Skip to main content

 

เรื่องเล่าจากอิสตันบูล (2)

 

Mfahmee Talib

 

4. วิสัยทัศน์การทำงานแบบตุรกีย์ในปัจจุบันนั้นมีกลิ่นอายของการเป็นอดีตเจ้าจักรวรรดิอิสลาม เห็นได้จากการพยายามแสดงบทบาทและความรับผิดชอบต่อกลุ่มเชื้อชาติที่เคยอยู่ใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมันในอดีต การเชิญ 10 ชาติจาก 30 ชาติ ที่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมันแสดงให้เห็นจุดนี้เป็นอย่างดี จุดอื่นๆสามารถสังเกตได้ไม่ยากเช่นกัน เช่น

- การรับผู้ลี้ภัยสงครามจำนวนมากเข้ามาในประเทศและสามารถพบเห็นได้ทุกสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ หรือสถานที่ผู้คนพลุกพล่านทั่วประเทศ ซึ่งบางครั้งก็ยากแก่การควบคุมความเป็นระเบียบเรียบร้อย

- การเผยแพร่วัฒนธรรมออตโตมันในหลายๆประเทศ ผ่านการสร้างศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรม สร้างมัสยิดญามิอ์ (มัสยิดที่เป็น Islamic center) ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการสร้าง 20 ประเทศ สร้างเสร็จไปแล้ว 7 ประเทศ แต่ละมัสยิดมีมูลค่าหลายล้านดอลล่า สร้างแบบใหญ่โตมโหฬาร ขนาดเท่าๆกับมัสญิดใหญ่ๆที่สร้างสมัยโบราณในกรุงอิสตัลบูลเลยทีเดียว ที่ตุรกีย์เลือกสร้างอะไรที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ ผมเห็นว่าชาติที่จะทำแบบนี้ได้ ต้องมีประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของตัวเองมาก่อน ถึงจะรู้คุณค่าความสำคัญของสิ่งก่อสร้างที่เป็นประวัติศาสตร์ ผมยกตัวอย่างเช่น ถ้าเมื่อหกร้อยปีก่อน สุลต่านเลือกสร้างมัสยิดเล็กอย่างสมถะกลางกรุงอิสตันบูล เป็นมัสยิดประจำราชกาล ห้าร้อยปีต่อมามัสยิดหลังนั้นจะไม่มีคุณค่าอะไรในเชิงสถาปัตยกรรม หรือเพิ่มคุณค่าทางประวัติศาสตร์เลย แต่หากสร้างมัสยิดที่ใหญ่โต เต็มไปด้วยศิลปะ และวิศวกรรมชั้นสูงที่ยากแก่การเลียนแบบ คุณค่าของมัสยิดจะเพิ่มขึ้นตามเวลาที่มันคงทนอยู่ และยิ่งนานวันเข้า มันก็จะยิ่งทวีคุณค่ามากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือหัวใจสำคัญของการสร้าง Masterpiece ที่ต้องยิ่งใหญ่ คงทน สวยงาม ไปพร้อมๆกัน ตุรกีย์เลือกจะให้เงินสนับสนุนประเทศต่างๆด้วยการให้สร้าง Masterpiece คนละหนึ่งชิ้น ให้เป็นศูนย์กลางในการพบปะ ศูนย์กลางในการเผยแพร่อารยธรรมออตโตมัน การเคลื่อนไหวทางกรเมืองชนิดแบบนี้แหละ ที่ผมคิดว่ามีกึ๋น และคงสร้างผลในทางที่ดีแก่ความเป็นรัฐชาติตุรกีย์ หรือ อิสลามมิคแบบตุรกีย์ในอนาคต

 

