Skip to main content

 

บรรยากาศอิสลามในประเทศสาธารณะรัฐอิสลาม

 

โดย นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

 

ขอบคุณภาพจาก พรินซ์ อเลสซานโดร

 

ในสามเมืองที่ผมเดินทางไป สัมผัสได้ว่าประเทศอิหร่านมีบรรยากาศของความเป็นสาธารณรัฐอิสลาม แค่ในส่วนของภาครัฐบาลเท่านั้น ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะเป็นฝ่ายพยายามสร้างบรรยากาศอิสลามในประเทศเพียงฝ่ายเดียว ส่วนภาคประชาชนเท่าที่เจอนั้นมีเฉยๆ กับศาสนาพอสมควร รัฐบาลพยายามสร้างกฎหมายชารีอะฮในการปกครองประเทศตามบริบทของชีอะฮ วางตำแหน่งสูงสุดของผู้นำประเทศเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชีอะฮ วางอยู่สูงกว่าตำแหน่งของประธานาธิบดีเสียอีก ออกกฎหมายให้สตรีที่เข้ามาภายในประเทศแต่งกายปกปิดมิดชิด ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม รัฐบาลห้ามการซื้อ-ขาย แอลกอฮอล์ ห้ามการผลิตโดยเด็ดขาด ห้ามการพนัน ห้ามอบายมุข ควบคุมการเผยแพร่สื่อที่มีการเปิดเผยสัดส่วนของสตรี หรือสื่อที่มีเนื้อหาล่อแหลมตามหลักศาสนา ใช้ซิงเกิลเกตเวย์ บล็อกเว็บไซท์จากต่างประเทศ บล็อกเฟซบุค สร้างสถานที่ละหมาดริมทาง ออกกฎหมายให้สถานที่ราชการมีสถานที่ละหมาด และนโยบายอื่นๆอีกมากมาย ทั้งนี้เพื่อพยายามปกปักษ์รักษาบรรยากาศแวดล้อมแบบจารีตนิยมอิสลามในประเทศไว้ให้ได้มากที่สุด

 

แต่จากสามเมืองที่ผมได้ไป ดูเหมือนประชาชนจะแสดงออกด้วยการดื้อเงียบกับนโยบายที่รัฐบาลออกมา เช่น คลุมฮิญาบก็ไม่มิดชิด เปิดผมบ้าง มีสักตามร่างกาย ทั้งหญิงและชาย ซึ่งเป็นข้อห้ามในศาสนาอิสลาม ไม่ละหมาด พยายามต้มเหล้ากินเอง เล่นพนันตามท้องถนน มีการเคลื่อนไหวเชิงต่อต้านรัฐบาลศาสนาพอสมควร  ว่ากันด้วยบรรยากาศอิสลามอีกอย่างหนึ่งคือความหนาแน่นของมัสยิด และ จำนวนประชาชนที่ออกมาละหมาด จะเล่าเรื่องมัสยิดก่อนละกัน เกริ่นนำตั้งแต่แบบของมัสยิด มัสยิดของชีอะฮนอกจากจะมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างจากมัสยิดซุนนีย์อยู่บ้างแล้ว บริเวณที่ยืนนำของอิหม่ามละหมาดของมัสยิดใหญ่ๆของชีอะฮจะมีหลุมลึก เนื่องในทัศนะของชีอะฮ แถวของมะอมูม(ผู้ตามในการละหมาด) ต้องไม่ต่ำว่าตำแหน่งที่อิหม่ามยืน (อิหม่ามจะยืนจะเท่ากันหรือต่ำกว่าเท่านั้น) มัสยิดใหญ่ๆของชีอะฮมักจะมีบริเวณตลาดอยู่ในมัสยิดด้วย เมื่อถึงเวลาละหมาดคนมาร่วมละหมาดอาจจะเยอะจนกระทั่งล้นออกจากมัสยิด ซึ่งตำแหน่งนอกมัสยิดอาจอยู่ในจุดที่ต่ำว่าอิหม่าม ดังนั้นเพื่อความแน่นอนว่าอิหม่ามจะอยู่ต่ำกว่า จึงต้องขัดหลุมบริเวณที่อิหม่ามละหมาด ในขั้นตอนการละหมาดอื่นๆก็มีความแตกต่างกัน ชีอะฮละหมาดไม่อ่านกุรอ่านเสียงดัง การนั่งพักระหว่างซูญูดก็จะนั่งกันแป็บเดียว ชีอะฮจะต้องสูญูด (ก้มกราบ) บนดินที่ดีที่สุดในความเชื่อ ซึ่งก็คือดินจากกัรบาลา ดังนั้นทุกสถานที่ละหมาดจะมีชั้นวางหินกัรบาลาให้คนที่มาละหมาดหยิบไปใช้ในการละหมาด ความแตกต่างกันของวิธีละหมาดระหว่างซุนนีย์และชีอะฮทำให้ผมไม่ได้ละหมาดในห้องละหมาดสาธารณะ ความจริงแล้วผมไม่ได้หวาดระแวงหรือกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยจากผู้คนที่นี่ แต่ด้วยการประเมินบนฐานของความไม่รู้จึงขอเซฟๆไว้ก่อน คือไม่ทราบว่าโดยพื้นฐานความคิดของคนในประเทศเขามองซุนนีย์กันว่าอย่างไรบ้าง แถมยังไม่เคยมีใครรรีวิวให้ด้วย แต่เท่าที่สังเกตบรรยากาศในประเทศอิหร่านนี้มีการบ่มเร้าอารมณ์ของประชาชนให้ต่อสู้กับศัตรูของชาติอยู่ทั่วไป ซึ่งแน่นอนว่าศัตรูของชาติก็มีไม่กี่พวก ซุนนีก็เป็นหนึ่งในนั้น ในจำนวนมวลชนจำนวนมากที่รับข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลทุกๆวัน อาจจะมีบ้างที่ซึมซับสารที่รัฐบาลป้อนให้ ดังนั้นเซฟไว้ก่อนสบายใจ 

