Skip to main content
รอฮานี จือนารา
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
 

บทนำ

เครื่องมือหนึ่งที่ผู้คนในพื้นที่ความขัดแย้งใช้ในการแก้ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ การพูดคุยกัน หรือภาษาวิชาการเรียกว่า ‘สานเสวนา’ หรือ ‘สันติสนทนา’ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้กลุ่มคนที่มีแนวคิดอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน หรือมีความขัดแย้งมีโอกาสได้มานั่งคุยทำความเข้าใจกันและกัน (Understanding) และหาทางออกร่วมกัน คำว่า ‘สานเสวนา’ หรือ ‘สันติสนทนา’ มีความหมายที่คล้ายคลึง หากพิจารณากิจกรรมที่มีการหยิบใช้คำทั้งสองนี้ในแวดวงวิชาการและภาคประชาสังคมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เมื่อปี 2547 องค์กรจากส่วนกลางเช่น สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา (จากเดิมชื่อ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธีมหาวิทยาลัยมหิดล) ได้ร่วมกับองค์กรในพื้นที่ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดกิจกรรมสานเสวนาให้กลุ่มคนที่แตกต่างไม่ว่าจะเป็นการสานเสวนาระหว่างผู้นำศาสนา นักวิชาการ เยาวชน หรือแม้แต่ประชาชนในพื้นที่ความขัดแย้งให้มานั่งคุยกันโดยรูปแบบและกฎกติกาที่แตกต่างจากการสนทนาทั่วไป   

หลังจากนั้นการสานเสวนาเหล่านี้ก็จัดขึ้นเรื่อยมา แต่ในปี 2556 คำว่า ‘สันติสนทนา’ ได้ปรากฏโดยมีอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์เป็นผู้บัญญัติ ซึ่งให้ความหมายที่ไม่แตกต่างกันและมีเป้าหมายที่เหมือนกัน กล่าวคือ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความไว้วางใจกัน

คำทั้งสองถูกหยิบมาใช้ในแวดวงของวิชาการ แต่สำหรับในระดับบนหรือคู่ขัดแย้งหลักใช้แทนคำนี้ว่า “การพูดคุยสันติภาพ” หรือ Peace talk เนื่องจากในห้วงเวลานั้น รัฐบาลสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตรออกนโยบาย การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้  พ.ศ. 2555 – 2557 ในวัตถุประสงค์ข้อที่ 8  ที่ให้มีการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม เอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ[1]  กระทั่งมีการประกาศการลงนามในเอกสารฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (General Consensus on Peace Dialogue Process) ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยมีตัวแทนรัฐบาลคือสํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani - BRN) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีประเทศมาเลเซียเป็นผู้เอื้ออำนวยความสะดวก (Facilitator)

เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เพราะส่งผลให้บรรยากาศการพูดคุยสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มคึกคักมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นประชาชนในระดับกลาง (Track 2) และระดับชาวบ้านรากหญ้า (Track 3)  มติของคณะรัฐมนตรีในช่วงนั้นระบุชัดเจนเกี่ยวกับการสร้างสภาวะแวดล้อมของการพูดคุยสันติภาพ โดยเปิดโอกาสให้คนทั้งสามระดับพูดคุยกัน

แต่ภายหลังเกิดรัฐประหารของรัฐบาลปัจจุบัน การพูดคุยชุดแรกดังกล่าวก็ล้มเลิก แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงยืนหยัดกับนโยบายนี้ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 เรื่อง การจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้[2] แต่เปลี่ยนจาก ‘การพูดคุยสันติภาพ’ เป็น ‘การพูดคุยเพื่อสันติสุข’

ดังนั้นการสานเสวนา  สันติสนทนา  การพูดคุยสันติภาพ หรือการพูดคุยเพื่อสันติสุข มีการหยิบใช้ในบริบทและวาระที่แตกต่างกัน แต่ต่างก็มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดสันติภาพในพื้นที่แห่งนี้