5. เมืองอิสตันบูล เป็นเมืองที่มีการบริการพื้นฐานสาธารณที่ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับเมืองที่อยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งความจริงแล้วเป็นปกติของเมืองใหญ่ในยุโรป สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การขนส่งสาธารณที่ทั้งสะดวก รวดเร็ว และราคาถูก การนั่งรถโดยสารสาธารณใช้บัตรเดียว ขึ้นพาหนะได้ทุกชนิด ตั้งแต่ รถไฟใต้ดิน รถราง เรือข้ามฟาก รถไฟบนดิน รถเมล์ รถตู้โดยสาร ซึ่งราคาจะเป็นราคาเหมาจ่าย เมื่อเทียบกับค่าครองชีพถือว่าถูก เพราะขึ้นแต่ละครั้ง ราคาอยู่ที่ 1-3 ลีร่า (ลีร่าละ 13 บาท) เท่านั้น หากจะเดินทางข้ามฟากเมืองใช้เวลาเพียง 1.5 ชม. เมืองที่มี capacity พอๆกันที่ผมเคยไปคือ กรุงเทพ และ สิงคโปร์ คิดว่าเรื่องการเดินทางพื้นฐานนี่คงพอๆกัน แต่ราคาอิสตันบูลถูกกว่า เพราะเป็นราคาเหมาจ่าย ราคาต้นทางถึงปลายทางเท่ากันหมด การบริการตรงนี้ดีทำให้เมืองทั้งเมืองมีรถวิ่งในสัดส่วนที่เพียงพอกับถนน ผมไม่เห็นรถติดเลยในห้าวันที่อยู่ในอิสตัลบูล อากาศก็ดีกว่า ไม่มีควันเสียควันดำ เพราะรถส่วนใหญ่เป็นรถใหม่ ตุรกีย์ไม่มีรถประจำชาติ รถยอดนิยมสำหรับคนที่นั่น ถ้าราคาถูกๆ คือ เฟียต จากอิตาลี และ โอเปิล กับ ซีตรอง จากฝรั่งเศส ส่วนรถเยอรมันที่พบเยอะคือ โฟลค์สวาเก้น

 

6. บรรยากาศศาสนาในกรุงอิสตัลบูล ไม่มีอะไรแสดงให้เห็นได้ชัดในสถานที่สาธารณะ คนเดินถนนแต่งกายอย่างเสรี อยากแต่งกายแบบมุสลิมก็ได้ อยากแต่งกายแบบสากลเหมือนยุโรปก็ได้ ที่นี่ไม่มีการบังคับให้ทำพิธีกรรมศาสนา ไม่บังคับให้นับถือศาสนา แต่มีกฎหมายคุ้มครองจากการดูหมิ่นความเชื่อของทุกศาสนาในประเทศ ดังนั้นการเป็นมุสลิมที่ดีหรือไม่ดี ไม่ได้ทำให้มีผลต่อการเป็นพลเมืองที่ดีเท่าไหร่นัก (หากเทียบกับประเทศมุสลิมอื่นๆ ที่มุสลิมที่ดีอาจมีภาพลักษณ์ที่ดีควบคู่ไปด้วย) ผมเข้าร่วมประชุมในสำนักงาน green crescents ก็มีทั้งเจ้าหน้าที่ที่ใส่ฮิญาบ และไม่ใส่ฮิญาบ ที่นี่ไม่มีการบังคับให้ใรไปละหมาดเมื่อเข้าเวลาแม้จะเป็นการสัมนานานาชาติที่มีแต่มุสลิมเข้าร่วมก็ตาม ใครอยากละหมาดก็เชิญตามสบาย

 

7. เยาวชนหนุ่มสาวที่นี่ หน้าตา และผิวพรรณดี รูปร่างสูงใหญ่ ลงเครื่องมาใหม่ๆ จะตื่นเต้นกับเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องแรกๆเลย ผ่านไปสักสามวันจะเริ่มจำเจ คนหนุ่มสาวดูจะมีชีวิตชีวาและความสร้างสรรค์น้อยกว่าคนไทย ส่วนตัวคิดว่าคนไทยชอบเรื่องตลกโปกฮา จึงมีไอเดียสร้างสรรค์ได้เยอะ ความเคร่งขรึม และดูจริงจังของคนตุรกี ทำให้พอถึงวัยทำงานจะผลิตงานได้ดีกว่า ในเมืองหลวงหาผู้หญิงทำงานได้ยากพอสมควร งานทั้งหลายเป็นผู้ชายทำซะเกือบหมด งานบริการ เด็กเสริฟ พ่อค้า เจ้าพนักงานต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย คนตุรกีย์มีอัธยาศัยดี แต่น้อยกว่าคนไทยพอสมควร เดินตามถนนก็ต้องระวังลูกเล่นตบทรัพย์อยู่เสมอ ที่ผมโดนคือมุขโยนแปรงขัดรองเท้าของคนรับจ้างขัดรองเท้า พอเราเก็บให้ เขาก็ทำทีว่าจะขัดรองเท้าเป็นการขอบคุณ พอได้ขัดเท่านั้นแหละ โดนเลย 130 บาท หลังจากนั้นอีกวันมีคนมาเล่นมุขนี้อีกครั้ง เราเตะแปรงไปไกลเลย

 