 

ว่ากันด้วยเรื่องละหมาดต่อ ผมใช้เกณฑ์การละหมาดในการดูว่าบรรยากาศของศาสนาและจิตวิญญาณในประเทศมุสลิมนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ผมอาจเทียบ มาเลเซีย ตุรกี สามจังหวัดชายแดนใต้ และอิหร่าน ในเรื่องละหมาดให้เห็นชัดๆนะครับ ผมคิดว่าสถานที่ที่บรรยากาศเรื่องอิสลามที่สื่อให้เห็นผ่านการละหมาดที่ดีที่สุดที่ผมเจอคือ สามจังหวัดชายแดนใต้ ตามมาด้วยมาเลเซีย และตุรกีย์ ที่สามจังหวัด มีมัสยิดเกือบทุกพื้นที่ที่มีคนอยู่ ช่วงที่เข้าเวลาละหมาดเสียงอาซานจะดังระงมไปทั่วเมือง คนก็มาละหมาดกันคึกคักมากที่สุดเท่าที่ไปประเทศมุสลิมมา เวลาเดินทางคนสามจังหวัดก็ยังเคร่งครัดกับเรื่องละหมาด สถานที่ละหมาดข้างทางมักจะเต็มไปด้วยคนเดินทาง มาเลเซียจะคล้ายๆไทย ตุรกีย์ที่ไปในอิสตันบูลเมื่อต้นปี มีมัสยิดทั่วเมือง เสียงอาซานเรียกละหมาดดังระงมทั่วเมือง คนเข้ามัสยิดเยอะมากพอสมควร แต่ที่อิหร่านกลับไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น ที่นี่มีมัสยิดในจำนวนที่หนาแน่นน้อยกว่าอิสตันบูล ถ้าเป็นมัสยิดใหญ่เวลาละหมาดคนก็เข้ามาละหมาดกันเยอะพอสมควร แต่ถ้าเป็นมัสยิดเล็กๆ ก็มีคนน้อยมาก ผมเข้าไปละหมาดซุบฮิในมัสยิดกลางเมืองอิสฟาฮาน ซึ่งเป็นมัสยิดขนาดกลาง คนที่มาละหมาดก็เป็นคนสูงอายุ ส่วนตอนเดินทางกลับจากชีราสไปเตหะราน เรานั่งรถบัสนอนข้ามคืน และรถต้องจอดแวะให้ผู้โดยสารละหมาดซุบฮิกัน ที่นั่นมีรถบัสจอดกันหลายคัน แต่แทบไม่มีคนละหมาดเลย คนผมนั่งมา 28 ที่นั่ง น่าจะมีคนลงไปละหมาดกันแค่ 3 คน คนที่ละหมาดส่วนใหญ่ก็สังเกตได้จากการแต่งกายว่าเป็นคนที่นิยมในศาสนา พอถามผู้คนที่เจอในอิหร่าน ก็ได้คำตอบคล้ายๆกันว่า คนที่นี่คนไม่ละหมาดเยอะกว่าคนละหมาด หรืออาจจะเท่าๆกัน ไม่รู้ว่าที่เราไปอาจจะเป็นเมืองท่องเที่ยว ถ้าไปที่เมืองสำคัญทางศาสนา (เมืองมะฮชาด และเมืองกุม) อาจมีบรรยากาศอีกแบบก็ได้ เสียดายที่ไม่ได้ไป 

