Skip to main content

 

“เรามาเพื่อแสดงพลังอำนาจของประชาชน” ผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงคนหนึ่งเปรยกับเพื่อนที่นั่งอยู่บนฟุตบาทบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หลังจากได้เดินขบวน ขณะที่หัวขบวนกำลังบุกล้อมกรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2553
 
วันแรก (วันที่ 14 มีนาคม 2553)  รู้สึกหวั่น ๆ และหวาดกลัวเมื่อหัวหน้าโครงการ นารี เจริญผลพิริยะ  เสนอในที่ประชุมในห้อง “peace room” ว่า สันติอาสาสักขีพยาน จะเข้าไปสังเกตการณ์ แต่คิดกันว่า หากเราคนนอกพื้นที่จะเข้าไปในพื้นที่ของการชุมนุม คงต้องอาศัยคนในพื้นที่ ที่ผู้ชุมนุมไม่สงสัย เช่นเดียวกับ การทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากคนนอกพื้นที่ ต่างศาสนา ต่างพื้นที่ จะเข้าไปเยี่ยม หรือสังเกตการณ์ในพื้นที่เสี่ยง ก็คงต้องการคนในพื้นที่ที่ได้รับความไว้วางใจระดับหนึ่ง หรือสามารถสื่อสารกับชาวบ้าน อีกทั้งเส้นทางก็เป็นสิ่งจำเป็น หากไม่อย่างนั้น อาจเป็นที่ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่ หรือชาวบ้านได้
 
อีกครั้งที่ได้ เรียนรู้ว่า ความกลัว ความหวาดระแวง ที่ประสบนั้น หากจะให้เลือนหายไปได้ ก็คือ การได้สัมผัส และ กับความจริง เพราะเชื่อว่า ทุกสิ่งที่อย่างที่เกิดขึ้นกับเรานั้น คงไม่เกินความสามารถของเรา ดั่งอัลกุรอานบทหนึ่ง ความว่า “อัลลอฮ์จะไม่ทรงบังคับชีวิตหนึ่งชีวิตใดนอกจากตามความสามารถของชีวิตนั้นเท่านั้น (  อัลลอฮ์ได้ทรงใช้ให้แต่ละคนปฏิบัติเท่าที่เขามีความสามารถเท่านั้น) อัลบากอเราะห์ อายะห์ ที่ 286
 
เป็นเวลา 3 วัน  ที่คณะสันติอาสาสักขีพยานจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้ไปสังเกตการณ์การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงที่บริเวณถนนราชดำเนิน สะพานผ่านฟ้า และวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการสังเกตการณ์ ความกลัวที่บกบังเริ่มเลือนหายไป เมื่อได้เผชิญหน้ากับกลุ่มพี่ ๆ เสื้อแดง แม้ว่าไม่ได้พูดคุยอะไรมากมาย แต่การได้เห็นความตั้งใจของคนกลุ่มหนึ่ง ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ และเกิดความเข้าใจมากขึ้น หรือช่วงหนึ่งเกิดความรู้สึกร่วมว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน
 
