Skip to main content

ผู้เชี่ยวชาญเตือนภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ให้ระมัดระวังอุดมการณ์รัฐอิสลาม

นนทรัฐ ไผ่เจริญ 

 

 

 

 

    TH-seminar-ISIS-620
    ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการตะวันออกกลางและมุสลิม สัมมนาวิชาการเรื่องบทเรียนจากตะวันออกกลางสำหรับเอเชียอาคเนย์ เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2559
    เบนาร์นิวส์
     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    ในวันพฤหัสบดี (27 ตุลาคม 2559) ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการตะวันออกกลางและมุสลิม มีความเห็นว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องป้องกันการกระจายของอุดมการณ์รัฐอิสลาม และดูแลบุตรหลานไม่ให้หลวมตัวเข้ากลุ่มอุดมการณ์

    ในวันนี้ สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการสัมมนาเรื่อง “กลุ่มเคลื่อนไหวอิสลามและความวุ่นวายในตะวันออกกลาง: บทเรียนและข้อชี้แนะแก่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางและอิสลามจากประเทศต่างๆ เช่น อิรัค อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย และไทย เข้าร่วมให้ความรู้แก่ผู้ฟังประมาณสองร้อยคน

    ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า กลุ่มอัลกออิดะ ที่มีโอซามา บิน ลาเดน เป็นแกนนำ ได้อ่อนแอลง สมาชิกบางส่วนได้แยกกลุ่มออกไปก่อตั้งกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ISIS ในพื้นที่ประเทศซีเรีย และอิรัก นอกจากนั้น ทางกลุ่มได้มีการแพร่กระจายแนวคิดรัฐอิสลามมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    นายริอาด คาวาจิ ซีอีโอของสถาบัน Institute for Near-east and Gulf Military Analysis กล่าวย้อนอดีตว่า ความขัดแย้งที่ผ่านมาในประเทศมุสลิมนับตั้งแต่ตะวันออกกลางถึงอัฟกานิสถาน ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการช่วยเหลือของหน่วยปฎิบัติการลับทั่วโลก ซึ่งในท้ายที่สุดกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ ได้กลับมาเป็นภัยคุกคามต่อตนเอง

    “ผมหวังว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซีเรีย อิรัก และอัฟกานิสถาน จะให้บทเรียนกับหน่วยปฎิบัติราชการลับทั่วโลกว่า ไม่ควรใช้กลุ่มหัวรุนแรงในการหวังผลทางด้านการเมือง เพราะเขาเหล่านั้น จะกลับมาเป็นปฎิปักษ์กับผู้สนับสนุนเอง” นายริอาด กล่าวในการสัมมนา

    ด้านนางสาวเอลิน่า นัว ผู้อำนวยการ สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ ในประเทศมาเลเซีย กล่าวในการสัมมนาว่า มีชาวอินโดนีเซียจำนวนประมาณ 500 คน ที่เข้าไปร่วมสู้รบกับกลุ่มไอซิสในประเทศซีเรีย

    ส่วนในมาเลเซีย จนถึงปี 2015 มีการจับกุมชาวมาเลเซียและชาวต่างชาติด้วยข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายแล้วประมาณ 200 คน และการจับกุมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

    “เฉพาะในปี 2015 มีการจับกุม 80 กว่าราย ในปี 2016 นับถึงเดือนสิงหาคม 2016 มีการจับกุมแล้วถึงกว่า 90 ราย” นส.เอลิน่า กล่าว

    “สิ่งที่กลุ่มเหล่านี้ ได้กระทำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คือ เขาได้มาติดต่อกับกลุ่มในพื้นที่ เพื่อให้ร่วมมือด้วยกัน หรืออย่างน้อยให้คิดว่าจะร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะนี้ ที่มีการสู้รบอย่างต่อเนื่องในเมืองโมซุล (ซีเรีย)” นส.เอลิน่ากล่าว

    นอกจากนั้น กลุ่มไอซิส ยังต้องการก่อตั้งฐานปฎิบัติการในหมู่เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ นส.เอลิน่า กล่าวเพิ่มเติม

    นายอีฮุด ยาอาริ นักวิเคราะห์ทางด้านการทหารชาวอิสราเอล กล่าวต่อที่สัมมนาว่า กลุ่มไอซิสเห็นว่าประเทศที่เป็นหมู่เกาะ มีความเหมาะสมที่จะก่อตั้งฐานปฎิบัติการสำหรับกลุ่ม

    “สมาชิกบางส่วน หรืออาจจะจำนวนมากของไอซิส มุ่งหน้ามาที่เกาะต่างๆ ในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เป็นต้น เพราะว่าจะเป็นฐานปฎิบัติการที่เหมาะสม พวกนั้นได้เริ่มแล้ว และได้ลงทุนผลิตสื่อโฆษณาชวนเชื่อในภูมิภาคนี้” นายอีฮุด กล่าว

    “ต้องให้หน่วยข่าวกรองทำงานมากขึ้นในการติดตามโลนวูล์ฟ (บุคคลหัวรุนแรงที่ปฏิบัติการเดี่ยว) ต้องมีโปรแกรมสนับสนุนให้ผู้ปกครองตื่นตัวในการระมัดระวังเอาใจใส่ลูกหลานว่า พวกเขาเสพเนื้อหาใดๆ ทางอินเตอร์เน็ต ต้องระวังไม่ให้เขาเป็นพันธมิตรกับกลุ่มไอซิส” นายอีฮุด กล่าวเตือน

    ผอ. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้: เหตุการณ์ภาคใต้เป็นเรื่องของอัตลักษณ์ของชาวมาลายู-ปัตตานี

    สำหรับเหตุการณ์รุนแรงในภาคใต้ของประเทศไทย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้กล่าวว่า การต่อสู้ด้วยอาวุธใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ของชาวมาลายู-ปัตตานี แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าคนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยรับอุดมการณ์รัฐอิสลามเข้ามา

    อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ศรีสมภพกล่าวว่า ในขณะที่รัฐบาลไทยกำลังพยายามแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีกับกลุ่มมาราปาตานี ยังมีสมาชิกบางส่วนของขบวนการบีอาร์เอ็นและเยาวชนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติสุข จึงเห็นว่ารัฐบาลควรเปิดพื้นที่ในการพูดคุยให้กับกับกลุ่มนี้ด้วย

    ผศ.ดร.ศรีสมภพ ยังได้ยกตัวอย่างการจับกุมเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่มาจากพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นั้น เป็นเพราะรัฐบาลเกรงว่ากลุ่มเยาวชนเหล่านี้ มีส่วนเชื่อมโยงกับกลุ่ม Dewan Revolusi (สภาปฏิวัติ) ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยในบีอาร์เอ็นที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยเพื่อสันติสุข

    “ผมคิดว่ารัฐบาลพยายามระแวดระวัง และผมคิดว่าเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับสายของขบวนการที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพ… กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาสันติภาพคือปีกของบีอาร์เอ็นที่เรียกว่า Dewan Revolusi (สภาปฎิวัติ) ซึ่งเข้าใจว่าอยู่ในเครือข่ายกระบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยกับการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้”