Skip to main content

 

ดร.สะอีด เราะมะฎอน (ค.ศ.1926-1995) ทูตนานาชาติของอิสลามในยุคสมัยใหม่

 

 

เรียงเรียงโดย ศรีวัฒนา

 ข้อมูลส่วนใหญ่ได้จากบันทึกของ ศ.ดร.ฏอริก รอมฎอน 

 

ดร. สะอีด เราะมะฎอน ผู้รู้และผู้มีบทบาทสำคัญมากที่สุดคนหนึ่งในการทำงานอิสลามระดับนานาชาติ เขาเกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ปี 1926 ที่เมืองฏอนฏอ อิยิปต์ เติบโตมาโดยเข้าร่วมกับกลุ่มอิควานฯ ภายใต้การนำของหะสัน อัลบันนา ตั้งแต่ในวัยเด็ก เขาเติบโตขึ้นมาด้วยการอบรมของหะสัน อัลบันนา ด้วยบุคลิกภาพที่งดงาม จนได้ฉายาว่า “หะสัน อัลบันนา น้อย” ... หลังจากสำเร็จการศึกษาที่มหาวิทยาลัยไคโรในปี 1946 (วัย 20 ปี) หะสัน อัล-บันนา ได้เลือก สะอีด เราะมะฎอน มาเป็นเลขาธิการส่วนตัวของท่าน พร้อมแต่งตั้งให้เป็นบรรณาธิการและดูแลกิจการต่างๆ ของวารสาร ... หลังจาก หะสัน อัล-บันนาเสียชีวิต(ในปี 1949) สะอีด เราะมะฎอน ได้แต่งงานกับลูกสาวคนโตของท่าน นามว่า วาฟาอ์ อัล-บันนา

 

นอกจากเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในการดูแลวารสารต่างๆ ของอิควานแล้ว เขายังเป็นคนสำคัญที่สุดในการเดินงานในระดับนานาชาติ  ... ในปี 1948 ปีเดียวกันหลังจากปาเลสไตน์ถูกยึดครอง เขาได้เดินทางไปยังประเทศปากีสถาน เพื่อร่วมประชุม “สภาคองเกรสอิสลามโลก” (World Muslim Congress หรือ มุอฺตะมัร อัล-อาลัม อัล-อิสลามียฺ) ที่นครการาจี ประเทศปากีสถาน ในฐานะทูตของอิหม่าม หะสัน อัล-บันนา และตัวแทนจากขบวนการอิควาน … สะอีด เราะมะฎอน(ในวัย 20 ต้นๆ) ก็ยังอาศัยอยู่ในปากีสถานต่อไป เพื่อประสานกิจการงานเคลื่อนไหวร่วมกับ “อบุล อะอฺลา อัล-เมาดูดีย์” พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบรรยากาศอิสลามใหม่ๆ ให้กับประเทศ ; รัฐบาลปากีสถานได้เชิญ สะอีด เราะมะฎอน มาพูดคุยในรายการวิทยุภาคภาษาอาหรับ เพื่อให้ความรู้เรื่องอิสลามและมุสลิม   

ปี 1950 สะอีด เราะมะฎอน ได้เดินทางกลับมายังประเทศอียิปต์ หลังจากคำสั่งห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนไหวของขบวนการอิควานถูกยกเลิกจากรัฐบาล ; ปี 1952 เขาได้เปิดตัวนิตยสาร "อัล-มุสลิมูน" ซึ่งเป็นนิตยสารที่ สะอีด เราะมะฎอน จัดตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อนำเสนอแนวคิดของ “อบุล อะอฺลา อัล-เมาดูดีย์” ให้กับโลกอาหรับ ; หลังจากที่สัยยิด กุฏบฺ กลับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และได้พบกับ สะอีด เราะมะฎอน ; สัยยิด กุฏบฺ ได้เข้ามาร่วมเขียนบทความลงในนิตยสาร หนึ่งในงานเขียนที่สำคัญของท่านในนิตยสาร "อัล-มุสลิมูน" คือ บทความที่ภายหลังถูกนำมารวบรวมเป็นหนังสือ "นะหฺวะ มุญฺจตะมะอฺ อิสลามียฺ" (Toward an Islamic Society) และ "ฟี ซิลาลิ-ล กุรอาน" (In the Shade of the Qur'an)

 

