Skip to main content
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ผู้อำนวยการ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้
ผู้อำนวยการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มอ.ปัตตานี
 
สุภาภรณ์ พนัสนาชี 
คณะทำงานฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
 
หมายเหตุ: ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558

 

ฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนภาคใต้: ปฐมบทของระบบข้อมูลเพื่อสันติภาพ

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีได้รวบรวมสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการรวบรวมข้อมูลข่าวสารของเหตุการณ์ ความรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าวและนำมาสังเคราะห์และจัดเก็บในระบบฐานข้อมูลเพื่อเป็นฐานในการอธิบายปรากฏการณ์ความรุนแรงโดยใช้ฐานทางวิชาการและวิธีวิทยาการวิจัย ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้จะมีการเผยแพร่ข้อมูลและบทวิเคราะห์อยู่เป็นระยะๆ ทั้งเป็นการวิเคราะห์รายปี รายสามเดือนและรายเดือน จากวิธีการเก็บข้อมูลที่น่าเชื่อถือและมีความเที่ยงตรงทำให้มีผู้ใช้งานข้อมูลดังกล่าวจากหลายแวดวงอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้การประมวลผลข้อมูลเป็นสถิติในหลายมิติ อาทิเช่น สถิติจำนวนของ เหตุการณ์และผู้บาดเจ็บล้มตาย องค์ประกอบของเหตุการณ์อย่างวันเวลา พื้นที่ความรุนแรง รูปแบบการก่อเหตุ ผู้กระทำการ เหยื่อหรือเป้าหมายในการก่อเหตุ เป็นต้น

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ในฐานะหน่วยงานทางวิชาการให้ความสำคัญกับวิธีเก็บรวบรวมและตรวจสอบข้อมูล จากแหล่งข้อมูลสาธารณะอย่างสื่อมวลชนและได้รับความอนุเคราะห์จากฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากวงในของหน่วยงานราชการ หลายแห่ง ได้แก่ส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตุฉุกเฉินของหน่วยราชการพลเรือน ทหารและตำรวจในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดในวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลในห้วงเวลาที่ผ่านมา ประกอบกับสถานการณ์โดยรวมเริ่มมี “สัญญาณ” บางประการที่อาจเป็นตัวบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสังเกต ด้วยความตระหนักว่าศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ไม่ใช่ทำหน้าที่นับศพคนตายและจำนวนผู้บาดเจ็บเท่านั้นแต่เป็นผู้สะท้อน/ตีความสัญญาณการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งและ วิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงทางวาทกรรมและสัญลักษณ์ที่มีความหมายต่อสังคมที่สันติสุขด้วย ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้จึงได้ริเริ่มและพยายามพัฒนาฐานข้อมูลดังกล่าวให้เป็น “ฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้” หรือ Deep South Incident Database (DSID) เพื่อเพิ่มศักยภาพของฐานข้อมูลและยกระดับความน่าเชื่อถือในทางวิชาการมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเตรียมความพร้อมสำหรับการติดตามเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของสภาวะสันติภาพทั้งเชิงบวกและเชิงเชิงลบ (Positive and Negative Peace) ในท่ามกลางกระบวนการสันติภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีด้วย ทั้งนี้การพัฒนาดังกล่าว อาศัยฐานจากบทเรียนทางวิชาการของตนเองในช่วงสิบปีที่ผ่านมาประกอบกับการเรียนรู้จากสังคมอื่นๆ ที่มีความขัดแย้งเช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอื่นๆ  

กล่าวในอีกแง่หนึ่ง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ได้พัฒนาข้อต่อหรือจุดเชื่อมต่อสำหรับการประสานฐานข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐและจากองค์กรนอกภาครัฐทั้งในและต่างประเทศ โดยที่ผ่านมาได้เริ่มต้นทบทวนจากบทเรียนการทำงาน และ เสียงสะท้อนจากผู้ใช้งานที่ผ่านมา รวมทั้งพัฒนา”วิธีวิทยา”ในการเก็บรวบรวมข้อมูลให้สอดคล้องกับการนำข้อมูลไปใช้งานได้ มากยิ่งขึ้น โดยส่วนหนึ่งได้เรียนรู้ประสบการณ์จากหน่วยงานหรือหน่วยวิจัยที่ทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลในลักษณะเดียวกันในต่างประเทศซึ่งมีความร่วมมือที่ต่อเนื่องอยู่เป็นระยะ ขณะนี้การพัฒนาฐานข้อมูล DSID กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการซึ่งเดิมคาดหมายว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2558 แต่เนื่องจากข้อมูลมีปริมาณมากและต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการบันทึกข้อมูล ฐานข้อมูลใหม่ทั้งหมดจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในกลางปี 2559 นี้ การวิเคราะห์ข้อมูลในที่นี้ได้ใช้ฐานข้อมูลชุดที่ปรับปรุงใหม่มาเป็นส่วนประกอบด้วย

สำหรับรายงานสรุปสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบชิ้นนี้จะยังคงยึดเอาวิธีวิทยาและแนวทางการรวบรวมข้อมูลในแบบเดิมเป็นด้านหลัก โดยจะครอบคลุมรายละเอียดของเหตุการณ์ความไม่สงบในห้วงปี 2558 (1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2558) และ เปรียบเทียบในรอบ 12 ปี  

ภาพรวมเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้

สถิติจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547-2558 เกิดเหตุการณ์ทั้งสิ้น 15,374 เหตุการณ์ โดยรวมมีเหตุการณ์เฉลี่ยปีละ 1,281 เหตุการณ์ แต่เมื่อดูแนวโน้มเหตุการณ์ทั้งหมด 12 ปี จะพบว่ามีจุดตัดของเหตุการณ์เป็นสองช่วงใหญ่ๆ คือในระหว่างปี 2547-2550 และช่วงปี 2551-2558 ในช่วงสี่ปีแรกนั้นเหตุการณ์จะรุนแรงมาก เฉลี่ยปีละ 1,926 ครั้ง ส่วนช่วงที่สองระหว่างปี 2551-2558 มีเหตุการณ์เฉลี่ยปีละ 959 ครั้ง

น่าสังเกตว่าเมื่อดูเหตุการณ์โดยเฉพาะในปี 2558 นี้ ได้เกิดเหตุการณ์ทั้งสิ้น 674 เหตุการณ์ซึ่งนับได้ว่าเป็นปีที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี

ผู้เสียชีวิตในรอบ 12 ปี มีทั้งสิ้น 6,543 ราย เฉลี่ยปีละ 545 ราย เฉพาะปี 58 พบว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 246 ราย เฉลี่ยเดือนละ 20 ราย ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ในรอบ 12 ปี มีทั้งสิ้น 11,919 ราย เฉลี่ยปีละ 993 ราย เฉพาะปี 58 พบว่ามีผู้ บาดเจ็บทั้งสิ้น 544 รายเฉลี่ยเดือนละ 45 ราย

 

 

เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือนในปี พ.ศ. 2558 เดือนที่เกิดเหตุสูงสุดคือเดือนพฤษภาคม มีเหตุการณ์จำนวน 119 ครั้ง รองลงมาอันดับสองคือเดือนตุลาคมมีเหตุการณ์ 114 ครั้ง อันดับสามคือเดือนกรกฏาคมซึ่งเกิดเหตุการณ์ 73 ครั้ง เป็นที่น่าสัง เกตุว่าในปี 2558 ทั้งปีมีเดือนที่มีเหตุการณ์สูงเกินกว่า 100 เหตุการณ์มีเพียงสองเดือนเท่านั้นคือเดือนพฤษภาคมและเดือนกรกฎาคม ในเดือนพฤษภาคมเกิดเหตุระเบิดมากกว่า 48 จุด รวมทั้งมีการแขวนป้ายผ้า 27 จุด ในเขตเมืองยะลาตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคมต่อเนื่องจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม นับเป็นการโจมตีครั้งใหญ่ที่สุดในปีนี้ ส่วนในเดือนตุลาคมก็เกิดเหตุวางระเบิดหลายแห่งในเมืองยะลาและอำเภอยะรัง ปัตตานี สถิติระเบิดในเดือนตุลาคมจึงมากกว่า 40 จุด ส่วนเดือนที่เกิดเหตุต่ำสุดคือ เดือน มิถุนายนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบจำนวน 30 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 24 คน และได้รับบาดเจ็บ 39 คน

