Skip to main content

 

เสวนา ในวงชา ริมถนนสิโรรส ในตัวเมืองยะลา

ผมมีโอกาสได้นั่งจิบน้ำชา กับผู้อาวุโส 5 - 6 ท่าน พูดคุยสัพเพเหระ จนมาถึงช่วงหนึ่ง มีการพูดคุยกันถึงเรื่องเหตุการณ์ความไม่สงบ ตั้งแต่กลุ่มขบวนการ ไปจนถึงมารา ปาตานี

 

บางช่วงขณะที่มีการแลกเปลี่ยนประเด็นกันนั้น อาจจะมีการส่งเสียงที่ค่อนข้างเบา เหมือนจะกลัวใครจะได้ยิน ทำให้คิดได้ว่า ในเรื่องเหล่านี้ ยังไม่เป็นที่พูดคุย หรือให้ความสนใจกันมากมายนัก บ้างยกเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเป็นร้อยปี ผมเองก็พร้อมที่จะรับรู้เรื่องราวของประวัติศาสตร์นั้น แต่ก็พร้อมจะยอมรับเช่นกันว่า จริงๆ แล้ว เรา หรือผมเอง ก็เพิ่งจะมีความทุกข์จากเหตุการณ์ความไม่สงบก็เริ่มจากปี 2547 นี้เอง ยังไงก็ยังพอรับฟังได้

 

แต่ในใจอาจจะคิดแย้งบ้างว่า ประเทศญี่ปุ่น เองเคยโดนระเบิดประเทศเสียหายยับเยิน ผู้คนล้มตาย แต่ประเทศญี่ปุ่น ไม่เคยเอาประวัติศาสตร์มาคิดแค้น เอาคืน แต่กลับก้มหน้าก้มตา สร้างประเทศ สร้างวินัยของผู้คน จนกลายมาเป็นประเทศที่มีระเบียบ เป็นมหาอำนาจได้ หรือแม้แต่ประสบปัญหาโรงไฟฟ้า คนญี่ปุ่น ก็กลับลุกขึ้นมาสร้างความเจริญ สร้างความมั่นคงให้กับเมืองของเขาได้เช่นกัน ก็ได้แต่คิดในใจ เพราะกลัวจะเสียบรรยากาศของการพูดคุยฃ

 

ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า เราควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์ แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องย้อนคืนไปยังประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประวัติศาสตร์ที่สร้างบาดแผล ประวัติศาสตร์อันปวดร้าวในอดีต  (แต่ก็รับได้ในความเป็นจริงเช่นกัน)

 

เราแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันจนมาถึงในเรื่องของการแสดงความคิดเห็นของเรื่องความขัดแย้ง โดยผมตั้งคำถามไปว่า แล้วเหตุที่เกิด มีสื่อสารกันว่า เป็นความขัดแย้งกันระหว่างคนมลายูพุทธ กับคนมลายูมุสลิม คำตอบที่ได้จากผู้สูงวัยที่นั่งจิบน้ำชา คือ ไม่เป็นความจริงแน่นอน ถ้าขัดแย้งกันจริง ทำไม ผมกับคุณ ยังมานั่งจิบชากันได้ละ ผมคิดว่า คู่ขัดแย้งของเขา คงเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มากกว่า

จริงๆ แล้วในช่วงเดือนรอมฎอน ที่ผ่านมาจากที่เราสังเกตุดู เหตุการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวลดน้อยลง จึงพอจะคุยได้ว่าอาจจะมีนัยสำคัญอะไรบางอย่างที่พอจะบอกได้ว่า การพูดคุยสันติภาพ หรือสันติสุข ออกมาในทางที่ดี ซึ่งผมเองก็คิดว่าหากมีการขยายวงของสันติภาพโดยการพูดคุยกันได้ตามใต้ต้นไม้ หรือร้านน้ำชา ก็คงจะดี

 

อีกประเด็นที่มีการแลกเปลี่ยนกัน คือ หากเราสามารถสื่อสารไปถึงกลุ่มขบวนการได้ ว่าเราต้องการลดพื้นที่ขัดแย้ง เพิ่มพื้นที่ปลอดภัย ได้เรื่อยๆ ก็คงจะดีไม่น้อย และในขณะเดียวกันหากมีการก่อเหตุ แล้วมีกลุ่มหรือขบวนการ ออกมาแสดงความรับผิดชอบก็ดีเช่นกัน เพราะเมื่อเหตุการณ์ใด ไม่ใช้ฝีมือของกลุ่มหรือขบวนการ เจ้าหน้าที่รัฐก็จำเป็นที่จะต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้เช่นกันว่า เกิดจากอะไร และต้องสืบหาข้อเท็จจริงมาสู่สาธารณชนให้ได้

