Skip to main content

 

ทรัมป์กับโลกมุสลิม อนาคตความสัมพันธ์ที่ไม่ง่าย

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

 

สังคมโลกอยู่ในอาการกระอักกระอ่วนทำตัวไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะต้องแสดงความยินดีกับคนอเมริกันดีหรือไม่ หรือควรห่วงอนาคตของตัวเองที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น หลังนายโดนัล ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา โดยจะเป็นประเด็นสะท้านโลกสะเทือนสังคมอเมริกาไปอีกนาน ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาคือความไม่แน่นอนของการเมืองโลก การปรับตัวของเศรษฐกิจ การประท้วงผลการเลือกตั้งและความรุนแรงในสหรัฐ ฯลฯ เรียกรวม ๆ ว่า “ทรัมป์เอฟเฟกต์” ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นเรื่อย ๆ จากนี้ไป

คงไม่ปั่นป่วนขนาดนี้ หากเป็นการขับเคี่ยวชิงชัยกันในรูปแบบเดิมระหว่างผู้สมัครของสองพรรคใหญ่ Republican และ Democrat ที่เน้นการแข่งขันกันที่นโยบายตามปกติ (ที่ผ่านมานักวิเคราะห์จำนวนมากก็เห็นต้องกันว่าไม่ว่าจะเป็นใครจากพรรคไหนชนะก็ไม่ต่างกันมาก) แต่ครั้งนี้ผู้ชนะมาด้วยกับนโยบายที่สวนกระแสโลกาภิวัตน์ ไม่เคารพหลักพื้นฐานประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเสมอภาค การค้าเสรี ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นคุณค่าที่สหรัฐใช้ประชาสัมพันธ์ตัวเองในสังคมโลกมาโดยตลอดในฐานะต้นแบบ ทรัมป์ประกาศนโยบายหลายอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น America First การปลุกกระแสชาตินิยม ขวาจัด และความเกลียดชัง กีดกันทางการค้า ปิดกั้นพรมแดน การห้ามมุสลิมเข้าประเทศ เหยียดเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว ฯลฯ ถ้าทรัมป์แพ้ก็คงไม่มีอะไรน่าแปลกใจ แต่ที่แปลกคือเขาชนะ เพราะมันหมายถึงการที่สังคมอเมริกันกำลังหันเหออกจากค่านิยมหลักแบบเดิมของตน (core value) และต่อระเบียบโลกที่ปั้นแต่งมา ในขณะนั้นที่ Francis Fukuyama นักรัฐศาสตร์อเมริกันใช้คำว่า The end of history หรือจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ เป็นระเบียบโลกใหม่ที่มากับชัยชนะของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมและทุนนิยมที่เบ่งบานภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา

แต่มาวันนี้จากปรากฎการณ์หลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะ Brexit ตามด้วยชัยชนะของทรัมป์ ทำให้ Amitav Acharya ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยอเมริกาเขียนบทความเรื่อง The end of American World Order หรือจุดจบระเบียบโลกของสหรัฐ

หนึ่งในนโยบายหาเสียงของทรัมป์ที่ชัดเจนที่สุดและสร้างกระแสวิจารณ์อย่างมากคือนโยบายเกี่ยวกับมุสลิม รวมทั้งมุมมองของเขาเกี่ยวกับอิสลาม การเชื่อมโยงอิสลามกับการก่อการร้ายและมองมุสลิมอย่างหวาดระแวง ใช้ความหวาดกลัวหรือกระแสอิสลามโมโฟเบียเป็นเครื่องมือในการหาเสียง หลายครั้งพูดหรือส่งสารสร้างความเกลียดชังชนกลุ่มมุสลิมและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ  (hate speech) ดังนั้น ทั้งอเมริกันมุสลิมและโลกมุสลิมจึงต้องจับตา “ทรัมป์เอฟเฟกต์” อย่างใกล้ชิด

ย้อนดูทรัมป์กับกระแสต้านมุสลิม เมื่อความไม่มั่นคงของอเมริกันมุสลิม หมายถึงความมั่นคงของอเมริกา