อย่างไรก็ตามบางกลุ่มมองว่าการพูดคุยภายใต้การปกครองของทหารนั้นไม่มีอิสรภาพหรือไม่มีความจริงใจมากเท่ารัฐบาลชุดที่แล้วเนื่องจากไม่มีการเปิดเผยการพูดคุย แต่การเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนได้มีเวทีพูดคุยถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถือเป็นการทำสงครามโดยไม่ใช้อาวุธสามารถป้องกันการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้มากเลยทีเดียว จอห์น พอล เลอเดรัค (2555) ให้ความหมายของการเปิดพื้นที่พูดคุยนี้ว่า เป็นสารลดกรดทางสังคมและการเมือง สารลดกรดชั่วคราวที่สร้างทางออกให้แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

ด้วยเหตุนี้องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ฉวยโอกาสเหล่านี้เปิดพื้นที่พูดคุยมากขึ้นจนก่อเกิดกลุ่มและเครือข่ายใหม่ๆ เช่น  เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ กลุ่มวาระผู้หญิงเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ เป็นต้น  ที่สำคัญกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ได้ชูข้อเรียกร้องต่าง ๆ เช่น การเรียกร้องให้มีพื้นที่ปลอดภัย การนำผู้กระทำผิดมาลงโทษเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

ฉะนั้นสันติสนทนาในแต่ละระดับที่ดำเนินอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันนั้นย่อมมีความสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพอย่างยิ่ง เนื่องจากมีการพูดคุยสันติภาพในระดับบน (Track 1)  จึงมีนัยที่สำคัญกว่า เพราะเมื่อเห็นตัวตนของคู่ขัดแย้งแล้ว ข้อเรียกร้องที่ประชาชนเปล่งเสียงออกไปนั้นดูเหมือนมีความหวังมากขึ้น แต่เพื่อให้คนในพื้นที่ร่วมกันหนุนเสริม (Safety Net) การพูดคุยเพื่อสันติภาพเป็นจริงมีความจำเป็นต้องให้ชาวบ้านสัมผัสได้ มีการปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงแค่การพูดด้วยถ้อยคำที่ดูดี หรูหรา และต้องทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีเสียงที่ได้รับการตอบสนอง (จอห์น พอล เลอเดรัค)

แต่ข้อจำกัดสำหรับองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่บางกลุ่มยังมีการพูดคุยเฉพาะกลุ่มของตัวเอง กล่าวคือไม่สามารถจัดวงพูดคุยท่ามกลางความแตกต่างที่หลากหลายได้ซึ่งมีปัจจัยบางอย่าง เช่น กลุ่มยังไม่มีความมั่นใจในตัวเอง  ไม่มีความพร้อมทางด้านข้อมูล หรือยังมีความเจ็บปวดต่อการกระทำจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่นถูกซ้อมทรมานจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเรียกได้ว่ายังไม่สามารถก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ได้ และข้อจำกัดอีกอย่างคือ บางกลุ่มยังเห็นว่างานตัวเองเป็นองค์กรเล็กๆ ไม่มีความสำคัญพอกับสังคมโดยรวม จึงเลือกที่จะทำงานภายในกลุ่มของตัวเอง ไม่เชื่อมกับเครือข่ายอื่นๆ เหล่านี้ทำให้ไม่มีพลังพอในการขับเคลื่อนงานสันติภาพ

บทความชิ้นนี้จึงศึกษา กระบวนการสานเสวนาของกลุ่มเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ที่ลงไปจัดสันติสนทนาในหมู่บ้าน ทั้งนี้เพื่อให้เห็นความสำคัญของการสันติสนทนาในระดับหมู่บ้าน รวมทั้งสร้างความเข้าใจเกี่ยวความสัมพันธ์ระหว่างการพูดคุยสันติภาพในระดับหมู่บ้าน  (Peace talk writ Local -Track 3 ) กับการพูดคุยสันติภาพในระดับใหญ่หรือ (Peace talk writ Large -Track 1)  อย่างไร

