Skip to main content

 

 

ความทรงจำและการลืมต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศในบริบท “ความไม่สงบ” ชายแดนภาคใต้[1]

ชลิตา บัณฑุวงศ์[2]

 

บทนำ

การเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศชายแดนใต้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ มีความสัมพันธ์อย่างน่าสนใจต่อสภาพความรุนแรงและ “ความไม่สงบ” ในพื้นที่ อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาอย่างที่งานศึกษาหลายชิ้นของเอ็นจีโอและนักวิชาการมักชี้ในทำนองที่ว่า “เนื่องจากแนวทางการพัฒนาชายแดนภาคใต้ของรัฐไทยเป็นแนวทางการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งได้ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศและฐานทรัพยากร จึงทำให้การทำมาหากินของผู้คนฝืดเคือง จนบางส่วนต้องเข้าร่วมกับขบวนการความไม่สงบ” (ดู ศรีศักร วัลลิโภดม 2550; ประเวศ วะสี 2550; ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล 2552) ตามแนวคิดเช่นนี้ การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความมั่นคงของรัฐในพื้นที่ชายแดนใต้ถูกบั่นทอนมากยิ่งขึ้น บทความชิ้นนี้ต้องการเสนอมุมมองที่แตกต่างออกไป โดยได้เสนอว่า การเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศและความเสื่อมโทรมลงของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ  ซึ่งมีที่มาหลักจากแนวทางการพัฒนาของรัฐนั้น กลับยิ่งสร้างความเข้มแข็งและความชอบธรรมให้กับรัฐไทยมากยิ่งขึ้นในการสถาปนาอำนาจเหนือดินแดนแห่งความขัดแย้งนี้ ทั้งนี้ ความทรงจำและการลืมที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศของฝ่ายต่างๆ อันประกอบไปด้วย รัฐไทย ภาคประชาสังคม และชาวบ้านในพื้นที่ศึกษา (กำปงไอย์ฮีแต) ที่มีผลต่อปฏิบัติการและการตัดสินใจของแต่ละฝ่ายเอง และมีผลต่อการรับรู้ของสังคม ได้มีส่วนอย่างสำคัญต่อการเสริมสร้างสถานะของรัฐไทย อันส่งผลทำให้การสร้างชีวิตที่ดีของชาวบ้านและการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นไปได้ยากมากขึ้น  

บทความนี้ประกอบด้วย 4 ส่วน ส่วนแรกว่าด้วยภาพรวมลักษณะและการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศตอนกลางของลุ่มน้ำสายบุรี อันเป็นภูมิประเทศที่กำปงไอย์ฮีแตตั้งอยู่ ส่วนที่สองว่าด้วยการจัดการภูมิประเทศผ่านโครงการพัฒนาต่างๆของรัฐในฐานะที่เป็นกระบวนการสถาปนาอำนาจรัฐไทยเหนือพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่เป็นดินแดนแห่งความไม่สงบ ส่วนที่สามเป็นชุดคำอธิบายจากภาคประชาสังคมที่มองการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศในฐานะที่เป็นความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ส่วนที่สี่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศจากมุมมองและวิถีชีวิตของชาวบ้าน สุดท้ายเป็นส่วนที่อภิปรายถึงความทรงจำและการลืมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศของฝ่ายรัฐไทย ภาคประชาสังคม และชาวบ้าน เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าความทรงจำและการลืมเหล่านี้มีส่วนทำให้ปัญหาชายแดนภาคใต้ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากกรอบคิดเรื่องความมั่นคงของรัฐและอุดมการณ์รัฐชาติไทยยังคงดำรงอยู่ต่อไปอย่างไร

 

1)       ภูมิประเทศตอนกลางของลุ่มน้ำสายบุรีและการเปลี่ยนแปลง

บนถนนสายมายอ-รามันมีสี่แยกหลักที่ด้านหนึ่งเป็นเส้นทางไปยัง อ.รามัน ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นเส้นทางไปยังตัวเมือง จ.ยะลา ที่แยกนั้นมีถนนคอนกรีตเล็กๆ ทอดยาวราว 2-3 กิโลเมตรผ่านกำปงไอย์ฮีแตที่มีบ้านเรือนตั้งเรียงรายอยู่สองข้างทาง เมื่อพ้นจากแหล่งบ้านเรือนมาก็จะเริ่มพบทุ่ง (ภาษาถิ่นเรียกว่า “บาโง”) กว้างใหญ่สุดตา กินขอบเขตพื้นที่หลายหมู่บ้านและตำบล ในทุ่งมีฝูงควาย วัว และแกะกระจัดกระจายอยู่ ทุ่งกว้างนี้เป็นส่วนหนึ่งของแอ่งกระทะ พื้นที่บางส่วนของทุ่งถูกใช้ประโยชน์เป็นนาลุ่มสำหรับปลูกข้าวนาปรัง ขณะที่อีกด้านถูกใช้เป็นพื้นที่ปลูกแตงโม ทั้งข้าวนาปรังและแตงโมเป็นพืชอายุสั้นที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีน้ำท่วมขัง 3-4 เดือนต่อปี อย่างไรก็ดีมีพื้นที่ที่ลุ่มต่ำกว่าพื้นที่ทุ่งลงไปอีก ได้แก่ บึง (ภาษาถิ่นเรียกว่า “บาโร๊ะ”) ที่มีขนาดใหญ่คล้ายทะเลสาบ ปัจจุบันมีน้ำท่วมขังตลอดปี เป็นแหล่งทำประมงที่สำคัญของชาวบ้าน ถัดจากทุ่งและบึง ภูมิประเทศโดยรอบค่อยๆ ลาดชันขึ้นทีละน้อย จนกลายเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึงหรือหากท่วมก็ท่วมในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่วันเท่านั้น พื้นที่เหล่านี้ถูกใช้เป็นที่ตั้งบ้านเรือน สวนไม้ผลผสมผสาน และพื้นที่ทำนาปี ถัดขึ้นไปเป็นพื้นที่เนินเขาเตี้ยๆ ที่เต็มไปด้วยสวนยางพารา

ลักษณะภูมิประเทศที่กำปงไอย์ฮีแตตั้งอยู่นี้เป็นตอนกลางของแม่น้ำสายบุรี หนึ่งในสามแม่น้ำสายหลักของชายแดนภาคใต้ แม่น้ำสายบุรีมีภูมิประเทศตอนบนเป็นป่าต้นน้ำและตอนล่างเป็นป่าชายเลนและปากแม่น้ำ ในแต่ละโซนของแม่น้ำมีความซับซ้อนของระบบนิเวศภายใน เอื้อต่อการประกอบอาชีพทางการเกษตรที่หลากหลาย หากกล่าวเฉพาะโซนตอนกลางซึ่งกำปงไอย์ฮีแตตั้งอยู่ โซนนี้ประกอบด้วยภูมิประเทศย่อยหลายส่วน มีทั้งบึง/หนองน้ำ ทุ่งหญ้า ที่ราบ และเนินเขา ซึ่งแต่ละส่วนเหมาะแก่การใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่การทำประมง การเลี้ยงปศุสัตว์แบบปล่อย การปลูกพืชผักอายุสั้น การทำนา การทำสวนไม้ผล และการทำสวนยาง

สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า สภาพภูมิประเทศและการประกอบอาชีพที่หลากหลายบนฐานของระบบนิเวศดังที่กล่าวมาเป็นผลมาจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ยาวนานจากอดีต บึงขนาดใหญ่คล้ายทะเลสาบเนื้อที่นับร้อยไร่ในปัจจุบันที่มีน้ำลึกปกคลุมตลอดปีนั้นไม่ใช่สิ่งที่มีมาแต่เดิม เพราะเดิมพื้นที่นี้แม้จะมีน้ำท่วมขัง แต่ก็ไม่ใช่น้ำลึกที่ปกคลุมตลอดทั้งปี ที่สำคัญมีป่าขนาดเล็กกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ ป่าเหล่านี้แลดูคล้ายเกาะเล็กๆ เมื่อระดับน้ำลดลงในช่วงหน้าแล้ง ชาวบ้านเล่าว่าในบางบริเวณมีต้นไม้หนาทึบจนสามารถเป็นที่หลบซ่อนตัวของ “ครูเปาะสู”[3] จากการตามจับกุมของทางการไทยในช่วงทศวรรษ 2520-2530 ขณะที่ทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ ปลูกแตงโม และทำนาปี เดิมก็ไม่ได้โล่งเตียนสุดลูกหูลูกตาอย่างในปัจจุบัน แต่เต็มไปด้วยต้นหญ้าและไม้พุ่มเล็กๆ  กระจัดกระจาย ขณะที่การใช้ประโยชน์หรือการทำมากินจากพื้นที่เหล่านี้แม้จะยังคงมีความหลากหลายสอดคล้องกับสภาพพื้นที่แต่ละส่วน แต่รายละเอียดและรูปแบบการใช้ก็แตกต่างไปจากอดีตมาก ไม่ว่าจะเป็นสวนยางที่เปลี่ยนจากการปลูกแบบดั้งเดิมมาเป็นแบบเชิงเดี่ยว การลดลงของสวนไม้ผลผสมผสาน (หรือที่เรียกว่า “สวนดูซง”) การหันมาลงทุนปลูกพืชเงินสดอายุสั้นชนิดใหม่ๆ เช่น แตงโม ฟักทอง การที่ต้องเปลี่ยนพันธุ์ข้าวสำหรับนาลุ่มให้เป็นพันธุ์ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น (ข้าวเบา) เนื่องจากเส้นทางไหลและฤดูกาลของน้ำเปลี่ยนไปจากเดิมมาก การเพิ่มขึ้นของสวนยางใหม่ๆ ในช่วงไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านที่มีแม้ในพื้นที่น้ำท่วมขังที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูก   ขณะที่การเลี้ยงปศุสัตว์ในทุ่งแม้จะยังคงมีอยู่แต่ก็ลดจำนวนลงมาก เนื่องจากพื้นที่สำหรับปล่อยให้สัตว์หากินมีน้อยลงจากการแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมาเป็นแปลงปลูกแตงโมของชุมชน และจากการใช้พื้นที่สำหรับการก่อสร้างสำนักงานของหน่วยราชการใหม่ๆ ของอำเภอที่เพิ่งปรับระดับมาจากการเป็นกิ่งอำเภอ รวมทั้งจากการที่พื้นที่ทุ่งบางส่วนกลายเป็นสวนยางด้วย นอกจากนั้นทุกวันนี้ทุ่งหญ้าและบริเวณโดยรอบยังเต็มไปสระน้ำขนาดใหญ่ คูคลองส่งน้ำ และทางระบายน้ำที่อยู่กระจัดกระจาย รวมทั้งมีการขุดคันดินความยาวหลายกิโลเมตรเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างตำบลและอำเภอเพื่อป้องกันน้ำท่วม สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาต่างๆ ของหน่วยงานรัฐหลายแห่ง รวมทั้งการตัดถนนหลายสายในบริเวณนี้ที่มีทั้งถนนลาดยางสายหลักและถนนสายรองๆ ที่ตัดผ่านที่นา ที่ทุ่ง และที่เนินเขา

การเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศและการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังที่กล่าวมามีปัจจัยสองประการที่เกี่ยวข้อง ปัจจัยแรก คือ นโยบายและปฏิบัติการพัฒนาของรัฐ ที่อ้างว่าต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทชายแดนภาคใต้ ที่นำมาสู่การพยายามส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตผ่านทางการจัดการพัฒนาพื้นที่ภูมิประเทศที่ยังดูล้าหลังให้เหมาะสมแก่การเพาะปลูกแผนใหม่ อย่างไรก็ดี ด้วยสาเหตุหลายๆ ประการกลับส่งผลทำให้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศเป็นไปอย่างไม่ยั่งยืนและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และทำให้ชาวบ้านต้องปรับตัวในการทำมาหากินให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ปัจจัยอีกด้านหนึ่งก็คือ การขยายตัวของระบบตลาด ซึ่งแม้ในด้านหนึ่งการขยายตัวของตลาดเป็นผลมาจากการส่งเสริมของรัฐ แต่ในอีกด้านหนึ่งความสัมพันธ์ระหว่างระบบตลาดกับชาวไอย์ฮีแตก็เติบโตและมีความแนบแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่พวกเขาเองก็ได้มีบทบาทอย่างสำคัญด้วย ทั้งนี้ ชาวกำปงไอย์ฮีแตบางรายได้ผันตัวมาเป็นคนกลางที่เชื่อมโยงชาวบ้านกับระบบตลาด ทำหน้าที่รับซื้อผลผลิตและเป็นตัวแทนจำหน่ายวัตถุดิบและเครื่องมือการเกษตรต่างๆ ในชุมชน ขณะที่การบริโภคของผู้คนก็ค่อยๆ เข้าสู่แบบแผนชีวิตสมัยใหม่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้มีผลทำให้การลงทุนเพื่อการผลิตแบบแผนใหม่หรือแบบเข้มข้นมีบทบาทสำคัญในฐานะแหล่งรายได้ สอดคล้องกับความต้องการของรัฐที่มุ่งให้ชาวบ้านเข้าสู่ระบบตลาดอย่างเต็มตัว แม้ว่าการผลิตในระบบตลาดของชาวบ้านไอย์ฮีแตจะลุ่มๆ ดอนๆ  เพราะประสบปัญหาหลายด้านก็ตาม (Chalita Bundhuwong 2013)

2)       การจัดการภูมิประเทศกับการสถาปนาอำนาจรัฐไทยเหนือดินแดนความขัดแย้ง

การเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศที่กำปงไอย์ฮีแตตั้งอยู่ เป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากนโยบายและปฏิบัติการเพื่อจัดการความไม่สงบชายแดนใต้ในภาพรวม เป็นที่ทราบกันดีว่านับตั้งแต่เริ่มสร้างรัฐสมัยใหม่ รัฐไทยไม่เคยที่จะมีอำนาจเหนือพื้นที่ชายแดนภาคใต้ได้อย่างสมบูรณ์โดยปราศจากการต่อต้านท้าทาย กว่าครึ่งทศวรรษแล้วที่รัฐไทยได้เปลี่ยนแนวทางในการจัดการกับชาวมลายูมุสลิมจากการกลืนกลายเชิงบังคับมาเป็นการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบ (ดู Che Man 1990, Haemindra 1976, Pitsuwan 1988, Dulyakasem 1988, Yegar 2002)  การพัฒนาดังกล่าวนี้วางอยู่บนฐานคิดเรื่องความเป็นชาติ ความมั่นคงของชาติ และอุดมการณ์ชาติ มีงานศึกษาที่ชี้ว่าการพัฒนา คือ การพยายามสร้างความจงรักภักดีหรือซื้อใจคนมลายูมุสลิม (อาทิงานของ ปิยะนาถ บุนนาค 2546) โดยเชื่อว่าความยากจนคือสาเหตุหลักของความไม่สงบและการต่อต้านรัฐไทย ดังนั้น หากได้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนเพื่อลดความยากจนก็จะลดช่องว่างระหว่างรัฐไทยกับคนมลายูมุสลิมที่นี่ได้ อนึ่ง การพัฒนาซึ่งส่วนหนึ่งก็คือการจัดการกับพื้นที่ภูมิประเทศได้กลายเป็นแนวทางสำคัญของการสถาปนาอำนาจรัฐไทยเหนือดินแดนแห่งความไม่สงบนี้

ในงานของ Peter Vandergeest และ Nancy Lee Peluso (1995) ได้พิจารณาถึงกระบวนการที่รัฐไทยสมัยใหม่ได้ขยายและกระชับอำนาจภายในอาณาเขตของตนที่ห่างไกลและเสี่ยงต่อภัยความมั่นคงผ่านทางการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติอย่างที่ดินและป่า และควบคุมประชาชนที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นว่าใครที่สามารถมีสิทธิใช้และจะต้องใช้อย่างไร กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นผ่านระบบกรรมสิทธิ์หรือเอกสารสิทธิและการกำหนดนิยามพื้นที่ป่าและที่ดินออกเป็นเขตหรือประเภทต่างๆ เช่น   พื้นที่ลุ่มน้ำ พื้นที่การเกษตร ป่าเพื่อการอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเครื่องมือทางเทคนิค เช่น GPS ความรู้เรื่องชนิดของดิน ความลาดชัน พืชพรรณ พร้อมทั้งจัดสรรอำนาจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการบังคับควบคุมโดยมีกฎหมายรองรับ Vandergeest และ Peluso ชี้ว่ากระบวนการเหล่านี้เป็นได้ทั้งการกีดกันและผนวกรวมประชาชนในขอบเขตภูมิศาสตร์นั้นๆ พร้อมทั้งชี้ว่ากระบวนการอ้างสิทธิของรัฐเหนือทรัพยากรเช่นนี้อาจถูกต่อต้านและคัดค้านได้จากชาวบ้าน เอ็นจีโอ และนักวิชาการ ทั้งนี้ พื้นที่ชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลและเปราะบางต่อปัญหาความมั่นคง ก็เป็นเป้าหมายหลักของกระบวนการสถาปนาอำนาจรัฐเหนือดินแดนนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรมูลค่าสูง เช่น พื้นที่ป่าเขา พื้นที่ชายฝั่งทะเล และพื้นที่ที่รัฐมองว่าไม่มีคุณค่า หรือเป็นเพียงที่รกร้างน้ำท่วมขังอย่างที่ราบลุ่มตอนกลางของแม่น้ำสายหลัก ซึ่งเรียกกันว่า “พรุ” อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ Vandergeest และ Peluso ไม่ได้กล่าวไว้ในบทความก็คือ การสถาปนาอำนาจเหนือดินแดนไม่สามารถที่จะเน้นเฉพาะการเข้าควบคุมทรัพยากรและผู้คนเท่านั้น แต่การที่การสถาปนาอำนาจเหนือดินแดนจะมีความชอบธรรมได้ก็ต้องวางอยู่บนความทรงจำและเรื่องเล่าว่าด้วยความเมตตา การช่วยเหลือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อยู่ห่างไกลด้วย ซึ่งการสร้างความทรงจำและเรื่องเล่าที่ว่านี้เห็นได้ชัดในกรณีพื้นที่ “พรุ”

เนื่องด้วยลักษณะเฉพาะของภูมิประเทศชายแดนภาคใต้มีราบลุ่มน้ำท่วมขังหรือ “พรุ” กระจัดกระจายและกินพื้นที่ที่กว้างขวางอย่างเด่นชัด รัฐไทยจึงให้ความสำคัญกับพรุค่อนข้างสูง ทั้งนี้ โครงการพระราชดำริมีบทบาทอย่างสำคัญในริเริ่มและวางรากฐานการพัฒนาพรุที่นี่ โดยมีกรมชลประทานและกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักสนองนโยบาย อนึ่ง การพัฒนาพรุวางอยู่บนแนวคิดที่ว่า พรุ คือ พื้นที่รกร้าง ไร้ประโยชน์ น้ำท่วมขัง เสื่อมโทรม ทั้งยังเป็นสาเหตุของน้ำท่วมในบริเวณใกล้เคียง” และ น่าเสียดายหากจะปล่อยให้พรุอยู่ในสภาพแบบนี้ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงพยายามหาวิธีการใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากพรุ สิ่งสำคัญอันดับแรกที่ต้องดำเนินการก็คือ การจัดการน้ำเพื่อเปลี่ยนที่ดินพรุที่มีน้ำท่วมขังให้มาเป็นพื้นที่เพาะปลูกและเพื่อบรรเทาอุทกภัย  ด้วยการขุดคลองระบายน้ำออกจากพรุและจัดทำประตูกั้นน้ำ รวมทั้งการทำระบบส่งน้ำต่างๆ  ทั้งนี้ โครงการพัฒนาพรุบาเจาะ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนพื้นที่น้ำขังมาเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันยกร่องขนาดหลายหมื่นไร่ (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ม.ป.ป.) ได้กลายมาเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำขังและพรุในบริเวณอื่นๆ ในเขตชายแดนภาคใต้ในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ดี การพัฒนาดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น การเอาน้ำออกจากพรุก่อให้เกิดภาวะดินเปรี้ยวในบริเวณกว้างจนแทบไม่อาจเพาะปลูกใดๆ ได้ ตลอดเกือบสามทศวรรษที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามอย่างหนักในการปรับปรุงดิน มีการระดมงบประมาณและบุคลากรในการทดลองศึกษาวิจัย และได้นำองค์ความรู้จากการทดลองไปให้ชาวบ้านที่ได้รับการจัดสรรที่ดินในโครงการไปปฏิบัติในการปลูกพืชผักชนิดต่างๆ จนกระทั่งในที่สุดก็พบว่าปาล์มน้ำมันดูจะเป็นเพียงพืชชนิดเดียวที่พอจะเติบโตได้ในพื้นดินที่ถูกแปรสภาพเช่นนี้ บนเงื่อนไขที่ว่าแปลงปลูกต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษในการใส่ปุ๋ยและปรับปรุงดิน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ทำหน้าที่สนับสนุนช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตแก่ชาวบ้านในโครงการมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นการเอาน้ำออกจากพรุ ก็ยังก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากซากพืชที่ทับถมใต้ดิน ทำให้เกิดไฟป่าจากใต้ดินอยู่บ่อยครั้ง สร้างความเสียหายให้แก่สวนและผลผลิตของชาวบ้านในพื้นที่ ไฟป่าจากใต้ดินนั้นดับยากและยังยากที่จะป้องกัน สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำได้ก็เพียงการระดมกำลังมาดับไฟไม่ให้ลุกลามไปมากเท่านั้น

