Skip to main content

 

 

 

แถลงการณ์คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี
 
หนุนการเจรจาแก้ปัญหา ทำประชามติแก้ไขรธน. 2550 ทบทวนปัญหาเชิงโครงสร้าง ขายคำขวัญ “การเมืองหลากสี เคารพวิถีความต่าง อดทนบนเส้นทางความขัดแย้ง”
 
จากสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนระอุ โดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปยังพื้นที่สำคัญในกรุงเทพมหานครหลายจุดเพื่อกดดันให้ยุบสภาและรัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินอย่างร้ายแรง สถานการณ์ดังกล่าวนี้ได้สร้างแรงกดดันให้แก่สังคมไทยโดยเฉพาะผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงว่าอาจจะนำไปสู่การปะทะเผชิญหน้าและใช้ความรุนแรงทางตรงไม่ว่าจากรัฐบาลหรือผู้ร่วมชุมนุมเอง 
 
คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ จึงขอแถลงประเด็นและท่าทีทางการเมือง ดังต่อไปนี้
           
1.คณะฯ มีความเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการเดินหน้าจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 เพื่อแก้ไขกติกาทางการเมืองให้มีความชอบธรรมและตรงตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งนี้ไม่สามารถคลี่คลายได้ด้วยการแก้ไขปัญหาทางด้านเทคนิคการเมือง อาทิ ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่เท่านั้น หากแต่ต้องรื้อทวนทิศทางการพัฒนา แนวทางการบริหารประเทศทั้งหมดที่ผ่านมา และมุ่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมด
 
 2.ในฐานะที่เป็นสถาบันซึ่งทำงานกับพื้นที่ของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะฯ มีความเห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่เป็นพัฒนาการทางการเมืองที่คนในสังคมไทยกำลังเรียนรู้ช่องทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่หลากหลาย เป็นก้าวหนึ่งของการแสดงออกถึงความคิดเห็น สิทธิ เสรีภาพทางการเมือง โดยอยู่บนฐานของความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง
 
3.สถานการณ์ความขัดแย้งที่ปรากฏขึ้นในเมืองหลวงขณะนี้มีจุดร่วมเดียวกันกับสถานการณ์ชายแดนใต้คือ “อคติ” ที่ถูกสร้างและผลิตซ้ำ ภายใต้สีเสื้อที่ต่างสี ความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง “อคติ” นี้จะกลายเป็นเงื่อนไขของสงครามความรู้สึกแง่ลบระหว่างมวลชนที่ยืดเยื้อ เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยั้งการสร้างอคติต่อกันและกัน อันจะเป็นสิ่งที่จะทำร้ายสังคมไทยต่อไปในระยะยาว
 
4. ดังนั้นคณะฯ จึงขอสนับสนุนให้ทุกฝ่ายในสังคมอดทนต่อความขัดแย้งและหันหน้าเข้าหากันเพื่อเจรจาแก้ปัญหาความแตกต่างทางความคิดทางการเมืองในห้วงเวลานี้
 
เราเห็นด้วยว่าการยุบสภาเป็นทางหนึ่งที่จำเป็นในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้านี้ หากแต่จะต้องรวมถึงการแก้ไขกติกาทางการเมือง ปูทางให้แก่การพัฒนาการเมืองและการบริหารประเทศโดยการเข้าไปมีส่วนร่วมทางตรงของประชาชนเพื่อแก้ไขกติกาทางการเมืองให้มีความชอบธรรมและตรงตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ
 
ในการเสนอความคิดเห็นเชิงนโยบายซึ่งจำเป็นต้องอาศัยพื้นที่สาธารณะที่เกื้อกูล ทุกฝ่ายทุกกลุ่มต้องมีสิทธิโดยเสรีและเป็นธรรมในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสันติและไม่ถูกคุกคามในทุกเวลา สถานที่
 
สุดท้ายนี้คณะฯ ขอเป็นกำลังใจให้คนไทยเข้มแข็งผ่านวิกฤติของความขัดแย้งนี้ไปได้โดยไม่ด่วนปฏิเสธ เบื่อหน่าย หรือเกลียดชังการเมืองไปเสียก่อน ข้อเรียกร้องของเราก็คือ “เจรจาแก้ปัญหา ทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 และทบทวนปัญหาเชิงโครงสร้าง” บนพื้นฐานคำขวัญที่ว่า“การเมืองหลากสี เคารพวิถีความต่าง อดทนบนเส้นทางความขัดแย้ง”
                                  
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
10 เมษายน 2553