 

ความหมายของสันติสนทนา

อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสารสันติภาพ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จะเรียกว่าสันติสนทนาได้ก็ต่อเมื่อมีการลงนามพูดคุยสันติภาพของคู่ขัดแย้งระดับบนหรือ “แทร็กหนึ่ง” เสียก่อน[3] และได้ให้ความหมายคำว่า สันติสนทนาเป็นวิธีการที่ผู้คนซึ่งแตกต่างกันใช้เพื่อจัดการกับความขัดแย้งที่มีระหว่างกัน อันจะส่งผลให้มองเห็นตัวตนของตนเองและผู้อื่นมากขึ้นในแง่ความรู้สึกนึกคิด โดยมีเป้าหมายให้เกิดความเข้าอกเข้าใจและความไว้วางใจกันมากขึ้นท่ามกลางสภาวการณ์ที่ขัดแย้งกันรุนแรง

เมธัส อนุวัตรอุดม จากสถาบันพระปกเกล้าได้ประมวลความหมายของสันติสนทนาจากนักวิชาการในประเทศและต่างประเทศว่า สันติสนทนาที่เกิดขึ้นทั้งในบริบทความขัดแย้งและไม่ขัดแย้ง ในเวทีกลุ่มย่อยหรือเวทีระดับชาติ ใจความสำคัญของสันติสนทนาคือ การแลกเปลี่ยนรับฟังกันและให้เข้าใจกันและกันมากขึ้น

ดังนั้นความหมายของ “สันติสนทนา” มุ่งเน้นให้มีการเสวนากับผู้เห็นต่างที่ประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายทางด้านความคิด ความเชื่อ โดยพูดคุยกันอย่างไม่มีสิ่งกีดขวาง เพื่อให้เกิดความเข้าอกเข้าใจ ไว้วางใจกัน แม้ว่าจะอยู่ในสภาวะที่ขัดแย้งรุนแรงก็ตาม ทั้งนี้เพื่อค้นหาเหตุผลและรับฟังมุมมองที่แตกต่างกันเพื่อหาทางออก

ความสัมพันธ์ สันติภาพเชิงกว้างกับสันติภาพเชิงย่อย

จากการศึกษาของกลุ่ม Reflecting on Peace Practice Program (RPP) ที่พูดถึงความสัมพันธ์เกี่ยวกับพลวัตรการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งระดับมหภาค จะเชื่อมสัมพันธ์กับพลวัตรการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งในระดับชุมชนอย่างไร โดย RPP ได้ถอดบทเรียนจากการทำงานในพื้นที่ความขัดแย้งทั่วโลกว่าความสัมพันธ์ทั้งสองระดับนี้จะเชื่อมสัมพันธ์กันได้ก็ต่อเมื่อ

1)  ถ้าหลายๆ ชุมชนสามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จ มันก็จะส่งผลต่อสันติภาพขนาดใหญ่ได้ 2) ถ้าชุมชนสามารถแก้หรือบรรเทาความขัดแย้งได้ ก็สามารถป้องกันการกระจายความรุนแรงไปยังพื้นที่อื่นได้ 3) หากทุกชุมชนร่วมกันยืนยันที่จะให้ความร่วมมือ ไม่เป็นศัตรู ย่อมส่งผลให้ความถี่ความรุนแรงโดยรวมลดลงได้  4) ถ้าสามารถแสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีมีประสิทธิผลจริง คนในพื้นที่อื่นๆ ก็จะเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาแบบสันติวิธีด้วยเช่นกัน[4]

ตัวอย่างเช่น ที่มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ RPP ได้จัดอบรมเกี่ยวกับ “วัฒนธรรมสันติภาพ” ให้กับกลุ่มคนหลายพันคนจนกระทั่งก่อให้เกิดแนวคิดสร้างชุมชนที่ปลอดภัย  และสุดท้ายบุคคลที่ผ่านการอบรมร่วมกันต่อต้านความรุนแรงและเร่งให้คู่ขัดแย้งมีการเจรจาพูดคุยและเจรจาข้อตกลงสันติภาพ

เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้

เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (Civic Women’s Network) เริ่มขับเคลื่อนทำงานตั้งแต่ปี 2548 โดยเริ่มเปิดพื้นที่ทำโครงการกับกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบเพื่อเยียวยาและสร้างศักยภาพให้กับกลุ่ม ต่อมาปี 2557 ได้จัดทำโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงเพื่อประชาธิปไตยและสันติสานเสวนาชายแดนใต้ (ญปส.) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาประชาธิปไตยแห่งสหประชาชาติ (UNDEF) ผ่านมูลนิธิฮิลาลอะห์มัร (Hilal Ahmar Foundation) มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (พ.ศ. 2557-2558)

เครือข่ายผู้หญิงฯ เห็นว่าสันติสนทนาควรมีทุกระดับและต้องทำคู่ขนาน เพราะหากสนทนาเฉพาะ “แทร็กหนึ่ง” อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น สร้างผลกระทบ ความบาดหมาง และความไม่ไว้วางใจในระดับชุมชนเต็มไปหมดโดยเฉพาะระหว่างผู้คนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน เจ้าหน้าที่ และคนในชุมชนกันเอง ทั้งพุทธ และมลายูมุสลิม ดังนั้น เครื่องมือการสันติสนทนาก็ควรหยิบมาใช้ในระดับชุมชนเช่นเดียวกัน เพื่อลดความหวาดระแวง ความตึงเครียด สร้างความไว้วางใจ เยียวยาและลดผลกระทบที่คนในชุมชนได้รับ โดยเฉพาะที่ได้รับจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในด้านต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้คนในชุมชนมีทางออก และเห็นว่าปัญหาความต้องการของเขาถูกรับฟังจากเจ้าหน้าที่ ได้รับการใส่ใจ รวมทั้งได้รับการตอบสนองด้วย กล่าวคือ ได้รับการแก้ไข

ขั้นตอนการจัดสันติสนทนา

อบรมวิทยากรกระบวนการ

โครงการฯ เริ่มจากการเชิญกลุ่มแกนนำผู้หญิงในพื้นที่ต่างๆ ร่วมกับเจ้าหน้าที่โครงการฯ มาอบรมกระบวนการสันติสนทนาเพื่อฝึกเป็นวิทยากรกระบวนการรวมทั้งหมด 5 รุ่น รุ่นละ 50 คน รวม 250 คน โดยผู้เข้าร่วมมีทั้งกลุ่มผู้หญิงมลายูมุสลิมและไทยพุทธ  โดยเนื้อหาการอบรมประกอบด้วยทักษะพื้นฐานการเป็นวิทยากรกระบวนการ เช่น การวิเคราะห์ความขัดแย้ง ทักษะการฟัง ทักษะการตั้งคำถาม และจบด้วยการจำลองสนามการสานเสวนาระหว่างไทยพุทธกับมลายูมุสลิม เพื่อให้ผู้เขารับอบรมได้ฝึกการเป็นวิทยากรกระบวนการจริง

ทั้งนี้ในกระบวนการสันติสนทนาจะแทรกด้วยการเยี่ยมเยียนเยียวยาครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากกลุ่มเครือข่ายที่ผ่านการอบรมสันติสนทนา เพราะการเยี่ยมถือเป็นงานที่อ่อนที่สุดและเป็นการถางทางที่ดี  ในขณะเดียวกันจะมีการอบรมศักยภาพในด้านต่างๆ อีกด้วย

คัดเลือกพื้นที่ปฏิบัติการ

เครือข่ายผู้หญิง ฯ คัดเลือกเลือกพื้นที่ที่องค์กรเครือข่ายทำงานอยู่แล้ว เพราะสันติสนทนาเป็นงานที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องทำงานกับคนที่แตกต่างกัน พื้นที่ปฏิบัติการประกอบด้วยสามพื้นที่ครอบคลุมสามจังหวัด ประกอบด้วย

