Skip to main content
 
 
 
รายงานชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยเจสัน จอห์นสัน (Jason Johnson) นักวิจัยอิสระที่มีฐานอยู่ที่ปัตตานี เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ Asia Times Online เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในชื่อเรื่อง “Thailand's forgotten war simmers” หลังจากนั้นได้รับการเก็บความเป็นภาษาไทยโดยเว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ กองบรรณาธิการดีพเซ้าท์เห็นว่าบทวิเคราะห์ชิ้นนี้ให้ภาพที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงขอนำมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง โดยได้รับการอนุญาตจากผู้เขียนและ Asia Times Online

       
       เหตุการณ์การก่อความไม่สงบในบริเวณตอนใต้สุดของประเทศไทย มีจำนวนพุ่งพรวดขึ้นมาในช่วงหลังๆ นี้ น่าจะเป็นความพยายามที่จะทำให้รัฐบาลซึ่งยังสาละวนรับมือกับความปั่นป่วนวุ่นวายในกรุงเทพฯ ต้องหันกลับมาให้ความสนใจกับความยุ่งยากที่ดำเนินมายืดเยื้อยาวนานแล้วนี้กันอีกครั้งหนึ่ง โดยที่อาจจะมีการเล็งผลในทางทำความตกลงสมานฉันท์กันอยู่ด้วย ในเวลาเดียวกัน จากการที่พวกผู้ก่อความไม่สงบ ดูจะสามารถระดมหาสมาชิกใหม่ๆ เพิ่มเติมได้อย่างน่าพิศวงอยู่เรื่อยๆ ไม่รู้จักหมดจักสิ้น สภาพการณ์เช่นนี้ก็ทำให้กองกำลังความมั่นคงมีหวังจะต้องเผชิญการต่อสู้อันหนักหนาสาหัสทีเดียว ในการที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพให้หวนกลับคืนมาอีกคำรบหนึ่ง

       

ปัตตานี การปะทะกันตามท้องถนนในกรุงเทพฯ ระหว่างพวกผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลกับกองกำลังความมั่นคงในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ได้หันเหความสนใจของผู้คนไปจากการก่อความไม่สงบแบบปิดลับซ่อนเงื่อนของชาวมลายูมุสลิมใน 3 จังหวัดทางตอนใต้สุดของประเทศ นั่นคือ ปัตตานี, ยะลา, และนราธิวาส ความขัดแย้งดังกล่าวนี้ได้ทำให้มีผู้คนเสียชีวิตไปแล้วราว 4,100 คน นับตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2004 เป็นต้นมา
       
       หากพิจารณาในบางแง่มุมแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกับที่กำลังเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายอยู่ในเมืองหลวงของประเทศ การก่อความไม่สงบในบริเวณภาคใต้สุดของไทย ซึ่งอาศัยการเคลื่อนไหวของหน่วยย่อยเป็นหลัก ก็ดูเหมือนจะมีความพยายามเพิ่มระดับการสู้รบที่เป็นแบบยุทธวิธีกองโจร (guerrilla tactics) ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ได้เกิดเหตุโจมตีด้วยระเบิดขึ้น 3 ครั้งในอำเภอเมืองยะลา เมื่อเดือนพฤษภาคมและต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 4 คน และบาดเจ็บอีกราว 100 คน ในวันที่ 2 และ 3 กรกฎาคม ก็มีเหตุระเบิด 2 ครั้งที่ดูจะไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่รวมแล้วได้คร่าชีวิตบุคลากรด้านความมั่นคงไป 7 คน และบุคคลอื่นอีก 1 คน จนทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย ต้องสั่งการเรียกประชุมด่วนกับบรรดาหน่วยงานความมั่นคงที่เป็นผู้กำกับดูแลพื้นที่ไม่สงบบริเวณนี้
       
       ตามรายงานของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) หน่วยงานคลังสมองที่ตั้งฐานอยู่ในจังหวัดปัตตานี และทำหน้าที่ติดตามตลอดจนวิเคราะห์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาคือช่วงเวลาที่เกิดเหตุถี่ยิ่งกว่าเดือนอื่นๆ นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2007 ทีเดียว แต่ขณะที่จำนวนเหตุร้ายดูเหมือนจะพุ่งสูงขึ้นพรวดพราดจนทำให้สื่อมวลชนบางรายบังเกิดความสนใจนำมารายงานเผยแพร่กันนั้น สถิติเหล่านี้ก็มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดอยู่เหมือนกัน
       
