Skip to main content

 

ปริทัศน์หะรอกะฮ์อิสลามียะฮ์ในตุรกี

ดร.ฆอซาลี  เบ็ญหมัด[1]

 

 

หะรอกะฮ์อิสลามียะฮ์  หรือกลุ่มอิสลามในตุรกีปัจจุบัน ที่สำคัญๆมีอยู่  3  กลุ่ม คือ กลุ่มอันนูร ของสะอีด  นูรซีย์ และกลุ่มสุลัยมานีย์  ของสุสัยมาน ฮิลมี โตนาคาน และกลุ่มอิสลามการเมือง 

หะรอกะฮ์อิสลามียะฮ์กลุ่มอัลนูร  เป็นกลุ่มลูกศิษย์ของสะอีด นูรซีย์ (ค.ศ. 1876-1960) ซึ่งเป็นบุคคลที่มีบทบาทด้านศาสนาอิสลามอย่างสูงคนหนึ่งในตุรกี  เป็นนักวิชาการด้านศาสนาอิสลามที่มีผลงานเขียนมากมาย รู้จักกันในนาม “เราะสาอิล อัลนูร” สะอีด นูรซีย์ เป็นผู้วิพากษ์สังคมการเมืองร่วมสมัยคนสำคัญคนหนึ่ง เพราะเชื่อว่าอิสลามเป็นศาสนาที่ครอบคลุมทุกด้านในชีวิตคน ทำให้โดนจำคุก เนรเทศ และถูกกักบริเวณในหลายๆครั้ง

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1950 เป็นต้นมา กลุ่มอันนูรมีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามกลุ่มอันนูรในยุคนี้ ไม่ได้มีลักษณะเป็นองค์กรที่ชัดเจน เป็นเพียงการร่วมมือกันทำงานของลูกศิษย์ ทำให้ภาวะการเป็นกลุ่มไม่ชัดเจนมากนัก ในช่วงปี ค.ศ. 1950 ลูกศิษย์บางกลุ่มสนับสนุนพรรคยุติธรรมของสุลัยมาน ดิมิเรล บางกลุ่มก็สนับสนุนพรรคระเบียบแห่งชาติ ของนัจมุดดีน อัรบะกาน  ภายหลังการเสียชีวิตของนูรซีย์ กลุ่มอันนูรก็แตกออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 4  กลุ่ม ได้แก่ 1)กลุ่มชูรอซึ่งเป็นกลุ่มหลัก  2) กลุ่มคัดลอกงานเขียนของนูรซีย์ด้วยลายมือ  3) กลุ่มหนังสือพิมพ์เอเชียใหม่  และ 4)กลุ่มกูเลน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสูงในกลุ่มอันนูร  แม้ว่าต่อมาในช่วงปลายทศวรรต 1970  กลุ่มนี้ได้แยกตัวออกจากมาต่างหากเพื่อดำเนินกิจกรรมเฉพาะด้านการศึกษาอบรมในฐานะศิษย์ของนูรซีย์ และไม่ขึ้นกับกลุ่มอันนูรอีกต่อไป

หะรอกะฮ์อิสลามียะฮ์ กลุ่มสุลัยมานีย์  ของสุสัยมาน  ฮิลมี โตนาคาน (ค.ศ. 1888-1959) ครูสอนศาสนาในโรงเรียนอิหม่ามและคอฏีบ ผู้ต่อต้านนโยบายของกามาล อะตาเติร์ก ในการล้มล้างบทบัญญัติคำสอนศาสนาอิสลามในรัฐ ได้ทุ่มเทความพยายามสอนลูกศิษย์ จนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ.1959  ปัจจุบันมีโรงเรียนเฉพาะในตุรกี จำนวนประมาณ  2,500  โรงเรียน มีสมาชิกกลุ่มประมาณ 2-4  ล้านคน มีสาขาอยู่ในประเทศเยอรมัน บัลแกเรีย โรมาเนีย และหลายประเทศในเอเชียกลางที่เป็นอดีตประเทศในกลุ่มสหภาพโซเวียต กลุ่มสุลัยมานีย์ เป็นกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง แม้ว่าหัวหน้ากลุ่มปัจจุบันก็เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตุรกี

          ส่วนกลุ่มอิสลามการเมืองนั้น ความจริงเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายสมัยออตโตมานแล้ว มีบทบาทในการทำปฏิกิริยาโต้ตอบการรุกรานของอารยธรรมตะวันตกรวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาความตกต่ำของสังคมมุสลิมในยุคนั้น หลังการล่มสลายของออตโตมาน ตุรกีเข้าสู่ยุคพรรคการเมือง ในช่วงแรกกลุ่มอิสลามเหล่านี้ไม่ได้ตั้งพรรคขึ้นมาโดยเฉพาะ แต่จะใช้วิธีสนับสนุนพรรคอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาในการต่อต้านพรรคกามาลิสต์และพรรคฝ่ายซ้าย มาจนถึงปี ค.ศ.1970 กลุ่มอิสลามกลุ่มนี้เข้าไปสังกัด พรรคยุติธรรมของสุลัยมาน ดิมิเรล ก่อนที่จะตั้งพรรคระเบียบแห่งชาติ ขึ้นมาเอง นำโดยนัจมุดดีน  อัรบะกาน ภายหลังจากที่เห็นว่าพรรคยุติธรรมไม่อาจต้านทานกระแสเซคคิวลาร์ได้ กลุ่มนี้ได้ประกาศตัวเป็นกลุ่มอิสลามการเมือง ใช้พรรคการเมืองเป็นกลไกในการทำงาน