น่าสนใจว่า ปัญหาและผลกระทบจากการพัฒนาพรุตามแนวทางเช่นนี้ไม่ได้ถูกพูดถึงหรือเป็นที่รับรู้ในสาธารณะมากเท่าๆ การรับรู้ที่ว่าการพัฒนาพรุเป็นโครงการของรัฐที่มุ่งสร้างความกินดีอยู่ดีแก่ชาวบ้านผู้มีชีวิตที่ล้าหลัง ยากลำบากและยากจน ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้จำต้องได้รับปกป้องคุ้มครองดูแลเอาใจใส่จากรัฐและสถาบันหลักของชาติ ดังนั้น แนวทางการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำขังหรือพรุและบริเวณข้างเคียงเช่นนี้จึงยังคงเป็นตัวแบบในที่อื่นๆ ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และดำเนินการโดยหลากหลายหน่วยงาน รวมไปถึงโครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนภูมิภาค รวมทั้งหน่วยงานทหารในระยะหลัง[4]

โครงการพัฒนาที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศที่กำปงไอย์ฮีแตก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองว่าที่ทุ่งและที่ลุ่มน้ำท่วมขังเป็นพื้นที่ไร้ประโยชน์ที่จะต้องถูกพัฒนาให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมองว่าภาวะน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากเป็นปัญหาที่ต้องหาทางป้องกันผ่านทางการควบคุมและจัดการน้ำ ทั้งๆ ที่สำหรับคนกำปงไอย์ฮีแตแล้วนั้นน้ำท่วมเป็นส่วนหนึ่งของฤดูกาลตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นปกติทุกปี  ประกอบกับที่พื้นที่เหล่านี้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สาธารณะของรัฐตามกฎหมาย ไม่ใช่ที่ดินกรรมสิทธิส่วนบุคคล ดังนั้น การดำเนินโครงการต่างๆ และการใช้ประโยชน์จากโดยหน่วยงานรัฐ  จึงสามารถดำเนินการได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ทั้งนี้ การที่พื้นที่ทุ่งมีน้ำท่วมสูงปีละหลายเดือนได้กำหนดลักษณะการใช้ประโยชน์และระบบกรรมสิทธิของชาวบ้าน สำหรับพวกเขาพื้นที่ทุ่งคือพื้นที่ส่วนรวมที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงปศุสัตว์แบบปล่อยในช่วงที่น้ำไม่ท่วม แม้การใช้ประโยชน์ทุกวันนี้จะเปลี่ยนไป โดยมีการแบ่งพื้นที่ไว้ปลูกแตงโมและพืชผักล้มลุกอื่นๆ ในทุ่ง แต่การจัดสรรเพื่อใช้ประโยชน์ชั่วคราวก็ยังวางอยู่บนฐานที่ว่าพื้นที่นี้คือพื้นที่ส่วนรวม และมีการจัดแบ่งการใช้ประโยชน์ให้เท่าๆ กันทุกครัวเรือน

นับตั้งแต่การสร้างสระเก็บน้ำอันแรกในทุ่งไอย์ฮีแตเมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) โครงการก่อสร้างต่างๆ ทั้งสระน้ำขนาดใหญ่และคูคลองส่งน้ำหรือระบายน้ำของหน่วยงานต่างๆ ก็ทยอยเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมากในทุ่งและพื้นที่โดยรอบ ล่าสุดในยุครัฐบาลเผด็จการ คสช. มีโครงการขนาดใหญ่ของหน่วยงานทหารที่ขุดลอกคลองและขุดคันดินกั้นทางน้ำ อ้างว่าเพื่อป้องกันน้ำท่วมชุมชน คันดินนี้มีความยาวกินพื้นที่หลายตำบลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมทั้งมีการขุดสระน้ำขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม ในความคิดเห็นของชาวบ้านโครงการเหล่านี้ที่มีมาแต่อดีตแทบไม่มีประโยชน์อะไร  อ่างเก็บน้ำมักอยู่ไกลและลึกเกินกว่าที่จะดึงน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ และยังทำให้วัวควายเสี่ยงต่อการตกน้ำตาย คลองส่งน้ำก็ไม่สามารถใช้การได้จริงเพราะสร้างโดยไม่คำนึงถึงความลาดชันของพื้นที่ เช่นเดียวระบบท่อส่งน้ำพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อสามปีก่อน ที่ใช้การไม่ได้เลยเพราะระบบไม่สมบูรณ์และถูกทิ้งร้าง ส่วนคูและคันดินกั้นน้ำท่วมก็เป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่เข้าใจว่าจะทำไปเพื่ออะไรเพราะภาวะน้ำหลากเป็นฤดูกาลตามธรรมชาติ ความล้มเหลวของโครงการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ทุ่งในเขตกำปงไอย์ฮีแตเท่านั้น แต่ยังเกิดในพื้นที่ติดกันในเขตตำบลอื่นด้วย โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาตลอดช่วงเวลา 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาด้วยงบประมาณจำนวนมหาศาล  จากมุมมองของคนพื้นที่งบประมาณเหล่านี้คือผลประโยชน์ที่ตกไปอยู่กับหน่วยงานเจ้าของโครงการ ผู้รับเหมา และผู้มีอิทธิพลหรือผู้นำในท้องถิ่น

การมองว่าพื้นที่ภูมิประเทศเช่นนี้เป็นพื้นที่รกร้างไร้ประโยชน์ ได้ทำให้โครงการก่อสร้างต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบของด้านระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม อาทิ มีการสร้างถนนหลายสายทั้งสายหลักและสายรองที่ขวางเส้นทางไหลของน้ำตามธรรมชาติและไม่มีการวางท่อระบายน้ำใต้พื้นถนนอย่างเพียงพอ หรือในกรณีการก่อตั้งหน่วยทหารพัฒนาในพื้นที่ ที่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานได้กล่าวถึงช่วงเริ่มก่อสร้างหน่วยฯ เอาไว้ว่า “ณ บ้านเลขที่ 66 (ตัวเลขสมมุติ) หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 66 บ้านตลาดนัด หมู่ที่ 6 ตำบลไอย์ฮีแต อำเภอปาแดแมเราะห์ จังหวัดปัตตานี ที่ตั้งหน่วยในสนามแห่งใหม่ของนักรบสีน้ำเงิน ที่ค่อยๆ เติบโตจากที่รกร้างป่าพรุสู่บ้านหลังใหญ่ ในนามบ้านนักรบ...นักพัฒนา...ชื่อว่า...นักรบสีน้ำเงิน 66 จำนวนกว่า 160 ชีวิต ที่มาร่วมอาศัยอยู่ด้วยกัน” ข้อความนี้สะท้อนความคิดของหน่วยทหารพัฒนาที่มองพรุและทุ่งเป็นพื้นที่รกร้าง ต้องเอาถูกชนะผ่านทางการแผ้วถางและพัฒนาโดยหน่วยงานของตน น่าสนใจว่าในการตั้งหน่วยทหารพัฒนาแห่งนี้ได้เข้าครอบครองพื้นที่ทุ่งหญ้าสาธารณะในบริเวณกว้าง มีการทำรั้วมิดชิด ที่ดินได้ถูกใช้ไปสำหรับทำแปลงสาธิต สถานีผสมเทียมสัตว์ และสถานที่เก็บเครื่องมือการก่อสร้างและแหล่งน้ำ เดิมบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่คนกำปงไอย์ฮีแตนำวัวควายอพยพมาอยู่ในช่วงหน้าน้ำและเป็นพื้นที่หาฟืนในยามปกติ การก่อสร้างหน่วยฯ จึงทำให้ชาวบ้านเข้าไปใช้พื้นที่ไม่ได้อีกต่อไป ทั้งนี้ แม้หน่วยทหารพัฒนาจะมีบทบาทหลักในการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง ที่ตามหลักการแล้วควรเน้นการพึ่งตนเองหรือการทำมาหากินบนฐานทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ซึ่งหมายรวมถึงการใช้ประโยชน์จากพื้นที่พรุ ทุ่งหญ้า และป่าละเมาะที่มีอยู่เดิมของชาวบ้านด้วย  แต่ในความเป็นจริงพื้นที่เหล่านี้กลับถูกมองว่าเป็นเพียงพื้นที่รกชัฏ ไร้ประโยชน์ และควรต้องถูกเปลี่ยนสภาพ  

น่าสนใจว่า ตามปกติแล้วโครงการพัฒนาในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่สามารถดำเนินการได้ในระดับหมู่บ้านหรือตำบลหากปราศจากผ่านชนชั้นนำในชุมชนให้การสนับสนุน สถานการณ์ความไม่สงบและความไม่ปลอดภัยทำไห้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้รับเหมาก่อสร้างจากภายนอกไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ ชนชั้นนำเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือผู้นำทางการที่ดำรงตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากจะมีสถานะเป็นคนของรัฐที่ต้องช่วยขับเคลื่อนโครงการพัฒนาต่างๆ  แล้ว พวกเขายังสามารถต่อรองหรือเสนอต่อเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ว่าควรหรือไม่ควรดำเนินโครงการพัฒนาใดในชุมชนของตนเอง พวกเขามักมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าชาวบ้านทั่วไปมาก เมื่อชาวบ้านกล่าวถึงผู้นำเหล่านี้ก็มักเป็นไปในแง่ที่ว่าผู้นำสามารถเข้าถึงผลประโยชน์จากหน่วยงานรัฐ โดยหลายรายประกอบอาชีพหลักในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างหรือไม่ก็มักได้รับค่าหัวคิวต่างๆ จากโครงการ ดังนั้น ผู้นำจึงมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนหรือริเริ่มโครงการพัฒนาหรือการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่ตน โครงการเหล่านี้มักไม่มีประโยชน์และไม่มีประสิทธิภาพตามเป้าที่ตั้งไว้ หรือไม่ก็ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ อย่างไรก็ดี ผู้นำเหล่านี้มักอธิบายว่าโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ตนสนับสนุนล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

