Skip to main content

จรัญ มะลูลีม 

 

           จัดสามจังหวัดภาคใต้ให้เป็นเขตปกครองพิเศษ คำจำกัดความเขตปกครองพิเศษหมายถึง การจัดให้เขตใดเขตหนึ่งของประเทศเป็นเขตที่ใช้นโยบายและระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแตกต่างจากเขตอื่นๆ ของประเทศ โดยยินยอมให้ประชาชนในเขตดังกล่าวเป็นหน่วยหลักในการกำหนดนโยบาย และระเบียบการบริหารในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาภายในของเขตโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ เขตปกครองพิเศษตามความหมายที่กล่าวนี้ให้ใช้ภาษาอังกฤษว่า Special Administrative Region

          ในกรณีนี้เขตปกครองพิเศษ หมายถึง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อันประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสวัตถุประสงค์วัตถุประสงค์สำคัญของการจัดให้ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเขตปกครองพิเศษก็เพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โดยให้ประชาชนในเขตพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายและระเบียบการบริหารเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่

          และรักษาผลประโยชน์ของชนส่วนน้อยอย่างแท้จริงหลักการและเหตุผลสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อันประกอบด้วยปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งมีประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เชื้อชาติมลายูและใช้ภาษามลายูปัตตานีในการสื่อสาร ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากประชาชนคนไทยโดยทั่วไป ซึ่งมีเชื้อชาติไทยและนับถือศาสนาพุทธ ความแตกต่างในเอกลักษณ์ดังกล่าวนี้เป็นเหตุให้มีความแตกต่างในเรื่องปัญหาและความต้องการทางสังคมอย่างละเอียดอ่อน และสลับซับซ้อนพอสมควร

          เมื่อเป็นเช่นนี้ถ้าใช้นโยบายและระเบียบการบริหารที่เหมือนกับส่วนอื่นๆของประเทศ ถึงแม้จะตรงตามความต้องการและสามารถจะแก้ไขปัญหาของคนไทยโดยทั่วไป แต่อาจจะไม่เป็นผลหรือเกิดผลตรงกันข้ามกับประชาชนชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

          การใช้นโยบายและระเบียบบริหารที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงประกอบกับความเข้าใจไม่กระจ่างชัดในเอกลักษณ์ของชาวไทยมุสลิมดังกล่าวนี้นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ปัญหาความไม่สงบนั้นนับวันจะทวีความรุนแรงและจะขยายผลไปสู่นอกประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ อันจะนำไปสู่การเข้ามาแทรกแซงจากบุคคลหรือองค์การภายนอกมากขึ้นเป็นลำดับ

          เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการรีบจัดให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษตามกรอบความหมายที่กล่าวข้างต้น นอกจากจะก่อให้เกิดธรรมาภิบาลที่ได้ผลแล้วยังเป็นการสกัดกั้นมิให้บุคคลภายนอกหรือขบวนการต่างๆ ไม่ต้องคิดการในเรื่องทำนองนี้อีก เพราะว่ารัฐบาลได้จัดตั้งให้แล้ว

          อันที่จริงแล้ว การจัดให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษมิใช่เป็นเรื่องใหม่หรือขาดความชอบธรรมทางกฎหมาย

          ในปี พ.ศ.2359 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้จัดระเบียบการปกครองชายแดนภาคใต้เป็น 7 หัวเมือง คือ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยะหริ่ง เมืองสายบุรี เมืองระแงะเมืองยะลา และเมืองรามันท์ แต่ละเมืองมีเจ้าเมืองรับผิดชอบดูแล และทั้งหมดนั้นขึ้นตรงต่อเมืองสงขลา ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้จัดระเบียบการปกครองเสียใหม่ โดยผนวกหัวเมืองทั้งเจ็ด เป็นมณฑลปัตตานี โดยแบ่งออกเป็น 4 เมือง คือเมืองปัตตานีเมืองสายบุรี เมืองบางนารา และเมืองยะลา

          ครั้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกมณฑลปัตตานี และให้เป็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้

          ส่วนในด้านความชอบธรรมทางด้านกฎหมาย เราจะพบว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีหลายมาตราที่ชี้นำให้มีการปกครอง เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหา ประเพณีวัฒนธรรมและความต้องการของประชาชนในส่วนภูมิภาค

          ส่วนรูปแบบในการบริหารราชการในเขตปกครองพิเศษแห่งนี้นั้นจะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและดำเนินการยกร่างรายละเอียด เพื่อเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบต่อไป คณะกรรมการชุดนี้จะต้องประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในพื้นที่ทั้งที่เป็นชาวไทยมุสลิมและชาวไทยพุทธตามอัตราส่วนของจำนวนประชากร

          ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น เป็นแนวทางการแก้ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นที่พื้นฐานทางสังคมและจิตวิทยาอย่างรอบด้านและครบวงจร

          ข้อเขียนทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ความต้องการของชาวไทยมุสลิม ตัวบทกฎหมาย หลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักวิชาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางชาติพันธุ์

          อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ อาจจะไม่สามารถกระทำได้ทั้งหมดในเวลาเดียวกัน อาจจะทยอยกันปฏิบัติตามลำดับความสำคัญหรือข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่เห็นด้วยและเห็นต่างของปัญญาชนมุสลิมและผู้คุ้นเคยกับพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้เนื่องด้วยในวันที่ 30 มกราคม 2553 ที่ผ่านมากองบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ "ทางนำ" ซึ่งผมเป็นบรรณาธิการอำนวยการมาหลายปี ได้จัดเสวนาโต๊ะกลมขึ้นร่วมกับสภาองค์กรมุสลิม และมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในหัวข้อเรื่อง "หลักคิดนครปัตตานีกับ พ.ร.บ. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้"

          โดยมีวิทยากรหลักคือ ศ.พลโท ดร.สมชาย วิรุฬหผล ส.ว. วรวิทย์ บารู ส.ส. เจะอามิง โตะตาหยง รศ.ดร.อารง สุทธาศาสน์ ดร.ไพฑูรย์ บุญวัฒน์อาจารย์การุณ กูใหญ่ รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร อาจารย์ชีวินทร์ ฉายาชวลิตอาจารย์ณรงค์ ดูดิง อิมามอาหะหมัด ขามเทศทอง อาจารย์นิติ ฮาซัน และอาจารย์ศราวุธ ศรีวรรณยศ ร่วมกันเสนอความคิดเห็น ณ มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางแห่งประเทศไทย คลองตัน กทม.

          ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญสรุปได้ดังดังนี้อ.ศราวุธ ศรีวรรณยศ มีความเห็นว่า แนวคิดของเรื่องปัตตานีมหานครในส่วนที่เราเปิดให้มีการเสวนาในครั้งนี้เป็นการระดมความคิดในการแก้ปัญหาสังคมมุสลิม ต้องขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ทางนำที่จะนำความคิดนี้ไปเสนอสู่สาธารณชนต่อไป และในส่วนของสภาองค์กรก็จะรับไปสังเคราะห์ข้อคิดทั้งหมดเพื่อให้เป็นรูปธรรมเพื่อที่จะนำเสนอในอีกด้านหนึ่งเพื่อสนับสนุนประชาชนมุสลิมเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกิจการอิสลามก็ดีหรือเกี่ยวข้องกับปัญหาในเรื่องของความสงบสุขของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

          อ.การุณ กูใหญ่ กล่าวว่า การเปิดประเด็นเรื่องของนครปัตตานี หรือกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ หรือรัฐบาลเสนอเรื่อง ศอ.บต. ยุคใหม่ มันก็ทำให้เป็นประเด็น ในวงวิชาการในที่ต่างๆ เขาก็มีการพูดมาโดยตลอด แม้แต่สื่อมวลชนต่างๆ เขาก็มีการจัดเสวนากัน จำได้ว่าเมื่อเดือนที่แล้ว สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์ก็มีการพูดกันในเรื่องนี้แล้วบรรดาสื่อมวลชนก็ออกมาเผยแพร่ความคิดอะไรต่างๆ ก็คงมีประเด็นหลักอยู่ 2 ประเด็น อันที่ 1 คือในเรื่องของนครปัตตานี เรื่องที่ 2 คือเรื่อง พ.ร.บ. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

          คือเดี๋ยวนี้พอบอกนครปัตตานี คนก็จะนึกถึง ศ.ดร.สมชาย วิรุฬหผลดูจะเป็นเจ้าของเรื่องอยู่ตอนช่วงนี้ เวลาออกไปพูดในที่ต่างๆ พอพูดถึง พ.ร.บ.แน่นอนครับคนจะนึกถึงพรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ก็มี ส.ส.เจ๊ะอามิง มานั่งอยู่เพราะฉะนั้น เราก็จะมีคนที่เป็นเจ้าของเรื่องกันอยู่

          คนที่กลางๆ นี่ในเรื่องการเมืองก็คือ ส.ว.วรวิทย์ บารูที่เป็นกลางจริงๆ ที่เป็นนักวิชาการก็มี ดร.อารง สุทธาศาสน์ นักวิชาการที่สามารถจะสะท้อนมุมมองต่างๆ ได้ ก็มี อ.ชีวินทร์ ฉายาชวลิต มาร่วมอยู่ด้วย

          ภาคประชาสังคมมี อิมามอาหะหมัด ขามเทศทอง, อาจารย์นิติ ฮาซัน,คุณณรงค์ ดูดิง อดีต ส.ส.ยะลา ก็มาด้วย เพราะฉะนั้น เขาศึกษากันมาอย่างกว้างขวาง แต่เท่าที่ดูในปัจจุบัน มันกลายเป็นปัญหาทางการเมืองไปและเป็นการต่อสู้กันในเชิงอำนาจรัฐ

          เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีขบวนการในการต่อสู้กับอำนาจรัฐมันถึงทำให้มีทหารลงไปตั้งหกหมื่นกว่านาย ต้องให้งบประมาณลงไปหลายล้านตั้งแต่ปี 47 ถึงปัจจุบัน พลเอกชวลิต ไปพูดที่ปัตตานี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 เลยทำให้มันบูมขึ้นมาในเรื่องนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีของการแก้ปัญหานี้ว่าจะทำยังไงให้เป็นเอกภาพในแง่ของการแก้oปัญหาภาคใต้--จบ--

 

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 พ.ค. 2553