1) บ้านกูจิงลือปะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จังหวัดนราธิวาส  เป็นหมู่บ้านที่ชาวไทยทุกคนรู้จักเพราะมีเหตุการณ์สยองขวัญ กรณีครูจูหลิงถูกทำร้ายจนเสียชีวิตเมื่อ 8 ปี ที่แล้ว ทำให้คนในพื้นที่และนอกพื้นที่ตีตราว่าเป็นหมู่บ้านโจร และมีองค์กรเครือข่ายไปทำงานเยียวยาและช่วยเหลือด้านกระบวนการยุติธรรม แต่มีความไม่ไว้วางใจระหว่างเจ้าหน้ารัฐกับชาวบ้านสูง จึงเลือกพื้นที่นี้เพื่อปฏิบัติการสันติสนทนาระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ

2. บ้านยุโป ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา เป็นหมู่บ้านที่มีชาวบ้านทั้งไทยพุทธและมุสลิมอยู่ด้วยกัน ความรุนแรงทำให้สองเชื้อชาติมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกัน และเป็นหมู่บ้านที่สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หรือ LDI เคยไปทำงาน โดยหมู่บ้านนี้เลือกที่จะสันติสนทนาระหว่างชาวพุทธกับชาวมลายูมุสลิม

3. บ้านพ่อมิ่ง ต.พ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่ที่เครือข่ายผู้หญิงฯ ทำงานตั้งแต่ปี 2549 และทำงานเรื่อยมา ทำให้มีกลุ่มแกนนำผู้หญิงที่สามารถประสานงานให้ได้ บ้านพ่อมิ่งเป็นหมู่บ้านที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง ปอเนาะถูกตรวจค้น ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เสียชีวิตหลายคน และมีความหวาดระแวงสูง จึงมีการจัดสันติสนทนาระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับชาวบ้าน

แต่ละพื้นที่มีการประเมินและพูดคุยให้ได้ข้อมูลเชิงลึกให้มากที่สุด เพื่อให้การทำงานไม่อันตรายจนเกินไป โดยในกลุ่มเครือข่ายมีที่ปรึกษาจากคนในพื้นที่ และคนนอกพื้นที่ และทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินสถานการณ์

รูปแบบและพื้นที่การจัดอบรม

แต่ละพื้นที่จะจัดอบรมทั้งหมด 3 ครั้ง โดยครั้งแรกและครั้งที่สองจัดให้พบกันระหว่างภายในกลุ่มตัวเองก่อน คือ ถ้าเจ้าหน้าที่ก็พบเจอเฉพาะเจ้าหน้าที่ แต่ประกอบด้วยหลายภาคส่วน หากเป็นชาวบ้านก็ประกอบความแตกต่างทางวัย วุฒิการศึกษา เพศ ตำแหน่ง เป็นต้น ส่วนสถานที่จัดจะให้แต่ละฝ่ายเลือกตามความสะดวก ครั้งที่สามจะให้ทั้งสองฝ่ายมาเจอกัน โดยเลือกพื้นที่กลาง ซึ่งทั้งสามพื้นที่นั้นเลือกสถานที่เป็นโรงแรมในการจัดอบรม แต่สำหรับหมู่บ้านที่มีความเสี่ยงสูงอย่างบ้านกูจิงลือปะ เครือข่ายผู้หญิงฯ เลือกใช้โรงแรมทั้งสามครั้ง

พลวัตรความสัมพันธ์ระหว่างสันติสนทนาในระดับชุมชนกับสันติสนทนาในระดับใหญ่

พลวัตรความสัมพันธ์ระดับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐ

แม้ว่ากระแสการพูดคุยสันติภาพที่กระหึ่มในระดับบน แต่หากข้างล่างไม่มีการสร้างกิจกรรมใดเพื่อชี้ถึงสันติภาพแล้ว ชาวบ้านก็ไม่อาจหนุนเสริมการพูดคุยหรือต่อต้านก็ได้ ดังนั้นสันติสนทนาที่จัดขึ้นในพื้นที่ชุมชนหรือหมู่บ้านนี้ก็เป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมหรือสร้างบรรยากาศที่ดียิ่งต่อกระบวนการสันติภาพ