นอกจากนั้น การรับผลประโยชน์จากโครงการพัฒนาโดยชนชั้นนำไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่ในระดับหมู่บ้านหรือตำบลเท่านั้น  แต่ยังเกิดขึ้นในระดับที่สูงขึ้นไปโดยชนชั้นนำที่มีอิทธิพลในระดับที่กว้างขวางขึ้น ผู้มีอิทธิพลเหล่านี้มักมีบารมีเป็นที่นับถือของผู้นำเล็กๆ อื่นๆ และสามารถเข้าถึงผลประโยชน์จากภาครัฐได้มากกว่า เช่น สามารถรับเหมาก่อสร้างในโครงการขนาดใหญ่ๆ และสามารถเข้าถึงเจ้าหน้าที่รัฐในระดับที่สูงขึ้นไปได้ ทั้งนี้ ทุนทางเศรษฐกิจของชนชั้นนำที่สั่งสมผ่านผลประโยชน์จากโครงการพัฒนาได้ถูกแปรมาสร้างสถานะทางสังคมและการเมืองให้พวกเขา  นอกจากนั้น ชนชั้นนำก็มักมีบทบาทสำคัญทางศาสนาด้วยในฐานะผู้ปฏิบัติและผู้อุปถัมภ์ศาสนา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้พวกเขาสามารถกระชับความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำด้วยกันผ่านชุมชนทางศาสนาที่มีเครือข่ายครอบคลุมกว้างขวาง เช่น ขบวนการดาวะห์ที่คนเข้าร่วมจำนวนมาก

 

3)       ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศจากการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศ: ชุดคำอธิบายจาก “ภาคประชาสังคม”

ในขณะที่การจัดการพื้นที่ภูมิประเทศตอนกลางของลุ่มน้ำสายบุรีโดยรัฐไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของพื้นที่น้ำขังหรือพื้นที่พรุ อยู่บนฐานความคิดที่ต้องการปรับปรุงพื้นที่ซึ่งถูกมองว่าไร้ค่าให้กลายมามีมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้นำเอาความเข้าใจในแง่นิเวศเชิงระบบเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั้น นักวิชาการท้องถิ่นด้านชีววิทยาและเอ็นจีโอด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภาคใต้เป็นคนกลุ่มแรกที่ชี้ถึงผลกระทบของโครงการเหล่านี้ที่มีต่อระบบนิเวศตอนกลางของลุ่มน้ำสายบุรี ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนระบบการไหลของน้ำ การทำให้เกิดพื้นที่น้ำท่วมถาวร การทำลายป่าละเมาะและพืชพรรณท้องถิ่น ทั้งนี้ เมื่อแรกเริ่มในช่วงต้นทศวรรษ 2530 นักวิชาการและเอ็นจีโอกลุ่มนี้ได้ร่วมกับชุมชนในการต่อต้านโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสายบุรี ต่อมาเมื่อโครงการก่อสร้างเขื่อนฯ ถูกยกเลิกตามมติคณะรัฐมนตรี พวกเขาก็เริ่มหันมาทำกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับชุมชนในพื้นที่ อย่างไรก็ดี เมื่อความไม่สงบระลอกใหม่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 การดำเนินงานของพวกเขาหยุดชะงักไป 3-4 ปี และได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งผ่านทางการสนับสนุนของภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านชุมชนและการพัฒนาในระดับชาติ การทำงานในยุคหลังนี้เน้นการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อศึกษาถึงสาเหตุและปัญหาของการพัฒนาและการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อหน่วยงานรัฐ

แม้ว่าข้อเสนอต่างๆ จากนักวิชาการ เอ็นจีโอ และภาคประชาสังคมจะไม่ถูกนำไปเป็นนโยบายหรือนำมาปฏิบัติโดยภาครัฐมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรัฐบาลเผด็จการทหาร  แต่ทำงานของพวกเขา โดยเฉพาะของนักวิชาการท้องถิ่นและเอ็นจีโอตั้งแต่ทศวรรษที่ 2530  มีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างคำอธิบายว่าด้วย “ระบบนิเวศ” ของพื้นที่ตอนกลางของลุ่มน้ำสายบุรีให้เกิดขึ้นจากที่ไม่เคยมีมาก่อน  กล่าวคือ ภูมิประเทศที่กำปงไอย์ฮีแตตั้งอยู่ถูกกำหนดให้เป็นระบบนิเวศแบบพรุระบบหนึ่ง ที่มีชื่อเรียกว่า “พรุไอย์ฮีแต” ในขณะเดียวกันในตำบลใกล้เคียงก็มีจะมีระบบนิเวศแบบพรุขนาดเล็กๆ ใกล้เคียงเดียวกับพรุไอย์ฮีแต กระจัดกระจายอยู่อีก 4-5 แห่ง ซึ่งต่างก็เป็นส่วนหนึ่งระบบนิเวศแบบพรุที่ใหญ่กว่า เรียกว่า “พรุทุ่งกระบือ” ซึ่งกินขอบเขตพื้นที่ราว 6,000 ไร่ ในเขต 14 หมู่บ้าน ใน 2 ตำบล 2 อำเภอ ใน จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา คำอธิบายภูมิประเทศในฐานะที่เป็นระบบนิเวศเช่นนี้เป็นการมองและให้ความหมายภูมิประเทศแบบพรุว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้นักวิชาการท้องถิ่นและเอ็นจีโอกลุ่มนี้ก็ได้ทำกิจกรรมและทำการวิจัยเชิงปฏิบัติการร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อรวบรวมเผยแพร่ความรู้ท้องถิ่นเกี่ยวกับระบบนิเวศแบบพรุและการใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ จากระบบนิเวศแบบพรุของชาวบ้าน อันเป็นสิ่งที่การพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่ภูมิประเทศของหน่วยงานรัฐไม่เคยตระหนักมาตั้งแต่ต้น

น่าสนใจว่าในระยะแรก “พรุทุ่งกระบือ” ในฐานะที่เป็นระบบนิเวศแบบพรุขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมระบบนิเวศแบบพรุขนาดเล็กหลายแห่ง รวมทั้ง “พรุไอย์ฮีแต” นั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่รับรู้ของผู้คนในท้องถิ่นมาก่อน แม้แต่คำว่า “พรุ” ก็ดูจะเป็นคำที่ยังมีความหมายที่คลุมเครือและไม่สามารถระบุให้ชัดเจนได้ว่าคืออะไรหรือกินขอบเขตแค่ไหน ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์และใช้ประโยชน์จากพื้นที่ภูมิประเทศใกล้ๆ หมู่บ้านของตนเป็นหลัก แม้พวกเขาจะมีองค์ความรู้พื้นบ้านว่าด้วยลักษณะภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อย่างลึกซึ้งผ่านประสบการณ์จากรุ่นต่อรุ่น แต่องค์ความรู้เหล่านี้ก็อาจไม่ได้ซ้อนทับเป็นหนึ่งเดียวความรู้ว่าด้วยระบบนิเวศที่ถูกนำมาอธิบายโดยนักวิชาการท้องถิ่นและเอ็นจีโอ แม้ว่าความรู้ว่าด้วยระบบนิเวศโดยนักวิชาการท้องถิ่นและเอ็นจีโอนี้ถูกสร้างบนฐานของการคำนึงและความเคารพชื่นชมต่อภูมิปัญญาความรู้ของคนท้องถิ่นก็ตาม “ก๊ะ” คนหนึ่งได้กล่าวกับผู้เขียนขณะที่เรานั่งคุยกันในแปลงแตงโมกลางทุ่งว่า “ ‘พรุทุ่งกระบือ’ เมื่อก่อนไม่มีนะ ตรงนี้เราก็เรียกแบบอื่น แต่ละจุดก็มีชื่อนั่นชื่อนี่ แต่พออาจารย์สมชาย (ชื่อสมมุติ) เข้ามา แกก็เรียกว่า ‘พรุทุ่งกระบือ พรุทุ่งกระบือ’ รวมไปหมด” อาจกล่าวได้ว่า “พรุทุ่งกระบือ” ในความหมายเชิงระบบนิเวศในระดับที่กว้างกว่าขอบเขตของหมู่บ้านหรือตำบลเริ่มเป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่และคนภายนอกหลังจากการเข้ามาทำงานของนักวิชาการท้องถิ่นและเอ็นจีโอแล้วระยะหนึ่งและเมื่อได้มีการเผยแพร่ความรู้นี้ผ่านสื่อทางเลือกช่องทางต่างๆ ของภาคประชาสังคมแล้ว

ในคำอธิบายของนักวิชาการท้องถิ่นและเอ็นจีโอ นอกจาก “พรุทุ่งกระบือ” จะประกอบไปด้วยพื้นที่น้ำท่วมถึง บึง ป่าพรุ และทุ่งหญ้าแล้ว ยังมีความเชื่อมโยงกับสภาพภูมิประเทศโดยรอบ เช่น พื้นที่เนินเขา/ภูเขาเตี้ยๆ ที่น้ำท่วมไม่ถึงซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของพรุ ที่สำคัญ “พรุทุ่งกระบือ” ไม่ใช่ระบบนิเวศที่จบในตัวเอง แต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ใหญ่กว่า นั่นคือ “ลุ่มน้ำสายบุรี” ซึ่งประกอบไปด้วยระบบนิเวศ 3 ส่วนที่สัมพันธ์ต่อกัน คือ 1) พื้นที่ต้นน้ำ 2) พื้นที่ราบตอนกลาง ที่มีทั้งที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงและที่ราบน้ำท่วมไม่ถึง และ 3) ชายฝั่งทะเล ทั้งนี้ การที่พรุทุ่งกระบือจะสมบูรณ์และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนท้องถิ่นได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของระบบนิเวศอื่นๆ ด้วย อันนำมาสู่การสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในระดับลุ่มน้ำของนักวิชาการท้องถิ่นและเอ็นจีโอ