8. ทุกชนชาติต้องมีอาหารที่มีกลิ่นแปลกๆเป็นส่วนหนึ่งของอาหารในชาติ คนไทยกินปลาร้า น้ำปลา กะปิ คนมลายูทานบูดู ส่วนคนตุรกีสร้างรสชาติและกลิ่นให้อาหารด้วยชีส ไปตุรกีย์ห้าวันจะเกลียดชีสไปตลอดชีวิตเลย เพราะทุกเมนูจะมีชีสเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งของหวานของคาว

ใครเคยไปตลาดในไทย ร้านขายเครื่องแกง กะปิ หรือปลาเค็ม จะเป็นร้านที่ปล่อยกลิ่นเอกลักษณ์ของตลาด ถ้ามาที่นี่ร้านขายชีสคือจุดปล่อยกลิ่นประจำตลาด เพื่อนคนไทยที่นี่เล่าว่า ถ้ามาขึ้นรถเมล์ตอนหน้าร้อน ในรถจะตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นชีสที่มาจากเหงื่อ ซึ่งคล้ายๆกับขึ้นรถเมล์แถวอินเดียแล้วได้กลิ่นเครื่องเทศ

 

9.อาหารตุรกีย์จะอร่อยได้แค่ 3 มื้อแรก ซึ่งผมทานสองมื้อแรกบนเครื่องบินซะด้วย หลังจากนั้นจะเริ่มทำให้เราขยาดกับอาหารตุรกีย์ไปเลยครับ มันเป็นรสชาติมันเลี่ยน มีรสเค็มจากเกลือเท่านั้น บางมื้อมีเซอไพรส์เป็นชีสกลิ่นแปลกๆอีก อยู่ได้สองวันคิดถึงอาหารไทยเลยครับ คนที่นี่กินข้าวเป็นกับข้าว ส่วนอาหารหลักคือขนมปัง กล่าวคือถ้ามีขนมปังก้อนนึงกับข้าวผัดเนย ข้าวเนยจะถูกเอามาเป็นเครื่องจิ้มขนมปัง ส่วนอาหารหวานคนที่นี่ หวานนรกแตกเลย หวานเลี่ยนคอ หวานเจ็บฟัน หวานจนหาคำอธิบายไม่ได้ Turkish delight ยังพอทนได้ ไม่หวานเท่าไหร่ ถ้าโดน baklava จะร้องจ้ากกก คนไทยไปกินเต็มที่กินได้แค่คนละสามก้อน แต่คนตุรกีกินทีหกก้อนขึ้นไป บางคนเอาไอศกรีมมาโปะอีก ยิ่งไปกันใหญ่ ราคาอาหารมาตรฐานตกมื้อละ 150 บาท ราคาของหวานจะเท่ากับอาหารมื้อหนัก ร้านของหวานที่นี่ตกแต่งหรูมาก คนที่นี่ไม่กินเค้กหรือกาแฟแบบคนยุโรปเลย จะกินของหวาน กาแฟ และ ชา ประจำชาติเขาเท่านั้น ใครมาหาเค้กกิน ผิดหวังแน่นอน

 

10. ข้อสุดท้าย ขอจบหนักๆด้วยเรื่องการเมือง ผมจะพยายามอธิบายภาพรวมการเมืองตุรกีให้สั้นที่สุดเท่าที่สามารถ และให้มีเนื้อหาที่จำเป็นครับ

การเมืองสมัยใหม่ของตุรกีเริ่มต้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งตุรกีย์อยู่ฝ่ายเดียวกับเยอรมันซึ่งแพ้สงครามไปด้วยกัน เมื่อแพ้สงครามตุรกีเลยถูกชาติยุโรปเข้ามาแบ่งส่วนประเทศ ชาติที่เข้ามาได้แก่ กรีซ อังกฤษ และฝรั่งเศส ตอนนั้นยังคงมีสุลต่านที่อยู่ใต้การปกครองของอังกฤษอีกที สุลต่านอยู่อิสตันบูล

