Skip to main content

ชาวบ้านข้องใจ กฟผ.อ้าง ม.อ.ปัตตานียอมร่วมทำเอ็มโอยู รองอธิการ-คณะบดีวิทย์ปฎิเสธลั่นไม่รู้เรื่อง เชื่อถูกสวมรอย เครือข่ายภาคประชาชนกังวลใจ หวั่นทำลายภาพลักษณ์แหล่งวิชาการใหญ่ที่สุดของภาคใต้

8 พฤศจิกายน, 2016 ในประเทศ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เดินทางไปที่สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) เพื่อขอเข้าพบ รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกรณีการทำบันทึกข้อตกลงงานบริการวิชาการ(เอ็มโอยู) ระหว่าง ม.อ.ปัตตานี กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่มีชื่อของ รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้ลงนาม และมี ผศ.ดร.ศราวุฒิ เจ๊ะโส๊ะ และ ผศ.ดร.อภิรดี แซ่ลิ่ม เป็นผู้ทำการศึกษาวิจัยให้กับ กฟผ. ซึ่งจะมีพิธีลงนามในวันนี้ (9 พ.ย.)

โดยชาวบ้านได้มีการอ่านแถลงการณ์ ขอให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อย่าตกเป็นเครื่องมือของกฟผ.และนายทุนถ่านหิน โดยระบุว่า ทางเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินมีความกังวลต่อภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะ ม.อ.ปัตตานีคือความหวังของสังคมคนชายแดนใต้ ประชาชนมีความคาดหวังจากความเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นแหล่งวิชาการที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ให้ใช้ฐานะความเป็นผู้นำด้านวิชาการในการปกป้องชุมชนเคียงข้างภาคประชาชน ยืนยันในความถูกต้อง สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้นเต็มไปด้วยความฉ้อฉลในการผลักดัน โกหกชุมชนมาตลอด ให้ข้อมูลแต่ด้านดีโดยไม่บอกถึงผลกระทบ อีกทั้งยังสร้างความแตกแยกในชุมชน ทำลายสิ่งแวดล้อม คุกคามสุขภาพ จึงไม่ควรที่ทางม.อ.ปัตตานีจะไปลงนามสัญญาใดๆ ที่เป็นการสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพากับ กฟผ.

แถลงการณ์ระบุว่า แม้ว่าจะมีข่าวลือว่า รศ.ดร.ซุกรี จะไม่ทราบเรื่องมาก่อนเลย แต่ถูกกฟผ.แอบอ้างนำไปลงในกำหนดการ และอาจารย์ซุกรีเองก็จะไม่ไปร่วมลงนามนั้น ทางเครือข่ายฯ ก็ยังมีความห่วงกังวลในความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของม.อ.ปัตตานีที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งในไม่กี่วันนี้หรือในระยะเวลาต่อไป จึงได้เดินทางมาเพื่อสอบถามที่มาที่ไปจากท่านรองอธิการบดีวิทยาเขต ม.อ.ปัตตานี ทั้งนี้ก็ด้วยความเคารพและความห่วงใยในความเป็นมอ.อย่างแท้จริง แถลงการณ์ระบุว่า สำหรับอาจารย์ทั้ง 2 ท่านคือ ผศ.ดร.ศราวุฒิ และ ผศ.ดร.อภิรดี นั้น ปกติก็รับงานจากกฟผ. อยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องมีการลงนามเอ็มโอยู ซึ่งก็เป็นสิทธิของนักวิชาการที่จะทำหน้าในนามส่วนตัว แต่ไม่ใช่ในนามมหาวิทยาลัย การลงนามในวันที่ 9 พ.ย.นี้ จึงเท่ากับเป็นการจัดฉากให้กฟผ. ใช้ความเป็นม.อ.ปัตตานี เป็นผงฟอกขาวความสกปรกของถ่านหินและกฟผ. ซึ่งคณาจารย์ใน ม.อ.ปัตตานีก็รู้และมีความเป็นห่วงไม่น้อย เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงขอให้ทางท่านรองอธิการบดีได้ชี้แจงที่ไปที่มาของการลงนามเอ็มโอยูในครั้งนี้ และขอให้ทบทวนอย่าให้ม.อ.ปัตตานีถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกขาวถ่านหินสกปรก

นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กล่าวว่า ชาวทราบเพิ่งจะทราบว่าการทำเอ็มโอยูเมื่อสองวันก่อน จึงมีการประชุมกันจนตัดสินใจเดินทางมาที่ม.อ.ปัตตานี เพื่อสอบถามและขอข้อมูลการทำเอ็มโอยูว่ามีรายละเอียดและหัวข้อการศึกษาอย่างไร อีกทั้งต้องการสื่อสารด้วยว่าชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการทำเอ็มโอยูร่วมกับกฟผ. เพราะตอนนี้ชาวบ้านกำลังได้รับความเดือดร้อนจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และคิดว่ามีประเด็นอื่นที่สำคัญกว่าที่ม.อ.ปัตตานี ควรทำหน้าแทนชาวบ้าน เช่น การเรียกร้องให้กฟผ. ออกมาเปิดเผยข้อมูลโครงการให้ชาวบ้านได้รับทราบ โดยเฉพาะการโยกย้ายชุมชน การย้ายปอเนาะ กุโบร์ มัสยิด และโรงเรียน หรือควรให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในพื้นที่ ซึ่งน่าจะเป็นบทบาทขององค์กรวิชาการ มากกว่าการไปทำงานวิชาการให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาของกฟผ. ซึ่งเป็นผู้สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชน และนอกจากนี้ชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนใต้ทั้ง 5 จังหวัดก็มีมติชัดเจนแล้วว่าไม่ต้องการให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

ด้าน รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งถูกระบุในกำหนดการของ กฟผ.ว่าจะเป็นผู้แทนของ ม.อ.ปัตตานีในการลงนาม กล่าวว่า ม.อ.ปัตตานีมีการปฏิเสธข้อเสนอความร่วมมือของ กฟผ.มาโดยตลอด ซึ่งไม่ทราบเช่นกันว่าเหตุใดจึงมีกำหนดการออกมาว่ามหาวิทยาลัยจะไปทำเอ็มโอยูกับกฟผ. และมีการระบุชื่อของตนเองด้วยนั้น วันนี้จึงขอชี้แจงว่า ม.อ.ปัตตานีจะไม่มีการไปลงนามดังกล่าวอย่างแน่นอน ซึ่งหากมีการจัดพิธีขึ้นจริง ก็จะเป็นการลงนามของฝ่ายกฟผ.เพียงฝ่ายเดียว แต่ส่วนจะมีอาจารย์ของ ม.อ.ปัตตานีไปร่วมมือในนามส่วนตัวหรือไม่นั้น ตนไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะ ม.อ.ปัตตานียึดหลักการให้อิสระในงานวิชาการ

“กฟผ. เคยเสนอให้ม.อ.ปัตตานีทำงานวิจัย แต่เราทำไม่ได้ เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเคยทำอีไอเอไปแล้วยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งเราบอกว่าถ้าให้ทำข้อมูลวิชาการพื้นฐานสามารถทำได้ แต่ต้องยอมรับเงื่อนไขของเรา 3 ข้อ คือ หนึ่งจะทำเฉพาะข้อมูลพื้นฐาน และข้อมูลนี้ชาวบ้านสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย สองจะไม่รับเงินจากกฟผ. สาม กฟผ.ห้ามเข้ามายุ่งเกี่ยวเด็ดขาด ซึ่งได้ยื่นข้อเสนอนี้กลับไปหลายเดือนแล้ว แต่ก็ยังไมได้รับคำตอบ ซึ่งก็ได้นำมาเล่าให้ฟังในวันนี้เพื่อเปนการแสดงจุดยืนของ ม.อ.ปัตตานี” รศ.ดร.ซุกรี กล่าว