จากคำอธิบายว่าด้วยระบบนิเวศแบบพรุทำให้มองเห็นถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ภูมิประเทศได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญช่วยชี้ให้เห็นว่าโครงการพัฒนาต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ในเขตหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอต่างๆ ที่แบ่งตามตามเขตการปกครองได้ส่งผลต่อระบบนิเวศแบบพรุทั้งหมดอย่างมีผลกระทบสืบเนื่องถึงกัน  ทั้งนี้ นักวิชาการและเอ็นจีโอได้เน้นถึงปัญหาจากการที่หน่วยงานรัฐไม่ตระหนักถึงนัยยะในเชิงระบบนิเวศของพื้นที่ภูมิประเทศและไม่คำนึงถึงการทำมาหากินของชาวบ้านที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศที่มาตั้งแต่อดีต นอกจากนั้นก็ยังชี้ถึงบทบาทของผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นในการมีส่วนอย่างสำคัญในการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศผ่านทางการรับเหมาดำเนินการโครงการหรือสนับสนุนให้มีโครงการต่างๆ ผ่านทางตำแหน่งผู้นำทางการหรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สำคัญได้ชี้ว่าชาวบ้านเองก็มีบทบาทในการทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศจากการหันมาทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ที่มีการเพาะปลูกเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมีการเกษตรมาก อย่างไรก็ดี  คำอธิบายและข้อเสนอของนักวิชาการท้องถิ่นและเอ็นจีโอแม้จะเป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากขึ้นผ่านทางสื่อทางเลือกต่างๆ แต่ก็ดูเหมือนว่าคำอธิบายและข้อเสนอต่างๆ ของพวกเขาแทบไม่ได้ส่งผลในการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงานของรัฐไทย รวมทั้งแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่และการทำเกษตรของชาวบ้านแต่อย่างใด

แม้ในช่วงต้นทศวรรษ 2540 นักวิชาการท้องถิ่นและเอ็นจีโอได้เข้ามาทำกิจกรรมเชิงอนุรักษ์และส่งเสริมเกษตรยั่งยืนที่กำปงไอย์ฮีแต แต่กิจกรรมเหล่านี้ก็ไม่มีความคืบหน้ามากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกิจกรรมการอนุรักษ์หลายอย่างขัดแย้งกับโครงการพัฒนาที่ผู้นำทางการและหน่วยงานรัฐในท้องที่ดำเนินการอยู่ จนเกิดเป็นความหวาดระแวง ทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้นำทางการ และถูกเพื่อนฝูงเครือญาติของผู้นำทางการมองในแง่ลบ ยิ่งเมื่อมีความรุนแรงระลอกใหม่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ของเครือข่ายลุ่มน้ำสายบุรี รวมทั้งที่กำปงไอย์ฮีแต ที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมก็เกิดความกังวลในเรื่องความปลอดภัยและการถูกจับตามองจากฝ่ายต่างๆ ทำให้การทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่นี่หยุดชะงักลงอยู่หลายปี ในขณะที่สมาชิกก็ดำเนินชีวิตต่อไปด้วยการทำเกษตรแบบแผนใหม่ พึ่งพิงยางพาราในฐานะพืชเศรษฐกิจหลัก ซึ่งตรงข้ามกับแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนที่นักวิชาการและเอ็นจีโอพยายามส่งเสริม

การทำงานของนักวิชาการท้องถิ่นและเอ็นจีโอเริ่มฟื้นคืนมาอีกครั้งหลังจากที่องค์กรภาคประชาสังคมระดับชาติเข้ามาผนวกการทำงานร่วมกันในพื้นที่ ทั้งนี้ นับแต่มีความรุนแรงระลอกใหม่เกิดขึ้น ภาคประชาสังคมมีบทบาทอย่างสำคัญ ในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึง “ภาคประชาสังคม” ที่ชายแดนใต้ ผู้เขียนได้ตระหนักถึงนัยยะที่แตกต่างจาก “ภาคประชาสังคม” ระดับชาติ เนื่องจากภาคประชาสังคมชายแดนใต้ โดยเฉพาะที่ทำงานด้านกระบวนการสันติภาพและสิทธิมนุษยชน ได้ก่อตัวขึ้นภายใต้บริบทเฉพาะจากกลุ่มต่างๆ ในท้องถิ่น ในขณะที่ “ภาคประชาสังคม” ที่บทความนี้ต้องการกล่าวถึงเป็นภาคประชาสังคมในระดับประเทศที่ทำงานด้านชุมชนท้องถิ่นและการพัฒนา ที่ได้ขยายการทำงานเดิมของตนมายังพื้นที่ชายแดนภาคใต้หลังความไม่สงบระลอกใหม่ได้เกิดขึ้นนับแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ภาคประชาสังคมระดับชาติเหล่านี้เป็นส่วนเดียวกันกับหน่วยงานอิสระภาครัฐที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนสนับสนุนองค์กรในเครือข่าย มีผู้นำ คือ กลุ่มราษฎรอาวุโส นายแพทย์ที่สนใจปัญหาสังคม นักเทคโนแครต และปัญญาชน และเอ็นจีโอชนชั้นกลาง ภาคประชาสังคมให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเองของชุมชนท้องถิ่นและแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งอยู่ในขั้วตรงข้ามกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดและทุนนิยม แนวคิดนี้สอดรับกันเป็นอย่างดีกับคำอธิบายพื้นที่ภูมิประเทศในฐานะที่เป็นระบบนิเวศที่เชื่อมโยงและซับซ้อน และคำอธิบายว่าด้วยการทำมาหากินของคนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับลักษณะของระบบนิเวศมาตั้งแต่อดีต แต่ทั้งนี้ คำอธิบายว่าด้วยฐานเศรษฐกิจเช่นนี้อาจดูห่างไกลจากสภาพชีวิตที่เป็นจริงของชาวบ้าน ผู้ซึ่งมีชิวิตอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดและทุนนิยมมาอย่างเนิ่นนานแล้ว ขณะที่คำอธิบายว่าด้วยสาเหตุของความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศก็มักมุ่งไปตรงที่การคอรัปชั่นของข้าราชการและผลประโยชน์ของผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ตลอดจนความมักง่ายของเกษตรกรที่ทำการเกษตรหรือการผลิตที่ไม่ยั่งยืนและไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นที่น่าสังเกตว่า ในคำอธิบายเหล่านี้ได้ละทิ้งสาเหตุของปัญหาที่เชื่อมโยงกับแนวคิดของรัฐชาติไทยในแบบอนุรักษ์นิยมที่ใช้การพัฒนาและการปรับเปลี่ยนพื้นที่ภูมิประเทศเป็นเครื่องมือสถาปนาอำนาจเหนือดินแดนและครอบครองจิตใจของชาวมลายูมุสลิมด้วยข้ออ้างแห่งความมั่นคงชาติ (รายละเอียดอยู่ในหัวข้อที่ 5)

 

4)       การเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศในชีวิตของชาวบ้าน

ในขณะที่นักวิชาการ เอ็นจีโอ และภาคประชาสังคมมองการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศว่าเป็นวิกฤติที่ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถดำรงชีพแบบพึ่งตนเองและอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติหรือระบบนิเวศได้อีกต่อไป แต่จากมุมของชาวบ้านการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศได้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่นำมาสู่การปรับตัวในวิธีการ/รูปแบบการทำมาหากิน ซึ่งอาจระบุได้ยากว่าสิ่งใดคือเหตุและสิ่งใดคือผล ดังนั้น มุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศของชาวบ้านจึงไม่มีนัยยะของความโหยหาหรือเสียดายสิ่งที่ดีงามในอดีต แต่เป็นการหาทางที่จะปรับตัวอยู่ให้ได้กับสภาพที่เปลี่ยนไปแล้วมากกว่า

ในกรณีพื้นที่พรุไอย์ฮีแต (ซึ่งประกอบไปด้วยหนอง บึง ทางน้ำจำนวนมาก รวมทั้งป่าละเมาะที่ทนน้ำ ที่เดิมมีน้ำท่วมขังมากบ้างน้อยบ้างหรืออาจแห้งตามฤดูกาลและตามบริเวณที่ตั้ง) ที่ปัจจุบันกลายเป็นทะเลสาบถาวรขนาดใหญ่มีน้ำลึกตลอดทั้งปีหรือที่เรียกว่า “ลูโบ๊ะ” ได้เปลี่ยนระบบนิเวศของพรุไปอย่างมาก ป่าละเมาะหลายจุดต้องจมอยู่ใต้น้ำอย่างถาวร การกลายเป็นลูโบ๊ะนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการสร้างถนนคั้นกั้นน้ำเมื่อราว 15 ปีก่อน แม้จะมีการถกเถียงกันถึงผลกระทบจากถนนคันกั้นน้ำนี้อยู่บ้างในระยะแรกๆ ที่นักวิชาการท้องถิ่นและเอ็นจีโอยังทำงานในพื้นที่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปทะเลสาบถาวรแห่งนี้ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวไอย์ฮีแตจำนวนไม่น้อย เนื่องจากการเกิดขึ้นของลูโบ๊ะได้ช่วยเพิ่มพื้นที่และช่วงเวลาที่ชาวบ้านสามารถทำการประมงแบบเป็นล่ำเป็นสันได้ ซึ่งไม่ใช่แค่การจับปลาเล็กปลาน้อยในช่วงน้ำหลากเท่านั้น ตลอดระยะ 15 ปีที่ผ่านมา คนที่ไม่มีที่ดินและไม่มีรายได้จากสวนยางได้ลงทุนไปมากกับเรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเครื่องยนต์เรือ และเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อทำการประมงเป็นอาชีพหลัก สิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการขยายตัวของตลาดปลาในท้องถิ่น ที่มีทั้งตลาดหมู่บ้าน ตลาดนัดตำบล และการเร่ขาย  ความสะดวกในการคมนาคมและการที่ครัวเรือนมีมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง (หรือที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า “รถโชเล่”) หรือแม้แต่รถกระบะกันมากขึ้น ทำให้เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปที่คนกลุ่มนี้ซึ่งปรับตัวมาทำประมงเป็นอาชีพหลักแล้วจะสนับสนุนให้รี้อประตูน้ำใต้ถนนเพื่อให้พื้นที่กลับไปเป็นแบบเดิม อีกทั้งพวกเขาก็มองว่าการกลายเป็นลูโบ๊ะซึ่งมีน้ำเต็มตลอดเวลาได้ช่วยป้องกันไม่ให้คนนอกพื้นที่เข้ามาระเบิดปลาหรือช็อตปลาได้ ซึ่งก่อนการสร้างถนนคันกั้นน้ำปัญหานี้มีความรุนแรงมาก

