่ปรึกษาประธานาธิบดีว่าด้วยกระบวนการสันติภาพ (OPAPP) ในการดำเนินข้อตกลงสันติภาพและร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรกับ MILF

วันที่  23 มีนาคม หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพของ MILF  โมฮาการ์ อิกบาล ได้เสนอรายงานเหตุการณ์ปะทะจาก  MILF จำนวน 35 หน้า ต่อวุฒิสภา หลังจากที่เขาได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการวุฒิสภาก่อนหน้านี้ รายงานมุ่งในประเด็นจากการรวบรวมข้อเท็จจริงว่า กองกำลังอิสลามบังซาโมโร หรือ BIAF (Bangsamoro Islamic Armed Forces- BIAF ) เป็นปีกการทหารของกองกำลัง MILF  ที่มีความชอบธรรมในการป้องกันตัวเองจากกอง SAF  ซึ่งรายงานระบุว่า SAF ยิงอาวุธเข้าใส่สมาชิกของ MILF ก่อนทำให้เสียชีวิตไปสองราย แต่ด้วยความชำนาญที่เหนือว่าในสภาพภูมิประเทศแถบนั้น ทำให้พวกเขาสามารถที่จะหลบซ่อนตัวและตอบโต้กลับไปได้   รายงานระบุว่าไม่มีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและ MILF  ในการบังคับใช้ข้อตกลงผ่านกลไกที่มีอยู่คือ  AHJAG และ CCCH   ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว  AHJAG จะต้องแจ้งต่อ CCCH ของฟากฝั่งรัฐบาลและ  MILF ก่อน 24 ชั่วโมงก่อนการปฏิบัติการ เพื่อที่จะมีเวลาอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่สู้รบ  นอกจากนี้ MILF ปฏิเสธคลิปวิดีโอที่บ่งชี้ว่าสมาชิกของ MILF นั้นทำร้ายสมาชิกของชุดกองกำลังพิเศษ เนื่องจากในพื้นที่แถบนั้นมีกองกำลังติดอาวุธอื่นๆ เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ด้วย  กระนั้นรายงานหลายฉบับก่อนหน้านี้ระบุว่า MILF มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปะทะ

ภาพประกอบ 5: รายงานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงของ MILF (ที่มา: http://www.philstar.com/headlines/2015/03/24/1437065/milf-submits-mamasapano-report-justifies-fighting-back)

 

วันที่  5 เมษายน คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อประเมินและติดตามกระบวนการสันติภาพ หรือ  IMT (International Monitoring Team) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่ตั้งขึ้นเพื่อติดตามการหยุดยิงของรัฐบาล ได้เสนอรายงานต่อรัฐบาลฟิลิปปินส์ รายงานระบุว่า ทั้ง SAF และ MILF ได้ละเมิดข้อตกลงหยุดยิง ในเหตุการณ์การปะทะด้วยอาวุธ รายงานระบุว่า SAF นั้นล้มเหลวในการร่วมมือกับกองทัพฟิลิปปินส์ (The Armed Forces of the Philippines- AFP) และหน่วยงานตำรวจอื่นๆ อีกทั้งเพิกเฉยกับกลไกลการหยุดยิง  ในแง่นี้รัฐบาลฟิลิปปินส์ละเมิดต่อ บทบัญญัติการปฏิบัติการดำเนินข้อตกลงหยุดยิงกับ MILF ปี 1997 (Operational Guidelines on the General Cessation of Hostilities)  ในรายงานระบุอีกว่า ไม่มีหลักฐานที่เพียงพอที่ MILF จะต้องรับผิดชอบต่อการตายของนายตำรวจ 44 นาย และไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะกล่าวหาว่าพวกเขาให้ที่หลบซ่อนกับกลุ่มก่อการร้าย