โดยภาพรวมแล้วกระบวนการข้างต้นทำให้คนคุ้นเคยกับการพูดคุยสันติภาพและเห็นว่าสามารถเป็นทางออก ทางเลือกในการคลี่คลายปัญหาของเขาได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้คนในชุมชนรู้สึกว่าเขามีสิทธิพูด แสดงออก จากที่เมื่อก่อนชาวบ้านกลัวเจ้าหน้าที่ ไม่กล้ามีปากมีเสียง ในขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็อาจคุ้นเคยกับการสั่งการ ชี้แจงฝ่ายเดียว ถ้าจัดเวทีก็เป็นเวทีประชุมชี้แจงฝ่ายเดียว แต่เวทีสันติสนทนาทุกคนมีสิทธิ์เสมอภาคเท่าเทียมกันหมด มีสิทธิทั้งพูดและฟัง โดยสันติสนทนาเน้นการฟังอย่างตั้งใจ ฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังเพื่อให้เห็นความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน ศักดิ์ศรีที่ทุกคนมี ที่ต้องได้รับการเคารพด้วย  นอกจากนี้ แม้ว่าปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไขแต่ทำให้คนในชุมชนรู้สึกว่าเรื่องของเขาก็ถูกรับฟังโดยเฉพาะจากเจ้าหน้าที่ ในขณะเดียวกัน เขาก็ต้องเรียนรู้ที่จะรับฟังคนที่มีความเห็นต่างจากเขาด้วยเช่นกัน

เพราะฉะนั้นการพูดคุยในระดับชุมชนจึงสำคัญเท่าเทียมกับการพูดคุยในระดับบน เพราะผู้คนต่างก็ประสบปัญหา ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์กันไปถ้วนหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่กลุ่มเครือข่ายผู้หญิงฯ นำร่องจัดสันติสนทนา การให้ความสนใจเฉพาะการพูดคุยสันติภาพในระดับบนอย่างเดียวไม่ได้ เพราะจะเกิดช่องว่าง และไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพ เพราะประชาชนหรือคนในชุมชนจะรู้สึกว่า เขาไม่มีความสำคัญ เสียงของเขาถูกละเลย

“หลังจากที่มีสันติสนทนา ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่มีความไว้ใจกันมากขึ้น ไม่มีความหวาดระแวง เช่น ที่บ้านกูจิงลือปะ ก่อนมีการสันติสนทนา ในวันศุกร์จะมีเจ้าหน้าที่ทหารมาบรรยายที่มัสยิดเป็นชั่วโมง ส่งผลต่อเวลาการทำงานของชาวบ้าน แต่เมื่อมีจัดสันติสนทนา ชาวบ้านได้บอกกล่าวข้ออึดอัดนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่รบกวนชาวบ้านอีก  ส่วนที่พ่อมิ่ง จากที่มีเจ้าหน้าที่มาลาดตระเวนตอนกลางคืน ปัจจุบันนี้ก็ไม่มีแล้ว” คนทำงานของเครือข่ายผู้หญิงฯ คนหนึ่งสรุปให้ฟัง