 

ระบอบการเมืองของสาธารณะรัฐอิสลามอิหร่าน

 ประเทศอิหร่านเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาเป็นการปกครองระบอบสาธารณะรัฐอิสลาม ที่ใช้กฎหมายอิสลามในประเทศ และมีตำแหน่งผู้นำสูงสุดเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของศาสนาอิสลามชีอะฮ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในปี 1979 ผ่านการปฏิวัติของอิหม่ามโคไมนี่ แต่ที่มาที่ไปของการปฏิวัตินี่ต้องเล่ากันยาว 

เดิมทีอิหม่ามโคไมนี่เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาด้านศาสนาของชาห์ ปาเลวี ผู้ซึ่งนิยมในตะวันตก ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้าย แต่ภายหลังมีความขัดแย้งกับชาห์ ในเรื่องการรับรองโครงการปฏิรูปอิหร่านให้เป็นรัฐสมัยใหม่มากขึ้น โดยชาห์ต้องการให้การผลักดันโครงการปฏิรูปประเทศหรือปฏิวัติขาวผ่านการลงประชามติ ส่วนฝ่ายตรงข้ามคือ national front ต้องการให้ดีเบทกันในสภาผู้แทนและจะรับรองหรือคัดค้านก็ผ่านสภานี้เพราะการปฏิรูปนี้เป็นเรื่องใหญ่ การให้ประชาชนตัดสินใจเลยเกรงว่าจะไม่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน ซึ่งหนึ่งในแกนนำของ national front คือ อิหม่ามโคไมนี่ ความขัดแย้งนี้ทำให้อิหม่ามโคไมนี่โดนจับกุมในข้อหาที่ปราศรัยโจมตีรัฐบาลชาห์ปาเลวี หลังจากถูกกุมขังในคุกที่เตหะราน ประชาชนที่นิยมในตัวโคไมนี่ได้ออกมาเดินขบวนประท้วง และนำมาซึ่งการกวาดล้างของทหารจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการประท้วงครั้งนั้นมากถึง 15,000 คน เหตุการณ์นี้เรียกว่า การลุกฮือ 15 กอดัร 1342 (เลขหลังเป็นปีของชีอะฮ ไม่ใช่ฮิจเราะฮ)

หลังจากนั้นอิหม่ามโคไมนี่ถูกปล่อยตัวจากคุกแล้วก็ถูกเชิญออกนอกประเทศไปอยู่ที่ตุรกีย์ อิรัก และ ฝรั่งเศสตามลำดับ รวมเวลาที่โดนเนรเทศทั้งหมด 15 ปี 

การปฏิรูปโครงสร้างพื้นที่ฐานครั้งใหญ่ของอิหร่านในสมัยนั้นมีชื่อว่า ปฏิวัติขาว ซึ่งมีรายละเอียดใหญ่ๆ 6 ข้อ คือ