       ทั้งนี้เมื่อทำการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดถี่ถ้วนยิ่งขึ้นก็จะพบว่า ในเดือนมิถุนายนมีเหตุการณ์ 44 ครั้งที่อยู่ในระดับเป็นการก่อกวนขนาดย่อมๆ เท่านั้น เป็นต้นว่า เผายางรถยนต์ และโปรยตะปูตามท้องถนน ไม่ใช่การโจมตีด้วยระเบิด นอกจากนั้นเหตุร้ายที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้ส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงขึ้นแต่อย่างใด เท่าที่ผ่านมา ในแต่ละเดือน การบาดเจ็บล้มตายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งจะอยู่ในสภาพขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่นอน ทว่าหากดูจากแนวโน้มแล้วก็จะพบว่าจำนวนดังกล่าวอยู่ในสภาพค่อนข้างสม่ำเสมอนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา และยังคงอยู่ในระดับต่ำลงมากจากเมื่อปี 2007 อันเป็นปีที่ความขัดแย้งเป็นไปอย่างรุนแรงที่สุด
       
       นักวิเคราะห์บางราย เป็นต้นว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มีความเห็นว่า การที่ความรุนแรงเพิ่มทวีขึ้นในระยะหลังๆ นี้ คือความพยายามของผู้ก่อความไม่สงบที่จะดึงให้ทางการกรุงเทพฯกลับมาสนใจพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งมุ่งที่จะบังคับรัฐบาลให้ต้องยินยอมทำการรอมชอมสมานฉันท์ในบางรูปแบบ
       
       “พวกเขากำลังพยายามที่จะกดดันรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น” ผศ.ศรีสมภพ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ด้วย กล่าวแสดงทัศนะ
       
       อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความสับสนอยู่มากเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า เครือข่ายผู้ก่อความไม่สงบเหล่านี้ปฏิบัติการโดยอยู่ภายใต้คณะผู้นำที่มีการจัดโครงสร้างในบางรูปแบบในบางลักษณะหรือเปล่า ผู้ต้องขัง 3 คนที่เอเชียไทมส์ออนไลน์ไปสัมภาษณ์ ณ ศูนย์ซักถามและเสริมสร้างความสมานฉันท์ของฝ่ายทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ต่างบอกว่าพวกเขาเกี่ยวข้องโยงใยอยู่กับ องค์การ บาริซาน ริโวลูซิ นาชั่นนัล – โคออดิเนต (Barisan Revolusi Nasional - Coordinate ใช้อักษรย่อว่า BRN-C) อันเป็นกลุ่มที่นักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่ากำลังเป็นผู้นำการก่อการโจมตีของพวกผู้ก่อความไม่สงบอยู่ในเวลานี้
       
       กระนั้นก็มีผู้ต้องขังอื่นๆ อีกจำนวนมากที่อ้างว่า พวกเขาไม่รู้จักผู้ก่อความไม่สงบคนอื่นๆ ที่อยู่นอกหน่วยย่อยๆ ของพวกเขาเลย หรือแม้กระทั่งไม่ทราบว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งขององค์การผู้ก่อความไม่สงบที่มีขนาดใหญ่โตกว้างขวางยิ่งกว่าหน่วยย่อยๆ ของพวกเขาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกจับกุมผู้หนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำของหน่วยย่อย 2 หน่วย อีกทั้งเป็นสมาชิกของสภาเศรษฐกิจ ได้กล่าวอ้างว่าทางผู้ก่อความไม่สงบต่างก็หวังให้สหประชาชาติ หรือไม่ก็องค์การการประชุมอิสลาม (Organization of Islamic Conference ใช้อักษรย่อว่า OIC) เข้ามาแทรกแซงในความขัดแย้งซึ่งดำเนินมายืดเยื้อยาวนานแล้วนี้
       