 

 

           

 

เดือนที่เกิดเหตุ
จำนวนเหตุการณ์
เสียชีวิต
รวม
เสียชีวิต
บาดเจ็บ
รวม
บาดเจ็บ
รวมเสียชีวิต
และบาดเจ็บ
ไม่ระบุ
พุทธ
มุสลิม
ไม่ระบุ
พุทธ
มุสลิม

มกราคม

40

4

6

14

24

0

16

17

33

55

กุมภาพันธ์

49

1

1

12

14

6

21

14

41

55

มีนาคม

38

1

2

14

17

0

32

22

54

71

เมษายน

42

0

12

15

27

0

23

22

45

72

พฤษภาคม

119

0

8

21

29

0

43

24

67

105

มิถุนายน

30

2

6

7

15

0

17

7

24

39

กรกฎาคม

73

2

12

23

37

0

52

39

91

128

สิงหาคม

32

3

5

12

20

0

11

12

23

43

กันยายน

46

2

10

8

20

0

33

17

50

70

ตุลาคม

114

2

7

15

24

0

27

26

53

77

พฤศจิกายน

42

0

5

5

10

0

16

14

30

40

ธันวาคม

48

0

2

7

9

0

27

6

33

42

รวม

674

17

76

153

246

6

318

220

544

790

 

 

จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บตั้งแต่ปี 2547 - 2558 จำแนกเป็นรายปี

นอกจากนี้ ข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ยังพบว่า ในรอบ 12 ปีที่ผ่านมาความรุนแรงและความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 6,543 รายโดยเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตปีละ 545 รายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 11,919 ราย โดยเฉลี่ยปีละ 993 ราย จุดที่เป็นที่น่าสังเกตในข้อมูลชุดนี้ก็คือว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมี แนวโน้มลดลง โดยในระหว่างปี พ.ศ. 2556 ถึง 2558 มีผู้เสียชีวิต 456 ราย 341 ราย และ 246 รายตามลำดับ ส่วนผู้บาดเจ็บ ระหว่างปี พ.ศ. 2556 ถึง 2558 มีจำนวน 978 ราย 672 รายและ 544 รายตามลำดับ

           

สถิติผู้เสียชีวิตในรอบปี 2558 จำแนกตามภูมิหลัง

เมื่อพิจารณาดูที่สถิติภูมิหลังของผู้เสียชีวิตหรือเหยื่อจากเหตุการณ์ความไม่สงบในปี พ.ศ. 2558 ข้อมูลแสดงว่าประชาชนโดยทั่วไปหรือราษฎรเป็นผู้สูญเสียมากที่สุดจำนวน 120 ราย ผู้สูญเสียมากลำดับที่สองคือทหารจำนวน 31 ราย ลำดับที่สาม คือ ผู้นำชุมชนเช่นกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน/ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นฝ่ายปกครองท้องที่ จำนวน 14 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตที่ถูก ระบุว่าเป็นคนร้ายหรือผู้ก่อความไม่สงบที่อาจจะเสียชีวิตในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ จำนวน 19 รายด้วย ผู้เสียชีวิตยังมี ชรบ.และ อส. 12 ราย ตำรวจ/ตชด./นปพ. เสียชีวิต 8 ราย และผู้ที่มีภูมิหลังต่างๆ ในสังคม ทั้งนี้เมื่อแยกให้ชัดเจนระหว่างผู้เสียชีวิตที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอ (Soft Targets) อย่างเช่นประชาชนทั่วไป ข้าราชการลูกจ้างของรัฐที่มิใช่ฝ่ายถืออาวุธ ครู เด็ก พระและผู้นำ ศาสนา เป้าหมายอ่อนแอนี้จะมีจำนวนร้อยละ 66 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ส่วนเป้าหมายที่มีความเข้มแข็ง (Hard Targets) เช่น เจ้าหน้าที่ที่ติดอาวุธ ทหาร ตำรวจ ทหารพราน อส.และชรบ.รวมทั้งกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านที่ต้องถืออาวุธในการปฏิบัติหน้าที่ด้านความมั่นคง เป้าหมายที่เข้มแข็งพวกนี้ มีจำนวนร้อยละ 34 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ดังนั้น เมื่อดูเฉพาะที่ผู้เสียชีวิตทั้งหมด เป้าหมายที่อ่อนจะเป็นสัดส่วนมากกว่าเป้าหมายแข็ง  

