จากบทความ “โพลสันติภาพ (Peace Poll)”ของ สุวรา แก้วนุ้ย (2558) เผยแพร่ที่เว็บไซต์ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้อธิบายถึงความสำคัญ และ ความหมาย ของ โพลสันติภาพ ในฐานะเครื่องมือที่ทำให้เกิดพื้นที่ การสื่อสาร และ การทำงานร่วมกันของ ผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) ตัวแสดง (actors) และ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพปาตานี รวมไปถึงการทำให้เสียงของชาวบ้าน หรือ ความคิดเห็นของชาวบ้านที่มีต่อกระบวนการสันติภาพนูนขึ้นมาสู่สังคมใหญ่ระดับประเทศ เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมของการตื่นตัว และ การเรียนรู้ในองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพปาตานี ตลอดจนถึงเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของในกระบวนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงหน้าที่ของ Track 1 (คู่ขัดแย้งโดยตรง: รัฐไทย กับ BRN) แต่การแก้ไขปัญหาต้องเป็นการมีส่วนร่วมกันของประชาชนในพื้นที่ และ ประเทศไทยทั้งประเทศ ถึงแม้ว่าผลโพลสันติภาพที่ออกมา อาจไม่เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย แต่ทุกฝ่ายที่ร่วมกันทำโพลสันติภาพ ต้องยอมรับฟังเสียงของประชาชนรากหญ้า (Track 3) ในฐานะ ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และ ผู้ร่วมกำหนดชะตากรรมของตนเองในพื้นที่
จากประสบการณ์ของไอร์แลนด์เหนือที่เป็นผู้ริเริ่มใช้โพลสันติภาพในการกำหนดชะตากรรมของประชาชนในพื้นที่ของตนเอง โดยมีทำโพลสันติภาพ 10 ครั้ง ในช่วงระหว่างปี 1996-2008 ซึ่งการทำโพล 8 ครั้งในจำนวน 10 ครั้ง ทำในช่วงที่มีการเจรจาสันติภาพกันอย่างเข้มข้น ช่วงปี 1996-2000 โพลสันติภาพจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างฉันทามติสำหรับ ‘Belfast Agreement’ ปี 1998[1] ในฐานะข้อตกลงสันติภาพที่เกิดขึ้นของไอร์แลนด์เหนือ และ ข้อตกลงภายใน Belfast Agreement มีเนื้อหาภายในซึ่งใกล้เคียงกับโพลสันติภาพที่ได้จัดทำขึ้นมา[2] ดังนั้นถ้ากลับมามองที่บริบทของกระบวนการสันติภาพปาตานี การทำโพลสันติภาพยังไม่ได้มีการริเริ่มทำขึ้นมา มีเพียงแต่การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสันติภาพ (Peace Survey) ที่ได้ริเริ่มขึ้นมา โดย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.อ. ปัตตานี และ มูลนิธิเอเชีย เป็นต้น[3] การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสันติภาพ (Peace Survey) มีความแตกต่างจาก โพลสันติภาพ คือ โพลสันติภาพเป็นกระบวนการทำงานที่ทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียทำงานร่วมกันในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่อกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้น แต่การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสันติภาพ (Peace Survey) ไม่จำเป็นต้องเป็นการทำงานของผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด อาจเป็นเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่[4] กล่าวคือ ทุกโพลสันติภาพ คือ การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสันติภาพ (Peace Survey) แต่ ทุกการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสันติภาพ (Peace Survey) ไม่สามารถเป็น โพลสันติภาพ
การจัดทำโพลสันติภาพเป็นกลไกสำคัญที่ทำงานคล้ายกับตาข่ายนิรภัย (Safety net) ที่โอบอุ้ม และ หนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ผ่านเครื่องมือของกระบวนการสันติภาพ เช่น การสร้างพื้นที่ร่วม (common space) การสร้างการมีส่วนร่วม (participation) การสร้างโอกาสให้คู่ขัดแย้งได้ทำงานร่วมกัน (dialogue) และ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน (confidence building measurements) ดังนั้น ผู้เขียนจึงสรุปความสำคัญของโพลสันติภาพต่อการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพปาตานีไว้ดังนี้
1. โพลสันติภาพเป็นการสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดในกระบวนการสันติภาพ ซึ่งได้หมายถึงการสร้างพื้นที่การทำงานร่วมระหว่างคู่ขัดแย้ง เช่น เจ้าหน้าที่รัฐไทย และ กลุ่มนักสู้ อย่าง BRN ตลอดจนถึง ทุกสถาบันทางการศึกษาในพื้นที่ องค์กรภาคประชาสังคม และ กลุ่มเคลื่อนไหว และมีส่วนร่วมกับกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้น เช่น กลุ่มทางศาสนา อย่าง กลุ่มดาวะห์ กลุ่มผู้นำทางศาสนาแบบจารีต และ กลุ่มผู้นำทางศาสนากับนักวิชาการสายมหาวิทยาลัยฟาฏอนี องค์กรภาคประชาสังคมของคนพุทธ และ กลุ่มคนจีนที่ทำการค้าในพื้นที่
2. พื้นทำงานร่วมกันจะนำทุกฝ่ายที่เข้าร่วมไปสู่กระบวนการพูดคุย (dialogue) เพื่อการออกแบบ การเก็บข้อมูล และ แบบสอบถามในประเด็นที่อ่อนไหวร่วมกัน เพื่อพัฒนาการทำงานร่วมกัน ไปสู่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน (confidence building measurements)