       พวกเขากล่าวด้วยว่า ผู้ก่อความไม่สงบเหล่านี้ไม่ได้มีความสนใจที่จะต่อสายเชื่อมโยงกับพวกกลุ่มก่อการร้ายที่ต่อต้านฝ่ายตะวันตก เป็นต้นว่า ญะมาอะห์ อิสลามิยะห์ (Jemaah Islamiyah ใช้อักษรย่อว่า JI) หรือ อัลกออิดะห์ เนื่องจากการมีความโยงใยเช่นนั้นมีแต่จะทำให้พวกผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศหมดความเชื่อถือว่าพวกเขาดำเนินการต่อสู้ด้วยความมุ่งมาตรปรารถนาสิ่งที่เป็นเรื่องภายในประเทศอย่างบริสุทธิ์จริงๆ นักหนังสือพิมพ์ ดอน ปาทาน (Don Pathan) และนักวิชาการ โจเซฟ เลียว (Joseph Liow) ซึ่งได้ร่วมกันเขียนบทความว่าด้วยขบวนการการก่อความไม่สงบนี้และตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีข้อสรุปในทำนองเดียวกันนี้เช่นกัน
       
       ขณะที่ตัวแสดงบางรายในการก่อความไม่สงบอันปิดลับซ่อนเงื่อนนี้ อาจจะมีเป้าหมายอันสูงลิ่วที่จะอาศัยการแทรกแซงของนานาชาติมาทำการกดดันทางการกรุงเทพฯ แต่หลักฐานที่ปรากฏกลับแสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ความรุนแรงแทบทั้งหมดมีสาเหตุแรงขับดันจากความขัดแย้งระดับท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ มาร์ก แอสคิว (Marc Askew) นักวิจัยและนักมานุษยวิทยาซึ่งตั้งฐานอยู่ที่ปัตตานี มีความเห็นว่า บ่อยครั้งที่ผลประโยชน์ส่วนตัว, ผลประโยชน์ทางการเมือง, หรือกระทั่งผลประโยชน์ทางอาชญากรรม มาบรรจบกันกับสงครามระหว่างผู้ก่อความไม่สงบมลายูมุสลิมปัตตานี กับกองกำลังความมั่นคงของภาครัฐ ใน “ตลาดแห่งความรุนแรง” ที่มีขนาดขอบเขตกว้างขวางยิ่งขึ้น
       
       ขณะที่ความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงในพื้นที่ตอนใต้สุดของประเทศไทย ยังคงเป็นเรื่องพวกนักวิเคราะห์เกิดความสับสนและมีการโต้แย้งถกเถียงกันอย่างหนักนั้น สิ่งที่ชัดเจนแน่นอนกว่านั้นมากก็คือ การที่กองกำลังความมั่นคงมาปรากฏตัวกันเป็นจำนวนมากๆ ในอาณาบริเวณแถบนี้ ยังคงเป็นสิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงแม้ว่ากองกำลังความมั่นคงเหล่านี้ดูเหมือนสามารถทำให้ความรุนแรงลดระดับลงมานับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2007 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2008 แต่วิธีการบางประการที่พวกเขานำมาใช้ก็ก่อให้เกิดการถกเถียงเกิดความเห็นที่ขัดแย้งกันอย่างสูง
       
       จากการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินและกฎอัยการศึกในพื้นที่แถบนี้ ทำให้กองกำลังความมั่นคงมีอำนาจอย่างกว้างขวางในการกักกันและสอบถามบุคคลต่างๆ โดยที่ได้รับการคุ้มครองแทบจะเต็มที่ไม่ให้ถูกกล่าวโทษฟ้องร้องว่าใช้อำนาจโดยมิชอบมากระทำการทารุณกรรมต่างๆ กฎหมายเหล่านี้ถูกวิพากษ์ประณามมานานนมแล้วทั้งจากคนมลายูมุสลิมปัตตานีที่เป็นนักเคลื่อนไหวชาตินิยม, องค์การสิทธิมนุษยชนทั้งในท้องถิ่นและระดับนานาชาติ, ตลอดจนสื่อมวลชน ว่าเป็นเครื่องมือแห่งการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ตลอดจนมีส่วนสำคัญซึ่งทำให้ทางเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจถูกกล่าวหาเรื่อยมาว่ากระทำทารุณกรรมต่อผู้ต้องขัง
       
