Skip to main content

 

ทฤษฏีห้ามโค่นล้มผู้นำ

 

 

หลักการที่โด่งดังและสำคัญมากในทางการเมืองแบบอิสลามคือ การห้ามโค่นล้มผู้นำ ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้นำดีๆ แม้แต่ผู้นำเลวๆ (ที่อาจไปถึงขั้นไม่ใช้ชะรีอะฮฺด้วยซ้ำ) ตราบใดที่ไม่ถึงระดับการกระทำทีเรียกว่า "การต่อต้านศรัทธาอย่างเปิดเผย" (แน่นอนว่า ต้องอธิบายต่อไปอีกว่า มันครอบคลุมไปถึงเรื่องอะไรบ้าง)

 

แต่หลักการนี้ก็เหมือนหลักการอื่นๆ ในอิสลาม ที่ต้องอาศัยการจัดวาง และการเข้าใจถึงเจตนารมณ์ ...

 

อย่างแรก การที่ไม่โค่นล้มผู้นำเลวๆ หรือกระทำผิดนั้น ไม่ได้หมายความถึงการนิ่งเฉย หรือการยอมรับทรราชย์ให้กระทำอะไรก็ได้ ในอิสลามยังมีเรื่อง #นะศีฮัต(การเสนอคำแนะนำอย่างจริงใจ) เรื่อง #ถ้อยคำที่เที่ยงธรรม ต่อหน้าผู้ปกครองที่อธรรม ซึ่งทั้งหมดกระทำไปอย่างรอบคอบ ไม่ใช่การฉีกหน้าผู้นำ ท้าทาย หรือสร้างความอับอาย และหลักการอื่นๆ อีกหลายองค์ประกอบ (ด้วยเหตุนี้ที่อุละมาอ์หลายท่านจึงเห็นว่า คุณค่าของหลักการเหล่านี้สามารถส่งผ่านเข้าไปในกลไกประชาธิปไตยได้ แม้จะไม่เป๊ะร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม)

 

หลักการห้ามโค่นล้มผู้นำจึงย่อมไม่ใช่การยอมให้ใครก็ได้ขึ้นมาปกครอง ให้แย่งชิงอำนาจกันอย่างไรก็ได้ แล้วรอให้ใครครองอำนาจ แล้วผู้ศรัทธาค่อยขยับกันออกไปให้การบัยอะฮฺ(สัตยาบัน) ... เจตนารมณ์ของหลักการจึงย่อมไม่ใช่การทำตัวเป็นผู้รับใช้ผู้มีอำนาจคนใดก็ได้ แต่หลักการนี้ต้องการยืนยันสภาวะของการไม่ใช้ความรุนแรงในการแย่งชิงอำนาจ(หรือความต้องการเปลียนแปลงในทางการเมือง) ด้วยการส่งเสริมกลไกอื่นๆ อย่างสันติ และปิดตายการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ในการได้มาซึ่งอำนาจอย่างสุดความสามารถ

 

ในโลกโบราณการปฏิบัติเรื่องนี้ไม่ได้ซับซ้อนมาก เพราะผู้คนโดยทั่วไปไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องกับการแย่งชิงอำนาจด้วยโดยตรง มันเป็นเรื่องขัดแย้งในวงจำกัด อย่างการแย่งชิงและส่งผ่านอำนาจระหว่างราชวงศ์ต่างๆ ในอดีต เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็มักจะจบลงไป เป็นการเริ่มต้นของราชวงศ์ใหม่

 

แต่ในโลกยุคใหม่ การได้มาซึ่งอำนาจมักกระทำผ่าน "ความไว้วางใจ" ที่ประชาชนจำนวนมหาศาลร่วมกันมอบให้ และนี่คือที่ต้องทำความเข้าใจว่า การแย่งชิงอำนาจจึงแตกต่างจากราชวงศ์ในอดีตอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างอัยยูบีย์กับมัมลูก หรือระหว่างมัมลูกกับออดโตมัน ... เพราะทุกวันนี้มันไม่ได้จบลงและมอบอำนาจให้กับผู้นำที่จะสืบต่อกันในโครงสร้างใหม่ แต่มันหมายถึงการมีปัญหากับ "มวลชน" จำนวนมหาศาล ซึ่งอาจก่อเกิดการล้มตายของคนที่ยังคงภักดีต่อคำสัญญาที่พวกเขามีต่อผู้นำคนเดิม... และเป็นไปได้อีกว่า เมื่ออำนาจใหม่เข้ามา(แม้จะลงเลือกตั้งชนะมา) ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า "รัฐประหาร" และตามด้วยการต่อต้านจากประชนอีก มันจะเป็นวงจรแห่งความรุนแรงที่ไม่จบสิ้น

