Skip to main content

           

ฮาลาลและการรับรองฮาลาลกรณีจีเอ็มโอ

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

          จีเอ็มโอฮาลาลไหม ถามกันมาอย่างนี้ซึ่งตอบไปแล้วว่าตามมาตรฐานฮาลาลประเทศไทย มาเลเซีย รวมไปถึงมาตรฐานของโอไอซีที่เรียกว่ามาตรฐานซีมิก (SMIIC) จีเอ็มโอถือว่าฮาลาลหากไม่มีการนำยีน (Gene) หรือส่วนของดีเอ็นเอ (DNA) จากสุกรหรือสัตว์ต้องห้ามมาใช้ อย่างไรก็ตาม จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่มีการรับรองฮาลาลผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ คำถามคือหากมีการนำเอาผลิตภัณฑ์จีเอ็มโออย่างเช่น ฝ้าย ข้าวโพด ถั่วเหลือง มันฝรั่ง ที่มีการใช้ยีนแบคทีเรียมาขอการรับรองฮาลาล สมควรที่องค์กรศาสนาอิสลามจะให้การรับรองฮาลาลไหม คำถามนี้น่าคิด

          ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในเรื่องดีเอ็นเอกับยีนเสียก่อน ดีเอ็นเอคือสารเคมีที่ประกอบไปด้วยเบส (Base) ที่จับกันเป็นคู่เรียกว่าคู่เบส (Base pair) เรียงต่อกันยาวเหยียด ทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บรหัสพันธุกรรมของชีวิต ในการทำงานแต่ละส่วนของดีเอ็นเอจะถอดรหัสเพื่อนำไปสร้างโปรตีนหรือเอนไซม์ (Enzyme) จากนั้นจึงนำเอนไซม์ไปทำงาน ชีวิตเริ่มจากการทำงานของเอนไซม์ต่างๆนี่เอง ส่วนของดีเอ็นเอที่สามารถถอดรหัสสร้างเอนไซม์หรือโปรตีนขึ้นมาได้นี้เรียกว่า coding DNA ที่ใช้เรียกกันบ่อยกว่านั้นคือ “ยีน” (Gene) ยังมีดีเอ็นเออีกหลายส่วนที่ถอดรหัสสร้างโปรตีนไม่ได้เรียกว่า non-coding DNA

          สายดีเอ็นเอของมนุษย์จับกันเป็นกลุ่มๆเรียกว่าโครโมโซม มนุษย์มีโครโมโซม 23 คู่ สร้างขึ้นจากส่วนที่เป็นสายดีเอ็นเอนับเป็นคู่เบสรวมทั้งหมด 3 พันล้านคู่เบส นอกจากนี้ยังเป็นของโปรตีนห่อหุ้ม ปรากฏว่าส่วนที่เป็นคู่เบสนั้นมีเพียง 1.5% ที่เรียกว่า coding DNA มนุษย์จึงมียีนรวม 25,000 ยีน ส่วนที่เหลือ 98.5% ของคู่เบสเป็นส่วนที่เรียกว่า non-coding DNA

          เมื่อเทียบกับหนู (Rat) พบว่ามนุษย์มีคู่เบสมากกว่าหนูอย่างเทียบกันไม่ได้แต่กลับมีจำนวนยีนเท่ากัน หรือมี coding DNA เท่ากัน เหตุที่มนุษย์กับหนูต่างกันมากเป็นเพราะมีส่วน non-coding DNA ต่างกันมาก ส่วน non-coding DNA นี่เองที่แม้จะไม่ได้เข้าไปทำงานอะไรแต่กลับสร้างอิทธิพลอย่างมาก มีผลต่อการทำงานของส่วนที่เป็น coding DNA สิ่งนี้จึงทำให้มนุษย์กับหนูต่างกัน

ความมหัศจรรย์พันลึกจึงอยู่ตรงส่วนที่เป็น non-coding DNA ที่ว่านี้ ซึ่งปรากฏว่าเป็นส่วนที่นักวิชาการแทบไม่มีความรู้เลย ดังนั้นการที่นักวิชาการที่เข้าใจว่าตนเองมีความรู้เรื่องการทำงานของยีนอย่างทะลุปรุโปร่ง นำยีนมาใช้ประโยชน์สารพัด พัฒนาสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ขึ้นโดยการนำเอายีนซึ่งเป็นส่วนที่ทำงานมาจับต่อกัน นำยีนใหม่มาสอดแทรกใส่ในดีเอ็นเอสายเก่าเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆที่เรียกว่า “GMO” แล้วนำไปใช้ประโยชน์ กระแสต่อต้านจีเอมโอที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความกังวลว่าส่วนที่นักวิชาการยังไม่รู้จักคือส่วน non-coding DNA นี่เองจะเป็นส่วนที่สร้างปัญหา

          ฮาลาลในอิสลามนั้นชัดเจน ระบุไว้แล้วว่าอะไรฮาลาลอะไรไม่ฮาลาล แต่อิสลามไม่ได้เน้นเรื่องฮาลาลอย่างเดียว อัลกุรอ่านหรือคัมภีร์ในอิสลามกำหนดเรื่องราวของ “ตอยยิบ” ขึ้นมาด้วย คำว่าตอยยิบหมายถึงส่วนที่ดี มีประโยชน์ ให้สุขอนามัยที่ดี และการรับรองฮาลาลเน้นทั้งฮาลาลและตอยยิบเป็นสำคัญ ดังนั้นจีเอ็มโอที่มีวางจำหน่ายกันทั่วไป หากไม่มีการใช้ยีนจากสัตว์หะรอม คำถามคือแล้วมันตอยยิบหรือไม่ หากยังเป็นข้อสงสัยว่าไม่ตอยยิบ ควรรับรองฮาลาลหรือไม่ คำถามนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์มุสลิมกลุ่มหนึ่งซึ่งรวมถึงผมยังไม่แนะนำให้มีการรับรองฮาลาลอาหารที่เป็นจีเอ็มโอ จนกว่าจะยืนยันได้ว่าจีเอ็มโอนั้นตอยยิบซึ่งจนถึงขณะนี้แม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์กลุ่มที่สนับสนุนจีเอ็มโอยังไม่กล้ายืนยันว่าจีเอ็มโอ สร้างปัญหาต่อสุขภาพหรือต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ดังนั้นเมื่อยืนยันไม่ได้จึงไม่ควรรับรองฮาลาล

สรุปว่าจีเอ็มโอนั้นหลายชนิดฮาลาลสามารถบริโภคได้ แต่ไม่เหมาะต่อการรับรอง อ่านแล้วอย่าเพิ่งงงก็แล้วกันครับ