1.ให้มีการปฏิรูปที่ดิน 

2.ขายโรงงานที่รัฐบาลเป็นเจ้าของเพื่อนำเงินมาปฏิรูปที่ดิน

3.ออกกฎหมายเลือกตั้งใหม่ที่ให้สิทธิสตรีในการออกเสียง 

4.จัดให้ป่าไม้เป็นสมบัติของชาติ

5.ตั้งองค์กรเพื่อการอ่านออกเขียนได้โดยเฉพาะเพื่อการสอนหนังสือในชนบท

6.ร่างแผนการในการให้คนงานมีส่วนแบ่งในผลกำไรจากอุตสาหกรรม 

ในทางทฤษฎีแล้ว การปฏิรูปครั้งนี้ควรเป็นการปฏิรูปที่ดี ที่ทำให้ประชาชนมีที่ดินทำกินมากขึ้น เศรษฐกิจในประเทศอยู่ในมือเอกชนมากขึ้น การกระจายตัวทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อมีการปฏิรูปแล้ว คนรอบข้างราชวงศ์และชนชั้นนำในสังคมกลายเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดของการปฏิรูป ที่ดินจำนวนมากถูกยกให้กับผู้ใกล้ชิดราชวงศ์ โรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ๆของประเทศอยู่ในการกำกับของราชวงศ์ ในขณะเดียวกันประชาชนในประเทศยากจนขัดสนกันมากขึ้น ชีวิตของสมาชิกราชวงศ์กลับหรูหราอู้ฟู่ ราชวังโกเลสตานเป็นสุดยอดราชวังหนึ่งในโลก ปาเลห์วีเป็นราชวงศ์ที่สะสมเครื่องเพชรมากที่สุดราชวงศ์หนึ่งในโลก (มีเหลืออยู่ที่พิพิธภัณฑ์โคตรเพชร ในธนาคารกลางแห่งชาติ) นโยบายเปิดประเทศและเร่งรัดพัฒนาประเทศให้เป็นดั่งประเทศเจริญแล้วของชาห์ นำมาซึ่งสิ่งที่ผิดหลักการและจารีตของคนอิหร่านที่เคร่งครัดในศาสนา เช่น บาร์ สถานบันเทิง แอลกอฮอล์ ภาพยนตร์ลามก จึงทำให้คนชั้นล่างของประเทศที่นิยมยิ่งอิหม่ามโคไมนี่อยู่แล้ว ก็ยิ่งนิยมมากขึ้น เพราะหวังจะเป็นผู้ปลดปล่อยจากการปกครองของชาห์ที่เศรษฐกิจไม่ดีแล้ว บรรยากาศศาสนาในประเทศก็เสียไปด้วย

 

แม้ว่าจะถูกเนรเทศแล้ว อิหม่ามโคไมนี่ก็ยังส่งสารผ่านสื่อต่างๆเข้ามาให้ผู้ติดตามได้รับสารเสมอ เทปคาสเซ็ทที่บันทึกข้อความจากอิหม่ามโคไมนี่ ส่งจากฝรั่งเศสมาเปิดกันลับๆ ตามบ้านหรือที่รวมตัวของกลุ่ม ในช่วงต้นปี 1978 นักศึกษาในเมืองกุม (Qom) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของโคไมนี่ได้ออกมารวมตัวประท้วงหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ลงข่าวโจมตีอย่างรุนแรงต่อการเคลื่อนไหวของอิหม่ามโคไมนี่ ทหารออกมาปราบการประท้วงและมีผู้เสียชีวิตหลายราย หลังจากการประท้วงที่กุม ตลอดทั้งปีก็มีการประท้วงย่อยๆ ปลุกกระแสต่อเนื่องจากการประท้วงที่เมืองกุม จนกระทั่งการประท้วงใหญ่ในวันอาชูรอปี 1979 ซึ่งชนชั้นล่างและกลุ่มผู้สนับสนุนแนวทางของอิหม่ามโคไมนี่ ออกมาประท้วงกันหลายเมืองทั่วประเทศ ไล่เผาบ้านเรือนของคนต่างชาติโดยเฉพาะอเมริกัน (ตอนนั้นชาห์ให้อเมริกาเป็นพันธมิตรผู้ใกล้ชิด ขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้บริษัทจากอเมริกาเป็นหลัก) ออกมาประท้วงไล่ชาห์อย่างจริงจัง รัฐบาลอเมริกาแนะนำให้ชาห์อพยพก่อน และตั้งรัฐบาลชั่วคราวมาดูแล ชาห์อพยพออกไป โดยไม่รู้ว่านี่เป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้อยู่ในอิหร่านแล้ว