ต้นปี 1954 สะอีด เราะมะฎอน และแกนนำอิควานอีกจำนวน 3 ท่าน ถูกคุมขังเป็นระยะเวลา 4 เดือน ก่อนจะถูกปล่อยตัว เนื่องจากสถานภาพทางการเมืองที่ยังไม่นิ่งหลังจากการล้มล้างอำนาจราชาธิปไตยและการปกครองของอังกฤษ โดยกลุ่ม “Free Officers Movement” (หรือ หะเราะกะฮฺ อัฎ-ฎุบบาฏ อัล-อะฮฺร็อรฺ ) ที่นำโดย “มุฮัมมัด นะญีบ” (นายพลนาญีบ - ประธานาธิบดีคนแรกของอียิปต์) บวกกับความขัดแย้งเรื่องอำนาจภายในกลุ่มระหว่าง “มุฮัมมัด นะญีบ” และ “ญะมาล อับดุลนาศิร” (กะมาล นัซเซอร์ - ก่อนที่จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี) ซึ่งตอนนั้นญะมาล อับดุลนาศิรฺ ใช้อิควานเป็นเครื่องมือเพื่อเข้ามามีอำนาจทางการเมือง จนกระทั่งสามารถกวาดล้างอิทธิพลของมุฮัมมัด นะญีบ ได้สำเร็จ—หลังจากที่ ญะมาล อับดุลนาศิรฺ เข้ามามีอำนาจในปี 1954 และเปลี่ยนท่าทีที่มีต่ออิควานด้วยการกวาดล้างขบวนการอิควานเสียเอง  

ในปี 1954 นับว่าเป็นครั้งแรกในปาเลสไตน์ ที่สะอีด รอมฎอนได้รับการเสนอให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการประจำสภาคองเกรสอิสลามโลกแห่งเยรูซาเล็ม  แต่หลังจากนั้นก็มีคำสั่งห้ามไม่ให้อาศัยและทำกิจการใดๆ ในเยรูซาเล็ม ตามคำสั่งของสหรัฐอเมริกา บวกกับข้อกล่าวหาความผิดฐานกบฎพร้อมถูกถอดสัญชาติจากประเทศอียิปต์ ; ปี 1956 สะอีด เราะมะฎอน จึงย้ายถิ่นฐานไปที่เมืองดามัสกัส ประเทศซีเรีย และมีโครงการรื้อฟื้นนิตยสาร "อัล-มุสลิมูน" ใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่ด้วยกฎหมายของประเทศซีเรียที่บังคับให้กิจการของนิตยสารนั้นดำเนินการโดย "พลเมืองชาวซีเรีย" เท่านั้น สะอีด เราะมะฎอน จึงประสานให้ "มุศฏอฟา อัส-สิบาอีย์" เข้ามาดูแลเพื่อดำเนินกิจการต่อไป ; ระยะเวลา 2 ปี ที่อาศัยอยู่ในประเทศซีเรียเขาได้เดินทางไปมาระหว่างประเทศเลบานอน จอร์แดน และซาอุดิอาระเบีย ก่อนที่เขาจะถือหนังสือเดินทางทูตของจอร์แดนและปากีสถาน ย้ายมาตั้งถิ่นฐานในกรุงเจนิวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในปี 1958  

ในปี 1959 (วัย 33 ปี) สะอีด เราะมะฏอนสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี ภายใต้วิทยานิพนธ์หัวข้อ "กฎหมายอิสลาม: ขอบข่ายและความเที่ยงธรรม" (Islamic Law : its Scope and Equity) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่เขาได้นำเสนอจุดยืนในหลักมูลฐาน และสังเคราะห์แนวคิดของอิหม่ามหะสัน อัล-บันนา ในประเด็นชะรีอะฮฺ กฎหมาย องค์กรทางการเมือง และพหุนิยมทางศาสนา วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีความสำคัญ และนับว่าเป็นหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์เล่มแรกที่ถูกเขียนขึ้นเป็นภาษายุโรปที่นำเสนอเนื้อหาอิสลามในฐานะระบอบชีวิตที่ครอบคลุมและอ้างอิงกรอบความเป็นสากล สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและศรัทธาอันแรงกล้าของผู้เขียน พร้อมกับความประจักษ์ชัดในข้อผูกมัดที่ต้องการเปิดความคิดและหัวใจให้กว้างขวาง

