Skip to main content

วาลีด อัลเอานี เขียน / รอซี ฮารี แปล

 

เว๊บไซต์ข่าวและเพจเกี่ยวกับอิสลามมากมายได้เขียนข่าวโดยไม่ได้ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน และหลายข่าวกลับเป็นข่าวลือที่มีการส่งต่อๆกันผ่านสื่อโซเชียล ผลที่ตามมาคือข่าวโกหกพวกนี้ได้แพร่ขยายอย่างกับไฟไหม้ลามทุ่ง ในส่วนของผู้เสพข่าว ก็มีผู้เสพข่าวไม่กี่คนที่ตรวจสอบถึงข้อมูลความถูกต้อง รวมทั้งบรรณาธิการข่าวที่ขาดการตระหนักในเรื่องนี้ สุดท้าย คนส่วนใหญ่พากันเชื่อว่าข่าวพวกนี้เป็นเรื่องจริง

ในหลายเว็บไซต์ที่นำเสนอข่าวภาษาอาหรับพากันรายงานว่า โรวาน แอ็ทคินซัน นักแสดงชาวอังกฤษที่แสดงบทบาทเป็น “มิสเตอร์ บีน” เข้ารับอิสลามว่าเป็นเรื่องจริง และอีกทั้งยังเขียนอธิบายถึงสาเหตุของการรับอิสลามของนักแสดงรายนี้ว่า เข้ารับอิสลามหลังจากที่ได้ชมหนังเกี่ยวกับศาสดามูฮำหมัดที่ถ่ายทำโดยชาวอเมริกัน      

ในเว็บไซท์ข่าวบางเว็บไซท์ ข่าวการรับอิสลามของนักแสดงตลกผู้นี้ถูกเขียนพร้อมกับวีดีโอที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่า “มิสเตอร์ บีน” รับอิสลามจริงหรือไม่ เพราะในวีดีโอนั้นปรากฎเพียงแค่การยกนิ้วชี้ขึ้นของเขาอย่างที่มุสลิมชอบปฏิบัติกัน หลักฐานเพียงแค่นี้ไม่เพียงพอแน่นอนที่จะยืนยันถึงความถูกของข่าว อีกทั้งยังไม่ได้อ้างอิงถึงแหล่งที่มาที่หนักแน่นน่าเชื่อถือ เช่น บทสนทนาของเขาเกี่ยวกับการเข้ารับอิสลามในสื่อระหว่างประเทศ หรือแม้แต่เว็บไซต์ส่วนตัวของเขา

ข่าวลือเหล่านี้สร้างผลสะท้อนต่อศาสนาก่อนเป็นอย่างแรก และต่อด้วยผลต่องานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อข่าว ผลต่อศาสนานั้น การแพร่ข่าวในลักษณะนี้เปิดโอกาสให้บุคคลที่ต่อต้านอิสลามได้นำเอาประเด็นเหล่านี้มาวิจารณ์โจมตีอิสลามและมุสลิมในการไปเชื่อข่าวและพิมพ์เผยแพร่โดยไม่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าวให้ดีเสียก่อน นอกจากนั้นแล้ว การแพร่ข่าวลักษณะนี้ทำให้ดูเหมือนว่า มุสลิมต่างเฝ้ารอให้คนดังที่ชื่อเสียงรับอิสลาม ราวกับว่าอิสลามนั้นต้องการคนดังเหล่านี้เพื่อให้อิสลามมีความสง่าสูงส่ง

บรรณาธิการของเว็บไซท์และเพจเกี่ยวกับอิสลามที่เผยแพร่ข่าวลือพวกนี้ล้วนโจมตีประณามการโกหกและการพูดให้ร้าย ตามอัลกุรอานและรวมทั้งซุนนะฮฺ การเผยแพร่ข่าวโกหกเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย และถือความเที่ยงตรงและจริงใจเป็นแกนสำคัญแกนหนึ่งของการศรัทธา

ในวิชาชีพสื่อสารมวลชน การเผยแพร่ข่าวเท็จถือเป็นความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองของจรรยาบรรณสื่อ นักสื่อสารมวลชนมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องสืบหาความถูกต้องเที่ยงตรงของข้อมูลผ่านการติดต่อสอบถามจากแหล่งข้อมูลโดยตรง หรือติดต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ซึ่งการยืนยันที่แน่ชัดเกี่ยวกับข่าวของบุคคลผู้นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อข่าวเท็จเหล่านั้นส่งกระทบต่อกลุ่มคนหรือศาสนา    

ความตั้งใจของมุสลิมที่ต้องแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของศาสนาที่ตนนับถือผ่านการปล่อยเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับคนดังในโลกตะวันตกเข้ารับอิสลามไม่ได้ส่งผลดีอะไรต่ออิสลามเลย แต่กลับทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ภาพลักษณ์ของมุสลิมทั่วโลก หนำซ้ำยังอาจก่อให้เกิดการเผยแพร่ความเกลียดชังต่อศาสนาที่มุสลิมนับถืออีกด้วย  ซ้ำเติมกระแสอิสลาโมโฟเบียที่แพร่ขยายลุกลามทั่วยุโรปและอเมริกา

 

  • วาลีด อัลเอานี (Walid El Aouni) เป็นนักศึกสาขาวารสารศาสตร์ ของสถาบัน Institut Supérieur de l'Information et de la Communication-ISIC