 

หลังจากชาห์ออกนอกประเทศ รัฐบาลที่มาขัดตาทัพชั่วคราวประกาศว่าบัลลังค์ยังอยู่ แต่หลังจากนั้นไม่นาน อิหม่ามโคไมนี่บินจากฝรั่งเศสเข้าประเทศอิหร่าน สถานการณ์โน้มไปทางอิหม่ามโคไมนี่ กระแสประชาชนที่เฮโลกันไปที่กองทัพปฏิวัติอิสลาม จนกระทั่งกองทัพบกอิหร่านวางตัวเป็นกลาง ไม่ยุ่งกับความขัดแย้งของรัฐบาลชั่วคราวกับกองกำลังปฏิวัติ สุดท้ายอิหม่ามโคไมนี่ก็ประกาศจัดตั้งรัฐบาล และเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศหรือ รอฮบัร

 

ตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสาธารณะรัฐอิสลามมีเพียงแค่สองคนเท่านั้นที่อยู่ในตำแหน่งนี้ คนแรกคือ อยาตุลลอฮ รูฮฮุลลอฮ โคไมนี่ (คำแรกคือยศที่คนอิหร่านแต่งให้) หรือ อิหม่ามโคไมนี่ (อิหม่ามแปลว่าผู้นำ) กับคนที่สองคือ อยาตุลลอฮ อาลี โคเมเนอี ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่การเสียชีวิตของอิหม่ามโคไมนี่จนถึงปัจจุบัน  ส่วนผู้นำด้านการบริการหารนั้น เป็นตำแหน่งของประธานาธิบดี ซึ่งมีหลายคนเคยดำรงตำแหน่งนี้มา สองคนสุดท้าย คือ มาฮมูด อะฮมาดิเนจัด กับ ฮาซัน รูฮานี่ ประเทศอิหร่านไม่มีพรรคการเมือง จะบอกว่าอิหร่านเป็นประเทศที่มีการเลือกผู้นำคล้ายกับ ideal ของการปกครองแบบชารีอะฮมากที่สุดในโลกนี้แล้วก็น่าจะว่าได้ (ขอเชิญนักรัฐศาสตร์มากถกกันในประเด็นนี้ด้วย) เพราะในอุดมคติของการเลือกผู้นำในการปกครองแบบอิสลามจริงๆ เกิดขึ้นหลังการเสียชีวิตของนบีมูฮัมมัด มีการเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งของท่าน หรือ คอลิฟะฮ ซึ่งคัดเลือกผ่านสภาสูง หรือสภาชูรอ ที่มีสมาชิกเป็นสหายคนที่อยู่ใกล้ชิดกับศาสดามากที่สุด จำนวน 12 ท่าน คัดเลือกแล้วได้ผู้นำกันจากมติตรงนั้น ส่วนของอิหร่าน การคัดเลือกประธานาธิบดีจะมีสองส่วน 

ส่วนแรกคือคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นประธานาธิบดีโดยสภาชูรอ ซึ่งมีสมาชิกในสภา 12 คน 6 คนจากผู้ทรงคุณวุฒิทางศาสนา และอีก 6 คนจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย จะทำการคัดเลือกจากการส่งชื่อของผู้มีคุณสมบัติจะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จากองค์กรต่างๆ ผู้ที่คุณสมบัติไม่ผ่านตามมติของชูรอก็จะถูกคัดออก ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีการเสนอชื่อจากองค์กรระดับล่างขึ้นไปยังชูรอ รวมทั้งสิ้น 600 กว่ารายชื่อ สุดท้ายคนที่ผ่านเข้าสู่การเลือกตั้งมีแค่  6 คน