คนกำปงไอย์ฮีแตพยายามปรับตัวมาโดยตลอดเพื่อให้ยังสามารถใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศและระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ที่ผ่านมาพวกเขาได้ปรับเปลี่ยน “การทำนาพรุ” มาเป็น “การทำนาปรัง” ที่มีระยะเวลาการผลิตและเก็บเกี่ยวสั้นกว่า เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะน้ำหลากที่เปลี่ยนไปเนื่องจากการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่ การทำนาปรังเกิดจากการที่ในระยะหลังฤดูน้ำหลากมาถึงเร็วและท่วมนานกว่าเดิม นอกจากนั้นในส่วนของการหันมาปลูกพืชระยะสั้นอย่างแตงโมและพืชผักสวนครัวอายุสั้นอื่นๆ ในพื้นที่ทุ่ง ก็คือ การพยายามหาพืชที่มีอายุสั้นที่เหมาะสมกับฤดูและการไหลของน้ำ และเหมาะสมกับการจัดระบบกรรมสิทธิในการเข้าใช้ประโยชน์แบบชั่วคราวในรอบปี ซึ่งไม่ใช่การครอบครองแบบถาวร การปลูกแตงโมคือการปรับใช้พื้นที่เท่าที่พอจะใช้ได้โดยชาวบ้านให้เกิดประโยชน์ นอกจากนั้นก็มีการปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ บนภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลง ที่น่าสนใจคือ การเก็บเห็ดเสม็ด ซึ่งจะมีการเก็บกันอย่างคึกคักในช่วงต้นฤดูฝน ในบริเวณที่ใกล้กับที่ตั้งของหน่วยทหารพัฒนา พื้นที่เก็บเห็ดมีต้นเสม็ดขึ้นหนาแน่นและเห็ดเสม็ดก็จะขึ้นตามโคนต้นไม้และถูกปกคลุมด้วยใบไม้ที่ทับถม  ทุกเช้ามืดผู้หญิงและเด็กจำนวนมากจะขับมอเตอร์ไซค์มายังป่าเสม็ดพร้อมด้วยตระกร้าใบโต บางครั้งก็มีคนจากหมู่บ้านหรือตำบลอื่นขับรถยนต์กระบะบรรทุกคนเต็มหลังรถมาเก็บเห็ดด้วย เห็ดสร้างรายได้ให้ผู้หา 2-300 บาทต่อวันต่อคน อย่างไรก็ดี “แบโก๊ะ” ซึ่งเลี้ยงควายในทุ่งและเป็นผู้คุ้นเคยกับพื้นที่ทุ่งรวมทั้งป่าเสม็ดในปัจจุบันเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เดิมทีต้นเสม็ดและเห็ดเสม็ดในทุ่งไอย์ฮีแตและบริเวณใกล้เคียงไม่ได้มีมากเท่าในทุกวันนี้ แต่เมื่อมีการเข้ามาตั้งหน่วยทหารพัฒนาและได้มีการขุด การถม และการพลิกพื้นดินในบริเวณกว้าง ก็ได้ทำให้พืชพรรณเดิมตามธรรมชาติหายไปและมีต้นเสม็ดเพิ่มขึ้นมาแทน นอกจากนั้นชาวบ้านก็ยังสามารถหารายได้เสริมจากการจับสัตว์น้ำตามแหล่งต่างๆ กระจายกันไป เช่น การดักกุ้งฝอยในคูส่งน้ำลงนา การวางกัดดักปลาข้างถนนที่กั้นให้น้ำขังอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ซึ่งแหล่งน้ำหรือคูคลองส่งน้ำเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาไม่ใช่สิ่งที่เคยมีมาตั้งแต่อดีต

ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องนี้ก็คือว่า ความสามารถและความพยายามในการปรับตัวของชาวกำปงไอย์อีแตในการทำมาหากินเพื่อความอยู่รอดอย่างสอดคล้องกับภูมิประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มองเห็นได้ยากว่าโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เข้ามาและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้มีผลเสียอย่างแท้จริงหรือไม่อย่างไร  เพราะก็ดูเหมือนว่าชาวบ้านก็ยังคงดำเนินชีวิตได้มาเรื่อยๆ บนฐานทรัพยากรที่ยังคงเหลืออยู่ แม้ในการปรับตัวนี้อาจทำได้ยากในคนบางกลุ่มก็ตาม เช่น กลุ่มคนที่เลี้ยงฝูงปศุสัตว์แบบปล่อย เมื่อที่ดินในทุ่งลดน้อยลงจากขยายตัวเข้ามาของที่ตั้งหน่วยงานรัฐและโครงการก่อสร้างต่างๆ จนทำให้การเลี้ยงฝูงปศุสัตว์ต้องอาศัยความระมัดระวังและการดูแลใกล้ชิดมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อไม่ให้สัตว์เลี้ยงตกน้ำตายหรือเข้าไปบุกรุกแปลงเกษตรของคนอื่น ทำให้ต้นทุนและแรงงานในการเลี้ยงเพิ่มขึ้น จนการเลี้ยงฝูงปศุสัตว์ได้ลดน้อยลงไปมากในทุกวันนี้ แต่กระนั้น ในอีกมุมหนึ่งการลดลงของการเลี้ยงฝูงปศุสัตว์ได้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับการปรับตัวหรือการเปลี่ยนของจังหวะชีวิต เช่น คนรุ่นพ่อที่เลี้ยงควายฝูงเริ่มแก่ตัว และไม่มีรุ่นลูกมาเลี้ยงต่อเพราะลูกไปทำงานอื่นกันหมด จึงขายควายไปเสียทั้งฝูง

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลกระทบต่อระบบนิเวศจากโครงการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงภูมิประเทศไม่มีความชัดเจนและดูจะไม่มีบทบาทต่อชีวิตของชาวบ้านมากนักก็คือ การที่ปัจจุบันคนกำปงไอย์ฮีแตส่วนใหญ่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศเฉพาะบางส่วนเท่านั้น แม้ว่าระบบนิเวศไอย์ฮีแตมีหลายส่วนก็ตาม  กล่าวคือ สำหรับคนที่ทำสวนยางพาราเป็นรายได้หลัก ก็อาจไม่ได้ใช้ประโยชน์จากส่วนอื่นๆ ของระบบนิเวศอีกต่อไป ชาวบ้านหลายรายแทบไม่เคยออกมาที่ทุ่งเลยในปีหนึ่งๆ พวกเขาเพียงแค่ขับมอเตอร์ไซค์ผ่านทุ่งเพื่อเดินทางระหว่างบ้านกับสวนยางบนภูเขาเท่านั้น ส่วนคนที่ทำประมงในลูโบ๊ะเป็นอาชีพหลักก็มักไม่ได้ใช้ประโยชน์จากส่วนอื่นๆ ของระบบนิเวศเช่นกัน เพราะพวกเขาไม่มีที่ดินบนภูเขาและไม่มีที่นาในทุ่งเป็นของตนเอง ขณะที่บางส่วนก็เป็นโซนระบบนิเวศที่ถูกลืมไปแล้ว เช่น พื้นที่ตลิ่งริมน้ำ ซึ่งแทบไม่มีใครเข้าไปใช้ประโยชน์ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ภูมิประเทศในเชิงระบบนิเวศจึงไม่ใช่ปัญหาร่วมของผู้คนทั้งหมด ตราบเท่าที่ยังไม่มีผลกระทบรุนแรงต่อโซนพื้นที่ที่ตนใช้ประโยชน์

ในขณะเดียวกันก็มีครัวเรือนจำนวนไม่น้อยที่มีรายได้หลักจากนอกภาคเกษตร ครัวเรือนเหล่านี้สัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศน้อยมาก แม้กำปงไอย์อีแตจะมีความเป็น “หมู่บ้านชนบท” หรือ “ชุมชนเกษตร” แต่ก็มีครัวเรือนกว่าครึ่งที่มีรายได้จากการทำงานรับจ้างหรืออาชีพนอกภาคเกษตรอย่างสำคัญ โดยเฉพาะในครัวเรือนที่มีสวนยางพาราน้อยหรือไม่มีเลย ปัจจุบันคนกำปงไอย์อีแตมีที่ดินการเกษตรไม่เพียงพอที่จะแบ่งให้แก่คนในรุ่นลูกหลานที่มีจำนวนมากขึ้นทุกที ทั้งนี้ อาชีพนอกภาคเกษตรมีทั้งในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน ในหมู่บ้านเป็นงานรับจ้างรายวันและค้าขาย ส่วนใหญ่ขายกับข้าวสด อาหาร และของชำ ส่วนนอกหมู่บ้านมักเป็นคนรุ่นหนุ่มสาวที่เดินทางไปทำงานรับจ้างในร้านอาหารที่ประเทศมาเลเซีย นอกจากนั้นงานนอกภาคเกษตรที่สำคัญมากตั้งแต่หลังปี พ.ศ. 2547 ก็คือ การทำงานเป็นลูกจ้างรัฐ นับตั้งแต่ความรุนแรงระลอกใหม่เกิดขึ้น งบประมาณจำนวนมหาศาลของภาครัฐก็ถูกทุ่มลงมายังชายแดนภาคใต้ งบประมาณส่วนหนึ่งถูกนำมาใช้ในงานบริการและการรักษาความมั่นคง และได้นำมาซึ่งการจ้างงานโดยภาครัฐเป็นจำนวนมาก  บางครัวเรือนกำปงไอย์ฮีแตถึงกับมีรายได้หลักจากการเป็นลูกจ้างรัฐเพียงทางเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีวุฒิการศึกษา เช่น คนเหล่านี้ได้งานเป็นอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) เป็นครู หรือเป็นพนักงานในที่ว่าการอำเภอ นอกจากนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่าง อบต.ไอย์ฮีแต ก็เป็นแหล่งงานสำคัญของคนในหมู่บ้านด้วย เพราะจ้างคนในพื้นที่ทั้งหมด ตั้งแต่ตำแหน่งระดับล่างอย่างพนักงานเก็บขยะ คนขับรถ นักการภารโรง รวมไปถึงตำแหน่งระดับกลางๆ อย่างพนักงานธุรการ ครูพี่เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน เป็นต้น ผู้ประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรเหล่านี้อยู่ห่างไกลจากผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศ และแทบไม่ได้รับรู้ถึงความเป็นมาของการเปลี่ยนแปลงและโครงการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง

จะเห็นได้ว่า การดำรงชีพที่กระจัดกระจายหลากหลายของคนกำปงไอย์ฮีแต จากการทำเกษตรเฉพาะอย่างที่นำมาสู่การใช้พื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติเฉพาะส่วน และจากการประกอบอาชีพนอกภาคเกษตร ได้ทำให้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศที่มีต่อคนกลุ่มต่างๆ ในชุมชนมีความแตกต่าง ขณะที่ความสามารถในการปรับตัวต่อภูมิประเทศที่เปลี่ยนไปก็ทำให้ผลกระทบจากโครงการพัฒนาเห็นได้ไม่ชัดเจน คนที่นี่จำนวนไม่น้อยจึงไม่ได้ถือชุดคำอธิบายเดียวกันกับของภาคประชาสังคมที่ว่าด้วยผลกระทบจากการพัฒนาที่เน้นแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้น การดำรงชีพที่กระจัดกระจายหลากหลายก็ยังทำให้การต่อต้านหรือทัดทานโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อภูมิประเทศและระบบนิเวศเกิดขึ้นได้ยากแม้แต่ในหมู่คนที่เคยทำงานอนุรักษ์ร่วมกับนักวิชาการท้องถิ่นและเอ็นจีโอมาก่อน ดังที่ “ก๊ะ” คนหนึ่งกล่าวถึงความอ่อนแรงและการที่จำต้องปล่อยให้ความเปลี่ยนแปลงในทุ่งไอย์ฮีแตเกิดขึ้นว่า “ตอนนี้เห็นทุ่งถูกขุดจนเละจากหลายๆ โครงการแบบนี้เราก็ใจหายนะ เมื่อก่อนทุ่งนี้สวยงามมาก ยิ่งยุค คสช.ก็ยิ่งมีโครงการมาก แต่เราก็ไม่รู้จะทำอะไร ก๊ะก็ไม่ได้เลี้ยงควาย แล้วก็ไม่ค่อยได้อยู่บ้าน (ก๊ะมีสามีรับราชการและอาศัยอยู่ในบ้านพักข้าราชการในเมืองยะลา)  เราก็มีธุระส่วนตัวเยอะ ตอนนี้คนเลี้ยงควายมีไม่กี่คนแล้ว แล้วคนเลี้ยงควายก็ไม่กล้าพูดอะไรเลย จะมีแค่ผู้หญิงคนสองคนที่กล้าพูดปัญหาเวลาประชุมกับรองผู้ว่าฯ....”  