        เมื่อพูดถึงทรัมป์ สิ่งที่สังคมมุสลิมจะนึกถึงเขา คือ การห้ามชาวมุสลิมเข้าสหรัฐ หรือ Total Shutdown รวมไปถึงการใช้วาทกรรมที่สร้างความเกลียดชังต่าง ๆ เช่น อิสลามเกลียดเรา (Islam hates us) อิสลามหัวรุนแรง (Radical Islam) ในระหว่างหาเสียง เขาใช้ประเด็นนี้สร้างความหวาดกลัวและชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามของการก่อการร้ายที่เขามองว่าเชื่อมโยงกับคำสอนของอิสลาม ทรัมป์ยังใช้ประเด็นนี้โจมตีโอบาม่ากับฮิลลารี่ ว่าไม่เคยใช้คำว่า ‘Radical Islam’ เลย ทั้ง ๆ ที่เป็นภัยคุกคามที่แท้จริงของชาติ (แหล่งข่าวใช้คำว่า real threat to the nation) ทรัมป์กล่าวว่า “คำสอนของอิสลามที่รุนแรงหลายอย่างไม่สอดคล้องกับค่านิยมของตะวันตกและสถาบันต่าง ๆ อิสลามหัวรุนแรงต่อต้านผู้หญิง ต่อต้านเกย์ ต่อต้านอเมริกัน ถ้าเราต้องการรักษาคุณภาพชีวิตให้กับคนอเมริกันทั้งหมด ยิว คริสเตียน และคนทั่วไป เราจำเป็นต้องบอกความจริงเกี่ยวกับอิสลามหัวรุนแรง” (http://www.politifact.com/truth-o-meter/article/2016/jun/14/obama-vs-trump-radical-islam/)

        ในขณะที่โอบาม่า ตั้งคำถามกลับว่า “การประทับตราเช่นนั้น (กับอิสลาม) จะได้อะไรขึ้นมา หรือมันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา หรือมันจะทำให้พวก ISIL ฆ่าคนอเมริกันน้อยลง หรือมันจะทำให้เรามีพันธมิตรมากขึ้น แล้วมียุทธศาสตร์ทางทหารแบบไหนที่จะเอามาใช้ในกรณีนี้ได้? ไม่เลย

        หลายครั้งที่เกิดความรุนแรงขึ้นในสหรัฐ ทรัมป์ก็จะไม่รีรอที่จะเชื่อมโยงเข้ากับมุสลิมและหยิบฉวยไปเป็นประเด็นการเมืองเพื่อตอกย้ำนโยบายที่เขานำเสนอ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าตัวทรัมป์เองที่เป็นสาเหตุที่กระตุ้นการก่อการร้ายในประเทศก็ตาม อย่างไรก็ตาม หลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้งปรากฏว่ามีอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะผู้หญิงมุสลิมที่คลุมฮิญาบเริ่มถูกคุกคามถี่ขึ้น ผู้หญิงมุสลิมหลายคนอยู่ในอาการหวาดผวา ทั้งนี้ เพราะชัยชนะของทรัมป์เหมือนการตอกย้ำความชอบธรรมทางสังคมในการต่อต้านมุสลิม (สำหรับพวกขวาจัด) เพื่อความมั่นคงของอเมริกาที่หมายถึงความไม่มั่นคงของอเมริกันมุสลิม  ในขณะเดียวกันก็มีปรากฎการณ์อีกด้านของกระแสคือคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยทั้งที่เป็นคริสเตียนและยิวแสดงความเป็นห่วงชาวมุสลิม ด้วยวิธีการออกมาปกป้องต่าง ๆ นานา

กระแสความไม่นิยมทรัมป์ในโลกอาหรับ

        ผู้คนในตะวันออกกลางให้ความสนใจกับการเลือกตั้งในสหรัฐเหมือนกับทั่วโลก แต่ด้วยอารมณ์ที่ต่างกันเพราะการเลือกตั้งในอเมริกาหมายถึงอนาคตความรุนแรงและทิศทางของปัญหาการเมืองในตะวันออกกลาง

        ศูนย์วิจัยและศึกษานโยบายอาหรับ (Arab Center for Research and Policy Studies) ได้สำรวจความคิดเห็นของคนอาหรับใน 9 ประเทศ เกี่ยวกับการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาและความนิยมระหว่างทรัมป์กับฮิลลารี่ ประเทศที่ทำสำรวจได้แก่ แอลจีเรีย อียิปต์ อิรัก คูเวต โมร็อกโก จอร์แดน ปาเลสไตน์ ซาอุดิอาระเบีย ตูนิเซีย โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 400 คนในแต่ละประเทศ ผลปรากฏว่าฮิลลารี่ได้รับความนิยมมากกว่าทรัมป์ในทุกประเทศ โดยเฉพาะในโมร็อกโก ฮิลลารี่ได้คะแนนนิยมถึงร้อยละ 78 และตูนีเซียร้อยละ 76 ส่วนในซาอุดิอาระเบีย ร้อยละ 68 มีทัศนคติเชิงบวกต่อฮิลลารี่ และร้อยละ 48 มองทรัมป์เป็นคนที่แย่