ในช่วงสงครามเย็น ศาสนาอิสลามไม่ได้ถูกมองว่าเป็นภัยกับรัฐบาลในโลกตะวันตก แต่กลับได้รับการสนับสนุนและปล่อยให้มีการเคลื่อนไหวโดยอิสระในฐานะพันธมิตรที่มีแนวคิดเชื่อพระเจ้าและไม่ต่อต้านประชาธิปไตย ขณะที่ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ไม่เชื่อพระเจ้ากำลังแพร่อิทธิพลอยู่ในช่วงเวลานั้น ; สะอีด เราะมะฎอน หนึ่งในบุคคลผู้วางรากฐานขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามในยุโรป เริ่มตั้งแต่ปี 1961 ที่ สะอีด เราะมะฎอน ได้ก่อตั้งศูนย์กลางอิสลามแห่งเจนิวา (The Islamic Center of Geneva) เป็นศูนย์กลางอิสลามแห่งแรกในยุโรป ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก "มุฮัมมัด นัทซิรฺ" "มุฮัมมัด อะซัด" "มุฮัมมัด ฮะมีดุลลอฮฺ" "เมาลานา เซาะฟัรฺ อะฮฺมัด อันศอรีย์" และ "เมาลานา อบุล หะสัน อัน-นัดวีย์"

 

ปี 1964 สะอีด เราะมะฎอน และ “อาลี ฆอลิบ ฮิมมัต” ได้ร่วมก่อตั้งศูนย์กลางอิสลามแห่งมิวนิค ในประเทศเยอรมนี หรือสมาคมอิสลามแห่งเยอรมนี(Islamische Gemeinschaft Deutschland - IGD) 1 ใน 3 ขององค์กรมุสลิมหลักที่สำคัญของประเทศเยอรมนี ซึ่งสะอีด เราะมะฎอน เข้าไปมีบทบาทตั้งแต่ปี 1958 และดำรงตำแหน่งประธานสมาคมจนถึงปี 1968

ในปีเดียวกัน (1964) สะอีด เราะมะฎอน ได้ก่อตั้งศูนย์กลางอิสลาม ณ กรุงลอนดอน ร่วมกับ “ญะอฺฟัร ชัยคฺ อิดรีส” “ริยาฎ อัด-ดะรูบีย์” และ “หะสัน อัต-ตุรอบีย์” ก่อนที่ภายหลังเขาจะร่วมสนับสนุนก่อตั้งคณะที่ปรึกษาสภาอิสลามแห่งยุโรป (the European Islamic Council) ที่กรุงลอนดอนในปี 1973

ในปี 1953 สะอีด เราะมะฎอน และคณะ ได้ร่วมประชุมและเข้าพบประธานาธิบดี “ดไวต์ ไอเซนฮาวร์” ที่ทำเนียบขาว ก่อนที่ประธานาธิบดี “ดไวต์ ไอเซนฮาวร์” จะสนับสนุนการก่อตั้งศูนย์กลางอิสลามในกรุงวอชิงตัน ในปี 1957

ต่อมาสะอีด รอมฎอน ได้ได้วางแผนจัดตั้งองค์กรสันนิบาตมุสลิมโลก (Muslim World League) ในที่สุดก็ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1962 โดยการสนับสนุนของเจ้าชาย "ฟัยซอล บิน อับดุลอะซีซ" (ขณะนั้นอยู่ในตำแหน่งมงกุฎราชกุมารก่อนที่จะขึ้นมาเป็นกษัตริย์) และ สภามนตรีรุ่นก่อตั้ง (Constituent Council) อีก 9 ท่าน ได้แก่ "สะอีด เราะมะฎอน" "อบุล อะอฺลา อัล-เมาดูดีย์” "เมาลานา อบุล หะสัน อัน-นัดวีย์" “มุฮัมมัด อัลลาล อัล-ฟาซซี” เป็นต้น โดยมี “มุฮัมมัด อิบนุ อิบรอฮีม อาละ อัช-ชัยคฺ” เป็นประธานสภามนตรี (เกือบครึ่งหนึ่งของสภามนตรีรุ่นก่อตั้งเป็นสมาชิกสภาสัมนาอิสลามโลกแห่งเยรูซาเล็ม ที่จัดตั้งในปี 1953 - 1954 ส่วนที่เหลือเป็นบุคคลทรงอิทธิพลแห่งประเทศซาอุดิอาระเบีย) ; แรกเริ่มทางองค์กรสันนิบาตฯ จัดตั้งขึ้นโดยมีแนวคิดฟื้นฟูความเข้าใจอิสลามตามแนวทางของบรรพชนยุคแรก และเป็นองค์กรที่พยายามถ่วงดุลอำนาจกับขบวนการเคลื่อนไหวสังคมนิยมอาหรับที่นำโดยประธานาธิบดีญะมาล อับดุลนาศิรฺ แห่งประเทศอียิปต์ ; หลังจากเหตุการณ์ลอบสังหารกษัตริย์ ฟัยซอล บิน อับดุลอะซีซ เป้าหมายทางการเมืองขององค์กรสันนิบาตฯ และเจตนารมณ์ที่ต้องการรับใช้สังคมในระดับสากลก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป   