       สภาพการณ์ดังกล่าวกลายเป็นเชื้อเพลิงโหมฮือความโกรธแค้น แม้กระทั่งในหมู่ชาวมลายูมุสลิมส่วนข้างมาก ทั้งๆ ที่ผู้คนส่วนใหญ่เหล่านี้เป็นพวกที่พยายามรอมชอมหาทางสมานอัตลักษณ์อันหลากหลายทั้งความเป็นคนมลายูปัตตานี, มุสลิม, และไทย ในตัวของพวกเขา การรอมชอมของพวกเขาดังกล่าวนี้อยู่ในวิถีทางซึ่งไม่เป็นที่แยแสใยดีจากพวกโรแมนติก, พวกที่เอาแต่กลุ่มเอาแต่พวกพ้องของตน, และบ่อยครั้งก็เป็นพวกที่เน้นแต่อารมณ์ความรู้สึกอันสุดเหวี่ยง โดยที่พวกหลังนี้แหละที่พยายามวาดภาพให้เห็นไปว่า ชาวมลายูมุสลิมเป็นผู้ต่อต้านที่กำลังดำเนินการต่อสู้อย่างมีอุดมการณ์เพื่อคัดค้านการกดขี่ข่มเหงของรัฐไทย
       
       ถึงแม้มีการร้องทุกข์จากผู้คนในท้องถิ่น และมีการประณามจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนนานาชาติอย่างกว้างขวางถึงขนาดนี้ แต่คำกล่าวของนายอภิสิทธิ์ซึ่งพูดเอาไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2009 ที่ว่ารัฐบาลของเขาจะทำการพิจารณาอย่างจริงจังในเรื่องการยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ จวบจนกระทั่งถึงบัดนี้ก็ยังคงเป็นเพียงคำสัญญาแค่ลมปาก มิใช่การกระทำที่มองเห็นผลเป็นเนื้อหาสาระ ถึงแม้ก่อนหน้านี้ในปีนี้ กระทรวงกลาโหมได้เคยทำการสำรวจรับฟังความคิดเห็นของพวกเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเกี่ยวกับเรื่องการยกเลิกการประกาศใช้กฎหมายพวกนี้ ทว่าคำตอบส่วนใหญ่ที่ได้รับก็คือ มันยังมีความจำเป็นต้องใช้เพื่อให้สามารถรักษาความมั่นคงปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของพวกผู้ก่อความไม่สงบไม่ประสบผล
 
การเคลื่อนไหวตามที่ทึกทักเอาไว้ก่อน
       
       เสียงกล่าวหาว่ากองกำลังความมั่นคงใช้อำนาจในทางมิชอบทำการทารุณกรรมต่อผู้ต้องขังชาวมลายูมุสลิม ดังอึงคะนึงขึ้นมาอีกคำรบหนึ่งจากกรณีของ สุไลมาน แนซา (Sulaiman Naesa) ผู้ต้องขังชาวมลายูมุสลิมวัย 25 ปีที่ถูกกักกันอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นค่ายของฝ่ายทหาร เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม มีผู้พบสุไลมานเสียชีวิตอยู่ในห้องขัง โดยที่ศพของเขาอยู่ในลักษณะแขวนคอตาย
       
       บิดาของสุไลมาน และนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนในท้องถิ่นจำนวน 4 คน ซึ่ง 1 ในนั้นเป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะอนุกรรมการชายแดนภาคใต้ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย ได้เดินทางมาเป็นประจักษ์พยานการตรวจร่างกายและการชันสูตรศพ การตรวจชันสูตรดังกล่าวนี้กระทำกันในทันทีโดยผู้ชำนาญการด้านนิติเวชจากฝ่ายตำรวจผู้หนึ่ง, แพทย์จากค่ายอิงคยุทธบริหารผู้หนึ่ง, และแพทย์อีกผู้หนึ่งจากโรงพยาบาลอำเภอหนองจิก ที่อยู่ใกล้ๆ ค่ายทหารแห่งนี้ นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่หลายคนที่เป็นทีมงานจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม นำโดย พ.ญ. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ก็ได้ทำการตรวจสอบดีเอ็นเอเพื่อหาหลักฐานพิสูจน์ว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่
       
       แพทย์ 2 คนที่ทำการตรวจชันสูตรมีข้อสรุปว่า การที่ร่างกายถูกแขวนเป็นสาเหตุที่ทำให้สุไลมานถึงแก่ความตายเนื่องจากการขาดอากาศหายใจ ผู้ชำนาญการด้านนิติเวชของตำรวจได้ถามทุกๆ คนที่เข้าร่วมการชันสูตรคราวนี้ว่า พวกเขามีคำถามสงสัยข้องใจหรือเปล่าว่าสุไลมานฆ่าตัวตายจริงหรือไม่ แต่ก็ไม่มีใครบอกว่าสงสัย อย่างไรก็ตาม เขาได้แนะนำบิดาของสุไลมานและนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนในท้องถิ่นว่า ถ้านำศพไปที่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จะสามารถตรวจชันสูตรอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากกว่านี้ แต่บิดาของสุไลมานตัดสินใจคัดค้านไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และในเวลาต่อมาก็ได้ปฏิเสธคำแนะนำในทำนองเดียวกันของแพทย์อีกผู้หนึ่ง
       