        ผลรวมร้อยละ 65 มองว่าหากฮิลลารี่ได้เป็นประธานาธิบดีจะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับกลุ่มประเทศอาหรับมากกว่า ส่วนความคิดเห็นด้านอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ปาเลสไตน์ร้อยละ 39 และแอลจีเรียร้อยละ 36 คิดว่าไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือเมื่อถามถึงนโยบายสหรัฐต่อโลกอาหรับร้อยละ 28 มองว่าสหรัฐไม่ควรเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของอาหรับ ร้อยละ 23 มองว่าสหรัฐควรให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับกลุ่มไอเอสเป็นลำดับแรก ทั้งหมดนี้อาจสะท้อนความคิดเห็นของอาหรับต่อนายทรัมป์ได้ระดับหนึ่ง อนาคตความสัมพันธ์สหรัฐกับอาหรับด้วยบุคลิกและความคิดแบบทรัมป์คงไม่ราบรื่นนัก

 

ทรัมป์กับโลกมุสลิม อนาคตความสัมพันธ์ที่ไม่ง่าย

        นโยบายของทรัมป์ต่อโลกมุสลิมและตะวันออกกลาง เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตามองเพราะจากจุดยืนของเขาประกอบกับแนวนโยบายสายเหยี่ยวที่ผ่านมาของรีพับลิกัน ทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะทำให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางกลายเป็นชนวนสงครามครั้งใหญ่ขึ้นมา กระนั้นก็ตาม คงยากและเร็วไปที่จะบอกได้ว่าอนาคตความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับโลกมุสลิมจะเป็นอย่างไรหลังทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เพราะที่ผ่านมานอกจากพูดถึงการเพิ่มความพยายามในการปราบปรามกลุ่มไอเอสแล้ว ทรัมป์ก็ไม่ได้มีนโยบายอะไรที่ชัดเจนเกี่ยวกับตะวันออกกลาง แต่จะเน้นการวิจารณ์ความล้มเหลวของโอบามาและนางฮิลลารี่มากกว่า โดยเฉพาะการถอนทหารออกจากอิรักและการแทรกแซงในลิเบียและซีเรียจนทำให้เกิดวิกฤตที่เขามองว่าอาจจะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ได้ ส่วนนโยบายต่อต้านมุสลิมที่เขาใช้หาเสียงซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับประเทศมุสลิมนั้น ในทางปฏิบัติก็อาจทำได้ไม่ทั้งหมดหรือไม่เด็ดขาดเสียทีเดียวเหมือนตอนที่หาเสียงไว้ นอกจากนั้นยังถูกกำกับและตรวจสอบด้วยระบบถ่วงดุลอีกชั้นหนึ่งด้วย

        สำหรับบทบาทของสหรัฐกับวิกฤตซีเรียและสงครามตัวแทนในตะวันออกกลาง ก็ยังคงคาดการณ์ยากเพราะด้านหนึ่งทรัมป์ก็มีแนวโน้มจะประสานความร่วมมือและเจรจาร่วมกับรัสเซียได้ดี แต่อีกด้านต้องไม่ลืมว่าทรัมป์มาจากริพับลิกันที่มักนิยมก่อสงครามเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างสงครามอัฟกานิสถานในปี 2001 และอิรัก ปี 2003 แต่แน่นอนไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนเป้าหมายคือปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐในตะวันออกกลาง

        แต่หากมองจากการแสดงจุดยืนและทัศนคติของทรัมป์ต่อประเทศมุสลิมที่ผ่านมาแล้ว การจะเดินหน้าสานสัมพันธ์ในระดับปกติอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ทรัมป์เองก็ไม่เคยแสดงท่าทีเชิงบวกต่อประเทศใดในตะวันออกกลางเลย ในทางตรงข้ามมีแต่การแสดงออกในเชิงลบที่ทำให้หลาย ๆ ประเทศไม่พอใจ กรณีตัวอย่างเกี่ยวกับจุดยืนของทรัมป์ที่อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์กับโลกมุสลิมและกระแสไม่เอาทรัมป์ในอนาคต อาทิ