           

อย่างไรก็ดี เมื่อรวมเอาจำนวนผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บเข้าด้วยกัน สัดส่วนก็จะเปลี่ยนไป ราษฎรทั่วไปที่เสียชีวิตและ บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบมีจำนวน 306 ราย ทหารที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวน 197 รายตำรวจ/ตชด./นปพ. 89 ราย ชรบ. อส. ทหารพราน จำนวน 68 ราย เป็นต้น กล่าวโดยรวม เป้าหมายที่อ่อนแอซึ่งเป็นประชาชนทั่วไป ข้าราชการลูกจ้าง ของรัฐ รวมทั้งครู เด็ก พระและผู้นำศาสนาจะมีจำนวนร้อยละ 49 ของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งหมด ส่วนเป้าหมายที่มีความเข้มแข็ง เช่น เจ้าหน้าที่ที่ติดอาวุธ ทหาร ตำรวจ ทหารพราน อส.และชรบ.รวมทั้งกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านที่ต้องถืออาวุธ รวมทั้งผู้ที่ถูก ระบุว่าเป็นคนร้ายถืออาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ มีสัดส่วนร้อยละ 51 การปรับเปลี่ยนยุทธวิธีและแนวทาง ในการก่อความไม่สงบ อาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สัดส่วนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บที่เป็นเป้าหมายที่เข้มแข็งมีมากกว่าเหยื่อซึ่งเป็นเป้าหมายที่อ่อนแอ โดยเฉพาะเมื่อเป้าของการก่อความรุนแรงในระยะหลังมักจะมุ่งไปที่ผู้ถืออาวุธด้วยกันมากกว่าที่จะโจมตีประชาชนผู้บริสุทธิ์ จำนวนของทหาร ตำรวจ ทหารพรานและอส.ที่ถูกโจมตีจะมีมากขึ้น แต่เนื่องจากเป็นผู้ถืออาวุธ และมีการป้องกันตัวได้ดีกว่า ประชาชนหรือฝ่ายพลเรือนมือเปล่าไม่มีอาวุธทำให้จำนวนการบาดเจ็บมากกว่าการตาย ซึ่งเมื่อรวมทั้งการตายและบาดเจ็บเข้าด้วยกันทำให้สัดส่วนของเหยื่อที่เป็นเป้าหมายเข้มแข็งมีมากขึ้น

           

สถิติปี 2558 จำแนกตามกลุ่มประเภทของเหตุการณ์

เมื่อดูที่ประเภทของเหตุการณ์ความไม่สงบในปี พ.ศ. 2558 ส่วนใหญ่จะเป็นการยิง จำนวน 299 เหตุการณ์ การก่อเหตุ ด้วยระเบิดมากเป็นลำดับสอง จำนวน 224 เหตุการณ์ ตามมาด้วยการก่อกวนสร้างสถานการณ์ จำนวน 59 เหตุการณ์ ประเภทเหตุการณ์อื่นๆ จำนวน 41 เหตุการณ์ การวางเพลิง จำนวน 31 เหตุการณ์และพบศพจำนวน 19 เหตุการณ์ การยิงมักทำให้อัตราการตายสูงมากกว่าวิธีการอื่นๆ ลักษณะแบบแผนเช่นนี้ไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา

ประเภทเหตุการณ์

จำนวนเหตุการณ์

เสียชีวิต

บาดเจ็บ

ยิง 299 184 177
ระเบิด 224 27 362
วางเพลิง 31 5 1
พบศพ 19 19 -
ประเภทเหตุการณ์อื่นๆ 41 11 4
ก่อกวนสร้างสถานการณ์ 59 ไม่มีผู้เสียชีวิต  

   

           

           

พื้นที่การก่อเหตุ : ระดับจังหวัดและอำเภอ

ในปี พ.ศ. 2558 จังหวัดนราธิวาสมีเหตุการณ์ความไม่สงบมากที่สุด จำนวน 243 เหตุการณ์ จังหวัดยะลามีเหตุการณ์ มากเป็นอันดับสอง จำนวน 207 เหตุการณ์ จังหวัดปัตตานีตามมาเป็นลำดับสาม จำนวน 198 เหตุการณ์ ส่วนจังหวัดสงขลา มีเหตุการณ์จำนวน 26 เหตุการณ์ เมื่อดูในระดับอำเภอ 10 อำเภอที่มีเหตุการณ์สูงสุดคือ