 

5)       ความทรงจำและการลืมต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศที่กำปงไอย์ฮีแต

บทบาทของรัฐไทยที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศที่กำปงไอย์ฮีแตวางอยู่บนความคิดที่ว่า รัฐมีหน้าที่ดูแลจัดการพัฒนาพื้นที่ภูมิประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นพื้นที่สาธารณะที่รัฐเป็นเจ้าของโดยตรง ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนที่ถูกมองว่าเป็นสาเหตุหลักของความไม่สงบที่ชายแดนภาคใต้ น่าสนใจว่าแนวทางการพัฒนาเช่นนี้ของรัฐไม่มีความคิดเรื่องระบบนิเวศเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้แต่ในช่วงหลังที่มีการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแล้วก็ตาม การขาดซึ่งมิติเชิงระบบนิเวศเช่นนี้คือลักษณะเด่นที่สำคัญของความทรงจำว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศที่กำปงไอย์ฮีแตโดยฝ่ายรัฐ ซึ่งภูมิประเทศในปัจจุบันถูกมองอย่างหยุดนิ่งแยกขาดจากภูมิประเทศในอดีตที่ถูกทำให้เปลี่ยนแปลงและเสื่อมโทรมลง โดยที่รัฐไทยเองได้มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงและความเสื่อมโทรมนี้ (ดังที่กล่าวไปแล้วในหัวข้อก่อนหน้า)

ดังนั้น โครงการพัฒนาบนพื้นที่ภูมิประเทศในปัจจุบันจึงยังคงสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐไทยได้อยู่ แม้ว่าในความจริงแล้วโครงการเหล่านี้ไม่ควรต้องมีตั้งแต่ต้น อาทิ โครงการปล่อยพันธุ์ปลาในลูโบ๊ะหรือทะเลสาบถาวรขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่ส่วนของระบบนิเวศแบบพรุที่มีมาแต่เดิม หรือการส่งเสริมการปลูกแตงโมและการเลี้ยงวัวแบบขุน (แทนที่จะเป็นการเลี้ยงแบบปล่อยอย่างเดิม) ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากพื้นที่แบบจำกัดบริเวณและใช้อย่างเข้มข้นเนื่องจากพื้นที่ถูกจำกัดลงจากความเสื่อมโทรมและการถูกยึดครองโดยหน่วยงานรัฐ  โครงการเหล่านี้ดูเผินๆ ก็คือการส่งเสริมการประกอบอาชีพของชาวบ้านบนฐานของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ซึ่งอาจช่วยสร้างความกินดีอยู่ดีให้เกิดขึ้นได้ แต่ในอีกมุมหนึ่งสิ่งที่ถูกลืมไปก็คือความเป็นจริงที่ว่า นี่คือการเอาโครงการพัฒนาใหม่ๆ ทับลงไปบนภูมิประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วในทิศทางที่เสื่อมโทรมลงจากการพัฒนาที่ผ่านมาของรัฐ นอกจากนั้นโครงการเหล่านี้ยังวางอยู่บนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการมองปัญหาความยากจนว่าเกิดจากตัวเกษตรกรที่ขาดความรู้ ความขยันอดทน และความมัธยัสถ์ ซึ่งก็ยิ่งทำให้ความทรงจำว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศจากฝ่ายรัฐสามารถดำรงอยู่ได้ บนฐานของการลืมปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีสืบเนื่องมาหลายทศวรรษจากความพยายามสถาปนาอำนาจของรัฐไทยเหนือพื้นที่ชายแดนภาคใต้ผ่านโครงการพัฒนาต่างๆ 

ในส่วนของนักวิชาการท้องถิ่นและเอ็นจีโอ ที่ในช่วงหลังได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคมระดับชาติด้านชุมชนท้องถิ่นและการพัฒนานั้น แม้ระยะหลังจะได้ดำเนินงานหลายอย่างร่วมกับภาครัฐในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แต่ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อภาครัฐได้มากนักทั้งในระดับนโยบายและในระดับปฏิบัติการ อย่างไรก็ดีอาจถือได้ว่าภาคประชาสังคมได้ประสบความสำเร็จในการสร้างองค์ความรู้ว่าด้วยระบบนิเวศแบบพรุและสร้างความทรงจำว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศในฐานะที่เป็นความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ อันมีสาเหตุมาจากแนวทางการพัฒนาที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้นในชุดคำอธิบายของภาคประชาสังคมได้ให้ความสำคัญกับความไร้ประสิทธิภาพและการทุจริตคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐระดับล่างและผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น  รวมทั้งการที่ชาวบ้านตกอยู่ภายใต้การชี้นำของระบบทุนนิยมและการที่ชาวบ้านมีความเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า สิ่งที่ถูกลืมไปในชุดคำอธิบายหรือความทรงจำของภาคประชาสังคมนี้ก็คือ การพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนภูมิประเทศในฐานะที่เป็นวิธีการผนวกรวมชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งความไม่สงบและอ่อนไหวต่อความมั่นคงของชาติ รวมถึงการผนวกชาวมลายูมุสลิมเข้ากับอุดมการณ์ของรัฐชาติไทย ซึ่งในงานศึกษาทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าอุดมการณ์ของรัฐชาติไทยคือต้นเหตุสำคัญของความไม่สงบ (ดู Che Man 1990, Haemindra 1976, Pitsuwan 1988, Dulyakasem 1988, Yegar 2002) ที่สำคัญ ไม่เพียงแต่ลืมเท่านั้น แต่ในชุดคำอธิบายและปฏิบัติการของภาคประชาสังคมยังผลิตซ้ำอุดมการณ์รัฐชาติผ่านทางการอ้างอิงแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” และยุทธศาสตร์ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของรัฐไทยด้วย โดยมองแต่เพียงแค่ว่าแนวคิดและยุทธศาสตร์นี้สอดคล้องกับชุดคำอธิบายของตนที่ว่า หากชาวบ้านชายแดนใต้ “พึ่งตนเอง” ได้ก็จะนำมาสู่คุณภาพชีวิตดีและจะสามารถแก้ปัญหาความไม่สงบและความรุนแรงได้ในที่สุด

สิ่งที่ถูกลืมไปในความทรงจำว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศของภาคประชาสังคมไม่ใช่สิ่งเรื่องที่น่าแปลกใจ หากมองย้อนไปถึงบทบาทของภาคประชาสังคมไทยท่ามกลางบริบทความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสมัยในรอบทศวรรษที่ผ่านมาก็จะพบว่า ภาคประชาสังคมไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐแบบจารีตและอนุรักษ์นิยมมาโดยตลอด พวกเขาเห็นว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมักส่งเสริมระบบทุนนิยมที่ทำลายการพึ่งตนเองของชุมชนท้องถิ่น ดังนั้น ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมจึงมีบทบาทสำคัญในการผลักดันสังคมไทยให้มีระบอบการบริหารปกครองโดย “คนดี”  บนฐานของความไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่พวกเขามองว่ามีการซื้อขายเสียงจากประชาชนที่ยากจน ขาดการศึกษา และขาดจิตสำนึก ทั้งนี้ ชนชั้นนำในภาคประชาสังคมไทยไม่ปัญหาใดๆ กับการทำรัฐประหาร พวกเขาได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารทุกชุดนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2549 ซึ่งมีทั้งการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี การร่วมในคณะกรรมการ “ปฏิรูป” ชุดต่างๆ ล่าสุดก็คือ การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายประชารัฐ ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล คสช. ที่กำลังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่มากกว่าประโยชน์ของชาวบ้าน อุดมการณ์เช่นนี้ได้ถูกสืบทอดมายังการทำงานของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ชายแดนภาคใต้ด้วย รูปธรรมที่ผ่านมาก็คือ การจัดตั้ง “สภาปฏิรูปชายแดนภาคใต้” ที่เชื่อมโยงกับสภา/คณะกรรมการปฏิรูปที่ตั้งขึ้นมาในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ภายหลังการปราบปราบผู้ชุมนุมในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 จนถึงปัจจุบันองค์กรภายใต้เครือข่ายภาคประชาสังคมก็ยังคงดำเนินโครงการพัฒนาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องบนฐานของอุดมการณ์ทางการเมืองเช่นนี้โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานอิสระต่างๆ ในภาครัฐ