ด้าน รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ยืนยันว่า ม.อ.ปัตตานีจะไม่มีการลงนามใดๆ กับ กฟผ. ในวันพรุ่งนี้อย่างแน่นอน ส่วนการรับงานในนามส่วนตัวของอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้นไม่สามารถห้ามได้ เพราะถือเป็นสิทธิอิสระทางงานวิชาการ แต่ในเรื่องนี้มหาวิทยาลัยก็มีความกังวล จึงจะพยายามควบคุมการทำงานวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามจรรยาบรรณ

ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี ได้ออกหนังสือชี้แจง ระบุว่า ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ณ เทพาบีช รีสอร์ท ระหว่าง 09.00-13.30 น.จะไม่มีการลงนามเอ็มโอยูของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ โดยได้เรียนแจ้งให้ กฟผ. ผ่านทางผู้ประสานงานเมื่อราววันที่ 28 ตุลาคม 2559 ว่า ไม่ประสงค์ที่จะลงนามเอ็มโอยู เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำเอ็มโอยู และการทำเอ็มโอยูลักษณะนี้ควรเป็นการดำเนินการในระดับมหาวิทยาลัยที่จะเป็นผู้กำหนดนโยบาย และกำหนดการที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ นั้น คณะฯ ไม่เคยรับทราบมาก่อนและได้ประสานแจ้ง และแสดงถึงข้อกังวลนี้ไปยัง กฟผ. ด้วยว่า คณะฯ ไม่ได้รับทราบรายละเอียดใดๆ ของกำหนดการมาก่อนทั้งสิ้น และอาจก่อกระทบต่อความเข้าใจผิดของประชาคมได้ และได้รับการชี้แจงจากผู้ประสานงานว่า เป็นกำหนดการของ กฟผ. ที่ร่างขึ้นก่อนที่จะประสานมายังคณบดีคณะฯ และทางคณะฯ ได้เรียนว่าไม่พร้อมที่จะลงนามไปก่อนแล้ว

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ตำบลคู อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ชาวบ้านร่วมกันจัดเวทีระดมพลังและให้ข้อมูลผลกระทบแก่ชาวบ้าน และเป็นเวทีขอประชามติของชุมชนในการดำเนินการกับเวทีประชาพิจารณ์ที่ทางโรงไฟฟ้าชีวมวลจะนะกรีน ขนาด 25 เมกกะวัตต์ จะจัดในวันที่ 12 พฤศจิกายน ซึ่งชาวบ้านกว่า 100 คน ที่มาร่วมเวทีวันนี้ ยืนยันว่าจะคัดค้านในการทำประชาพิจารณ์ดังกล่าว

นายสุเบต หลีเหร็ม กำนันตำบลคู กล่าวว่า ดีใจมากที่ชาวบ้านมากันมากมายเกินคาด บทเรียนจากโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ขุนตัดหวายซึ่งตั้งห่างไปไม่ถึง 5 กิโลเมตร ได้สร้างผลกระทบกับชุมชนมากมายทั่งกลิ่นเหม็น เสียงดัง ควันดำ และการจ้างงานก็ไม่ได้จ้างคนชุมชน คนชุมชนไม่ได้ประโยชน์อะไร ได้แต่มลพิษ สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เจ็บป่วยในระยะยาว ทางโรงไฟฟ้าจะนะกรีนได้ใช้เงินทุ่มลงมาจำนวนมาก รวมทั้งการพาคนไปดูงานถึงยะลา แต่แปลกที่ไม่กล้าให้ชาวบ้านลงไปคุยกับชาวบ้านในชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ความจริงไม่ต้องไปไหนไกล ไปดูที่ขุนตัดหวายก็พอ

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://transbordernews.in.th/home/?p=15007