Skip to main content

 

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านปูโง๊ะ : ๑๐ ปี กับ หนึ่งเสียง (ระเบิด) ที่ดังขึ้น

 

สุรชัย (ฟูอ๊าด)  ไวยวรรณจิตร และคณะ (นักวิจัย)

โครงการบูรณาการดูแลช่วยเหลือเยียวยาเพื่อลดผลกระทบ

จากความรุนแรงต่อเด็กในจังหวัดชายแดนใต้ : จากชุมชนสู่เด็ก

โดยศูนย์สุขภาพจิตที่ ๑๒ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

 

“เป้าหมายคุณอาจจะมีแต่ขอได้ไหมว่าไปทำที่อื่น ที่ไม่กระทบต่อเด็กและชุมชน เพราะคนที่ได้รับผลกระทบคือเด็กและพวกเรา (ชุมชน)...” หนึ่งเสียงจากผู้ใหญ่บ้านหญิงแกร่ง แห่ง ต.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส

เช้าของวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ตามเวลานัดหมายเวลา ๐๗.๔๕ น.  ณ ศูนย์สุขภาพจิตที่ ๑๒  ผม (ผู้เขียน) และคณะทีมวิจัยพร้อมด้วยคณะทำงานของศูนย์สุขภาพจิตที่ ๑๒ ในโครงการบูรณาการดูแลช่วยเหลือเยียวยาเพื่อลดผลกระทบจากความรุนแรงต่อเด็กในจังหวัดชายแดนใต้ : จากชุมชนสู่เด็ก นำโดยคุณหมอเพชรดาว โต๊ะมีนา  ได้มีโอกาสลงพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านปูโง๊ะ ต.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุระเบิดห่างจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพียง ๕๐ เมตร ณ ที่แห่งนี้ได้เราพบ ผู้ใหญ่บ้านผู้หญิง รองปลัด อบต.ผู้หญิง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็ผู้หญิง ผู้แทนสสจ. สสอ. รพ.ระแงะ รพสต.บ้านกาลิซา อสม. และอิหม่าม (ผู้นำศาสนาในพื้นที่) ซึ่งบุคคลดังที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่จะมาร่วมคิด ร่วมทำ หนึ่งเสีงสะท้อนที่น่าสนใจจากผู้นำศาสนา ท่านกล่าวว่า “ถ้าชุมชนเอาด้วยผมก็ร่วมด้วยหากจะช่วยกันดูแลเด็กซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว...”

 วินาทีของการสนทนาได้เริ่มขึ้นด้วยการบอกเล่าที่มาที่ไปของโครงการโดยคุณหมอเพชรดาว จากนั้นทางคณะก็ได้เปิดเวทีให้ชุมชนได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา...

คุณครูผู้ดูแลเด็กเล่าว่าหลังจากเสียงระเบิดดังขึ้น ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กประมาณ ๕๐ เมตร คุณครูพยายามดูแลเด็กในยามเกิดเหตุระเบิด โดยการเกณฑ์เด็กๆเข้าไปอยู่ในที่ที่คิดว่าปลอดภัย ภายใต้การตื่นตระหนักหวาดกลัวทั้งน้ำตา คุณครูร้องไห้เด็กก็ร้องไห้ คุณครูทำกิจกรรมกับเด็กทั้งเล่านิทาน ร้องเพลง ๔ ชั่วโมงเพื่อให้เด็กคลายกังวลระหว่างรอเคลียร์พื้นที่จากเจ้าหน้าที่ด้านนอก ซึ่งเป็น ๔ ชั่วโมงที่ยาวนานมากสำหรับช่วงชีวิตที่ผ่านมา หลายท่านในวงสนทนาพูดคุยพยายามบกเล่าว่า ๑๐ ปีแล้วพื้นที่แห่งนี้ไม่เคยเกิดเหตุ แต่หนึ่งเสียงที่ดังขึ้นรอบนี้ต่างทำให้เราต้องกลับมานั่งทบทวนพูดคุยถึงการวางแผนเส้นทางความปลอดภัย เพราะศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวชุมชน แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ส่งลูกหลานมาเรียนที่นี่มากสุดใน ต.กาลิซา เพราะเชื่อมั่นในการส่งเสริมพัฒนาการของลูกหลานที่ครูและศูนย์ฯแห่งนี้ได้ทำมา

สิ่งที่ผู้เขียนและคณะพบและต้องขอชื่นชมในการทำงานของครูที่มีสติพยายามนำพาทุกคนโดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในเหตุการณ์ผ่านห้วงเวลา ๔ ชั่วโมงที่ไม่อาจมีใครรับรู้ความรู้สึกลึกๆทั้งหมดได้นอกจากการทำงานของคุณครูและแม่บ้านในวันนั้นซึ่งมีบุคคลอยู่ในศูนย์ฯเพียงแค่ ๔ คน คือ การทำงานของทีมสาธารณสุขจากหน่วยงานต่างๆที่ได้ลงพื้นที่ใช้วิชาความรู้ทำหน้าที่เยียวยาสภาพจิตใจของเด็กๆด้วยการทำกิจกรรมต่างๆตลอดช่วงสามเดือนที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์

 

 