ในส่วนของชาวกำปงไอย์ฮีแต ความทรงจำต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศสัมพันธ์กับสถานการณ์ใน 3 ส่วน คือ 1) การปรับตัวที่ค่อยๆ เกิดขึ้นเพื่อให้ยังคงสามารถทำมาหากินได้ในภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป 2) การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไปสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือพื้นที่ภูมิประเทศแบบเฉพาะส่วนเสี้ยว โดยไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับทุกส่วนของระบบนิเวศ และ 3) การแตกตัวของอาชีพของชาวกำปงไอย์ฮีแต ที่ปัจจุบันอาชีพนอกภาคเกษตรมีความสำคัญอย่างมากจนถึงขั้นว่าหลายครอบครัวไม่มีรายได้จากภาคเกษตรอีกต่อไปแม้จะยังมีชีวิตอาศัยอยู่ในชุมชนก็ตาม ทั้งนี้ สถานการณ์ทั้งสามด้านนี้แม้ในแง่หนึ่งจะเป็นผลมาจากการพัฒนาของรัฐ แต่ในขณะเดียวเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการตัดสินใจของชาวบ้านเองในการปรับตัวด้านอาชีพและวิถีชีวิตจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ปัจจัยเหล่านี้ต่างเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน ดังนั้น ความทรงจำของชาวไอย์ฮีแตต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศจึงไม่ได้เป็นไปในลักษณะที่สืบเนื่องหรือเชื่อมโยงได้อย่างเป็นลำดับขั้นตอนกับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐที่ขาดการคำนึงถึงความเป็นระบบนิเวศและการทำมาหากินเดิมของชาวบ้านที่วางบนฐานของระบบนิเวศดังกล่าว อนึ่ง ความทรงจำที่ไม่ปะติดปะต่อนี้ทำให้ต้นตอของปัญหาถูกลืมหรือไม่ถูกมองเห็น ขณะที่การพยายามร้องเรียนปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนพื้นที่ภูมิประเทศต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยชาวบ้านก็เกิดขึ้นอย่างแผ่วเบา เพราะพวกเขาทุ่มเทไปกับการปรับเปลี่ยนวิธีการทำมาหากินมากกว่า ปัจจุบันโครงการพัฒนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขุดสระ การทำคันดิน การขุดลอกขยายทางน้ำ ยังคงเกิดในพื้นที่ทุ่งไอย์ฮีอย่างต่อเนื่อง มีโครงการขนาดใหญ่ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานทหาร และโครงการเหล่านี้ก็ได้รับสนับสนุนอย่างดีจากผู้นำทางการในท้องถิ่น

สุดท้ายนี้ เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างความทรงจำว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศของทั้งสามฝ่ายซึ่งล้วนมีการลืมเป็นองค์ประกอบสำคัญด้วยนั้น จะพบว่าความทรงจำของชาวกำปงไอย์ฮีแตเป็นสิ่งที่ไหลเวียนและรับรู้ร่วมกันภายใน ยากที่คนนอกจะเข้าถึงหรือเข้าใจ ในขณะที่ความทรงจำที่ถูกสร้างโดยรัฐดูจะมีเสียงดังที่สุดและเป็นความทรงจำที่สาธารณะในวงกว้างรับรู้ ในความทรงจำที่รัฐสร้างนี้มีชาวบ้านเป็นเป้าหมายหลักที่จะต้องถูกพัฒนาให้พ้นจากความยากจน การรับรู้ของสาธารณะได้สร้างความชอบธรรมและความเข้มแข็งให้กับการขยายอำนาจรัฐไทยเหนือพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และทำให้การพัฒนาที่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศและการพัฒนาที่ไม่มีความชัดเจนว่าได้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ชายแดนใต้อย่างไรยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่การพัฒนานี้ก็ยิ่งการสร้างความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างชาวบ้านทั่วไปกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น สำหรับความทรงจำของภาคประชาสังคมนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐไทยเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับชุดคำอธิบายว่าด้วยระบบนิเวศแบบพรุและความเสื่อมโทรมจากการพัฒนาเลย แม้ว่าภาคประชาชนจะแทรกตัวเองเข้าไปส่วนหนึ่งของรัฐและช่วยผลิตซ้ำอุดมการณ์ของรัฐชาติไทยก็ตาม ที่สำคัญชุดคำอธิบายของภาคประชาสังคมก็ไม่ได้รับความสนใจจากชาวไอย์ฮีแตด้วย เพราะให้คุณค่าแต่เฉพาะเพียงระบบการผลิตแบบพึ่งตนเอง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพชีวิตที่เป็นจริงของชาวบ้านในปัจจุบัน

 

บทสรุป

         การเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศและความเสื่อมโทรมลงของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติที่นำมาสู่ความยากลำบากในชีวิตของผู้คน ไม่ใช่สิ่งที่บั่นทอนความมั่นคงของรัฐไทยในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างที่ถูกเชื่อกันมา ในทางกลับกันกลับยิ่งสร้างความเข้มแข็งและความชอบธรรมให้กับรัฐไทยในการสถาปนาอำนาจเหนือพื้นที่ชายแดนภาคใต้  โดยผ่านโครงการพัฒนาที่อ้างการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนมลายูมุสลิม โครงการพัฒนาเหล่านี้วางทับลงไปบนพื้นที่ภูมิประเทศที่เสื่อมโทรม ซึ่งจริงๆ แล้วความเสื่อมโทรมก็เกิดขึ้นจากบทบาทและปฏิบัติการของรัฐไทยในอดีตนั่นเอง ในขณะเดียวกันแม้ภาคประชาสังคมจะมีชุดคำอธิบายต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศที่ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศและการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ภาคประชาสังคมกลับนำชุดคำอธิบายนี้มาช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับอุดมการณ์ของรัฐชาติไทย อันเป็นต้นตอสำคัญของ “ความไม่สงบ” ชายแดนภาคใต้ พร้อมกันนี้การปรับตัวและความกระจัดกระจายหลากหลายในการดำรงชีพของชาวบ้านไอย์ฮีแตก็ได้ทำให้ผลกระทบจากการพัฒนาและอุดมการณ์รัฐชาติมองเห็นได้ไม่ชัดเจน สภาพการณ์ทั้งหมดนี้ดำเนินไปผ่านกระบวนการสร้างความทรงจำและการลืมโดยแต่ละฝ่ายที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศ อันส่งผลทำให้การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้และการสร้างชีวิตที่ดีทั้งในทางเศรษฐกิจและทางการเมืองของชาวบ้านมลายูมุสลิมยังคงเป็นไปได้ยาก

 

 

บรรณานุกรม

ปิยะนาถ บุนนาค. 2546 (พิมพ์ครั้งที่สอง).

นโยบายการปกครองของรัฐบาลต่อชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2475 – 2516).กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ประเวศ วะสี.

2550.  ดับไฟใต้ด้วยจิตวิวัฒน์และพลังแห่งทางสายกลาง. กรีนปัญญาญาณ: กรุงเทพฯ.

 

ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล.

2552. ชุมชนในสถานการณ์ความขัดแย้งส: พลวัตและการพัฒนา. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

ศรีศักร วัลลิโภดม.

2550. ไฟใต้ฤาจะดับ. มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. มติชน:กรุงเทพฯ

 

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ม.ป.ป.) โครงการพัฒนาพื้นที่พรุบาเจาะ-ไม้แก่นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ประตูระบายน้ำปากคลองบาเจาะ-ไม้แก่น. เข้าถึงเมื่อ 29 เมษายน 2559. http://km.rdpb.go.th/Project/View/7825

 

Bundhuwong, Chalita.

               2013 Economic Life of Malay Muslims in Southernmost Thailand amidst Ecological Changes and

               Unrest. Ph.D. Dissertation in Anthropology. University of Hawaii at Manoa.
 

Che Man, Wan Kadir.

               1990. Muslim Separatism: The Moros of Southern Philippines and the Malays of Southern Thailand.

               Singapore: Oxford University Press

 

Dulyakasem, Uthai.

               1984.   “Muslim-Malay Separatism in Southern Thailand: Factors Underlying the Political Revolt,”

               Armed Separatism in Southeast Asia, Lim Joo-Jock and Vani S. (eds). Pasir Panjang: Institute of

               Southeast Asian Studies.

 

Haemindra, Nantawan.

               1976. “The Problem of the Thai-Muslims in the Four Southern provinces of Thailand (Part One),”

               Journal of Southeast Asian Studies 7 (2).

 

Pitsuwan, Surin.

               1988. “The Lotus and the Crescent: Clashes of Religious Symbolisms in Southern Thailand,” Ethnic

               Conflict in Buddhist Societies, K.M. de Silva et.al. (eds) London: Pinter.

 

Vandergeest, Peter and Nancy Lee Peluso.

               1995  “Territorialization and state power in Thailand” Theory and Society 24: 385-426.

 

Yegar, Moshe.

               2002. Between Integration and Secession: The Muslim Communities of the Southern Philippines,

               Southern Thailand, and Western Burma/Myanmar.Lanham: Lexington Books.

 

 



[1] เอกสารประกอบการปะชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา และสังคมวิทยาภาคใต้ ครั้งที่ 2 “ศาสตร์แห่งการจำ ศิลป์แห่งการลืม” วันที่ 25-27 สิงหาคม พ.ศ. 2559 อาคาร 58 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (D2-P4-R3-01)

[2] อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

[3] อดีตครูประชาบาลชาว ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา ผู้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากชาวบ้านในเขตอำเภอรามันและ อ. ใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ครูเปาะสูได้มีบทบาทในการดูแลชีวิตของผู้คนและดูแลจความสงบเรียบร้อย รวมทั้งมีบทบาทในด้านการพัฒนาต่างๆ แต่ทั้งนี้ ครูเปาะถูกมองจากรัฐไทยอย่างหวาดระแวงว่าจะเป็นผู้ซ่องสุมกำลังในการต่อต้านรัฐ กระทั่งถูกจับกุมและต้องไปอยู่ในเรือนจำที่กรุงเทพฯ ในฐานะนักโทษการเมืองเป็นเวลานานก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัว

[4] นอกเหนือจากโครงการจัดการพรุที่เน้นการเปลี่ยนสภาพพื้นที่ทางกายภาพดังที่กล่าวมาแล้ว ในระยะหลังเกิดกระแสด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว หน่วยงานรัฐก็ได้หันมากันพื้นที่พรุบางส่วนไว้เป็นเขตอนุรักษ์ในฐานะป่าพรุผืนสำคัญ คล้ายกับที่ Vandergeest และ Peluso (1995) ชี้ว่า กระแสโลกด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อการที่รัฐสถาปนาอำนาจเหนือดินแดน สำหรับวิธีการที่หน่วยงานของรัฐไทยใช้ก็คือ กั้นน้ำเพื่อให้น้ำขังในพรุตลอดเวลาอันเป็นการรักษาสภาพป่า พร้อมทั้งป้องกันการเข้าใช้ประโยชน์ของชาวบ้าน ทั้งนี้ การอนุรักษ์พรุเช่นนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการอนุรักษ์ที่ตัดตอนมาเฉพาะในส่วนพรุที่เป็นพื้นที่ป่าทึ[ โดยไม่คำนึงว่าป่าพรุนี้ต้องสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ ของระบบนิเวศ เช่น แม่น้ำ ทุ่งหญ้า และก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา (Chalita Bundhuwong 2013)