       ไม่นานภายหลังเกิดเหตุการณ์นี้ บิดาของสไลมานและนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนในท้องถิ่นเหล่านี้ ได้แจ้งกับสื่อมวลชนไทย โดยแสดงความสงสัยข้องใจผลสรุปของการสอบสวน และนำไปสู่การคาดเดาด้วยความรู้สึกโกรธแค้นว่า สุไลมานถูกฆ่าตาย หรืออย่างน้อยก็ถูกเจ้าหน้าที่ในค่ายทำการทรมาน นักรณรงค์จำนวน 2 คนและบิดาของสุไลมานได้สนทนาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้เอาในวิดีโอซึ่งถูกนำไปโพสต์ที่เว็บไซต์ยูทูป และเว็บไซต์ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ พวกเขารู้สึกว่ามีร่องรอยการถูกทารุณกรรมปรากฏบนร่างกายของสุไลมาน เป็นต้นว่า รอยช้ำที่บริเวณส่วนล่างของแขนขา, บาดแผลที่บริเวณแผ่นหลังส่วนล่างสุด, เลือดและน้ำอสุจิในอวัยวะเพศ, รอยแผลที่ลำคอ, และสิ่งที่ดูเหมือนกับรอยถูกไฟนาบบริเวณตอนบนของแผ่นหลัง
       
       จุดอื่นๆ ซึ่งก็เป็นการเติมเชื้อให้เกิดความระแวงข้องใจว่าการตายของเขาไม่ใช่การฆ่าตัวตาย ได้แก่ข้อเท็จจริงที่ว่า ขาของสุไลมานอยู่ในสภาพที่กำลังแตะที่พื้น, ลำคอของเขาไม่ได้แข็งทื่อ, และลิ้นก็ไม่ได้ถลนออกจากปากมากมายอะไร กว่า 2 สัปดาห์หลังจากเกิดเหตุ ฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ (Human Rights Watch) กลุ่มสิทธิมนุษยชนที่มีฐานอยู่ในสหรัฐฯ ได้เผยแพร่คำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งระบุว่า บนร่างกายของสุไลมาน มี “ร่องรองของการถูกทรมานอย่างเห็นชัดเจน”
       
       อย่างไรก็ดี ยังมีคนอื่นๆ ซึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยกับการประเมินเช่นนี้ อย่างน้อยที่สุดเมื่อเป็นการสนทนากันเป็นการส่วนตัว สมาชิกคนหนึ่งของคณะอนุกรรมการชายแดนภาคใต้ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย (กสม.) ได้บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนว่า องค์กรพัฒนาเอกชนของเขาทราบดีว่าสุไลมานฆ่าตัวตาย และพวกเขาเพียงแค่ต้องการทราบว่ามีสาเหตุอะไรที่ทำให้คนหนุ่มผู้นี้ต้องปลิดชีพตนเอง เขากล่าวเน้นว่า สำหรับชาวมุสลิมแล้ว การฆ่าตายถือว่าเป็นบาปอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การประเมินขององค์กรของเขาไม่ได้เป็นฉันทามติของคณะอนุกรรมการชายแดนภาคใต้ของ กสม. ในการประชุมแถลงข่าวภายหลังการจัดการไต่สวนรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของทางคณะอนุกรรมการ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ศาสตราจารย์ (ศ.) อมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. ไม่ได้ระบุว่าการเสียชีวิตของสุไลมานเป็นการฆ่าตัวตาย ตามรายงานข่าวที่เผยแพร่โดยศูนย์ข่าวอิศรา ศ.อมรากล่าวว่า “สภาพการณ์แวดล้อมการเสียชีวิตของนายสุไลมานมีข้อที่น่าสงสัย ดังนั้นจึงสมควรที่จะต้องทำการสอบสวนต่อไป”
       