 วันนี้เรา (ผู้เขียนและคณะ) อาจจะยังไม่เคยเผชิญเหตุการณ์ดังกล่าวแต่นั่งฟังและแลกเปลี่ยนกับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทั้งผู้นำชุมชน โต๊ะอิหม่าม ผู้ใหญ่บ้าน ครู ผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่สาธารสุข ทำให้เรียนรู้อย่างหนึ่งว่าระบบการดูแลเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบจักต้องทำอย่างเป็นระบบให้ครบวงล้อที่ไม่ใช่แค่การเยียวยาแต่ต้องเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในชุดความรู้ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบหรือการเผชิญเหตุภัยพิบัติต่างๆ เพราะ ณ วันนี้คำตอบที่ทางคณะค้นพบ ดูเสมือนว่า คนที่เข้าใจระบบดูแลเยียวยาจิตใจเด็กกลับมีเพียงเจ้าหน้าที่สาธารสุขที่มีชุดความรู้ดังกล่าว โรงเรียน ครูหรือชุมชนผู้ปกครองยังคงต้องหนุนเสริมองค์ความรู้ดังกล่าวในการสร้างความตระหนักในการเรียนรู้ ที่สำคัญในกรณีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลหรือ อบต. ทาง อบต. ควรมีแผนและตระหนักถึงการพัฒนาหรือหาแนวทางในการลงลึกถึงชุดความรู้สำหรับเด็กให้มากขึ้นมองเพียงมิติของระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว มิติด้านความมั่นคงทางด้านจิตใจคงต้องหยิบมาพูดคุยทำความเข้าใจคำว่า “ความมั่นคง” ให้ครอบคลุมรอบด้านมากขึ้น

สิ่งที่ค้นพบอีกประการ จะพบว่า ผู้ที่อยู่รายล้อมตัวเด็กมิใช่มีเพียงแต่พ่อแม่ผู้ปกครองหรือครู หากแต่ทุกคนได้อยู่ในวงจรรายล้อมรอบตัวเด็ก การซ้อมแผนเผชิญเหตุการณ์เพื่อเรียนรู้ชุดความรู้ไปพร้อมกันผู้เขีนและคณะมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะสถานศึกษาและชุมชนที่ต้องหันมาร่วมมือกันทำสิ่งที่เรียกว่าการมีหนึ่งชุดความรู้แผนเผชิญเหตุฯนี้จะทำให้เราไม่ประมาทหากวันหนึ่งภัยเดินทางมาถึงใกล้ตัวเรา เพราะมิมีใครล่วงรู้เลยว่าหนึ่งเสียงที่ดังขึ้น หรือ หนึ่งเหตุการณ์ที่เด็กต้องผ่านพบเจอะเจอจะนำมาซึ่งการต้องใช้เวลาร่วม ๒๐ ปีในการผ่านพ้นความทรงจำเหล่านั้นไปได้ มิใช่แค่วันสองวันเดือนสองเดือนหรือปีสองปีอย่างที่เราเคยคิดหรือรับรู้มา

การริเร่มชุดความรู้ที่ผู้เขียนได้เกริ่นนำมาก่อนหน้านี้ที่อยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมกันตระหนัก เราพบว่า ทางศูนย์สุขภาพจิตที่ ๑๒ ได้จัดให้มีโครงการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้ความรู้ด้านการดูแลสภาพจิตใจเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบเพื่อให้ได้รับการดูแลด้านจิตใจครอบคลุมทุกตำบล โดยคัดเลือก อสม. ที่สนใจดูแลเด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตอันเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบเข้าอบรมเพื่อเป็นตัวแทนของศูนย์ไปดูแลจิตใจของเด็กเหล่านั้น โดยโครงการดังกล่าวนี้มีเป้าหมายเพื่อเฝ้าระวังสภาพจิตใจของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ได้มีการจัดลำดับความสำคัญคือ เด็กที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เด็กกำพร้าที่พ่อแม่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เด็กที่อยู่ในอยู่เหตุการณ์แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บและเด็กที่อยู่ในครอบครับสูญหาย

นี่อาจเป็นเพียงพื้นที่แรกที่เราได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนในการย้อนคิดของการทำงานขับเคลื่อนโครงการบูรณาการดูแลช่วยเหลือเยียวยาเพื่อลดผลกระทบจากความรุนแรงต่อเด็กในจังหวัดชายแดนใต้ : จากชุมชนสู่เด็กต่อไปในอนาคตเราหวังว่าการเริ่มต้นนับหนึ่งด้วยกับคำว่า “บิสมิลละฮ์” ของคณะทำงานจะนำไปสู่การให้ความสำคัญและการสร้างความตระหนักต่อเด็กในอีกช่วงวัยที่เราต้องหันกลับมาทบทวน การได้พูดคุยและถอดบทเรียนกับทีมสาธารณสุขในพื้นที่เราได้ค้นพบอย่างหนึ่งว่า “วันนี้เราทุกคนอาจพุ่งเป้าไปที่เด็กในช่วงวัย ๑๕ ปีขึ้นไปมากไปเพราะเราอาจจะมองถึงกลุ่มวัยที่มีความสเสี่ยงมากมายในพื้นที่ แต่ ณ วันนี้เราคงต้องมานั่งขบคิดและให้ความสำคัญกับเด็กทุกช่วงวัยในการทำงานให้มากขึ้นโดยเฉพาะช่วงวัยเด็กจริง...” พยาบาลท่านหนึ่งกล่าวทิ้งท้าย

วันนี้การทำงานพื้นที่แห่งนี้เราทำงานเชิงเดี่ยวไม่ได้อีกแล้ว การมององค์รวมทั้งระบบต้องบูรณาการให้เข้ากัน เพราะเด็กวันนี้หาใช่ใครคือลูกหลานของเรา ชุมชนทุกชุมชนหาใช่ใครคือเพื่อนพี่น้องในฐานะมนุษย์ร่วมโลกของเรา อยู่ด้วยกันต้องช่วยกันเท่าที่ทุกคนจะทำได้ ขอบคุณศูนย์สุขภาพจิตที่ ๑๒ ที่ให้ผู้เขียนและคณะได้ร่วมเดินทางทำงานเรื่องเด็กฯในครั้งนี้ (อัลฮัมดุลิลละฮ์)