Skip to main content

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน

คำกล่าวสองผู้นำมุสลิมโลก ที่ชื่นชมแนวทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลไทย ในระหว่างการเดินทางมาเยือนประเทศไทยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจทำให้รัฐบาลไทยสบายใจในความสำเร็จการสกัดปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ มิให้ขยายลุกลามออกสู่ระดับสากล

ก่อนหน้านี้ โอไอซีก็เคยเข้ามารับฟังข้อเท็จจริงจากรัฐบาลไปแล้ว หากมองในภาพรวม กล่าวได้ว่ารัฐบาลไทยมีชัยชนะทางยุทธศาสตร์ สามารถดึงผู้นำมุสลิมสายกลางระดับโลกเข้ามารับรู้ข้อเท็จจริงในการแก้ปัญหา 

ความสำเร็จในระดับนานาชาติ ไม่ควรที่จะลิงโลดจนละเลยยุทธศาสตร์ในพื้นที่ เพราะจนถึงขณะนี้นโยบาย "แยกปลาออกจากน้ำ" แยกประชาชนออกมาจากขบวนการใต้ดินนั้นก็ถูกตั้งคำถามว่า ได้ผลแค่ไหน

นอกจากการโหมประชาสัมพันธ์ว่าฆ่าผู้บริสุทธิ์ขัดกับหลักการศาสนาอิสลามแล้ว มีหลักคิดอื่นใดอีกหรือไม่ ที่จะใช้สลายความชอบธรรมหรือต่อสู้กับการอ้างชาติ (มลายู) ศาสนา(อิสลาม) และมาตุภูมิ (ปัตตานี) เป็นเงื่อนไขสงคราม

การเอาชนะทางความคิดต่อขบวนการใต้ดิน จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง

แนวคิดที่ปรากฏในหนังสือ "เบอร์ญิฮาด ดิ ปัตตานี" หรือ "การต่อสู้ที่ปัตตานี" ซึ่งยึดได้จากผู้ก่อเหตุที่เสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะ ทำให้เห็นชัดว่า การผสมผสานประเด็นเรื่องชาติ ศาสนา และมาตุภูมิ อย่างกลมกลืนกัน คือแนวคิดที่ทรงอิทธิพลในการโน้มน้าวปลุกระดมให้ผู้คนลุกฮือขึ้นมาก่อการ

งานวิจัยเรื่อง "สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ : วาทกรรมที่มีนัยทางศาสนา" ของโครงการความมั่นคงศึกษา โดย ปัญญศักย์ โสภณวสุ สรุปกรอบความคิดยุทธศาสตร์ของขบวนการใต้ดิน ที่ปรากฎในหนังสือเล่มนี้เอาไว้อย่างกระชับว่า "1 ต้อง 6 ไม่ 3 ผล"

1 ต้อง คือ ใช้ญิฮาดเป็นเครื่องมือต่อสู้ปลดปล่อยปัตตานี

6 ไม่ คือ ไม่ประนีประนอม ไม่เจรจา ไม่หนี ไม่มอบตัว ไม่เอาเขตปกครองพิเศษ ไม่เอาระบบรัฐสภา (ใช้ระบบกฎหมายอิสลาม)

3 ผล คือ ญิฮาดจะเกิดผล 3 ประการ ได้แก่ ชัยชนะ พ่ายแพ้ และสืบทอดภารกิจ

เป็นแนวคิดที่เน้นการแตกหักสถานเดียว

นโยบายการให้สิทธิเสรีภาพในการธำรงอัตตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรม อาจได้ผลดีในการแยกมวลชนส่วนใหญ่ออกมาจากขบวนการ แต่ไม่อาจทำให้เหตุร้ายรายวันบรรเทาเบาลงได้ เพราะไม่ได้สลายแนวคิดการต่อสู้แบบสุดโต่งของขบวนการใต้ดินที่ปฏิบัติการอย่างถี่ยิบไม่ว่างเว้น

การเอาชัยอย่างถาวร จึงต้องเสนอแนวคิดใหม่เพื่อหักล้าง เป็นการหักล้างเพื่อสกัดสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่จุดแตกหัก และการส่งต่อสืบทอดภารกิจการต่อสู้เพื่อปัตตานีไปสู่ชนรุ่นต่อไป