          นัจมุดดีน อัรบะกาน เป็นสมาชิกคนหนึ่งของตอรีกัตนักชะบันดี  ผู้มีความเป็นอัจฉริยะด้านการศึกษามาตั้งแต่เด็ก สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเครื่องกลจากประเทศเยอรมัน เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีอิสตันบูล ได้จัดตั้งบริษัทผลิตเครื่องยนต์ดีเซล ให้แก่ตุรกี  อิรัก  ปากีสถาน อาเซอร์ไบจาน และอื่นๆ  ส่วนในด้านวิชาการอิสลาม อัรบะกานได้รับความรู้มาจากกลุ่มตอรีกัตนักชะบันดียะฮ์  ตำราของหะซัน บันนา ซัยยิด กุตบ์ และอบุลอะลา  อัลเมาดูดีย์ ซึ่งมีอิทธิพลเป็นอย่างสูงต่อแนวนโยบายของกลุ่มต่อการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เซคคิวลาร์หรือตอรีกัต

          รูปแบบการทำงานของกลุ่มการเมืองอิสลามภายใต้การนำของอัรบะกานต่างกับกลุ่มอื่นๆอย่างชัดเจน เพราะได้เรียนรู้ประสบการณ์ของกลุ่มอันนูร กลุ่มสุลัยมานีย์ กลุ่มซูฟีย์ รวมถึงกลุ่มอิควานมุสลิมีนในอียิปต์ และญะมาอัตอิสลามีย์ของปากีสถาน

          อัรบะกานได้ก่อตั้งพรรคการเมืองและถูกยุบพรรคหลายๆครั้ง จนล่าสุดได้ก่อตั้งพรรคชีวิตคุณภาพ(ริฟะฮ์) สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และชักนำรอญับ  ออร์โดฆาน เข้าสู่วงการเมือง เมื่อพรรคชีวิตคุณภาพถูกยุบ อัรบะกานถูกเว้นวรรคทางการเมือง แต่คณะของเขาก็ได้ก่อตั้งพรรคความสุขเกษม(สอาดะฮ์) ขึ้นมาใหม่ ออร์โดฆานก็เข้าร่วม แต่วิเคราะห์แล้วเห็นว่าแนวทางของพรรคยังยึดมั่นกับแนวทางเดิมที่ต้องจบลงที่การยุบพรรคอีก จึงร่วมกับสมาชิกพรรคบางส่วนออกมาจัดตั้งพรรคยุติธรรมและพัฒนา แนวคิดของออร์โดฆาน แตกต่างจากอัรบะกานผู้เป็นครู  ออร์โดฆานค่อนข้างเปิดกว้างและผ่อนปรนในการสานสัมพันธ์กับตะวันตก ยิว คริสต์ กลุ่มเซคคิวลาร์ชั้นนำ การรักษาจารีตประเพณีการปกครองแบบกามาลิสต์ การปกป้องสิทธิมนุษยชน  การเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป(อียู)  และเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ออร์โดฆานได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้นจนประสบความสำเร็จจนสามารถจัดตั้งรัฐบาล ปกครองตุรกียุคใหม่ให้เจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดในทุกๆด้าน  และสามารถเผชิญปัญหาท้าทายใหม่ๆได้อย่างน่าชื่นชม แม้ว่าจะยังคงถูกบางส่วนวิพากษ์ว่ายังไม่ใช่พรรคอิสลามก็ตาม แต่นักวิชาการอิสลามและสังคมมุสลิมโดยทั่วไปก็ยืนยันว่า ออร์โดฆานทำงานเพื่อมัศละฮะฮ์ (ผลประโยชน์ของสังคม) ของอิสลามและสังคมมุสลิมทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติในยุคนี้ตามกรอบและครรลองของสิยาสะฮ์ชัรอียะฮ์ (รัฐศาสตร์อิสลาม) และกรอบเฏาะรูเราะฮ์ (ความจำเป็น) ได้อย่างดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ท่ามกลางข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆทั้งภายในและภายนอกแล้ว แม้จะไม่เป็นไปตามมาตรฐานอิสลามที่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งหมด แต่ก็อยู่ในวิสัยความจำเป็นที่อิสลามให้โอกาสเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าอีก และเป็นวิวัฒนาการในการสถาปนาคำสอนอิสลามตามหลักอิสติฏออะฮ์ (การดำรงไว้ซึ่งคำสอนอิสลามเต็มกำลังศักยภาพที่มี) ดังที่ได้เกิดขึ้นในยุคต่างๆ เช่น การร่วมเป็นรัฐมนตรีของนบียูซุฟในระบบการปกครองของอียิปต์ หรือแม้กระทั่งในยุคการปกครองของท่านนบีมุฮัมมัด ศอลฯ  ยุคคอลีฟะฮ์อุมัร บินอับดุลอาซีซ ในระบบการปกครองของบนีอุมัยยะฮ์ หรือผู้นำมุสลิมในยุคต่อๆมาก็ตาม

_______________________________

 

[1] อาจารย์สาขาวิชากฎหมายอิสลาม คณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://assalam.space/article/islam/islamic_revivalist/harakah-islamiah-in-turkey/