วันที่ 22 เมษายน  สำนักงานสืบสวนกลาง (The National Bureau of Investigation-NBI) และสำนักงานพิเศษแห่งชาติในคดีอาญา (National Prosecution Service -NPS)  กระทรวงยุติธรรม ได้เสนอรายงานเกี่ยวกับเหตุปะทะดังกล่าวจากการรวบรวมหลักฐานโดยเฉพาะพยานคนสำคัญที่อยู่ในเหตุการณ์ รายงานนี้ได้เสนอแนะให้มีการดำเนินคดีบุคคล 90 คน คือ MILF และกลุ่มกองกำลังอื่นๆ  ในฐานฆาตกรรมและลักทรัพย์สมาชิกหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ 55 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ก้าวต่อไปของกระบวนการสันติภาพ

หลังจากที่สภานิติบัญญัติได้ เลื่อนการพิจารณาร่างกฎหมายบังซาโมโรออกไป  เพื่อให้ข้อค้นพบและข้อเสนอแนะจากรายงานชุดต่างๆ ปรากฏ  จากนี้รัฐบาลถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมในการดำเนินคดีกับสมาชิกของ MILF และกองกำลังติดอาวุธอื่นๆ ในเหตุการณ์การปะทะ (แม้มีข้อโต้แย้งจาก MILF) โดยขณะนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้เริ่มกลับมามุ่งพิจารณา ร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรอีกครั้ง เหตุผลดังกล่าวหยิบยกขึ้นจาก รูฟัส โรดิเกส ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจของสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นต่อการพิจารณาร่างกฎหมายบังซาโมโรว่า เราควรแยกขั้นตอนของการพิจารณาร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรออกจากเหตุการณ์การปะทะที่มามาซาปาโน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งต้องทำให้กลับมาพิจารณาว่า ในความเป็นจริงแล้ว ร่างกฎหมายบังซาโมโร เป็นนโยบายที่ดีหรือไม่อย่างไร ให้อำนาจกับ MILF มากเกินไปหรือไม่  โรดิเกส ให้ความเห็นว่า ร่างกฎหมายบังซาโมโรดังกล่าวควรจะได้รับการเข้าพิจารณาในสภา และจะสามารถผ่านการพิจารณาไปได้ แม้ MILF จะปฏิเสธที่จะมอบสมาชิก MILF ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าสู่การพิจารณาคดี เนื่องจากร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร ไม่ได้เป็นของ MILF เท่านั้น  แต่เป็นของผู้คนในมินดาเนาซึ่งต้องการสันติภาพที่ยั่งยืน

ทางฟากฝั่งของ สมาชิกวุฒิสภา เฟอดินาน มาคอส จูเนียร์ ประธานคณะกรรมการท้องถิ่นของวุฒิสภา หลังจากได้รับรายงานเหตุการณ์การปะทะที่เมืองมามาซาปาโนหลายฉบับ รวมทั้งฉบับของ MILF  กล่าวว่าทางวุฒิสภายินดีเดินหน้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรอีกครั้ง แต่สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การปรับปรุงกลไกการหยุดยิงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อป้องกันเหตุสูญเสียในอนาคต   เขาเสริมว่าเหตุการณ์ที่มามาซาปาโน เกิดขึ้นในเวลา 5.30 น. ถึง 6.30 น. ของวันที่ 25 มกราคม  แต่การหยุดยิงเกิดขึ้นในเวลา 4 โมงเย็น  ซึ่งกินเวลากว่า 11 ชั่วโมง แต่เรา จะสามารถรักษาชีวิตของผู้คนได้ หากใช้เวลาเพียง 11 นาทีเท่านั้นการหยุดยิง

ในการนี้ ประธานาธิบดี เบนนิกโน อากีโน ที่ 3 ได้แสดงความเห็นว่า การพิจารณาร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรในกำลังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการเฉพาะกิจของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นไปในเชิงบวก เมื่อเทียบกับบรรยากาศหลังเหตุการณ์ใหม่ๆ  แต่เป็นที่กังวลว่า ร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรฉบับที่จะได้รับการปรับปรุงในอนาคตนี้อาจไม่เป็นที่ยอมรับเพราะอาจจะถูกลดทอนความสำคัญและประโยชน์ต่างๆที่ชาวบังซาโมโรพึงได้รับ  ทั้งนี้สภานิติบัญญัติจะสามารถพิจารณาผ่านร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรได้ในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน 2015

 

รายงานสอบสวนข้อเท็จจริงฉบับต่างๆ

ที่

รายงาน

ลิงค์

1.

รายงานของคณะกรรมการสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์

http://www.gmanetwork.com/news/story/451737/news/nation/full-report-pnp-board-of-inquiry-report-on-mamasapano-encounter

2.

รายงานของวุฒิสภาฟิลิปปินส์

http://www.gmanetwork.com/news/story/454073/news/nation/full-report-the-draft-senate-committee-report-on-the-mamasapano-incident

3.

รายงานของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงของ MILF

http://www.gmanetwork.com/news/story/458026/news/nation/full-text-report-of-the-milf-on-the-mamasapano-clash

4.

รายงานของคณะกรรมระหว่างประเทศเพื่อประเมินและติดตามกระบวนการสันติภาพ

http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:rtMWZ6AqQmIJ:www.opapp.gov.ph/sites/default/files/imt-verification-report-mamasapano.pdf+&cd=2&hl=th&ct=clnk&gl=th

5.

รายงานของกระทรวงยุติธรรม

http://www.gmanetwork.com/news/story/474514/news/nation/full-text-doj-report-on-mamasapano-clash

หมายเหตุ: คลิกดูรายละเอียดการชี้แจง 10 ประเด็นของ MILF ต่อเวทีการรับฟังความคิดเห็นของวุฒิสภาที่ http://www.rappler.com/nation/83730-full-text-mohagher-iqbal-statement-senate-hearing  

 

 

 

อ้างอิง

ABS-CNB news. DOJ team submits report on Mamasapano. [Online].2015. Available http://www.abs-cbnnews.com/video/nation/04/16/15/doj-team-submits-report-mamasapano [2015,April 25]

Gmanet news online. Bangsamoro Basic Law hearings at Senate to resume April 13 – Sen. Marcos. [Online].2015. http://www.gmanetwork.com/news/story/458362/news/nation/bangsamoro-basic-law-hearings-at-senate-to-resume-april-13-sen-marcos [ 2015, April 10]

Gmanet news online. BBL will pass without the surrender of Mamasapano gunmen – Rep. [Online].2015. http://www.gmanetwork.com/news/story/482230/news/nation/bbl-will-pass-without-the-surrender-of-mamasapano-gunmen-rep-rodriguez [ 2015, May 10]

Gmanet news online.Executive Summary of PNP Board of Inquiry Report on Mamasapano Clash. [Online].2015. Available http://www.gmanetwork.com/news/story/451797/news/nation/full-text-executive-summary-of-pnp-board-of-inquiry-report-on-mamasapano-clash [ 2015, May 15]

Gmanet news online. Full force vs. commandos justified —MILF report .[Online].2015. Available http://www.gmanetwork.com/news/story/457994/news/nation/full-force-vs-commandos-justified-milf-report [ 2015, March 30]

OPAPP. PNoy says BBL still on track in Congress.[Online].2015. Available http://www.opapp.gov.ph/milf/news/pnoy-says-bbl-still-track-congress [2015, May 15]

Philstar.com. IMT: SAF, MILF violated ceasefire agreement in Mamasapano clash.[Online].2015. Available http://www.philstar.com/headlines/2015/04/06/1440918/imt-saf-milf-violated-ceasefire-agreement-mamasapano-clash [ 2015, April 10]

Philstar.com. Senate to resume BBL hearings in April. [Online].2015. Available http://www.philstar.com/headlines/2015/03/26/1437614/senate-resume-bbl-hearings-april [2015, April 10]

Rappler. FULL TEXT: Mohagher Iqbal's statement at Mamasapano hearing  [Online].2015. Available http://www.rappler.com/nation/83730-full-text-mohagher-iqbal-statement-senate-hearing [ 2015, February 25]

Sunstar.com. Senate report on Mamasapano clash ‘not objective. [Online].2015. Available http://www.sunstar.com.ph/breaking-news/2015/03/22/senate-report-mamasapano-clash-not-objective-398820 [ 2015, March 30]