Skip to main content

อีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะสิ้นปี 58 และเข้าสู่ปีที่ 12 ของวิกฤติชายแดนใต้นับจากปี 47 เป็นต้นมา ทำให้หลายภาคส่วนต้องมานั่งทบทวน วิเคราะห์ภาพรวมของสถานการณ์ชายแดนใต้ว่าขณะนี้มีทิศทางเป็นเช่นไรเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไป จึงมีความน่าสนใจมุมมองความคิดของคนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสันติภาพไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม พวกเขามองสถานการณ์ภาพรวมและสถานการณ์ระยะใกล้ในรอบกว่าทศวรรษเป็นเช่นไร ชี้ให้เห็นอะไรและมีแนวโน้มจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคตอันใกล้

เรามาเริ่มต้นกับบทสัมภาษณ์พิเศษของคนในแวดวงภาคประชาสังคมอย่าง ตูแวดานี ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีบทบาทสำคัญต่องานด้านสิทธิมนุษยชนและงานพัฒนาชุมชน จนบ่อยครั้งที่กระทบกระทั่งต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร แต่ขณะเดียวกันก็มักจะได้รับการเชิญจากหน่วยงานความมั่นคงเพื่อให้คำปรึกษากระบวนการพูดคุยสันติสุขที่กำลังดำเนินอยู่

โดยภาพรวม มองว่าสถานการณ์ปัญหาชายแดนใต้ รอบกว่าทศวรรษ เป็นเช่นไร?

โดยภาพรวมของสถานการณ์ปัญหาชายแดนใต้ ผมมองว่าแย่ลงมากเลยครับ เพราะอารมณ์ความรู้สึกโดยรวมส่วนใหญ่ของประชาชนในพื้นที่เริ่มรู้สึกยอมรับได้ในปรากฏการณ์การใช้อาวุธต่อสู้กันระหว่างรัฐกับขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราช

ปรากฏการณ์แบบนี้มันสะท้อนว่าความรุนแรงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ปรับตัวอยู่กับมันได้ และมีท่าทีที่พร้อมจะพัฒนาศักยภาพตัวเองเพื่อมีบทบาทร่วมในการยุติความรุนแรงที่ยึดโยงกับพื้นฐานของความจริงในรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ตัวแปรสำคัญที่ยุติความรุนแรงได้นั้น ผมไม่ได้มองว่าอยู่ที่กระบวนการสันติภาพหรือสันติสุขที่มีคู่ขัดแย้งหลักระหว่างรัฐกับขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีได้มีข้อตกลงที่จะยุติใช้ความรุนแรงหรือไม่ ผมมองว่าอยู่ที่ความจริงในรากเหง้าปัญหาความขัดแย้งนั้นจะปรากฏต่อสาธารณะและเป็นที่ยอมรับของรัฐและประชาชนคนปาตานีหรือไม่มากกว่า ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เกิดจุดร่วมของทุกฝ่ายสู่ความร่วมมือจากทุกฝ่ายนั้น ขึ้นอยู่กับความจริงที่เป็นรากเหง้าของปัญหานั้นเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายหรือไม่

ตอนนี้สิ่งที่ผมกังวลมากคือ ในขณะที่รัฐมุ่งมั่นที่ยุติความรุนแรงด้วยนโยบายสันติวิธีซึ่งมีแนวทางคือการพูดคุยเพื่อสันติสุขเพื่อแก้ปัญหาที่มาจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์นั้น ในเวลาเดียวกันก็ได้มีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถือได้ว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของชุมชนตอลดจนอัตลักษณ์ความเป็นชุมชนท้องถิ่นก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เช่นกรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพาและโรงไฟฟ้าโซล่าฟาร์มที่ยะหริ่ง แม้ว่าจะได้มีกระบวนการสอบถามความเห็นทำการประชาพิจารณ์แล้วก็ตาม แต่กระบวนการสอบความเห็นดังกล่าวก็มีลักษณะที่พยายามรวบรัดโดยที่ไม่ให้ชุมชนได้พิจารณาถึงข้อมูลผลได้ผลเสียอย่างรอบด้าน อีกทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆในการรวบรัดกระบวนการฟังความเห็นชาวบ้านดังกล่าว