อันดับ
อำเภอ
จังหวัด
จำนวนเหตุการณ์
เสียชีวิต
บาดเจ็บ
1 เมืองยะลา ยะลา 77 10 53
2 บันนังสตา ยะลา 45 13 9
3 รามัน ยะลา 37 17 8
4 ระแงะ นราธิวาส 34 16 39
5 โคกโพธิ์ ปัตตานี 33 12 47
6 รือเสาะ นราธิวาส 32 13 40
7 เมืองนราธิวาส นราธิวาส 30 13 27
8 สายบุรี ปัตตานี 27 14 28
9 ยะรัง ปัตตานี 24 8 20
10 บาเจาะ นราธิวาส 24 7 20

 

                        

การวิเคราะห์แนวโน้มเหตุการณ์: ปี 2559 อุบัติการณ์แห่งพลัง?

จากการนำเสนอข้อมูลเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 12 ปีที่ผ่านมารวมทั้งเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2558 มีข้อสังเกตว่าแนวโน้มเหตุการณ์อาจจะลดลงในปี 2559 แต่มีข้อควรระวังในการวิเคราะห์ “ทิศทาง” การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ หรือการพิจารณาดู “แนวโน้ม” เหตุการณ์โดยอาศัยข้อมูลความต่อเนื่องของเหตุการณ์ในช่วง 12 ปีด้วย

ข้อสังเกตประการแรก ข้อมูลแสดงว่าแนวโน้มสถานการณ์ความรุนแรงลดลงจริง แต่ยังมีทิศทางที่สะท้อนให้เห็นภาวะคงที่ของความรุนแรงหรือความยึดเยื้อเรื้อรังของเหตุการณ์ความรุนแรงที่ยังไม่หยุดไปง่ายๆ ทั้งนี้เกิดจากการต่อสู้กันของพลัง ทางสังคมและการเมืองที่ซ่อนอยู่ภายในความขัดแย้ง จุดเด่นของเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ที่คนมองไม่เห็นคือลักษณะการแกว่งขึ้นลงของเหตุการณ์ในระยะหลังยังคงมีอยู่อย่างชัดเจน

เมื่อดูเส้นการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์รายปี รายเดือน และดูให้ละเอียดมากเป็นทุกรอบ 15 วันหรือทุกๆ ครึ่งเดือนจะเห็น แนวโน้มความแปรปรวนที่เด่นชัด ระดับของเหตุการณ์มีทิศทางเอนต่ำลดลงจนกระทั่งพอถึงปี 2556 เส้นระดับความรุนแรงจะ เปลี่ยนเป็นแนวระนาบจนถึงปัจจุบัน (ปลายปี 2558) ซึ่งแสดงว่ามีค่าความคงที่ของระดับความรุนแรงโดยเฉลี่ยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน ในข้อมูลอนุกรมเวลา (Timeseries Data) ที่บันทึกเหตุการณ์ทางสังคมเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องนั้น ความ แปรปรวนสามารถจะมองเห็นได้ก็โดยการวิเคราะห์แนวโน้มเชิงเส้นเท่านั้น (Trend Line) เหตุการณ์ความไม่สงบในปี 2558 ที่ลดลง ไม่ได้ชี้ขาดว่าในปี 2559 ทิศทางจะลดลงไปอีกถ้าดูที่ความแปรผันของเหตุการณ์ในช่วงสามสี่ปีก่อนหน้านี้

คำถามก็คืออะไรทำให้เหตุการณ์คงที่ตั้งแต่ปี 2556 ปัจจัยที่สำคัญก็คือการเปลี่ยนนโยบายไปสู่กระบวนการสันติภาพ นำไปสู่การพูดคุยสันติภาพที่เริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ประกอบกับการเร่งนโยบายการเมืองนำการทหารของกองทัพและการขยายกำลังในการคุมพื้นที่อย่างหนาแน่น ในช่วงเวลาเดียวกัน การเปิดพื้นที่กลางเพื่อสันติภาพในภาคประชาสังคมก็มีอิทธิพลเป็นตัวถ่วงดุลพลังแห่งความรุนแรงจากทุกฝ่าย                  