       เจ้าหน้าที่ 2 คนของค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งคนหนึ่งคือ พ.อ.ปิยวัฒน์ นาควานิช ผู้อำนวยการศูนย์ซักถามและเสริมสร้างความสมานฉันท์ บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า ผลการไต่สวนของคณะอนุกรรมการชายแดนภาคใต้ เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่มุ่งทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายทหาร เป็นความพยายามที่จะทำให้ศูนย์แห่งนี้ถูกปิด ทั้งนี้ในช่วงเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมา ก็มีองค์การด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ ทำการสัมภาษณ์อดีตผู้ต้องขังจำนวนมากซึ่งระบุว่าพวกเขาถูกทรมานขณะที่ถูกกักตัวและถูกซักถามที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร
       
       ทางด้านคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ก็ได้เข้าร่วมในการไต่สวนของคณะอนุกรรมการเป็นเวลาสั้นๆ เธอบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่าเธอได้อธิบายให้คณะกรรมการฟังว่า บนผ้าเช็ดตัวผืนที่ใช้แขวนคอสุไลมานนั้น พบเพียงดีเอ็นเอของเขาคนเดียวเท่านั้น สำหรับสิ่งที่ดูเหมือนกับรอยฟกช้ำนั้นที่จริงแล้วเป็น “รอยจ้ำแดง” (lividity) ซึ่งเป็นผลของแรงโน้มถ่วงต่อเลือดหลังจากที่คนผู้นั้นเสียชีวิต ทางด้านแพทย์จากโรงพยาบาลหนองจิกก็ได้ให้ข้อสรุปทำนองเดียวกันเอาไว้ในรายงานการชันสูตรของเธอ โดยเธอชี้ว่า การตกเลือดที่เป็นรอยฟกช้ำเป็นผลของ petechiae hemorrhaging (การตกเลือดในปริมาณเบาบางรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดจุดเล็กๆ สีแดงหรือสีม่วงแดง)
       
       คุณหญิงพรทิพย์ยังได้แจ้งต่อผู้ที่เข้าร่วมการไต่สวนว่า ในกรณีการเสียชีวิตจากการแขวนคอนั้น ไม่จำเป็นเสมอไปที่ร่างกายจะต้องลอยเหนือพื้นจึงจะทำให้ตายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสียชีวิตโดยที่ขาติดพื้นนั้นเป็นเรื่องที่พบเห็นทั่วไปในสถานที่กักกันคุมขังทั้งหลาย เธอยังให้ข้อสันนิษฐานว่า การที่สมาชิกของคณะอนุกรรมการบางคนไม่เชื่อว่าสุไลมานกระทำอัตวินิบาตกรรม อาจจะมีต้นตอมาจากการที่พวกเขาทึกทักเอาไว้ก่อนว่าฝ่ายทหารใช้อำนาจกระทำทารุณกรรม
       
ตกเป็นจำเลย
       
       กระนั้นก็ตาม ข้อกล่าวหาที่ปรากฏขึ้นมาใหม่เหล่านี้ กำลังทำให้ฝ่ายทหารต้องตกเป็นจำเลยและต้องเป็นฝ่ายแก้ต่างในเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังของพวกเขา ตลอดจนในเรื่องที่ขนาดขอบเขตอันกว้างขวางกว่านั้นอีก นั่นคือ การใช้อำนาจตามประกาศภาวะฉุกเฉินและกฎอัยการศึกของพวกเขา นอกจากนั้น ความน่าเชื่อถือของฝ่ายทหารยังกำลังถูกทดสอบจากการที่พวกเขาระบุเมื่อไม่นานมานี้ว่า หากพิจารณาจากจำนวนของผู้ก่อความไม่สงบ บวกกับผู้สนับสนุนที่กระตือรือร้น (ตามการประมาณการเมื่อเร็วๆ นี้บอกว่ามีจำนวนราว 9,400 คน) จำนวนดังกล่าวนี้คือเครื่องแสดงให้เห็นว่าขบวนการก่อความไม่สงบนี้ไม่ค่อยได้รับความสนับสนุนจากประชาชน ทั้งนี้ฝ่ายทหารมีข้อสรุปเช่นนี้ น่าจะสืบเนื่องจากความคลุมเครือในการพยายามแบ่งแยก ระหว่างการให้ความสนับสนุนและการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ กับการนิยมชมชอบทางการเมือง
       