พลวัตความสัมพันธ์กับสังคมใหญ่

เครือข่ายผู้หญิงฯ จัดสันติสนทนาเป็นลักษณะนำร่องเท่านั้นเพราะมีข้อจำกัดด้านทุน และระยะเวลา จึงอาจไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมใหญ่มากนัก แต่สิ่งที่เครือข่ายทำได้ขณะนี้คือ พยายามขยายแนวคิดผ่านเวทีสาธารณะ อย่างเช่น เมื่อวันที่  28 กุมภาพันธ์ 2557 เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯ (ร่วมกับผู้หญิงอีก 4 องค์กรเครือข่าย) ได้ร่วมกันแถลงการณ์กับองค์เครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้บนเวทีใหญ่ เนื่องในวันสื่อสันติภาพและวันสตรีสากล โดยกลุ่มเครือข่ายผู้หญิงได้เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพทั้งในระหว่างคู่ขัดแย้งหลักและกับประชาชนในระดับท้องถิ่นอีกด้วย และนอกจากนี้ทำงานสื่อสารผ่านสื่อโทรทัศน์และวิทยุเพื่อขยายแนวคิดเหล่านี้อีกด้วย

สิ่งที่เครือข่ายผู้หญิงทำได้เพื่อเชื่อมต่อกับสังคมใหญ่ คือ หลังเสร็จสิ้นโครงการฯ เครือข่ายผู้หญิงฯ จะนำบทเรียน องค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินงาน และข้อเสนอนำเสนอต่อสถาบันการศึกษาที่สนใจอยากจะส่งเสริมการใช้สันติสนทนาในระดับชุมชน รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ แหล่งทุนที่สนใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อส่งเสริมต่อหรือขยายพื้นที่การพูดคุย รวมทั้งนำองค์ความรู้บทเรียนที่เครือข่ายผู้หญิงฯ ได้ทำไว้ไปปรับใช้

ในอนาคต หากชุมชน สังคม ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม เห็นด้วยกับเครื่องมือหรือการเปิดพื้นที่พูดคุย สันติสนทนากันแบบนี้ว่าเป็นแนวทางสันติวิธีที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาหรือผลกระทบที่แต่ละฝ่ายมีในระดับชุมชนได้ก็จะมีสันติสนทนากันในอีกหลายๆ พื้นที่ หรือทุกพื้นที่ ส่วนที่ในอนาคตจะสามารถนำไปเชื่อมโยงกับการพูดคุยในระดับบน Track 1 หรือไม่ อย่างไรนั้น ก็คงเป็นเรื่องของชุมชนสังคมหรือผู้จัดให้มีการพูดคุยในแต่ละพื้นที่จะตัดสินใจกัน

บทสรุปและข้อท้าทาย

กล่าวอย่างสรุปแล้ว ความท้าทายของคนทำงานสันติสนทนาในระดับชุมชนมีอยู่อย่างน้อย 2 ประการ นั่นคือ ประการแรก ผู้จัดการสันติสนทนาในชุมชนต้องเป็นคนที่ทั้งสองฝ่ายที่จะเข้าร่วมพูดคุยให้การยอมรับ เช่น ถ้าจัดให้สันติสนทนาระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ ทั้งสองฝ่ายนี้ต้องให้การยอมรับ โดยปัจจัยหนึ่งคือคนหรือองค์กรผู้จัดนั้นๆ ต้องมีความเป็นกลางและเป็นที่ยอมรับของสองฝ่าย ดังนั้น ผู้ที่มีศักยภาพที่จะจัดสันติสนทนามากที่สุดเห็นจะได้แก่สถาบันการศึกษา ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายผู้หญิงฯ จึงจะทำข้อเสนอไปยังสถาบันการศึกษาเป็นหลักให้ส่งเสริม สนับสนุน และเข้ามามีบทบาทในการจัดสันติสนทนาในระดับชุมชน เพราะหากให้ชุมชนเขาจัดกันเองยังเป็นเรื่องที่ท้าทายอยางมาก