                       

ข้อสังเกตุประการที่สอง นอกจากดูที่ระดับของเหตุการณ์ความไม่สงบแล้ว มาดูที่ระดับของการสูญเสีย คือ การเสียชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบ ข้อมูลที่วิเคราะห์ไปแล้วข้างต้นแสดงว่าจำนวนการตายและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบลดลงตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปี 2558 ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสำเร็จของนโยบายสันติภาพ และการปรับตัวเข้าสู่กระบวนการสันติภาพของทั้งฝ่ายรัฐและขบวนการฯ

 

                       

แต่เมื่อดูภาพสุดท้ายเป็นระดับการตาย+บาดเจ็บในทุกๆ รอบ15 วันเช่นกัน พิจารณาดูที่เส้นนี้กลับมี 'ระดับค่าคงที่' เป็นแนวระนาบขนานกันจนมาถึงปัจจุบัน แสดงว่าแนวโน้มการตายในแต่ละช่วงแม้จะลดลงแต่ “จำนวนผู้บาดเจ็บอาจจะคงที่ หรืออาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย” จนเป็นจุดสมดุลที่ทำให้เส้นแนวโน้มสถิติการตายและบาดเจ็บรวมกันกลายเป็นทิศทางคงที่และ ลดลงอย่างช้าๆ ซึ่งแตกต่างจากเส้นระดับของการตายที่ลดลงอย่างชัดเจน ดังที่อธิบายไปแล้วในการเปลี่ยนแปลงจากเป้าหมายที่อ่อนแอไปสู่เป้าหมายที่เข้มแข็ง การปรับเปลี่ยนยุทธวิธีและแนวทางของฝ่ายขบวนการฯ อาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สัดส่วน ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บที่เป็นเป้าหมายที่เข้มแข็งมีจำนวนมากกว่าเหยื่อซึ่งเป็นเป้าหมายที่อ่อนแอ โดยเฉพาะเมื่อเป้าหมายในระยะหลังมักจะมุ่งไปที่ผู้ถืออาวุธด้วยกันมากกว่าที่จะโจมตีประชาชน จำนวนของกองกำลังฝ่ายทหาร ตำรวจ ทหารพราน และ อส.ที่ถูกโจมตีจะมีมากขึ้น แต่เนื่องจากเป็นผู้ถืออาวุธ และมีการป้องกันตัวได้ดีกว่า ทำให้จำนวนการบาดเจ็บของฝ่ายนี้มีมากกว่าการเสียชีวิต   

                       

ข้อสังเกตุประการสุดท้ายก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ระดับความรุนแรงลดลงมีผลอย่างมากต่อวิถีชีวิต และความสุขความพอใจของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ความเปลี่ยนแปลงที่ยังมีความแปรปรวนเป็นผลมาจากกระบวนการสันติภาพที่มีความต่อเนื่องแต่ก็มีอุปสรรคหลายอย่าง ความสมดุลของพลังฝ่ายต่างๆ ในสนามการสู้รบ และสนามสันติภาพ ยังคงมีความเปราะบาง นี่เป็นจุดที่อาจจะทำให้เกิดความพลิกผันถ้าพลังแห่งความสมดุลนี้ถูกทำลายไปเพราะความล้มเหลวของกระบวนการสันติภาพในเส้นทางสายที่ 1 (Track 1) รัฐจะต้องยอมรับในสันติภาพเชิงบวก (Positive Peace) ที่หมายถึงการสร้างสรรค์และการยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในเส้นทางการพูดคุย มิใช่เน้นแค่สันติภาพเชิงลบ (Negative Peace) หรือจะหยุดความรุนแรงแต่เพียงอย่างเดียวด้วยวิธีของตนเองฝ่ายเดียว ปรากฏการณ์แห่งพลังที่สมดุลต้องถูกรักษาเอาไว้ อย่าให้เกิดอุบัติการณ์แห่งพลังที่หันกลับไปใช้ความรุนแรงอีก ความแปรปรวนไม่นิ่ง และการแกว่งขึ้นลงของเหตุการณ์จึงจะลดลงได้