 ส่วนที่สองคือ การลงคะแนนเสียงของประชาชน ซึ่งจะเลือกกันตามที่สภาชูรอคัดมาให้แล้ว ถ้าผู้ที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งได้คะแนนขาดลอยก็จบ ได้ประธานาธิบดีไป ถ้าคะแนนไม่ขาดลอยก็จะมาเลือกใหม่ เฉพาะคนที่ได้อันดับหนึ่งกับสองของการเลือกตั้งครั้งแรก  อิหร่านไม่มีพรรคการเมือง และก็คิดว่าน่าจะมีกฎหมายห้ามจัดตั้งพรรคการเมือง ดังนั้นไม่ว่าผู้สมัครประธานาธิบดี จะมีโทนทางการเมืองเป็นเฉดไหนก็ตาม สุดท้ายก็ต้องอยู่ในเฉดสีที่ผู้มีอำนาจสูงสุดนั่นก็คือสถาบันศาสนาแบบชีอะฮเท่านั้นยอมรับได้ วิธีการแบบนี้ในทัศนะของนักรัฐศาสตร์สายเสรีประชาธิปไตย ก็คือคณาธิปไตยนั่นเอง เพราะสุดท้ายคนที่จะมามีบทบาทบริหารประเทศก็ต้องผ่านตัวกรองใหญ่คือสภาชูรอเท่านั้น ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งสำหรับนักประชาธิปไตยที่จะทำให้มีการเลือกผู้นำอย่างเสรี ความรัดกุมของระบบการเลือกผู้นำของอิหร่านจึงทำให้ความมั่นคงทางการเมืองของกลุ่มผู้มีอำนาจสูงสุดนั่นสูงมาก และไม่มีทีท่าว่าจะมีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงอำนาจของคณะผู้นำทางศาสนานอกเสียจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ต่อให้มีประธานาธิบดีที่ห้าวหาญแค่ไหน ผมก็คิดว่าน่าจะมีกลไกลทางอำนาจของคณะผู้นำศาสนา ที่จะรักษาอำนาจไว้ในกลุ่มของตัวเองให้มั่นคงได้

 

 อำนาจทางการทหาร และสถาบันที่ถูกผูกไว้

ในรัฐสมัยใหม่ อำนาจทางการทหารเกือบทุกรัฐถูกผูกไว้ด้วยความมั่นคงของรัฐเป็นสิ่งสูงสุด อาจมีบางรัฐที่ผูกกับระบบหรือองค์กรอื่นๆ ซึ่งหมายความว่ากองทัพในรัฐทั่วๆไป มีหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของรัฐเป็นอันดับแรก และอาจมีสถาบันอื่นๆที่กองทัพแต่ละประเทศจะตั้งไว้เป็นคุณค่ารองๆลงมาที่จะปกป้อง ในอิหร่าน ผมสัมผัสได้ว่า กองทัพกับสถาบันศาสนานั้นมีความเกี่ยวข้องมากกว่ารัฐอื่นๆที่เคยเจอ ในรัฐมุสลิมอื่นๆในโลก ผู้มีบทบาทในกองทัพมักเป็นปฏิปักษ์กับผู้นิยมในศาสนา ไม่ว่าจะเป็น ตุรกีย์ อิรัก อิยิปต์ มาเลเซีย หรือ อินโดนีเซีย ก็ตาม

