เรื่องเล่าจากอิสตันบูล (1)
Mfahmee Talib
ผมมีภารกิจไปอิสตันบูล เป็นตัวแทนขององค์กรจันทร์เสี้ยวเขียวแห่งประเทศไทย (Thailand Green crescents) จันทร์เสี้ยวเขียวประเทศไทยเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งจาก Green crescents หรือ Yasilay ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งมาโดยนักคิด นักกิจกรรมในตุรกีย์เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ในการทำกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านการบริโภคสุรา ซึ่งในสมัยนั้น วัฒนธรรมการบริโภคสุรา และสุราเชิงพานิชยังเป็นเรื่องใหม่ และถูกนำเข้ามาโดยวัฒนธรรมตะวันตก นานเข้าๆ องค์กร green crescents ก็ขยายขอบเขตงาน และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จนกลายเป็นองค์กรภาคีของรัฐบาลตุรกีย์ ในการทำกิจกรรมรณรงค์เรื่อง สุรา ยาสูบ และยาเสพติด ปัจจุบันเนื่องจากพฤติกรรมเสพติดที่บ่อนทำลายสุขภาวะของประชาชนเพิ่มมากขึ้น จึงขยายงานในการรณรงค์ ต่อต้าน การเสพติดการพนัน และ พฤติกรรมเสพติดเทคโนโลยีเพิ่มเข้ามาด้วย
ในการประชุมครั้งนี้ green crescents ต้องการขยายเครือข่ายขององค์กร ให้กลายเป็นองค์กรนานาชาติ ทำงานด้านยาเสพติด ยาสูบ และแอลกอฮอล์ ร่วมกันหลายๆชาติ โดยมี Turkey green crescents เป็นพี่เลี้ยง คอยสนับสนุนงบประมาณ และรูปแบบการทำกิจกรรมให้ประเทศสมาชิก สมาชิกที่เชิญเข้ามา มีทั้งหมด 30 ประเทศ 10 ประเทศเป็นประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมหรือมีพื้นที่บางส่วนเคยอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน ประเทศเหล่านี้จะส่งตัวแทนที่สามารถพูดภาษาเติร์กได้ อาทิเช่น บัลแกเรีย อาเซอไบจาน มาเซโดเนีย เซอเบียร์ แอลเบเนีย บอสเนีย จีน(อุยกูร์สถาน) เป็นต้น มีอาหรับเข้าร่วมสองประเทศคือ เยเมน กับเลบานอน อีกสิบกว่าประเทศเป็น ประเทศทางแอฟริกา และสามประเทศจากอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย
จากการใช้ชีวิตกินอยู่ที่อิสตันบูล หกวัน ห้าคืน มีเรื่องน่าสนใจ ที่อยากมาแบ่งปัน และชวนกันคิดต่อกับพี่น้อง เลยเอามาแบ่งเป็นหัวข้อๆ ตามนี้
1. ประเทศตุรกีย์ก่อนไปเป็นไงไม่รู้ รู้จักแต่เพื่อนที่เคยไป แล้วพบว่าเพื่อนคนนี้เป็นนักเรียนศาสนาที่มีความคิดแตกต่างจากนักเรียนศาสนาจากโลกอาหรับทั่วไป เป็นความคิดอ่านที่เปิดโลกทัศน์ให้ผมพอสมควร มาเห็นตุรกีย์ในปัจจุบันจึงเข้าใจว่าทำไมเพื่อนคนนี้ถึงแตกต่าง ด้วยบริบทแวดล้อมในตุรกีย์ ที่แตกต่างจากโลกอาหรับโดยสิ้นเชิง ทั้งๆที่เป็นประเทศมุสลิมส่วนใหญ่เหมือนกัน เคยเป็นเจ้าจักรวรรดิของรัฐอิสลามเหมือนกันมาก่อน แต่สภาพปัจจุบันที่ไป มีความแตกต่างของแนวคิดแบบตุรกีกับแบบอาหรับพอสมควร