1)   กรณีซาอุดิอาระเบีย แม้ทรัมป์จะมีธุรกิจกับประเทศนี้ แต่ทรัมป์ก็กล่าวหาซาอุดิอาระเบียมาตลอดว่ามีส่วนร่วมการเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 นอกจากนั้น ในด้านเศรษฐกิจเขาเคยบอกว่าหากได้เป็นประธานาธิบดีอาจพิจารณาไม่ซื้อน้ำมันจากซาอุดิอาระเบียและพันธมิตรอาหรับอื่น ๆ จนกว่ารัฐบาลซาอุดิอาระเบียจะส่งทหารภาคพื้นดินไปต่อสู้กับกลุ่ม IS ทรัมป์เคยตั้งคำถามในทวิตเตอร์ของเขาว่า “ที่ผ่านมาซาอุดิอาระเบียเคยรับเอาผู้ลี้ภัยซีเรียเข้าไปบ้างหรือไม่ ถ้าไม่ ทำไมถึงไม่รับ” ทั้งนี้ เขาเรียกร้องให้ซาอุดิอาระเบียรับผู้อพยพซีเรียเข้าไป เพราะเขาจะกันมุสลิมไม่ให้เข้าประเทศ ทรัมป์ยังเคยพูดเชิงเสียดสีประเทศนี้ว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะกับการหย่า (Saudi like a good place to divorce) ในความหมายคือหย่าง่ายดีไม่ต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมายก็มีผล เขาเคยปะทะกับเจ้าชายวาลีด บิน ตอลาล เศรษฐีใหญ่ซาอุดิอาระเบียในทวิตเตอร์ โดยเจ้าชายวาลีด เรียกทรัมป์ว่าไอ้ทรยศ เพราะเขาเคยช่วยเหลือทรัมป์ให้พ้นจากภาวะล้มละลายมาก่อนถึงสองครั้ง แต่กลับหันมาโจมตีซาอุดิอาระเบียและสร้างกระแสเกลียดกลัวอิสลามเพื่อหวังผลทางการเมือง ในขณะที่ทรัมป์ขึ้นข้อความในทวิตเตอร์เรียกเศรษฐีผู้นี้ว่า “เจ้าชายเซ่อซ่าที่ต้องการควบคุมนักการเมืองสหรัฐด้วยเงินของพ่อเขา”

2)   กรณีของอิหร่าน ทรัมป์ค่อนข้างวิจารณ์อย่างแข็งกร้าว เขาเชื่ออิหร่านยังมีการสะสมยูเรเนียมตลอดเวลา รวมทั้งในช่วงของการเจรจา โดยทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับการเจรจานิวเคลียร์กับอิหร่านที่นำไปสู่การยกเลิกมาตราการคว่ำบาตรอิหร่านในที่สุด ทรัมป์เห็นว่าควรยกระดับการคว่ำบาตรมากขึ้นเป็นสองเท่าด้วยซ้ำ เขามองว่าทางออกเดียวที่ต้องจัดการกับอิหร่านคือต้องเข้าไปเปลี่ยนระบอบการเมืองของอิหร่าน (regime change)

3)   กรณีปาเลสไตน์และการสนับสนุนอิสราเอล ทรัมป์เคยให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นก่อนปราศรัยต่อที่ประชุมคณะกรรมการกิจการสาธารณะอเมริกัน-อิสราเอล (AIPAC) (หรือกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ยิวที่มีอิทธิพลสูงในสหรัฐ) ว่า เขาจะรับรองเยรูซาเล็มให้เป็นเมื่อหลวงของอิสราเอลและอยากย้ายสถานทูตสหรัฐจากเทลอาวีฟไปอยู่ที่นั้น ทรัมป์บอกว่าตัวเขามีความรักและสนับสนุนอิสราเอลมาตลอดทั้งชีวิต ประโยคเด็ดที่ทรัมป์งัดขึ้นมาคือเขาบอกว่า “ไม่มีใครสนับสนุนอิสราเอลมากเท่าเขาอีกแล้ว เราต้องปกป้องอิสราเอล เพราะอิสราเอลสำคัญกับเรามาก” จุดยืนแบบนี้คงทำให้ปาเลสไตน์และประเทศในตะวันอกกลางไม่พอใจแน่