 

สะอีดรอมฎอน ยังใช้ชีวิตด้วยการเดินทางไปบรรยายให้ความรู้ตามที่ต่างๆ มากมายหลายประเทศ  และเขามักจะยื้อเวลาสำหรับการพักพิงอาศัยให้นานขึ้นไปอีก เมื่อเขาได้มาบรรยายให้ความรู้ในประเทศอังกฤษ ออสเตรีย หรือในสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างเครือข่ายและสายใยแห่งพี่น้อง เขาจะคอยแลกเปลี่ยนความคิดวิเคราะห์ที่มีรากฐานมาจากจิตวิญญาณและความรักอันลึกซึ้งของเขา ทำให้เขามีความผูกพันใกล้ชิดกับผู้รู้และนักทำงานคนสำคัญร่วมสมัยเดียวกับเขาทั่วโลก

 

สะอีด เราะมะฎอน มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ มุฮัมมัด อะซัด ปราชญ์ชาวยิวที่มารับอิสลาม เขาเป็นบุคคลหนึ่งที่คอยสนับสนุนผลงานของมุฮัมมัด อะซัด และให้มีการแพร่กระจายไปในโลกอิสลาม  มุฮัมมัด อะซัดมักจะกล่าวซาบซึ้งใจที่สะอีดรอมฎอนช่วยให้ท่านได้รู้จักแนวคิดอันลึกซึ้งของอิหม่ามหะสัน อัล-บันนา มากยิ่งขึ้น ...  เมื่อใดที่สะอีด รอมฏอน มาพักอาศัยที่กรุงลอนดอน “ยูสุฟ อิสลาม” (แคท สตีเฟ่นส์) มักจะไปแวะเวียนเยี่ยมหาที่โฮสเตลอยู่เสมอ ยูสุฟ อิสลามบอกว่า  เขายังจดจำความเฉลียวฉลาดของสะอีด เราะมะฎอน และพูดถึงว่า “ท่านเป็นบุคคลที่อ่อนโยนมากที่สุดคนหนึ่ง” ... แม้แต่บุคคลที่เป็นเสมือนนักฟื้นฟูแห่งศตวรรษอย่างท่าน “อบุล อะอฺลา เมาดูดีย์” ได้ขอบคุณสะอีด รอมฎอน ในฐานะที่เป็นผู้ที่ปลุกให้ท่านตื่นขึ้นมาจากการหลับไหล   

มัลคอล์ม เอ็กซ์

 

ปี 1964 เป็นปีสำคัญของ มัลคอล์ม เอ็กซ์ (หรือ ฮัจญี มาลิก ชะบาซ) ทีได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮฺ และได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆ ในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป หนึ่งในการเดินทางครั้งนี้ มัลคอล์ม เอ็กซ์ ได้แวะเยี่ยมเยียนศูนย์กลางอิสลามแห่งเจนิวา ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเข้าพบกับสะอีด เราะมะฎอน ; หลังจากการพบปะกันครั้งนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น และมีการแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหามุสลิมแอฟริกัน-อเมริกัน และการเคลื่อนไหวของมุสลิมในประเทศสหรัฐอเมริกา สะอีด เราะมะฎอน และ มัลคอล์ม เอ็กซ์ ได้โต้ตอบกันทางจดหมาย ซึ่งจดหมายฉบับสุดท้ายที่มัลคอล์ม เอ็กซ์ เขียนส่งกลับไปให้ สะอีด เราะมะฎอน เป็นจดหมายที่ท่านเขียนเสร็จในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1965 หนึ่งวัน ก่อนที่ท่านจะถูกลอบสังหารในวันถัดไป (21 กุมภาพันธ์ 1965) ซึ่งจดหมายฉบับนี้เป็นบทสัมภาษณ์ระหว่างสะอีด เราะมะฎอน และ ฮัจญี มาลิก ชะบาซ ในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่ประเด็นสังคม การเมือง การเคลื่อนไหวของมุสลิมแอฟริกัน-อเมริกัน ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงการเปิดเผยแนวคิดมายาคติของกลุ่ม Nation of Islam ซึ่งบทสัมภาษณ์นี้ภายหลังได้รับการตีพิมพ์ลงไว้ในนิตยสาร “อัล-มุสลิมูน”   