       ตัวอย่างเช่น ในศูนย์กักกันแห่งเดียวกับที่สุไลมานเสียชีวิต มีผู้ต้องขังหลายคนที่มาจากพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นที่มั่นอันแข็งแกร่งของผู้ก่อความไม่สงบ พวกเขาบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า ผู้คนในท้องถิ่นมีความหวาดกลัวผลสะท้อนจากการเข้าร่วมกับผู้ก่อความไม่สงบ เนื่องจากเวลานี้กองกำลังความมั่นคงสามารถเสาะหาข่าวกรองได้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก กระนั้นก็ตาม พวกเขาระบุว่า ผู้คนส่วนข้างมากในพื้นที่เดียวกันเหล่านี้ยังคงสนับสนุนการรณรงค์แบบนักชาตินักนิยมของผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งมุ่งหมายที่จะบรรลุความเป็นเอกราชความมีอิสรภาพแยกจากรัฐไทย
       
       แต่ผู้ต้องขังหลายคนก็ยอมรับว่า ถึงแม้พวกผู้นำการก่อความไม่สงบจะสามารถดึงดูดสมาชิกใหม่ๆ โดยใช้มนตร์ขลังว่าด้วยการต่อสู้เพื่อให้ได้เป็นเอกราชเป็นอิสระจากกรุงเทพฯอย่างเต็มที่ แต่เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่มีสมาชิกใหม่คนใด หรือกระทั่งคนอื่นๆ เชื่อว่าจะทำได้ตามเป้าหมายดังกล่าว ถึงแม้มีเจ้าหน้าที่ 2 คนในค่ายอิงคยุทธบริหารกล่าวว่า ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา มีพวกสมาชิกใหม่ที่เป็น “คนรุ่นใหม่” ปรากฏขึ้นมา โดยคนเหล่านี้จำนวนมากทีเดียวอายุน้อยเพียงแค่ 16 ปี นอกจากนั้นยังมีสาวๆ เข้าร่วมด้วยเ
       
       ถึงแม้ฝ่ายทหารจะหาข่าวกรองเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของผู้ก่อความไม่สงบได้ดีขึ้นมาก ภายหลังดำเนินแผนงานซี่งอิงอยู่กับการปฏิบัติการ “ปิดล้อมและกวาดล้าง” ที่เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 2007 แต่เจ้าหน้าที่ 2 รายดังกล่าวก็ยอมรับว่า พวกเขายังมีความรู้น้อยเหลือเกินเกี่ยวกับพวกผู้ก่อความไม่สงบคลื่นลูกใหม่นี้ แต่จากการที่พวกผู้ก่อความไม่สงบ ดูจะสามารถระดมหาสมาชิกใหม่ๆ เพิ่มเติมได้อย่างน่าพิศวงอยู่เรื่อยๆ ไม่รู้จักหมดจักสิ้น สภาพการณ์เช่นนี้ก็ทำให้กองกำลังความมั่นคงมีหวังจะต้องเผชิญการต่อสู้อันหนักหนาสาหัสทีเดียว ในการที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพให้หวนกลับคืนมาอีกคำรบหนึ่ง
       
       อย่างไรก็ตาม มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในระดับท้องถิ่นจำนวนมากที่อาจจะกลายเป็นแรงกระตุ้นเหตุการณ์เฉพาะกรณีๆ ไป และไม่ว่าเป้าหมายตลอดจนโครงสร้างของพวกผู้ก่อความไม่สงบจะดูคลุมเครือขนาดไหน สิ่งที่ยังคงชัดเจนมากก็คือ มีขบวนการในบริเวณตอนใต้สุดของประเทศที่กำลังพยายามประลองกำลังช่วงชิงอำนาจจากฝ่ายรัฐ ในยามที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยังคงต้องวุ่นสาละวนอยู่กับการแก้ไขความแตกแยกทางการเมืองอันร้าวลึกในอาณาบริเวณนอกพื้นที่ใต้สุดของประเทศไทยอยู่เช่นนี้ การก่อความไม่สงบในบริเวณสุดชายแดนใต้ก็ไม่ได้แสดงสัญญาณให้เห็นเลยว่ากำลังบรรเทาเบาบางลง
       
 

เจสัน จอห์นสัน เป็นนักวิจัยและที่ปรึกษาอิสระซึ่งติดตามศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในอาณาบริเวณตอนใต้สุดของประเทศไทย ปัจจุบันเขาตั้งฐานอยู่ที่จังหวัดปัตตานี ผู้สนใจสามารถติดต่อเขาได้ที่ [email protected]
 
 
 
แหล่งที่มา
Asia Times Online
 
ASTVผู้จัดการออนไลน์

ตอนจบ: http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9530000097294