ผมกังวลว่าจะกลายเป็นเงื่อนไขใหม่ที่ขยายความรุนแรงเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเพราะโดยเนื้อหาจริงของโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้คำว่าพัฒนานั้นเต็มไปด้วยมหันตภัยที่ร้ายแรงมาก โดยเฉพาะในพื้นที่เทพาซึ่งได้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินออกไปแล้วนั้น หากทางกอ.รมน.ในฐานะเจ้าภาพหลักที่ดูแลพื้นที่พิเศษชายแดนภาคใต้ไม่สามารถบริหารจัดการไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงในชีวิต ในอาหารและสิทธิชุมชนของประชาชนได้ ผมกังวลว่าจะกลายเป็นเงื่อนไขใหม่ที่เพิ่มให้เกิดความชอบธรรมที่ประชาชนจะใช้ความรุนแรงในการปกป้องความปลอดภัยของตัวเองจนบานปลายให้ต้องประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินอีกครั้งก็เป็นได้ และแน่นอนหากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะส่งผลกระทบต่อนโยบายการพูดคุยสันติสุขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การพูดคุยสันติสุขระหว่างมาร่าปาตานี กับ หน่วยงานความมั่นคง จะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้อย่างไร?

ถ้าเป็นความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐหรือกลไกโครงสร้างรัฐกับปัจเจกบุคคลที่มีความคิดไม่เหมือนรัฐ ผมว่ามีแนวโน้มสูงที่จะสามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จสูง แต่ปัญหาความขัดแย้งที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยหรือปาตานีจนบานปลายเกิดเป็นการต่อสู้ในรูปแบบขบวนการปฏิวัติประชาชนที่มีกลิ่นอายของสงครามอสมมาตรจนถึงปัจจุบันนั้น ถ้าจะสรุปว่าเป็นเรื่องของปัญหาส่วนตัวก็ดูเหมือนไม่ยอมรับความเป็นจริงจนเกินไป เมื่อปัญหาความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องส่วนตัวก็ไม่สอดคล้องกับกระบวนการไกล่เกลี่ยที่มุ่งไปที่เรื่องส่วนตัว ส่วนจะทำอย่างไรให้มีกระบวนการที่สอดคล้องกับปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวนั้น ผมคิดว่าทางฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีคงรู้อยู่แล้วว่ากระบวนการนั้นควรต้องเป็นอย่างไร

วิเคราะห์อย่างไร กรณีแถลงการณ์ของกลุ่มที่อ้างว่าเป็น บีอาเอ็น นำเสนอข่าวโดยนักข่าวชื่อ แอนโทนี่ เดวิส เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

สะท้อนว่าบุคคลที่อยู่ในมาราซึ่งทางรัฐไทยและมาเลเซียยืนยันว่ามีอยู่ประมาณ3คนนั้นได้เป็นสมาชิก BRN และ ได้รับแมนเดทจาก DPP นั้น น่าจะต้องมีการทบทวนว่าสถานะปัจจุบันของพวกเขาเป็นอย่างไร หากรัฐไทยและมาเลเซียเชื่อว่าแถลงการณ์ของแอนโทนี่ เดวิส ได้นำเสนอนั้นมีความน่าเชื่อถือ แน่นอนว่าต้องเกิดคำถามต่อบุคคล3คนที่อ้างว่าเป็น BRN ซึ่งร่วมอยู่ในมารานั้นได้มีปัญหาอะไรกับทางDPPหรือไม่ ส่วนปฏิกิริยาของสังคมต่อแถลงการณ์ดังกล่าว สังคมก็จะเกิดคำถามว่า ตกลงแล้วรัฐจะเชื่อใครระหว่างสุกรี กับ ยูซุฟ หากเสียงของยูซุฟเป็นเสียงที่มาจากDPPจริง และรัฐกลับไปเชื่อสุกรีมากกว่ายูซุฟ ผมคิดว่า กระบวนการพูดคุยที่รัฐและมาเลเซียดำเนินการไปนั้น จะไม่เป็นที่ยอมรับจากDPP ของBRNอย่งแน่นอน

มองอย่างไรต่อเหตุการณ์ ทหารพรานถูกลอบวางระเบิดที่สุสานมุสลิมเมื่อ  13 ธันวาคม 58?