การรู้สึก ความเป็นกลุ่มเดียวกันนั้น คือ การแหกกฎ ทฤษฎีของการเป็นคนกลาง ซึ่งความรู้สึกนี้เกิดขึ้นเมื่อออกจากที่ชุมนุม เห็นปฏิกิริยาของคนนอก อย่างเช่น คุณลุงซึ่งขับแท็กซี่คนหนึ่งบอกเตือนพวกเราอย่างเป็นห่วงว่า
 “อย่าไปสนใจกลุ่มนี้ (เสื้อแดง) หากเขาพูดอะไรมาก็อย่าโต้ตอบ …คนแก่ ๆ กลุ่มเสื้อแดงทั้งนั้น ”  หากได้ฟังคำพูดเหล่านี้ปราศจากการเข้าไปสังเกตการณ์แล้ว เราอาจรู้สึกและเห็นด้วยเหมารวมกับคุณลุงด้วย แต่การได้ไปเห็นและไปสัมผัสกับผู้ชุมนุมนั้น พวกเขาไม่ได้เป็นอย่างที่ลุงพูด บางคนเข้ามาพูดกับเราอย่างเป็นมิตร และพูดอย่างเป็นห่วงและยินดีให้พวกเราเข้าไปสังเกตการณ์ได้
        ความเห็นใจที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเสื้อแดง อาจไม่เกิดขึ้นหากไม่ไปดูประชาชนที่ต้องเดินทางไกล และต้องทนกับแดดที่ร้อนจัด และไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ปรกติ ขณะที่ขึ้นรถเมย์คนขับเกิดความหงุดหงิดเพราะเกรงว่า รถจะติดเพราะมีขบวนรถเสื้อแดงกำลังจะเคลื่อนกลับหลังจากที่ปิดล้อม กรมทหารราบที่ 11 และจะเคลื่อนไปอยู่ที่สะพานฟ้าเช่นเดิม รถคันหนึ่งพยายามจะแซงรถเมย์นี้ และทำให้คนขับเกิดความโมโห และพูดขึ้นมาว่า “ดู ๆ แดงทั้งคัน” เมื่อขับไปอีกสักพัก ก็เห็นรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ของเสื้อแดงบางคันขับอยู่บนถนน และเขาพูดว่า “เอ้า ทำไมต้องขับผ่านทางนี้ คงไม่เคยเข้ากรุง” ตอนนั้นเริ่มรู้สึกเป็นห่วงกลุ่มเสื้อแดง เกรงว่าจะถูกทำร้าย เพราะดูอารมณ์ของคนนอก ที่มีความเกลียดชัง และดูถูกเหยียดหยาม 
ทั้งนี้ในฐานะเป็นคนบ้านนอกเหมือนกัน และเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศไทย จึงมองว่า หากรัฐบาลไม่ยอมรับฟังหรือจัดการกับกลุ่มเหล่านี้ มันอาจจะมีความรุนแรงเหมือนพื้นที่ภาคใต้ก็เป็นได้  สิ่งเสื้อแดงต้องระมัดระวัง คือ ข่าวลือที่อาจจะเกิดขึ้นทุกช่วงขณะ หากมีมือที่สามเข้าไปจุดไฟนิดหน่อย ก็ง่ายที่จะเกิดขึ้น วันที่ไปสังเกตการณ์ที่สะพานผ่านฟ้า ของวันที่ 15 มีนาคม 2553 ผู้ชุมนุมคนหนึ่งบอกว่า ให้ระวังตัวหน่อย เพราะเกรงว่าจะเกิดความรุนแรง เพราะตอนนี้มีการประกาศ พรก. ภาวะฉุกเฉิน” ทั้งที่ยังไม่มีการประกาศจากรัฐบาล หรือการจัดการที่ค่อนข้างขาดระบบที่ดี
ในขณะที่ผู้คนที่เห็นต่าง ไม่ควรที่จะมองกลุ่มเสื้อแดงเป็นอื่น หากต้องคิดถึงความต้องการลึก ๆ ของพวกเขาว่าต้องการอะไรกันแน่ เพราะคงไม่มีใครอยากออกมาเผชิญกับความเดือดร้อน และเสียเวลาทำมาหากิน
อย่างไรก็ตาม หากแต่นั่งฟังเฉพาะคำปราศรัย ของผู้นำเสื้อแดงอย่างเดียว ความรู้สึกเหล่านี้คงไม่ปรากฏ เพราะมีแต่การด่าว่าร้าย ป้ายสี ผู้อยู่ตรงกันข้าม จึงเห็นว่า กลุ่มเสื้อแดงที่มีอยู่หลาย ๆ กลุ่ม ทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง คงต้องเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้พูดบนเวที ถึงความเดือดร้อนที่เป็นเหตุเป็นผล โดยไร้ความโกรธ หรือการเหยียดหยามอีกกลุ่มหนึ่ง อย่างน้อยในที่ชุมนุม ควรมีการแจกเอกสาร ซีดี ประเด็นที่ไม่เป็นธรรม โดยเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสร้างให้ผู้คนเห็นอกเห็นใจ และเรียกมวลชนได้มากกว่า อย่างที่นักวิชาการหลายคนมองว่า กลุ่มเสื้อแดงควรต้อง ยกประเด็นความอธรรมที่เกิดขึ้นมากกว่าที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้นำเพียงคนเดียว
  หากการต่อสู้ ปลุกระดม ที่ยกประเด็นประวัติศาสตร์อย่างเดียว โดยไร้ข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผล บวกกับอารมณ์ที่รุนแรง ย่อมยากที่จะเรียกมวลชนขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต่อสู้ผ่านการปลุกระดมโดยใช้ประวัติศาสตร์ความเจริญรุ่งเรืองในสมัยก่อน เกิดการต่อสู้กับอารมณ์ ความรู้สึกที่เกลียดชังเจ้าหน้าที่ จนขาดการวิเคราะห์ สังเคราะห์ สิ่งที่เกิดขึ้น และไม่มีความชัดเจนในความต้องการที่แท้จริง จนกระทั่งไม่เห็นการต่อสู้ที่สร้างสรรค์
 
ทั้งนี้รัฐบาลควรต้องทำหน้าที่เปิดโอกาส และช่องทางให้ผู้คนที่ออกมาเรียกร้องความต้องการ มานั่งพูดคุยกัน คงไม่ใช่ให้ผู้คนที่ยอมสละลุกขึ้นต่อสู้ มาโดยกลับไปแล้วไม่ได้อะไร เพราะจะทำให้ความต้องการที่คงอยู่ในใจ เปลี่ยนผันเป็นความรุนแรง ที่ยากต่อการแก้ไขปัญหาได้