ความจริงผมไม่เคยไปอาหรับเหมือนกัน แต่เข้าใจว่าบรรยากาศของศาสนาที่นั่นยังคงเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ และการละเมิดหลักการทั้ง หลักความเชื่อและปฏิบัติ เป็นเรื่องที่ทำอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะอาจจะยังทำได้อย่างไม่เสรีนัก
แต่สำหรับตุรกีย์แล้ว ยี่สิบสามสิบปีก่อนหน้านี้ คือประเทศที่เก็บศาสนาไว้ในพื้นที่ส่วนตัว และการละเมิดข้อบัญญัติทางการปฏิบัติเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปในที่สาธารณะ การแต่งกายตามบัญญัติศาสนา เช่นสวมใส่ฮิญาบในที่สาธารณะ เป็นข้อห้ามในสถานที่ราชการ ตุรกีย์ที่ผ่านยุคสมัยนั้นจนกระทั่งเป็นตุรกีย์ที่มีผู้นำรัฐบาลเป็นคนฝักใฝ่ศาสนา จึงผ่านการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของคนในชาติอย่างช้าๆ แน่นอนว่าเคมาล อตาเติร์ก เป็นผู้นำชาติสู่ตุรกีย์ยุคใหม่ ที่มีความอารยะและทันสมัยแบบยุโรป การลดทอนคุณค่าของสิ่งที่อตาเติร์กสร้างไว้ในทันทีทันใด จะเป็นการสร้างปัญหาทางการเมืองขนานใหญ่ในทีเดียว สิ่งที่รัฐบาลนี้พยายามสร้างอย่างช้าๆ ในระยะเวลา 13 ปี คือการสร้างความเข้มแข็งทางการเมือง เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยไม่สอดแทรกเนื้อหาศาสนาโดยตรงในนโยบายใดๆของรัฐบาลเลย (รัฐธรรมนูญ หนึ่งในสี่ข้อที่ห้ามเปลียนแปลงของตุรกีย์ คือ ห้ามเปลี่ยนจากรัฐเซคคิวลาร์ ให้เป็นรัฐศาสนา) ซึ่งมีหลายสิ่งหลายอย่างที่รัฐบาลสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไปตามกรอบศาสนาได้ โดยไม่ต้องใช้ศาสนาเป็นเป้าหมายหลัก จะยกตัวอย่างในหัวข้อต่อไป
2. การทำงานของ green crescents นั้นเป็นตัวอย่างที่ดีของการ ทำในสิ่งที่สอดคล้องกับบัญญัติศาสนา แต่ไม่ได้ใช้หลักการศาสนาในการนำไปสู่เป้าหมาย (ผมต้องมองในมุมเรื่องศาสนาเป็นหลัก เพื่อเทียบให้เห็นว่าตุรกีต่างกับอาหรับอย่างไร) ความจริงแล้ว เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด เป็นปัญหาสากล ที่ไม่ว่าชาติใด จะนับถือศาสนาใด ก็ตาม ล้วนประสบปัญหา จากการแพร่ระบาด และการใช้ยาเหล่านี้ของประชาชนวัยแรงงานจำนวนมาก จุดแข็งที่ green crescents ในตุรกีย์ทำงาน คือการใช้ scientific เป็นฐานในการต่อสู้กับปัญหา เพราะ วิยาศาสตร์นั้นเป็นสากล ที่ทั่วโลกใช้ภาษาเดียวกัน ตัวอย่างคือ เช่น หากการศึกษาที่ใดก็ตามในโลกนี้ พบว่า สุรา เป็นพิษกับตับมนุษย์หากมีการบริโภคยาวนาน หรือ กัญชามีผลต่อสุขภาพจิตของคนสูบหากสูบในปริมาณมาก หรือ บุหรี่มีผลทำให้เป็นโรคมะเร็ง เราจะเจอข้อยกเว้นทางชาติพันธ์ ศาสนา และ ภูมิศาสตร์น้อยมาก กับข้อค้นพบเหล่านี้ แทบไม่มีนักวิทยาศาสตร์ หรือคนที่ใช้วิทยาศาสตร์แม้แต่คนเดียวที่จะคัดค้านข้อค้นพบเหล่านี้ หากพบว่าข้อคนพบเหล่านี้มาจากระบวนการที่พิสูจน์ได้ และมีตัวเลขทางสถิติที่น่าเชื่อถือ สิ่งนี้เราเรียกว่า การยอมรับข้อมูลเชิงประจักษ์ (Evidence base)