ความรุนแรงจากสถานการณ์ต่อสู้กันด้วยอาวุธจะในรูปแบบของสงครามโลกหรือสงครามกองโจรหรือสงครามอสมมาตรหรือจะรูปแบบใดก็ตาม มันคือสถานการณ์ที่มนุษย์ตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงสูงมากที่จะเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนและระเบิด ส่วนจะตายเพราะปืนหรือระเบิดในสภาพศพที่ดูดีหรือดูไม่ดี ก็มีค่าเท่ากันก็คือตายเหมือนกัน สำหรับผมประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่สภาพศพหลังจากถูกกระสุนปืนหรือถูกระเบิดมันดูดีหรือไม่ดูดี ประเด็นสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ความรุนแรงยุติลงได้อย่างเร็ววัน และเป็นการยุติที่ยั่งยืน ไม่ใช่เป็นการยุติด้วยการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามให้ราบคาบ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะเกิดการล้างแค้นกันไปล้างแค้นกันมาไม่รู้จบ

มองอย่างไรกรณีปริศนาการตายของนายอับดุลลายิในค่ายทหารเมื่อ 4 ธันวาคม 58?

หากรัฐไม่สามารถคลี่คลายข้อกังขาเคลือบแคลงใจของสังคม ผมเชื่อว่าความรู้สึกที่สังคมไม่ได้ถูกคลี่คลายนั้น จะส่งผลให้เกิดเงื่อนไขที่ไปหล่อเลี้ยงความความรุนแรงต่อต้านรัฐโดยปริยาย – ที่ผ่านมา การเข้ามาของกลไก หรือ กองทุน ต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุนสนับสนุนโครงการ หรือ เข้ามาสังเกตการณ์สถานการณ์ เป็นผลดี ผลเสีย อย่างไร ต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ ตอบ มีผลดีมากกว่าอยู่แล้ว เพราะในความขัดแย้งที่กินเวลานานเป็นทศวรรษนั้น หากไม่มีความรู้ใหม่ๆที่มาจากบุคคลที่สาม ความขัดแย้งก็แทบที่จะมีโอกาสหลุดออกไปจากวังวนของเขาวงกตแห่งขัดแย้งไป

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่  เป็นอย่างไรบ้าง?

มีสถิติการละเมิดลิดรอนสิทธิมนุษยชนที่ขึ้นๆลงๆแปรผันตามเสียงคัดค้านและเรียกร้องความเป็นธรรมจากภาคประชาชน ถ้าช่วงใดที่ประชาชนได้ส่งเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างเข้มข้น ก็จะมีสถิติการละเมิดสิทธิลดลง ถ้าช่วงใดที่กระแสสันติภาพสันติสุขเป็นกระแสสูง ประชาชนที่ต้องสงสัยหรือที่เคยผ่านการกล่าวหาจากรัฐว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง ก็จะมีสถิติของกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวถูกละเมิดสิทธิและถูกสังหารนอกระบบกฎหมายสูงขึ้น

ที่ผ่านมา การเข้ามา ต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุนสนับสนุนโครงการ หรือ เข้ามาสังเกตการณ์สถานการณ์ เป็นผลดี ผลเสีย อย่างไร ต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่?

มีผลดีมากกว่าอยู่แล้ว เพราะในความขัดแย้งที่กินเวลานานเป็นทศวรรษนั้น หากไม่มีความรู้ใหม่ๆที่มาจากบุคคลที่สาม ความขัดแย้งก็แทบที่จะไม่มีโอกาสหลุดออกไปจากวังวนของเขาวงกตแห่งขัดแย้งได้

การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ เป็นอย่างไร?

ตัวแปรสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดว่าประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาชายแดนใต้มากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับ2ปัจจัยหลัก หนึ่งคือขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นจริงจังพร้อมเสียสละเผชิญกับความสูญเสียต่างๆจากเบาไปถึงหนัก กล่าวคือจากอยู่บ้านไม่ได้ต้องหลบๆซ่อนๆ ต่อมาก็ถูกจับกุมคุมขัง และหนักที่สุดคือถูกทำให้ตายด้วยวิธีการต่างๆ ปัจจัยที่สองคือความใจกว้างของกลไกโครงสร้างทางระบบอำนาจของรัฐซึ่งล้วนแต่ย้อนแย้งกับระบบที่เป็นประชาธิปไตย

ทางออกสำคัญคืออะไร?

ทางออกคือภาครัฐ ประชาสังคม และสังคมไทย ต้องยอมรับความจริงในต้นเหตุรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งและทำความจริงให้ปรากฎต่อสาธารณะ ต้องเคารพและปฏิบัติตามในหลักสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมและประชาธิปไตย เชื่อว่าหากทั้งหมดที่ผมกล่าวนั้น รัฐไทย ขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี และประชาชนคนปาตานีสามารถทำได้ สันติภาพปาตานีหรือชายแดนภาคใต้ก็ไม่ใช่เพียงแค่กระแสครึกโครมตามพื้นที่สื่อต่างๆอีกต่อไป

 

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ ฟาตอนีออนไลน์