3. ผลของโพลสันติภาพจะมีความเชื่อถือในระดับสูง (validity) จากทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้ง เนื่องจากโพลสันติภาพเป็นการออกแบบที่มาจากกระบวนการทำงานร่วมกัน และ ทุกคำถามในโพลสันติภาพต้องมาจากการเห็นชอบรวมกันของคณะทำงานที่ประกอบด้วยคู่ขัดแย้ง และ ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการสันติภาพ ดังนั้น ไม่ว่าผลที่ออกมาเป็นเช่นไร คู่ขัดแย้งจะต้องยอมรับการสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่
4. การแสดงความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่อแบบสอบถาม จะกลายเป็นช่องทางการสื่อสารจากประชาชนระดับรากหญ้าที่แสดงออกไปสู่ ภาคประชาสังคม และ ระดับผู้กุมนโยบายการพูดคุยสันติภาพของประเทศ เนื่องจากผลของโพลสันติภาพ จะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ความรู้สึกเป็นเจ้าของ (self-determination) ในกระบวนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมไปถึง การทำให้เสียงของชาวบ้านระดับรากหญ้าในพื้นที่นูนขึ้นจากคำถามที่คู่ขัดแย้งร่วมกันออกแบบ โดยทั้งสองฝ่ายสามารถมีความชอบธรรมในการนำความคิดเห็นของชาวบ้านไปใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์ของตนเอง
5. โพลสันติภาพจะกลายเป็นเครื่องมือตรวจสอบการทำงานของคู่ขัดแย้ง ตลอดจนถึงภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่ เป็นไปตามความคิดเห็นที่ชาวบ้านระดับรากหญ้าในพื้นที่แสดงออกมาหรือไม่ ผลของโพลสันติภาพจะกลายเป็นข้อมูลตั้งต้นให้ทั้งคู่ขัดแย้ง และ ผู้เกี่ยวข้อง ดำเนินการปรับเปลี่ยน และ เพิ่มเติมโครงการให้ตรงต่อความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องผ่านการคาดการณ์
6. ผลของโพลสันติภาพจะเป็นการกระตุ้นให้สังคมตระหนัก และ รับรู้ถึงความสำคัญกระบวนการสันติภาพในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาภายในพื้นที่
7. โพลสันติภาพจะเป็นการตรวจสอบประเด็นของการพูดคุยสันติภาพของคู่ขัดแย้ง ยังดำเนินไปตามความต้องการของชาวบ้านในฐานะผู้มีส่วนเป็นเจ้าของในกระบวนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และ ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงหรือไม่
8. โพลสันติภาพสามารถปรับปรุงเป็นข้อเสนอเพิ่มเติมที่สามารถนำมาใช้ หรือ นำไปเพิ่มเติมในระหว่างการพูดคุยสันติภาพประสบปัญหาทางตัน (deadlock) เนื่องจาก โพลสันติภาพมีคุณสมบัติ และ ความชอบธรรมในฐานะเป็นตาข่ายนิรภัยที่มาจากชาวบ้านระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง
ความสำคัญของโพลสันติภาพในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพปาตานี เป็นการสร้างพื้นที่ของการทำงานร่วมกันของคู่ขัดแย้ง และ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพ ตลอดจนถึง กระบวนการทำโพลสันติภาพ ยังสอดแทรกเครื่องมือต่างๆในกระบวนการสันติภาพ เช่น การสร้างพื้นที่ร่วม (common space) การสร้างการมีส่วนร่วม (participation) การสร้างโอกาสให้คู่ขัดแย้งได้ทำงานร่วมกัน (dialogue) และ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน (confidence building measurements) นอกจากนี้ โพลสันติภาพยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการสร้างช่องทางการสื่อสาร เพื่อสร้างเสียงของชาวบ้านในพื้นที่ความขัดแย้งให้นูนขึ้นมา และ สามารถนำความคิดเห็นของชาวบ้านที่ได้แสดงความคิดเห็นในโพลสันติภาพไปใช้ในกรณีการพูดคุยสันติภาพเกิดทางตัน อีกทั้ง การออกแบบโพลสันติภาพ จะไม่มีการตัดความเห็นของคนส่วนน้อย (minority) ออกจากการนำเสนอผลต่อสาธารณ เนื่องจาก ในโพลสันติภาพเสียงของคนส่วนน้อยถือว่าเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของการนำผลโพลไปใช้ในการกำหนดนโยบาย หรือ การปรับปรุงยุทธศาสตร์ในกระบวนการสันติภาพ เพื่อการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพปาตานีได้อย่างรอบด้าน และ ครอบคลุมทุกประเด็นอย่างมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ไห้ยุติได้ในเร็ววัน
-------------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
สุวรา แก้วนุ้ย. 2558. โพลสันติภาพ (Peace Poll) ใน deepsouthwatch.org. พฤษภาคม 20. Accessed พฤษภาคม 20, 2558. http://www.deepsouthwatch.org/node/7185.
[1] ดูเพิ่มเติม สุวรา แก้วนุ้ย (2558) โพลสันติภาพ (Peace Poll) ใน deepsouthwatch.org. URL: http://www.deepsouthwatch.org/node/7185
[2] บันทึกจาก การประชุมโพลสันติภาพ ครั้งที่ 1 จัดโดย ศูนย์ทรัพยากรสันติภาพ มอ.ปัตตานี
[3] อ้างแล้ว การประชุมโพลสันติภาพ ครั้งที่ 1
[4] อ้างแล้ว ( สุวรา แก้วนุ้ย 2558)