Skip to main content

 

 ชายแดนใต้ "สันติภาพ" ที่ยังไกลเกินเอื้อม 

สมบูรณ์ คำแหง
 
 

เมื่อวานวันสันติภาพโลก ผมมีโอกาสได้ไปร่วมเวทีวิชาการที่จัดโดยสถาบันสันติศึกษา มอ.หาดใหญ่. และได้มีการนำเสนองานวิจัยว่าด้วยเรื่อง “การประเมินสถานการณ์ของผู้ชายและเยาวชนชาย ในพื้นที่ขัดแย้งชายแดนใต้”

มีหลายคนเห็นเหมือนกันครับว่าไม่ค่อยมีใครคิดทำเรื่องนี้กันมากนัก เพราะสวนใหญ่ก็จะพุ่งเป้าไปที่ผู้หญิง หรือเด็ก อันนี้เราจะเห็นการทำวิจัยเรื่องนี้กันบ่อยมาก การนำเสนอโดยอาจารย์ ศรีสมภพ จิตร์ภิรมณย์ศรี จาก มอ.ปัตตานี ถือเป็นนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับในสังคมชายแดนใต้อย่างมาก เป็นการนำเสนอที่กระทัดรัดเข้าใจง่ายครับ รวมกับข้อคอมเม้นต์ของบรรดาผู้เข้าร่วมหลากหลายกว่า 40 คน ถือว่าได้ความรู้บางมุมที่แปลกใหม่มากครับ

หากผมก็ยังรู้สึกหดหู่กับเรื่องราวเหล่านี้อยู่ดี และนำไปสู่คำถามต่างๆมากมาย ทั้งที่เกี่ยวกับงานวิจัย และไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง แต่คำถามเหล่านั้นก็ไม่ใคร่ที่จะได้ถามในเวทีหรอกครับ ผมได้แต่กลับมานั่งขบคิด และแลกเปลี่ยนสนทนากับเพื่อนที่มีโอกาสไปร่วมฟังด้วยกัน

“สันติภาพ” ยังริบหรี่ในดินแดนแห่งนี้ครับ...ผมรู้สึกเช่นนั้น เพราะสิ่งที่เห็นคือการคิดค้นรูปแบบต่างๆ เพียงเพื่อที่จะดำรงอยู่ให้ได้ในสถานการณ์ที่สิ้นไร้ทางออกของปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสมือนการอยู่ในสภาวะจำนนอย่างไร้ทางไปจริงๆ

"ความระแวงระหว่างกัน" กลายเป็นกำแพงกางกั้นระหว่างผู้คนในดินแดนแห่งนี้ สะท้อนได้จากคำกล่าวหนึ่งในความเห็นของผู้ร่วมแลกเปลี่ยนในห้องประชุมที่ว่าเหมือนจะตั้งคำถามกับพวกเราว่า “ในความขัดแย้งวันนี้ หากประชาชนมีโอกาศถือปืนอยู่ในมือ ถามว่าจะเลือกยิงใครระหว่างผู้ก่อการกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง” เป็นคำถามที่สร้างความแตกตื่นความรู้สึกของผู้อยู่ในห้องประชุมได้พอสมควร แต่คำตอบของท่านผู้นี้กลับยิ่งสร้างความฉงนอย่างไม่มีใครสงสัยมากกว่าครับ เพราะท่านบอกว่า “ตอบได้ว่าวันนี้ประชาชนเลือกยิงเจ้าหน้าที่บ้านเมือง” แม้จะมีเสียงหัวเราะตามมาพร้อมคำตอบนี้ แต่ก็เป็นเสียงหัวเราะที่ขมกลืนพอควรครับ

การประเมินสถานการณ์เฉพาะเรื่อง เฉพาะกลุ่ม หรือเฉพาะประเด็น คงเป็นเรื่องปลีกย่อยสำหรับดินแดนแห่งนี้ เพราะในภาพรวมที่เป็นสภาพของปัญหาทั้งมวล มันแทบจะพูด หรือจะถามกันอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ หรือหากถามก็มิใคร่อยากตอบ ที่สำคัญคือการยอมรับปัญหา และการเลือกที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจังของรัฐไทยเองก็ยังไม่เด็ดขาด และกล้าหาญชาญชัยพอที่จะเข้าใจมันด้วยหัวใจจริงๆ

ไม่กี่วันนี้เราจะมีรัฐบาลส่วนหน้า...จะเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนใต้..อีกกลไกหนึ่ง..ได้แต่รอลุ้นแบบไม่อยากจะหวังอะไรมากครับ

วันนี้การนำงานวิจัยเรื่องนี้ก็เป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งที่เป็นปลายเหตุการณ์ของเรื่องราวทั้งหมดทั้งหมด ก็ว่ากันไปนะครับ ผมพอเข้าใจ และที่เข้าใจพร้อมกับต้องทำใจไปกับพี่น้องชายแดนใต้ก็คือ

“สันติภาพ” ของดินแดนแห่งนี้ยังดูริบหรี่...จริงๆ ครับ

 

สมบูรณ์ คำแหง

เลขาธิการ กป.อพช.ใต้

22 กันยายน 59