แต่ในอิหร่านนั้นตาลปัตร กลายเป็นว่า ถ้าจะหากลุ่มผู้ที่เคร่งครัดศาสนาที่สุด ก็น่าจะอยู่ในกองทัพ ทหารที่เจอไว้หนวดเครา เคร่งครัดในการละหมาด ถือลูกปัดไว้ซิกรุลลอฮกันเยอะ ค่ายทหาร ทุกค่ายมีรูปประดับของ รอฮบัร ทั้งสองคน มีอายัตกุรอ่านประดับตามค่ายทหาร มีป้ายยกย่องเชิดชูผู้สละชีพว่าเป็นชะฮีด (การตายที่ถูกตอบรับจากพระเจ้า) ส่วนประชาชนทั่วไปมีแนวโน้มจะขัดขืนกับแนวทางของรัฐที่จะสร้างรัฐศาสนาเสียด้วยซ้ำ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า หลังจากการปฏิวัติของอิหม่ามโคไมนี่ การดำเนินการเปลี่ยนแปลงกองทัพภายหลังการปฏิวัตินั้นใช้วิธีเช่นไร ถึงได้ล้างบางและสร้างคุณค่าใหม่กองทัพได้จนหมดสิ้น สามสิบปีผ่านไป กองทัพที่ก่อนหน้านี้ก็กวาดล้างกลุ่มผู้ประท้วงที่นิยมในจารีตดั้งเดิม กลายเป็นผู้นิยมในจารีตเสียเองไป ในช่วงปีแรกๆของหลังการเปลี่ยนแปลง โคไมนี่ใช้กระบวนการใดในการรักษาดุลยอำนาจของผู้มีอำนานเดิมในกองทัพ และสร้างผู้นำในกองทัพรุ่นใหม่ที่ฝักใฝ่ในรัฐบาลจารีตนิยมชีอะฮได้อย่างไร ถ้ามีใครถอดบทเรียนนี้ได้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการปฏิวัติโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิวัติที่ทำลายคุณค่าเดิมของกองทัพไป และสร้างคุณค่าใหม่เข้ามา หรือกลับกัน ก็จะสามารถใช้ป้องกันไม่ให้สิ่งที่เกิดขึ้นในการปฏิรูปกองทัพอิหร่านเกิดขึ้นกับตัวเอง ได้ทั้งสองแบบ

 

ชาตินิยม vs อิสลามนิยม

ตุรกีย์ และ อิหร่าน เป็นสองชาติที่มีมุสลิม 99% ของประเทศ มีภาษาหลักของตัวเอง เคยเป็นจักรวรรดิอิสลามที่รุ่งเรืองในยุคสมัยที่อาหรับอิสลามตกต่ำ มีอารยะธรรมในอดีตที่ยิ่งใหญ่ของตัวเอง ทั้งในช่วงยุคสมัยของหลังการเข้ารับอิสลามและก่อนหน้านั้น (อันหลังสุดนี้เฉพาะอิหร่านนะ) ข้อแตกต่างที่สำคัญคือประเทศหนึ่งเป็นซุนนีย์ อีกประเทศเป็นชีอะฮ ผมไปมาแล้วทั้งสองประเทศ ก็พบว่าข้อคล้ายกันของประชาชนทั้งสองประเทศคือ การคิดว่าอารยะธรรมของชนชาติตนนั้นเหนือกว่าอารยะธรรมของอาหรับ 

ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มีศาสนทูตเกิดในคาบสมุทรอาหรับ ซึ่งในยุคสมัยนั้นคือกลุ่มชนที่ล้าหลังป่าเถื่อน คัมภีร์ของมุสลิมคือกุรอ่าน คือคัมภีร์ที่ถูกประทานลงมาเป็นภาษาอาหรับ เมื่อศาสดาเผยแพร่อิสลามแก่ชาวอาหรับ จนทำให้เกิดการปฏิวัติอารยะธรรมครั้งยิ่งใหญ่ เปลี่ยนจากชนเผ่าเร่ร่อนป่าเถื่อนให้กลายเป็นกลุ่มคนที่มีเป้าหมายในการเผยแพร่ศาสนา และมีระเบียบ จนสามารถล้มกองทัพของจักรวรรดิต่างๆที่อยู่รายล้อมคาบสมุทรอาระเบียได้ทั้งหมด ในช่วงหนึ่งร้อยปีแรกหลังการจากไปของศาสดามูฮัมมัด อาณาจักรของอิสลามขยายทางทิศตะวันออกจนถึงชมพูทวีป ทิศตะวันตกจนถึงแอฟริกาเหนือเกือบทั้งหมด นั่นหมายความว่าชาติที่มีอารยะธรรมเหนือกว่าอาหรับทะเลทรายขณะนั้น ทั้งเปอร์เซีย อิยิปต์ ดามัสกัส โรมตะวันออกบางส่วน และอื่นๆล้วนถูกกองทัพของคนพูดภาษาอาหรับที่ยังไม่มีวิทยาการอะไรก้าวหน้าพิชิตหมด เมื่ออิสลามเข้ายึดครองหัวเมืองสำคัญๆต่างๆในบริเวณนั้นได้ ก็เริ่มเรียนรู้แลกเปลี่ยนวิทยาการ จนทำให้เกิดอารยะธรรมแบบผสมผสานชุดใหม่ เรียกว่าอารยะธรรมอิสลาม ........(แบบ เปอร์เซีย เติร์ก อิยิปต์ อินเดีย) ซึ่งลักษณะที่ปรากฏก็แล้วแต่ราชวงศ์ผู้ปกครอง และอารยะธรรมเดิมในละแวกนั้นมาผสมผสานด้วย 

