Skip to main content

 

๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ได้รับข้อความจาก ย่อง ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์  เชิญเข้าร่วมงาน เรายังฝันถึงสันติภาพ รับทราบว่า มีศิลปิน กวีซีไรต์ มาร่วมงาน ก็ตอบรับงานทันที ไม่ต้องคิดอะไรมาก ด้วยเพราะตัวเองหลงใหลการอ่านบทกวีพร้อมเสียงดนตรีมานาน

 

๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๙

โรงเรียนนราธิวาส |เรายังฝันถึงสันติภาพ|

เวทีวันนี้ มีการพูดคุยเกี่ยวกับสื่อ นักผลิตสื่อ ส่วนตัวผมเองได้รับเชิญในฐานะผู้ที่มองสื่อในพื้นที่ สภาพโดยรวมคิดว่าผ่านไปได้ด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของโครงการ และนักผลิตสื่อในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้

สำหรับในมุมมองของผู้ที่ติดตามสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อที่พยายามช่วยกันผลิตในแง่มุมทางด้านบวก หรือด้านที่สวยงามของพื้นที่แห่งนี้ ยังคงมีอาการติดขัดบ้าง เนื่องด้วยเพราะไม่มีช่องทางในการนำเสนอในลักษณะของละครสั้น หรือหนังสั้น แม้แต่ในเชิงสารคดีมากนัก [ทำให้ผมนึกถึงช่อง ๑๐ หาดใหญ่]

จะทำอย่างไรให้เรื่องราวของคนในพื้นที่แห่งนี้ ได้ถูกถ่ายทอดเพื่อให้คนข้างนอก ได้เห็น ได้รับรู้ในสิ่งที่สวยงามของพื้นที่ หรือแม้แต่ในประเด็นของการทำงานสันติภาพ แต่ในขณะเดียวกันในการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ผมกลับมองว่า การผลิตสื่อในพื้นที่ ที่ได้มีการนำเสนอออกไป ยังไม่เพียงพอที่จะชี้ให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของผู้คนที่นี้ ความหลากหลายในการนำเสนอประเด็นของวิถีมุสลิม และวิถีพุทธ มีความจำเป็นที่จะต้องมีการนำเสนอให้หลากหลายด้วยเช่นกัน

จะว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว วิถีพุทธ ก็มีปัญหาในการนำเสนอ เราพร้อมแล้วหรือยังที่จะถูกสื่อนำเรื่องราวของวิถีพุทธที่ยังมีอยู่ให้ถูกนำมาเผยแพร่ ให้คนภายนอกได้รับรู้ ประเพณีลากพระ หรือชักพระ ที่มีการลาก หรือชักพระกันในน้ำจริงๆ

เราพร้อมที่จะเป็นผู้นำเสนอเรื่องราวเหล่านี้แล้วหรือเปล่า หรือแม้แต่ เราพอจะหาพี่น้องคนไทยพุทธในพื้นที่ แล้วนำมาฝึกอบรมในการผลิตสื่อกันแล้วหรือยัง เรื่องพวกนี้ ก็กลับมาเป็นประเด็นย้อนกลับมาถามพวกเรากันเองด้วยเช่นกัน

อีกประเด็นสำหรับการขึ้นเวทีวันนี้ คือประเด็นของคำว่า สันติภาพ เป็นเรื่องที่ผมต้องตั้งคำถามบนเวทีว่า คำว่า สันติภาพ ที่ทุกคนเขียนคำนี้เหมือนกัน อ่านเหมือนกัน แต่สิ่งที่อยากรู้คือ สันติภาพ คำนี้ ถูกตีความหมายเหมือนกันหรือไม่ ระหว่างภาคประชาสังคม กับรัฐ [ขอสงวนคำว่า สันติสุข ไว้ก่อนครับ] เพราะหากเรามองคำนี้ แล้วตีความหมายแตกต่างกัน ผมคิดว่า การทำงานในพื้นที่ย่อมติดขัดแน่นอน

เสร็จสิ้นจากงานนี้ ก็เลยไปต่อที่ รือเสาะ กับรายการ ๕๐ ปี โรงเรียนศรีทักษิณ รับทราบจากทีมจัดงานว่า มีพี่น้องไทยพุทธ ไทยจีนในรือเสาะ มาร่วมกันกันเยอะทีเดียว แต่ที่ผมสะดุดตา สะดุดใจ กลับเป็นเข็มกลัดที่ระลึก เพราะออกแบบเป็นภาษาไทย และยังใช้เลขไทย แทนเลขอารบิก ซึ่งเป็นเสน่ห์สำหรับผม

เรามาต่อกันด้วยประเด็นพิเศษของพวกเรา ที่จำเป็นต้องนั่งพูดคุยกัน คือ ประเด็นของสื่อที่ผ่านโซเชียล ที่หลายๆ คนในประเทศไทยนิยมเสพ โดยไม่ทราบที่มาที่ไป และการเสพสิ่งนี้ ส่งผลให้อารมณ์เราขุ่นมัว เพิ่มความเกลียดชังกันเองระหว่างมนุษย์ กับมนุษย์

เราจะทำอย่างไรให้คนที่เสพสิ่งเหล่านี้ มีสติในการเสพ เพื่อนำสิ่งที่เสพเข้าไปมาวิเคราะห์ สืบเสาะหาข้อมูลก่อนจะตัดสินพิพากษาคนอื่น

เราไม่ควรอ่านหนังสือเล่มเดียว แต่เราควรอ่านหนังสือหลายเล่ม

‪#‎Takeshi

ขอบคุณภาพ : บังยุบ