ในปีแรกที่แพ้สงคราม เคมาล อตาเติร์ก เป็นนายพลหนุ่มของกองทัพออตโตมันได้รับคำสั่งจากสุลต่าน ให้ออกไปยังหัวเมืองทางเหนือ เพิ่มปราบปรามกลุ่มชนที่มีปัญหา อตาเติร์กที่ออกจากอิสตันบูลได้ ก็เห็นโอกาสและช่องทางที่จะสู้กับประเทศที่มายึดครองพวกเขา จึงเจรจากับผู้นำท้องถิ่น นายพลที่ยังคงเหลืออยู่ ให้ร่วมกันต่อสู้ รวบรวมสมัครไพร่พล จนสุดท้ายไปตั้งต้นที่เมืองอังการ่า ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆเท่านั้น ณ ตอนนั้น หลังจากรวมคนได้ ก็ไล่ต้อนกองทัพกรีซที่มายึดครองจนตกทะเล ส่วนกองทัพย่อยอื่นๆ ก็รบกับฝรั่งเศส กับอังกฤษ ช่วยๆกันรบหลายทางแต่ก็เป็นศึกเล็กๆ ไม่รู้ว่าเบื้องลึกเบื้องหลังของการประกาสเอกราชเป็นเช่นไร หลังจากที่กรีซถูกไล่ออกไปแล้ว อังกฤษที่ไม่เคยปะทะใหญ่ๆกับอตาเติร์กเลย ก็ยอมเซ็นสนธิสัญญาคืนประเทศแก่อตาเติร์ก อตาเติร์กจึงกลายเป็นมหาบุรุษของคนในชาติ จากการประกาศเอกราช ขั้นตอนจากการรวมกองทัพครั้งแรกจนถึงประกาศเอกราชเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 1918-1923 หลังประกาศเอกราชก็ปกครองประเทศเองเป็นเวลา 13 ปีจนสิ้นชีวิต และมีคนมาสานต่อเป็นคนใกล้ตัว ชื่อ อิโนนู ปกครองต่ออีกสิบกว่าปี หลังจากนั้นจึงกลายเป็นการเมืองแบบหลายพรรค ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เคมาลลิสต์ไม่เคยปกครองประเทศเลย แพ้เลือกตั้งให้กับพรรคเสรีนิยม มาตลอด พอแพ้เลือกตั้ง ทหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นเคมาลลิสต์ก็ทำการปฏิวัติ รัฐประหาร แทรกแซงการเมืองมาเรื่อยๆ ในช่วงสามสิบปีก่อนหน้านี้ มีการปฏิวัติหลายครั้ง จนเมื่อสิบห้าปีที่ผ่านมา ก็กลายเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบันที่ครองเสียงข้างมาก จัดตั้งรัฐบาล และอยู่ยาวเรื่อยมาจนปัจจุบัน

 

สถานการณ์การเมืองตุรกีดูแล้วคล้ายไทยอยู่มาก นอกจากมีฝั่ง elite ที่นิยมในเคมาลลิสต์ ก็มีเสรีนิยม สังคมนิยม และศาสนานิยม เป็นทางเลือกการเมืองหลักๆ นอกจากนั้นยังมีการเมืองชนกลุ่มน้อย ที่มีปัญหากับชาวเคิร์ดมายาวนาน

ชาวเคิร์ดเป็นคนกลุ่มน้อยในตุรกีย์ แต่ถ้ารวมชาวเคิร์ดในภูมิภาคอาหรับ คนกลุ่มนี้มีจำนวนมาก อาศัยอยู่ในซีเรีย อิรัก และตุรกีย์ ชาวเคิร์ดเป็นกลุ่มคนที่น่าเห็นใจทีเดียว เพราะพวกเขาเป็นคนกลุ่มน้อยในทุกประเทศ และล้วนถูกกดขี่ทารุณกรรมทั้งทางตรง และทางอ้อมโดยรัฐบาลทุกประเทศ อิรักสมัยซัดดัมเคยใช้แก๊ซพิษสังหารชาวเคิร์ด ซีเรียเคยฆ่าชาวเคิร์ด ตุรกีย์ในอดีตก็ใช้นโยบายทางทหารกับชาวเคิร์ดเช่นกัน จึงทำให้ความเก็บกดของคนกลุ่มนี้สูง และกลายเป็นกลุ่มที่นิยมในอุดมการณ์สังคมนิยม ถึงตอนนี้ปัญหาการเมืองภายในตุรกีย์ ที่มีการระเบิดบ่อยครั้งในรอบปีที่ผ่านมา ก็เป็นปฏิบัตการของกลุ่มเคิร์ด อุดมการณ์ที่นำให้พวกเขาปฏิบัติการระเบิดพลีชีพได้ ไม่ใช่อุดมการณ์ศาสนาแม้พวกเขาเป็นมุสลิมก็ตาม แต่เป็นอุดมการณ์แบบชาตินิยมสังคมนิยม

 

อ่านตอนที่แล้วได้ที่ : เรื่องเล่าจากอิสตันบูล (1)