 

ทฤษฏีห้ามโค่นล้มผู้นำ ยังคงต้องทำงานต่อไป ตามเจตนารมณ์ที่จะหยุดความรุนแรงทางการแย่งชิง ... คำว่า ห้ามโค่นผู้นำ จึงควรจะต้องย้ำการซื่อสัตย์ต่อระบบคำมั่นสัญญา ไม่เล่นนอกกติกา อดทนที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นตามครรลอง และถ้าจะเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำ ก็กระทำการเปลี่ยนแปลงผ่านระบบที่ตกลงร่วมกัน

 

ทฤษฏีห้ามโค่นล้มผู้นำ ต้องการหยุดการสูญเสียจากความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียชีวิตและความขัดแย้งด้านอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ... มุสลิมจำเป็นต้องนำทฤษฏีห้ามโค่นล้มผู้นำมาใช้อย่างจริงจัง และใช้อย่างถูกที่ถูกทาง มันถึงจะบรรลุถึงเจตนารมณ์ที่ต้องการดำรงไว้ซึ่งสังคมสันติ

 

การอดทนใช้กลไกต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าอย่างสันติ การรักษาคำมั่นสัญญาในการจัดวางอำนาจทางสังคมร่วมกัน และคำวิงวอน(ดุอาอ์)จากผู้เป็นเจ้า ต่อผู้มีอำนาจในการปกครองให้ดำรงอยู่ในความเที่ยงธรรม ... คือวิถีทางอันเที่ยงธรรมของผู้ศรัทธา

 

#ใช้ทฤษฏีอย่างถูกที่ถูกทาง

 

*** เพิ่มเติม ***

 

กรณีของตุรกี ... ต่อให้ผู้ปกครองตอนนี้จะเลวร้ายกว่าแอรโดอาน เราก็ต้องเชื่อมั่นในการใช้กลไกของอิสลามอย่างสันติ ทำตามกติกาที่ใช้ร่วมกัน ... วิธีการของอิสลามนั้น จะไม่นำมาซึ่งสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่า

 

ผู้ที่มีส่วนร่วมในการรัฐประหารที่่ล้มเหลวนี้ จะต้องเตาบัต(กลับเนื้อกลับตัว )... ขณะเดียวกันทางฝ่ายรัฐบาลเองก็ต้องตัดสินอย่างยุติธรรม ไม่ทำอะไรที่ดูเหมือนเป็นการกวาดล้างในวงกว้างเกินไป และต้องรู้จักการให้อภัย

 

จะอย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายกุเลน ก็เคยร่วมสู้ด้วยกันมาก่อนตั้งแต่เริ่มต้น จะมีความผิดสมคบคิดและทำเรื่องร้ายแรงครั้งนี้อย่างไร ก็ว่ากันตามเนื้อผ้า แต่คนจำนวนมาก(อาจเป็นหลายล้าน)ที่อยู่ในแนวกุเลน โดยพื้นฐานพวกเขาก็ไม่ได้ถือศาสนาที่เลวร้ายจนตกขอบ(อย่างเช่นกลุ่มอะลาวียในตุรกี หรืออย่างอัรกอมในมาเลเซีย) ... ต้องยอมรับว่า มันเป็นการขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ซับซ้อนภายใน(และมีอะไรอีกมากที่ยังไม่เข้าใจในขณะนี้)

 

การให้อภัยและให้โอกาสกลับตัวเป็นการแสดงถึงการปกครองที่ดี เพื่อที่จะต้องแสดงให้เห็นว่า พวกเขาเป็นตัวแทนแห่งเมตตาธรรม พวกเขาน่าเกรงขามแต่ไม่น่าหวาดกลัว พวกเขาตัดสินอย่างเที่ยงธรรมแต่ชื่นชอบการให้อภัย ... การเดินแบบนี้เท่านั้นทีจะดึงดูดผู้คนให้อยู่ในทางที่เที่ยงธรรมและมีผู้สนับสนุนในวงกว้าง