4)   กรณีปากีสถาน แม้จะเป็นพันธมิตรกันมายาวนาน แต่การแสดงจุดยืนบางอย่างของทรัมป์ก็อาจจะทำให้ความสัมพันธ์ต่อจากนี้ไม่ง่ายเหมือนที่ผ่านมา ทรัมป์ค่อนข้างมองบทบาทของปากีสถานในด้านลบมาตลอดเกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้าย ในปี 2012 ทรัมป์ทวิตข้อความตั้งคำถามว่า “เมื่อไรปากีสถานจะยอมขอโทษเราเสียทีที่แอบให้ที่พักพิงกับอุซามะห์ บินลาเดน ถึง 6 ปี พันธมิตรอะไรแบบนี้” ทั้งนี้ ปากีสถานปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอด นอกจากนี้ ในระหว่างหาเสียงยังเคยไปร่วมงานขอกลุ่มฮินดูริพับลิกันในสหรัฐและบอกว่าหากเขาเป็นประธานาธิบดี อินเดียจะเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของสหรัฐ นักวิเคราะห์ปากีสถานจึงมองว่าทรัมป์อาจจะเอียงไปทางอินเดียมากขึ้น อีกประเด็นที่น่าสนใจคือนโยบายห้ามมุสลิมเข้าประเทศของทรัมป์จะถูกนำมาใช้กับปากีสถานได้หรือไม่ เมื่อปากีสถานเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐในเอเชียใต้เหมือนกับซาอุดิอาระเบียและกาตาร์ในตะวันออกกลาง เพราะปากีสถานก็มีกลุ่มตอลิบันและกลุ่มติดอาวุธมากมาย ถ้าไม่ให้มุสลิมปากีสถานเข้าประเทศหรือเลือกปฏิบัติก็อาจกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างกันได้

5)   สำหรับอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกก็รู้สึกไม่สบายใจกับชัยชนะของทรัมป์อย่างมาก เพราะนโยบายของทรัมป์นั้นต่อต้านมุสลิมชัดเจน โดยนักวิชาการอินโดนีเซียหลายคนเชื่อว่าแนวนโยบายเช่นนี้ จะเป็นชนวนให้ไอเอสและกลุ่มก่อการร้ายนำไปขยายผลขยายแนวร่วม อินโดนีเซียที่ผ่านมาก็พยายามสกัดกั้นอิทธิพลของแนวคิดสุดโต่ง สุฮัยรี มิสราวี นักวิชาการอิสลามแห่งองค์กรมุสลิมสายกลางนัดลาตุ้ล อุลามะห์ กล่าวว่าเมื่อสหรัฐใช้อำนาจแข็ง (กำลัง) ยิ่งทำให้พวกสุดโต่งได้แรงกระตุ้นเสริม คนที่ดีใจที่สุดกับชัยชนะของทรัมป์คือพวกไอซิส (หรือไอเอส)

6)   กรณีมุสลิมในฟิลิปปินส์ ทรัมป์เคยพูดว่าฟิลิปปินส์เป็นอีกชาติหนึ่งของพวกผู้ก่อการร้าย แล้วพลเมืองฟิลิปปินส์ก็ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่จะถูกแบนไม่ให้เข้าประเทศด้วยเช่นกัน เขาใช้ถ้อยคำที่ค่อนข้างรุนแรงว่า เรากำลังต่อสู้อยู่กับสัตว์

7)   กรณีสหราชอาณาจักร ในเดือนธันวาคม 2015 ทรัมป์เคยบอกกับ UK ว่าต้องเปิดเผยตรงไปตรงมา เขาพูดว่าอังกฤษพยายามอย่างมากที่จะปกปิดปัญหาใหญ่เกี่ยวกับคนมุสลิมในประเทศตัวเอง นอกจากนั้นที่น่าจับตามองคือทรัมป์จะมีท่าทีอย่างไรต่อนายกเทศมนตรีลอนดอน นายซาดิก ข่าน ที่เป็นมุสลิมคนแรกที่เข้าสู่ตำแหน่งนี้

8)   กรณีฝรั่งเศล ทรัมป์ก็จัดอยู่ในกลุ่มที่จะถูกแบนรายบุคคล เพราะมองว่าฝรั่งเศสเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประนีประนอมกับผู้ก่อการร้าย

อย่างไรก็ตาม คงยากที่จะฟันธงสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับโลกมุสลิมในอนาคต ซึ่งอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่จากข้อมูลที่นำเสนอมาก็คงพอทำให้เห็นภาพแล้วว่าคงไม่ง่ายในการสานต่อความสัมพันธ์แบบปกติ อาจเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะเมื่อทรัมป์มากับกระแสชาตินิยมและกลับหลังหันให้โลกาภิวัตน์ พร้อมกับส่งต่อโมเดลการเข้าสู่อำนาจด้วยการเมืองแบบขวาจัดและวาทกรรมสร้างความเกลียดชังไปยังยุโรปและภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งอาจกลายเป็นวาระระเบียบโลกที่กำหนดทิศทางความสัมพันธ์ตะวันตกกับโลกมุสลิมในอนาคต

 

“โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม” ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อการศึกษาและบริการข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในแวดวงการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในโลกมุสลิม โดยมุ่งผลิตผลงานวิชาการและสร้างองค์ความรู้ผ่านงานวิจัย บทความวิชาการ งานแปล การจัดเสวนาวิชาการ และภารกิจอื่น ๆ