อิหร่านและตุรกีย์ในปัจจุบันที่เป็นมุสลิมกันหมดแล้ว ก็ยังภาคภูมิใจในความเป็น เปอร์เซียน และ เติร์ก สูงมาก จนบางครั้ง ก็อดคิดไม่ได้ว่าความภาคภูมิใจนี้จะกดทับความเป็นมุสลิมหรือไม่ สิ่งที่สังเกตได้คือ สองชาตินี้แม้จะมีภาษาที่ใช้ในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากภาษาอาหรับเยอะมาก (ภาษาฟารซีใช้อักษรอาหรับ ส่วนภาษาเติร์กเคยใช้อักษรอาหรับจนมาเปลี่ยนยุคอตาเติร์ก ทั้งสองภาษามีคำในภาษาอาหรับในภาษาตัวเองเยอะมาก) แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนตัวเองเรียนภาษาอาหรับเลย ผมไปอิหร่าน แม้คำพื้นฐานของอาหรับอย่าง ลา นาอัม ที่แปลว่า ไม่ และใช่ ก็ไม่รู้ความหมาย ผมถามคนอิหร่านว่าทำไมคุณเป็นมุสลิมไม่เรียนภาษาอาหรับหรือ แล้วคุณอ่านกุรอ่านได้ไหม เขาก็บอกว่าถ้าเขาจะอ่านกุรอ่านก็อ่านในภาษาฟารซีได้เพราะมีคำแปล แต่ตอนเด็กๆไม่ได้เรียนภาษาอาหรับ เหมือนที่เอเชียอาคเนย์ มุสลิมส่วนมากก็ส่งลูกหลานเรียนภาษาอาหรับสำหรับอ่านกุรอ่าน แต่ที่อิหร่านและตุรกีย์ ไม่ได้มีวัฒนธรรมเช่นนี้ การเรียนภาษาอาหรับเพื่ออ่านกุรอ่านจึงเป็นส่วนที่คนเรียนศาสนาเท่านั้นจะหาเรียนได้ ส่วนประชาชนทั่วไป ก็ไม่ได้สนใจภาษาอาหรับเลย

คนตุรกีย์ คนอิหร่าน ทั้งในปัจจุบันและอดีตมักแสดงความเหนือกว่าทางอารยะธรรมแก่คนอาหรับเสมอ เช่นสร้างงานศิลปะ สร้างบทกวี สร้างเมือง มารยาทของผู้คน เป็นต้น  ข้อค้นพบตรงนี้จึงทำให้ผมสันนิษฐานจากข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่ออิสลามเข้าไปในพื้นที่ที่อารยะธรรมเดิมสูง มีแนวโน้มที่ศาสนาจะถูกต่อเติม แต่งเติมเข้าไปให้เกิดเป็นแนวคิดหรือลัทธิใหม่ๆ ที่เพิ่มมาจากอิสลาที่เกิดขึ้นในอาระเบีย เช่นเข้าไปในเปอร์เซีย ชมพูทวีป แบกแดด ก็เกิดแนวคิดและลัทธิใหม่จากนักคิดบริเวณนี้ ประเด็นที่ต้องมาขบคิดกันต่อคือ ความก้าวหน้าของอารยะธรรมอิสลามในแบบต่างๆนั้น เมื่อถูกพัฒนาแล้วมีแนวโน้มว่าพื้นที่แห่งนั้นจะมีอุตริกรรมและการแต่งเติมความดั้งเดิมของอิสลาม การพัฒนาอารยะธรรมเช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่มุสลิมควรพัฒนาหรือไม่อย่างไร ฝากคนอ่านมาช่วยกันอ่านมาช่วยกันคิดด้วยครับ