ในทางกลับกัน หากการใช้ประเด็นทางศาสนาในการต่อสู้กับเรื่องเหล่านี้ อาจมีข้อยกเว้นบางประการ ตัวอย่างคือ ในอิสลาม การห้ามสุรานั้นเป็นสิ่งที่ชัดเจน เพราะมีหลักฐานปรากฏในกุรอ่าน ซึ่งเป็นหลักฐานส่วนที่สำคัญที่สุดในการอ้างอิงใดๆของมุสลิม แม้กระทั่งการตีความของผู้รู้ที่มีหลายแนวคิดหลายสำนัก ก็ไม่มีข้อแตกต่างในประเด็นของสุรา นั่นคือ การห้ามอย่างชัดเจน แต่หากเป็นสิ่งเสพติดอื่นๆ หรือยาสูบ ซึ่งไม่มีปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนแล้ว ย่อมนำมาซึ่งการไม่เห็นด้วยในข้อสรุปใดข้อสรุปหนึ่งเสมอ เช่น ในพื้นที่ที่หนึ่ง มีความพยายามจะใช้หลักการศาสนาฟัตวา (วินิจฉัย) ว่าบุหรี่เป็นสิ่ง ฮารอม (ต้องห้าม) ในทัศนะของอิสลาม แน่นอนว่าหลักฐานทางศาสนาที่ผู้รู้ยกมามีความน่าเชื่อถือ และเป็นเหตุเป็นผลที่สมควรให้มันเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อประกาศใช้ในพื้นที่จริงๆ มุสลิมจำนวนหนึ่งก็สามารถหาผู้รู้ศาสนาที่จะหาหลักฐานในการโต้กลับ และยืนยันว่าบุหรี่นั้นไม่ได้เข้าข่ายสิ่งต้องห้าม เป็นเพียงสิ่งที่ไม่พึงกระทำ แต่สูบแล้วไม่บาปแน่นอน จนสุดท้ายเรื่องบุหรี่ก็นำไปสู่การเผชิญหน้าทางความคิดที่แตกต่างกันของศาสนาได้ เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงกับสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเช่นนี้ การนำเอาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ agreement เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มาใช้นำเสนอ และรณรงค์ เป็นทางเลือกที่ green crescents เลือกใช้ในการทำงานกับยาเสพติด แอลกอฮอล์ และยาสูบในประเทศตุรกีย์ และนำมาซึ่งความก้าวหน้าทางนโยบาย และผลสัมฤทธิ์ที่ดี ขององค์กร และไม่เกิดประเด็นความเห็นต่างทางศาสนาตามมาด้วย
3.ความพยายามของ green crescents ในการเปิดขยายงานระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ดีในการต่อสู้กับยาเสพติด และแอลกอฮอล์ การทำงานที่ต้องยืนฝั่งตรงข้าม กับบริษัทแอลกอฮอล์ บริษัทยาสูบ ขบวนการค้ายาเสพติด และประชาชนที่ต้องซื้อต้องเสพสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจากสาเหตุใดๆก็ตาม ต้องใช้สรรพกำลัง และวิทยายุทธ์จำนวนมาก การวบรวมองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาจากหลายๆพื้นที่ ที่ผ่านการลองผิดลองถูกกันมาระยะหนึ่งแล้ว จะช่วยในการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆระหว่างกัน และก่อให้เกิด best practice ในที่สุด ซึ่งก็น่ายินดีที่ green crescents อาสาเข้ามาเป็นเจ้าภาพ รวบรวมคนทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จากทั่วทุกมุมโลกมุสลิม มาช่วยกันแชร์ไอเดียในการยืนตรงข้ามกับสิ่งเหล่านี้กันอย่างยั่งยืนต่อไป
มีต่ออีกนะครับ