Skip to main content

 

รอมฎอนกับการกินน้อยเพื่อสุขภาพที่ดี (1)

 

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

 

 

รอมฎอนเดือนแห่งการถือศีลอด ไม่ใช่แค่เปลี่ยนเวลาโดยยังบริโภคอาหารมากเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม การถือศีลอดที่ถูกต้องหมายถึงต้องลดการบริโภคอาหารให้น้อยลงด้วย หาไม่แล้วก็อาจไม่ได้ประโยชน์อย่างที่หวัง ก่อนอื่นควรรู้ว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนที่ว่าสร้างประโยชน์มากมายนั้นสร้างอะไรบ้าง ประการแรกที่รอมฎอนให้ประโยชน์คือการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคจากเดิมสามมื้อกลายเป็นสองมื้อ เรื่องนี้หากไม่เคยฝึกมาก่อนย่อมทำได้ไม่ง่ายเลย ปรัชญาเบื้องหลังประโยชน์ในเรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ว่านี้คือการเปลี่ยนความเคยชินซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

คนเราทำงานจำเป็นต้องมีวันหยุดไม่เช่นนั้นร่างกายคงล้าจนกระทั่งทรุดโทรม การหยุดงานเสาร์อาทิตย์รวมทั้งการพักเที่ยงไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าจากงานวิจัยการหยุดพักเป็นช่วงๆเช่นนี้ให้ผลสัมฤทธิ์ต่องานมากมาย การหยุดงานจะหนึ่งวันหรือสองวันในหนึ่งสัปดาห์ส่งผลให้กายและใจที่ผ่านการพักผ่อนมีประสิทธิภาพมากขึ้น การทำงานที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้คุณภาพดีอีกต่างหาก

ระบบทางเดินอาหารก็ไม่ต่างกัน ทางเดินอาหาร นับตั้งแต่ปาก หลอดคอ กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน ตับ ถุงน้ำดี ต้องทำงานหนักจากการกินอาหารปริมาณมากบ่อยครั้ง สุดท้ายประสิทธิภาพของทางเดินอาหารย่อมลดลง ทำงานช้าลง มีสิ่งอุดตันมากขึ้น การขับถ่ายอาจมีปัญหา การสร้างเอนไซม์และน้ำย่อยอาจไม่เพียงพอกับปริมาณที่บริโภคมากเกินไปในแต่ละวัน

คนที่บริโภคอาหารมากเกินโดยไม่เคยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมยังกินซ้ำซากทุกวันทั้งปี ระบบทางเดินอาหารทำงานหนักกระทั่งล้า ผลสุดท้ายคือโรคที่เกิดกับทางเดินอาหาร อย่างเช่น โรคหูติ่งในลำไส้ โรคกระเพาะอาหาร บ้างก็เจอปัญหาท้องผูก หนักหน่อยอาจเจอมะเร็ง ทั้งนี้โดยไม่ต้องกล่าวถึงคนที่บริโภคมากกระทั่งเจอปัญหาโรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง ไขมันสูงในเลือดและอีกสารพัดโรคเรื้อรังซึ่งกลายเป็นโรคอันดับหนึ่งของศตวรรษที่ 20 และ 21 ไปแล้ว

การแพทย์แผนอินเดียเก่าแก่กว่าห้าพันปีที่เรียกว่าอายุรเวท และแพทย์แผนจีนโบราณอายุกว่าสี่พันปียืนยันตรงกันว่าการลดการบริโภคช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้น โดยทำให้ร่างกายได้สารอาหารที่เหมาะกับความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ การบริโภคไม่มากนักช่วยส่งเสริมสุขภาพทางเดินอาหารและสุขภาพร่างกายของผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปีให้ดีขึ้น ส่วนเด็กๆที่กำลังเจริญเติบโตการไม่สนับสนุนให้บริโภคมากเกินไป สอนให้เด็กหลีกเลี่ยงอาหารขยะ ผลที่ตามมาคือสุขภาพร่างกายของเด็กดีขึ้น สติปัญญาแจ่มใสขึ้น ทำให้เด็กเหล่านี้ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่ได้

นักวิจัยชาวตะวันตกพบว่าการฝึกกระบวนการลดการบริโภคที่ดีที่สุดคือใช้วิธีถือศีลอดแบบมุสลิม โดยเปลี่ยนเวลารับประทานอาหาร ลดอาหารจากสามมื้อเป็นสองมื้อ ที่สำคัญคือปริมาณที่บริโภคในสองมื้อนั้นต้องลดลงจากปกติ ทำได้อย่างนี้สุขภาพจึงจะดีขึ้น ปัญหาของมุสลิมจำนวนไม่น้อยในเดือนรอมฎอนคือเปลี่ยนเวลาในการบริโภคอาหารแต่กลับเพิ่มปริมาณการบริโภค ผลดีที่จะได้กลับไม่ได้ น้ำหนักตัวแทนที่จะลดกลับเพิ่ม ทำอย่างนั้นแทนที่จะได้ผลดีนอกจากไม่ได้แล้วยังอาจเป็นผลเสีย ต้องระวังกันหน่อย