Skip to main content

 

แผนผู้หญิงกับสันติภาพได้รับความเห็นชอบแล้ว

- - - - -

ฐิตินบ  โกมลนิมิ

 

 

นางรัตนา สัยยะนิฐี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสตรี กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ได้เห็นชอบร่าง “มาตรการและแนวปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง” แล้ว

 

โดยอนุวัตรตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1325 ประเทศไทยให้คำมั่นว่าจะพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านสตรี สันติภาพ และความมั่นคง ซึ่งจะมีผลให้หน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม โดยได้รับการสนับสนุนจาก UN Women

 

ทั้งนี้ “มาตรการและแนวปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง” ดังกล่าวมีวิสัยทัศน์ให้ “สตรีได้รับการปกป้อง คุ้มครองสิทธิ ได้รับความเป็นธรรมและเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในงานด้านสันติภาพและความมั่นคง” โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ข้อสำคัญคือ

 

(1) เพื่อให้สตรีได้รับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิจากปัญหาความขัดแย้งอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม

(2) เพื่อส่งเสริมบทบาทของสตรีในการสร้างสันติภาพและความมั่นคง

(3)เพื่อให้ภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา ประชาชน และผู้นำในพื้นที่ รวมทั้งสื่อมวลชน มีบทบาทปกป้อง คุ้มครองสิทธิสตรีและฟื้นฟูเยียวยาสตรีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้ง

(4) เพื่อให้มีกลไกในการจัดการความขัดแย้งและกระบวนการสร้างสันติภาพและความมั่นคง ทั้งในและต่างประเทศ

 

เป้าหมายหลัก 5 ข้อคือ

----

(1) สตรีมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในทุกขั้นตอนและทุกระดับ

(2) สตรีในพื้นที่สถานการณ์ความขัดแย้งได้รับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิ

(3) ภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา ประชาชน ผู้นำในพื้นที่และสื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพและความมั่นคง

(4) มีกลไกส่งเสริมให้สตรีมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้งและกระบวนการสร้างสันติภาพ

(5) มีฐานข้อมูลกลางด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงที่เป็นระบบ ทันสมัย เข้าถึงง่าย

 

อนึ่ง ความที่รัฐบาลไทยไม่สามารถยอมรับว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “ความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธ” (Arm conflict) ยอมรับเป็นเพียง “เหตุการณ์ความไม่สงบ” แม้ความขัดแย้งและรุนแรงดังกล่าวเป็นความขัดแย้งที่ทำให้ถึงตายมีผู้เสียชีวิตเกือบ 7,000 คนตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ทำให้คณะรัฐมนตรีไม่สามารถออกมติครม. เป็น (ร่าง) “ยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านสตรี สันติภาพ และความมั่นคง” ที่สอดคล้องตามตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1325 ได้ จึงลดทอนลงเป็นเพียง “มาตรการและแนวปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง” ภายใต้ คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) แม้จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการขับเคลื่อนก็ตาม