ประการที่สอง การจัดสันติสนทนาในพื้นที่ความขัดแย้งในระดับชุมชนมีความเสี่ยงอันตราย มีความอ่อนไหวหลายเรื่องที่ต้องคิดและระมัดระวัง บางครั้งผู้จัดเองก็เสี่ยงที่จะไม่ได้รับความไว้วางใจจากหลายฝ่าย เช่น บางทีคนที่เคลื่อนไหวในขบวนการต่อสู้ปาตานีอาจเห็นว่าจัดเวทีสันติสนทนาแบบนี้เป็นกิจกรรมที่ไปเข้าทางรัฐ ขัดหรือขวางทางของเขา ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็อาจเห็นว่าจัดแบบนี้ไปเข้าทางฝ่ายแรกและขัดหรือขวางทางเจ้าหน้าที่ เป็นต้น การทำกิจกรรมในลักษณะนี้จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องทำความเข้าใจและทำให้แต่ละฝ่ายไม่ระแวงในตัวคนทำงาน พิสูจน์ให้พวกเขาสัมผัสได้ว่าการมีเวทีพูดคุยเช่นนี้นั้นเป็นการถือเอาประโยชน์ของประชาชนที่ทุกข์ยากและได้รับผลกระทบเป็นตัวตั้ง ไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ ทั้งสิ้น แต่เน้นให้แต่ละฝ่ายได้มีโอกาสพูดคุยและฟังซึ่งกันและกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ในระยะยาวได้

กระแสการพูดคุยสันติภาพระดับบนมีส่วนผลักดันให้เกิดการพูดคุยสันติภาพหรือสันติสนทนาในระดับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี หากงานสันติภาพในระดับองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรวิชาการหรือ “แทร็กสอง” ได้ร่วมกันขับเคลื่อนในระดับชุมชนรากหญ้าหรือในระดับล่าง (แทร็กสาม) แต่กลุ่มดังกล่าวที่จะเป็นตัวแทนดำเนินการนั้นจำเป็นต้องศึกษากระบวนการเพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากทุกฝ่าย เพื่อให้คู่สนทนากล้าที่จะพูดความจริงได้มากพอ และที่สำคัญการพูดความจริงนั้นต้องไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนในทุกระดับได้สามารถร่วมกันส่งเสียง และเมื่อนั้นเสียงเหล่านั้นถึงจะทรงพลังได้และสามารถต่อรองกับการพูดคุยระดับบนในอนาคตได้

 

อ้างอิง

โครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้หญิงเพื่อการสานเสวนาสันติภาพที่เป็นประชาธิปไตยชายแดนใต้: ญส.ปต. มปป. คู่มืออบรมวิทยากรกระบวนการจัดสานเสวนา.

จอห์น พอล เลเดอรัค สดใส ขันติวรพงษ์ (แปล). 2555.พลังธรรมแห่งจินตนาการศิลป์และวิญญาณการสร้างสันติภาพ. สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัย                  มหิดล.

เปาริชาด สุวรรณบุบผา. 2552. สานเสวนาสานใจสู่ใจ.  นครปฐม: หจก.ลิตี้ อาร์ท.

เมธัส อนุวัตรอุดม.(2556) สันติสนทนา. กรุงเทพ: สถาบันพระปกเกล้า.

สัมภาษณ์ อัสรา รัฐการัณย์  คณะทำงานเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯ .วันที่ 10 มกราคม 2559 ณ มอ.ปัตตานี

สัมภาษณ์ โซรยา จามจุรี หัวหน้าเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯ. วันที่ 12 มกราคม 2559 ณ มอ.ปัตตานี

CDA's Reflecting on Peace Practice Program. 2012. CLAIMS AND REALITY OF LINKAGES BETWEEN PEACE WRIT LARGE AND peace writ little.

        http://www.cdacollaborative.org/media/45088/CLAIMS-AND-REALITY-OF-LINKAGES-BETWEEN-PEACE-WRIT-LARGE-AND-peace-writ-little.pdf

 

 


[3] อาจารย์ชัยวัฒน์รายงานปาฐกถา ในเวที การสื่อสารกับสันติภาพชายแดนใต้ โอกาส พื้นที่ใหม่ กับความท้าทาย  เรื่อง รู้คุณ (ค่า) สันติสนทนาวิทยาการสื่อสารมนตราเมื่อวันที่  4 ธันวาคม 2558