เมาลานา อบุล หะสัน อันนัดวีย์

 

เมาลานา อบุล หะสัน อัน-นัดวีย์ เคยถูกถามว่า ใครเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อท่านบ้าง ท่านได้เอ่ยชื่อบุคคลที่ท่านชื่นชมและมีอิทธิพลต่อท่าน ได้แก่ หะสัน อัล-บันนา, มุศฏอฟา อัส-สิบาอีย์, มุฮัมมัด อัล-มุบาร็อก อัฏ-ฏ็อยยิบ, อับดุลอะซีซ บิน บาซฺ, อาลี อัฏ-ฏ็อนฏอวีย์ และคนสุดท้ายที่ท่านได้กล่าวถึงคือ สะอีด เราะมะฎอน ; ในสมัยนั้น สะอีด เราะมะฎอน เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในฐานะบุคคลสำคัญทางการเมืองและนักบรรยายศาสนา ท่านมักชอบฟัง สะอีด เราะมะฎอน กล่าวปราศรัย ด้วยเนื้อหาที่ลุ่มลึกและอารมณ์ที่ปลุกเร้า หลายครั้งที่ เมาลานา นัดวีย์ ได้เขียนบรรยายความรู้สึกที่ได้สัมผัสบรรยากาศและประทับใจในเนื้อหาคำปราศรัยของสะอีด เราะมะฎอน ในหนังสือบันทึกการเดินทาง “มุซักกิรอต สาอิหฺ ฟิ-ล ชัรกิ-ล อะเราะบียฺ” ของท่าน  

สะอีด เราะมะฎอน เสียชีวิตในวันศุกร์ที่ 04 สิงหาคม 1995 ด้วยวัย 69 ปี ที่โรงพยาบาลเจนิวา (หลังผ่าตัดลำไส้ในวันที่ 02 กรกฎาคม) โดยที่เขาปรารถนาว่าร่างกายของเขาจะถูกฝังไว้ที่เมืองมะดีนะฮฺ แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการของซาอุดิอาระเบีย เขาจึงได้รับการฝังไว้ ณ "สุสานอิหม่าม ชาฟีอีย์" ที่เมืองไคโร ประเทศอียิปต์ (ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาปรารถนาเป็นลำดับที่สอง) ; ในวันที่ 09 สิงหาคม 1995 ร่างของเขาถูกกลบฝังไว้ข้างหลุมศพของ หะสัน อัล-บันนา โดยมีชัยค์ ยูสุฟ อัล-เกาะเราะฎอวีย์ เป็นอิหม่ามนำละหมาดให้ในวันนั้น  

สะอีด เราะมะฎอน และวาฟาอ์ อัล-บันนา มีลูกทั้งหมด 6 คน ได้แก่ อัยมัน (ผู้บริหารศูนย์กลางอิสลามแห่งเจนิวา ศัลยแพทย์ทางด้านระบบประสาทและศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและกระดูกสันหลัง) ; บิลาล (นักการเมืองพรรคสังคมนิยมในเจนิวา) ; ยาซิร ; อัรวา (ลูกสาวเพียงคนเดียวของเขา) ; ฮานี (นักเขียน นักวิชาการศาสนา และผู้อำนวยการศูนย์กลางอิสลามแห่งเจนิวา) และคนสุดท้อง ฏอริก เราะมะฎอน (นักคิดและปัญญาชนของโลกมุสลิม)  

หะสัน อัลบันนา, สะอีด เราะมะฎอน, ฮานี เราะมะฏอน,  ฏอริก เราะมะฎอน

 ดร. ฏอริก รอมฎอน ได้เขียนถึงพ่อของท่านไว้ว่า 

“ผมขอขอบคุณพระเจ้าที่ประทานให้แก่ผมซึ่งของขวัญดังผู้เป็นพ่อคนนี้ ผู้ที่ทำให้ผมค้นพบว่า ความศรัทธาคือความรัก คือความรักที่มอบให้กับพระเจ้า คือความรักที่มอบให้กับมนุษย์ภายใต้บททดสอบและความยากลำบากอันมากมาย  หะสัน อัล-บันนา ได้สอนเราไว้ว่า “จงเป็นดั่งต้นไม้ที่ให้ดอกให้ผล หากพวกเขาโจมตีท่านด้วยก้อนหิน ท่านจงโต้ตอบพวกเขาด้วยดอกผลเหล่านั้น””

.........................................

เผยแพร่ครั้งแรกในเพจ GHURABAA' - THE STRANGERS