 

ในส่วนของเรื่องพื้นที่ปลอดภัย ผมเองได้คุยในวงน้ำชาว่า หากมีพื้นที่ปลอดภัยให้กับพระภิกษุสงฆ์ ก็คงจะดีนะครับ เพราะพระภิกษุสงฆ์ หรือนักบวช มิใช้คู่ขัดแย้งแน่นอน จนผู้อาวุโสในวงน้ำชาถึงกับแซวออกมาดังๆ ว่า ถ้าผมรู้จักกลุ่ม หรือขบวนการ หรือแม้แต่ มารา ปาตานี ผมจะเสนอให้คุณรักชาติ ละกัน สร้างบรรยากาศสนุกสนานในวงน้ำชาได้ไม่น้อยทีเดียวครับ

 

สำหรับตัวผมเอง คิดอยู่เสมอว่า จะทำอย่างไรให้ความรู้ ความเข้าใจ หรือการพูดคุยในเรื่องเหตุการณ์บ้านเราที่เกิดขึ้นมาจน 10 หรือ11 ปี ต้องเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ เพราะเป็นสิ่งที่ดีทีเดียวหากเรามานั่งคุยกันในที่ที่เปิด หรือเวทีเปิด หรือเวทีสาธารณะ มันจะสร้างภูมิรู้ มีมิติแห่งการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย แม้แต่การทำงานสันติภาพร่วมกันของคนมลายู และมลายูพุทธในบางช่วงเวลา

 

อีกประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญมากๆ กับการทำงานสันติภาพ คือ เจ้าหน้าที่รัฐ มีความจำเป็นอีกเช่นกันที่เจ้าหน้าที่รัฐ ระดับปฏิบัติการที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ ต้องรู้ในเรื่องเหล่านี้ด้วย ต้องมีข้อมูลปัจจุบันในการทำงานของคณะพูดคุย ด้วยเช่นกัน

คนมุสลิม คนอิสลาม หรือที่เรามักเรียกกันปากว่า แขก แท้จริงแล้วเข้าต้องการให้เราเรียกเขาอย่างนั้นจริงแล้วหรือ หรือว่าเราคิดไปเองว่าเขาพอใจ จากการพูดคุยกับเหล่าผู้อาวุโสแล้ว แทบจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาเป็นคนมลายู แล้วตัวผมเองเป็นมลายูเช่นกัน แต่เป็นมลายูพุทธ ที่สุดแล้วความต้องการคือ ให้เรียกเขาเหล่านั้นว่า .. "มลายู" ซึ่งผมเองคิดว่าก็ไม่แปลกอะไร เมื่อเราทุกคนมีถิ่นเกิดในแหลมมลายู ตั้งแต่อดีตมา

 

เราคุยกันจนเวลาเกือบเที่ยงคืน หลังจากเก็บร้าน มีประเด็นที่คิดว่าลองเอามาเล่ามาคุยกันในวงชา ดูว่าจะมีพฤติกรรมอะไรจากผู้อาวุโสเหล่านั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า หากมารา ปาตานี จะสามารถเข้า ออกประเทศไทยได้เป็นช่วงเวลาที่จะมาพูดคุยกันในประเทศไทยบ้าง ก็ได้รับคำตอบจากผู้อาวุโส ว่าสมควรทีเดียว

ในคำตอบนี้ ตัวผมเองก็เห็นด้วยทีเดียวครับ แต่ผมเองก็ให้ข้อเสนอไปกับเหล่าผู้อาวุโสเช่นกันในเรื่องของ หากเราอนุญาตให้เขาเข้ามาได้ แล้วเราละ หากเราต้องการคุยกับเขา เราก็คงต้องป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยด้วยเช่นกัน ผมคิดว่าเรื่องนี้รัฐไทยเอง ก็คงจะต้องทำอะไรให้รัดกุม เพื่อป้องกันตัวเองเช่นกัน

 

เริ่มนึกในใจไม่แน่นะครับ วงพูดคุยแบบนี้ มันอาจจะนำไปสู่ วาระประชาชน ซึ่งเป็นความคิดเห็นของประชาชน ประชาชนมีส่วนร่วมเต็มๆ ก็ได้

 

สิ่งที่ผมได้เขียนไว้ ไม่ได้เป็นคนโลกสวย แต่ก็ไม่ได้มองโลกว่ามันโหดร้ายจนเกินไปนัก ทุกๆ สถานการณ์มันมีทางออก เพียงแต่เราจะยอมรับทางออก ที่เราพอจะมองเห็นได้หรือไม

 

 

เครดิตภาพ : ร้าน KOPI  จาก Google