Skip to main content

 

โอลิมปิกวิชาการกับวัฒนธรรมการศึกษาของนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา

 

โดย นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

 

 

 

เมื่อประมาณหนึ่งปีที่แล้ว ผมเคยโพสต์เรื่องโครงการระยะยาวในการเตรียมสอบโอลิมปิกวิชาการ ที่ผมในฐานะศิษย์เก่าโรงเรียนพัฒนาวิทยา พยายามเข้าไปจัดตั้ง ตอนนั้นผมไปพูดคุยกับน้องๆในวันพิธีเปิดโครงการ และมีการจัดสอบคัดเลือกเด็กเข้าโครงการ วันนี้โครงการเสร็จจสิ้นแล้วนะครับ

แต่จะขอเล่าประสบการณ์ที่ได้จากการดูแลโครงการนี้ห่างๆ (ส่วนคนดูแลใกล้ชิดคือน้อง Fahmi Enjoy'plus ศิษย์น้องที่สอบติดคณะแพทย์ มนร. อีกคน)

ความตั้งใจที่จะทำโครงการนี้มันเริ่มจาก การที่ผมกับเพือ่นหมอที่ยืนข้างผม นพ.กิฟลัน ว่าที่จิตแพทย์คนดังแห่งสามจังหวัดในอนาคต (อินชาอัลลอฮ) ซึ่งเป็นเด็กจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาที่เคยสอบติดเข้าโครงการโอลิมปิก และชีวิตทางการศึกษาก็เปลี่ยนแปลงไปมากมายหลังสอบเข้าโครงการได้ ทุกๆปี ถ้าไม่ผมก็เพื่อนหมอคนนี้แหละที่จะแวะเวียนเข้าไปคุยกับน้องๆ ให้กำลังใจ แนะนำวิธี สำหรับการตั้งใจจะทำอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะการเรียน แต่รูปแบบที่ทำทุกคือ คือไปพูดก็จบ เราก็กลับบ้าน ส่วนน้องก็อ่านหนังสือกันเอง ซึ่งวิธีแบบนี้ ในการทำงานที่หวังผลระยะยาวมันก็ไม่ค่อยดี เพราะไปทีเดียวแล้วกลับเลย ถ้าเป็นการให้ยาคือโดสเดียว ซึ่งแน่นอนว่าตัวยาจะอยู่ในร่างกายไม่นาน ถ้าจะให้ยั่งยืนหน่อยก็ต้องมีโดสติดตามมาเป็นระยะๆ

เราจึงตั้งให้มีโครงการติดตามผลในเวลาหนึ่งปีขึ้นมา เป็นการทดลองทำดู ว่าถ้าเราคัดเด็กมา หาทุนให้เรียนพิเศษนอกโรงเรียน แล้วให้มาสอบทุกเดือน ประเมินผลตามความก้าวหน้ากันทุกเดือน หาศิษย์พี่ที่เคยเข้าโอลิมปิก มาติวบ้าง ผลที่ได้จะเป็นอย่างไร

อัลฮัมดลิลลาฮ เวลาหน่งปีผ่านไปเร็วมาก ต้องขอบคุณน้องหมอฟาฮมี ที่ช่วยรับงานเป็นเฮดดูงานตลอดมา ทำหน้าที่ได้ดีมาก รู้จักน้องทุกคน และเป็นตัวอย่างที่ดีให้น้องๆได้เห็นมาตลอด ถึงความทุ่มเทเอาใจใส่ในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่ดีต่อไปในอนาคต เราจัดติวจัดสอบ พูดคุยปลุกเร้ากันบ้าง พี่ๆก็มาดูแลน้องกันหลายคน ทำงานเป็นทีมงาน ซึ่งล้วนเป็นศิษย์เก่าโรงเรียน

สิ่งที่หวังถ้าตามวัตถุประสงค์ที่เขียนในกระดาษก็คงหวังให้น้อง สอบติดโอลิมปิกรอบจริงให้ได้ อันนี้สำคัญที่สุดที่จะเป็นประโยชน์สำหรับน้องๆในอนาคต ส่วนผลพลอยได้ที่สังคมรอบข้าง เพื่อนๆ รอบข้างจะได้จากน้องเป็นวัตถุประสงค์ที่ไม่ได้ระบุในกระดาษ

ความจริงแล้ว ผมกับเพือนฝันอยากปฏิวัติวัฒนธรรมการศึกษาของเด็กในสังคมลายู จะวัดด้วยสถิติอะไรก็แล้วแต่ สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ เด็กสามจังหวัดมีปัญหาเรื่องการศึกษา ถ้ากลไกรัฐช่วยเหลือเรื่องปัญหาการศึกษาของคนในพื้นที่ได้น้อย ก็ต้องใช้ความพยายามกันเองของคนในพื้นที่บ้าง ซึ่งคงดีกว่าการโทษว่าได้รับปัจจัยสนับสนุนไม่เพียงพอ

ปัญหาสำคัญที่เรากำลังเจอในเยาวชนสามจังหวัด คือ แรงจูงใจ (Incentive) ที่เขาจะเรียนนั้นมีไม่เพียงพอ เด็กฉลาดจำนวนมาก ตกม้ากลางทาง เพราะขาดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการศึกษา ส่วนเด็กเรียนกลางๆ ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะเข้าไปอยู่ตรงส่วนไหนของระบบการศึกษา

ความคิดของผมเรื่องแรงจูงใจทางการศึกษาเปลี่ยนไปมาก หลังจากเห็นโลกกว้างผ่านการแข่งขันในโอลิมปิก จากรอบภูธร สู่รอบประเทศ และเห็นตัวอย่างว่าปลายทางของการศึกษามันมีหลายทางให้เลือกมาก เพียงแต่ต้องประคับประคองตัวเองให้รอดในช่วงที่เรายังเป็นเด็กตัวเล็กๆแบบระดับมธยมเท่านั้นเอง

สั้นๆง่ายว่า ถ้าน้องๆที่เข้าโครงการหนึ่งคน ไปสอบติดจริงๆ กลับมาคงมากระตุ้นเพื่อนๆได้บ้าง ถ้าสิบปีข้างหน้าเขาประสบความสำเร็จในด้านการศึกษา เขาก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอีกร้อยอีกพันคน ให้มุมานะตั้งใจจริงๆในการศึกษา ถ้าเรามีคนแบบนี้ร้อยคนพันคนในอีกยีสิบปีข้างหน้า หันไปทางไหนก็มีแต่คนเจริญทางความคิด วัฒนธรรมใหม่เรื่องการศึกษาคงมีหวังได้เกิดขึ้นในสังคมจริงๆ ซึ่งผมก็คงออกแบบไม่ได้ แต่หน้าที่ทำตอนนี้คือหว่านเมล็ด และรอผลมันต่อไปอย่างเดียว

 

ปล. อีกสิบวันสอบจริง น้องๆ ทุกคนตั้งใจสอบนะครับ

ปล. หลังจบโครงการ ถ้ามันเวิร์ก อยากเชิญโรงเรียนอื่นๆมาเข้าร่วมเฟสต่อไปของโครงการด้วย มีที่ไหนสนใจบ้างครับ

ปล. ขอบคุณ Sulaiman Kutaibee ศิษย์พี่โรงเรียนที่น่ารักอีกคนที่มาร่วมเป็นเจ้าภาพอาหารมื้อนี้ด้วยนะครับ