Skip to main content


“วิถีงดงามแห่งมุสลิมยังคงดำเนินต่อไป ลมหายใจแห่งความหวังของสันติภาพก็ยังดำรงอยู่เช่นกัน”

 

สุวรา แก้วนุ้ย

อาจารย์นักวิจัยสถานวิจัยความขัดแย้งและความลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.อ. ปัตตานี

 

 

ก้าวเข้าสู่ห้วงเวลาเดือน“รอมฎอน” ซึ่งนับเป็นเดือนที่ประเสริฐของพี่น้องมุสลิมแล้ว หลายคนที่นับถือต่างศาสนา คงมีข้อสงสัยไม่ใช่น้อยว่าเดือนรอมฎอนมีความสำคัญอย่างไร มีเหตุผลใดเล่า ที่พี่น้องมุสลิมต่างพร้อมใจถือศีลอด และใช้ช่วงเวลานี้ในการจูงใจให้ผู้ศรัทธาทำความดีมากยิ่งขึ้น ตัวผู้เขียนเองก็มีความมีข้อคำถามเหล่านี้อยู่ไม่น้อย จึงลองพยายามหาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจและเรียนรู้วิถีทางของเพื่อน พี่ น้องมุสลิม และถ่ายทอดต่อในมุมมองของเพื่อนต่างศาสนิกที่พยายามเข้าใจความต่างเพื่อปรับมาเป็นแนวทางในการอยู่ร่วมกัน

ความหมายแห่งเดือนรอมฎอน

จากการอ่านทำความเข้าใจความหมาย“รอมฎอน” คือ เดือนที่ 9 ของปฏิทินฮิจญ์เราะหฺ หรือปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่มุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เดือนบวช เป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง เนื่องจากชาวมุสลิมจะต้องปฏิบัติเพราะเป็นศาสนบัญญัติ ด้วยการงดอาหารทุกชนิด รวมถึงน้ำดื่ม ในช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น-พระอาทิตย์ตกดิน รวมทั้งให้อดทนต่อสิ่งรอบตัว หยุดทำความชั่ว และออกห่างจากสิ่งหรือคนที่จะชักนำเราไปสู่การฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้าไม่ว่าจะโดยมือ(ทำร้ายหรือขโมย) เท้า (เดินไปสู่สถานที่ต้องห้าม) ตา (ดูสิ่งลามก) หู (เช่น การฟังสิ่งไร้สาระ ,ฟังเรื่องชาวบ้านนินทากัน) ปาก (การนินทาว่าร้ายคนอื่น โกหก โป้ปด)

ในห้วงเวลาของเดือนนี้เป็นเดือนที่จูงใจให้ผู้ศรัทธาทำความดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดือนอื่นๆ เน้นการบริจาคทาน หัวใจจะจดจ่ออยู่กับการแสดงความเคารพภักดี (อิบาดะฮฺ) ต่ออัลลอฮฺและหันไปหาพระองค์มากขึ้น เดือนรอมฏอนจึงเป็นเดือนแห่งการอบรมจิตใจ นั่นเอง

นอกจากการถือศีลอด และทำทานแล้ว รอมฎอนยังเป็นเดือนสุดประเสริฐ ที่มีการประทานคัมภีร์อัล-กรุอาน (พระวัจนะของพระเจ้า) ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญชีวิตของมุสลิมทุกคน และเป็นเดือนแห่งความเมตตา ประตูสวรรค์เปิด ประตูนรกปิด เดือนนี้พี่น้องมุสลิมจึงเพียรหมั่นทำความดีและศึกษาถึงสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้มนุษย์รู้ว่า การเป็นอยู่ในโลกนี้และโลกหน้าจะเป็นอย่างไร และจะต้องทำตัวอย่างไรบ้าง

ละหมาดตะรอเวียะห์ พลังแห่งศรัทธาต่อเนื่อง

ตั้งแต่เริ่มเดือนรอมฎอน หลายคนคงได้ยินคำว่า "ละหมาดตะรอเวียะห์" บ่อยครั้งขึ้น ซึ่งคำๆ นี้หากเป็นพี่น้องมุสลิมย่อมคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอื่นอาจฟังแล้วงงๆ การละหมาดตะรอเวียะห์ เป็นการปฏิบัติศาสนกิจของมุสลิมในห้วงเดือนรอมฎอน ซึ่งจะมีเฉพาะเดือนนี้เท่านั้น เป็นการละหมาดใหญ่หลังจากละศีลอดเมื่อสิ้นแสงตะวันในแต่ละวัน เริ่มตั้งแต่คืนที่ 1 ของเดือนรอมฎอนไปจนถึงคืนที่ 30

ทุกๆ ปีในช่วงเดือนรอมฎอน พี่น้องมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งหญิงและชายจะไปร่วมละหมาดตะรอเวียะห์กันอย่างเนืองแน่นเกือบทุกมัสยิด โดยเฉพาะที่มัสยิดกลางของแต่ละจังหวัด เช่น มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี

สันติรอมฎอนแห่งการใคร่ครวญ

เมื่อเรามาใคร่ครวญถึงเหตุรุนแรงในพื้นที่กว่า 11 ปี เราจะเห็นว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,000 คน บาดเจ็บกว่าหมื่นคน และทิศทางของเหตุการณ์ในช่วง 5-6 เดือนแรกของปีนี้มีลักษณะขึ้นๆ ลงๆ จุดที่น่าสังเกตก็คือเหตุการณ์จะค่อยๆ สูงขึ้น แต่ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาเหตุการณ์จะค่อนข้างนิ่งไม่รุนแรงมากนัก ปัจจัยที่ทำให้ปีที่แล้วความรุนแรงค่อนข้างนิ่ง ส่วนหนึ่งมาจากความหวังในการที่จะได้มีการพูดคุยสันติภาพต่อ เพราะหากมีการคุยกันได้ทั้งสองฝ่าย จะมีการปรับตัวและเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความรุนแรงก็จะลดลงได้

หากพิจารณาความรุนแรงในพื้นที่นั้น พบว่าไม่ได้เกิดแบบมั่วๆ หรือไม่ใช่อาชญากรรมทั่วไป แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอุดมการณ์และความเชื่อ ดังนั้นต้องมาร่วมกันคิดใคร่ครวญแลกเปลี่ยนด้วยกัน ปีที่แล้วแม้ไม่มีการพูดคุยสันติภาพเกิดขึ้นแต่บรรยากาศการพูดคุยในพื้นที่นั้นมี ทำให้ผู้คนยังมีความหวังกับการพูดคุยอยู่

โดยเดือนรอมฎอนนับเป็นโอกาสที่ดีในการคิดใคร่ครวญ เพื่อช่วยกันลดเงื่อนไขการเกิดเหตุการณ์ ซึ่งการสื่อสารจะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเข้าใจ ดังนั้นจึงควรช่วยกันสร้างพื้นที่แห่งการสื่อสารเชิงบวก หรือสร้างพื้นที่สาธารณะขึ้นมาเพื่อหนุนเสริมบรรยากาศของสันติภาพ อันจะนำไปสู่อานุภาพแห่งความหวังสู่สันติสุข

 

#‎บันทึกจากรอมฎอนตอนปีกลาย
‪#‎ในค่ำคืนแรกแห่งรอมฎอนปีนี้