Skip to main content
สมัชชา นิลปัทม์
อาจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
รองผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
 

            ความรุนแรงแบบยืดเยื้อเรื้อรัง (Protracted Violence) ในพื้นที่ความขัดแย้งนั้นสร้างผลกระทบและความสูญเสียต่อชีวิตของพลเรือนและผู้คนสามัญสามัญอย่างถึงที่สุด ความชอบธรรมของการเรียกร้องหาความสันติของพวกเขาจึงมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม หากแต่เครื่องมือใดเล่าที่จะสามารถนำมารับใช้ความต้องการของพวกเขาอย่างทรงพลัง จากคำถามพื้นฐานเหล่านี้ นำมาสู่การเขียนบทความชิ้นนี้โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ 1) การศึกษาทบทวนการสื่อสารภาคพลเมืองของประเทศศรีลังกา ภายหลังความขัดแย้งยุติลงในห้วงปี 2552 ในการทำหน้าที่เปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่สันติภาพ 2) การสำรวจนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองการสื่อสารภาคพลเมืองในสถานการณ์การสร้างสันติภาพ (Peacebuilding) อันเป็นห้วงเวลาต่อเนื่องในช่วงหลังความขัดแย้ง (Post–conflict) เป็นความจงใจของผู้เขียนต่องานชิ้นนี้ก็คือการถอดบทเรียนและความคิดของ ซันจานา หัตโถธุวะ นักกิจกรรมเคลื่อนไหวด้านสื่อเพื่อการสร้างสันติภาพแห่งประเทศศรีลังกาที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการนำนวัตกรรมการสื่อสารพื้นฐานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในยุคสื่อใหม่ ในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง (Conflict Transformation) โดยจะเริ่มจากการปูพื้นฐานความขัดแย้งในศรีลังกา จนถึงบทบาทของนวัตกรรมของการสื่อสารภาคพลเมืองเพื่อการสร้างสันติภาพ ตามลำดับ

ศรีลังกา: ความขัดแย้งและการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง

            ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาเป็นประเทศเกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ นอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของอนุทวีปอินเดีย "ซีลอน" เป็นชื่อที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม กระทั่งถึง พ.ศ. 2517 มีพรมแดนทางทะเลติดต่อกับอินเดียทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและมัลดีฟส์ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ศรีลังกาเป็นประเทศที่สวยงาม ธรรมชาติยังคงบริสุทธิ์ มีประวัติศาสตร์ของการเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ประชากรหลักของประเทศประกอบด้วยสองเชื้อชาติหลักคือ ชาวสิงหลและชาวทมิฬ เข้ามาตั้งรกรากประมาณ 500 ปีและ 300 ปี ก่อนคริสตกาลตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ชาวสิงหลอาศัยอยู่ทางใต้ด้านเมืองแคนดี ขณะที่ชาวทมิฬอาศัยทางตอนเหนือบริเวณคาบสมุทรจัฟฟ์นา

ภาพที่ 1 แผนที่ประเทศศรีลังกาและพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างปี 2526 – 2552

 

  • ประชากร 20.48 ล้านคน (2556) ประกอบด้วยชาวสิงหล ร้อยละ 74 ชาวทมิฬ ร้อยละ 18 ประชากรมุสลิม (แขกมัวร์และชาวมาเลย์) ร้อยละ 7 และอื่น ๆ ร้อยละ 1
  • ภาษาที่ใช้ ภาษาสิงหลเป็นภาษาราชการและภาษาประจำชาติ (ร้อยละ 74) ภาษาทมิฬเป็นภาษาราชการเช่นกัน (ร้อยละ 18) ภาษาอังกฤษใช้ติดต่อสื่อสารทั่วไปในภาครัฐ และประชากรประมาณร้อยละ 10 สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ
  • ศาสนา ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ร้อยละ 70 ศาสนาฮินดู ร้อยละ 15 ศาสนาคริสต์ ร้อยละ 8 และศาสนาอิสลาม ร้อยละ 7 (กรมเอเชียใต้ กระทรวงการต่างประเทศ, 2558, พฤศจิกายน)

ความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬ

            ความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬมีมาเป็นเวลานับศตวรรษ ตั้งแต่สมัยยุคอาณานิคมกระทั่งเกิดผลต่อเนื่องภายหลังได้รับเอกราชในปี 2491 โดยชาวทมิฬต้องการที่จะแยกดินแดนทางภาคเหนือและตะวันออกของประเทศตั้งเป็นมาตุภูมิทมิฬ จึงได้ก่อตั้งกลุ่มพยัฆทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam: LTTE) เพื่อเป็นกองกำลังในการต่อสู้กับรัฐบาล โดยใช้วิธีการก่อการร้าย ระเบิดพลีชีพ[1] และการลอบสังหาร โดยพุ่งเป้าไปที่หน่วยทหาร ผู้นำทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่นชาวสิงหล

            กระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาลสิงหลกับกลุ่มกลุ่มพยัฆทมิฬอีแลมดำเนินมาตั้งแต่ปี 2543 โดยมีนอร์เวย์เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย (mediator) จนมีการลงนามในปี 2545  ซึ่งตามมาด้วยการเจรจาสันติภาพที่มีการประชุมมาทั้งหมด 8 ครั้ง ครั้งสุดท้ายจัดขึ้นเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2549 ที่นครเจนีวา แต่ก็ไม่ปรากฏผลที่สำคัญใดๆ จนกระทั่งประธานาธิบดีมหธาราชปักษี ซึ่งได้รับการเลือกตั้งมีนโยบายปราบปรามกลุ่ม LTTE อย่างเด็ดขาด โดยยกเลิกข้อตกลงหยุดยิงเมื่อเดือนมกราคม 2551 และเปลี่ยนมาใช้มาตรการทางทหารจัดการกับกลุ่ม LTTE จนสามารถประกาศชัยชนะเหนือกลุ่ม LTTE เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 หลังจากที่กองทัพศรีลังกาสามารถสังหารนายผู้นำของกลุ่ม LTTE ได้สำเร็จ ถือเป็นการสิ้นสุดการสู้รบภายในประเทศ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากทางเชื้อชาติระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬที่ดำเนินมาเกือบ 30 ปี[2] แม้ว่าการกวาดล้างกลุ่ม (LTTE) ในช่วงเวลาที่เสื่อมถอยของกลุ่มดังกล่าวจะมีในการชอบธรรมต่อการใช้กำลังเพื่อยุติปัญหาได้อย่างรวดเร็วฉับพลัน แต่ในด้านกลับของวิธีการเช่นนี้จะเห็นได้ว่า "รากเหง้า" ของความขัดแย้งดังกล่าว โดยเฉพาะความขัดแย้งทางชาติพันธุ์จะยังคงดำรงอยู่โดยยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งไม่สามารถที่จะสร้างหลักประกันความ "ยั่งยืน" ของการแก้ปัญหาเช่นนี้ได้ในอนาคต  

ความขัดแย้งของศรีลังกาภายหลังการสู้รบ

            สถานการณ์ของศรีลังกาในขณะนี้ถือว่าอยู่ในช่วงที่เรียกว่า “หลังความขัดแย้ง” (Post conflict) ซึ่งอยู่ในช่วงที่เรียกว่าการฟื้นฟูและสร้างสันติภาพ (Peacebuilding) โดยมีรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจคือ ชัยชนะของรัฐบาลศรีลังกาที่สามารถปราบปรามกลุ่ม LTTE ได้อย่างราบคาบ ยังเป็นการแค่ความพยายามที่จะยุติความรุนแรงในสถานการณ์ความขัดแย้งระดับกายภาพหรือที่เรียกว่า “สันติภาพเชิงลบ” (Negative Peace) แต่กระบวนการสันติภาพซึ่งเป็นแนวทางการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง (Conflict Transformation) ด้วยสันติวิธี โดยเปลี่ยนจากการใช้ความรุนแรงมาสู่แนวทางทางการเมืองคือความพยายามในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่สันติภาพที่ยุติธรรมและยั่งยืนกว่าหรือที่เรียกว่า “สันติภาพเชิงบวก” (Positive Peace) จะถูกสร้างขึ้นได้อย่างไร (ฟารีดา ปันจอร์, 2558) สังคมหลังความขัดแย้งจึงมีความต้องการเปลี่ยนผ่านโดยไม่ต้องกลับไปเผชิญกับความรุนแรงอีก ความต้องการในการสร้างสันติภาพเพื่อการถักทอและฟื้นฟูสายสัมพันธ์ใหม่หลังจากที่สงครามได้แยกทุกฝ่ายออกจากกัน (Berghof Foundation, 2012)

บทบาทและที่ทางของสื่อในกระบวนการสันติภาพ

            "ในความขัดแย้งระยะยาว สื่อมักเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งและไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา"

            ข้อถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ต่อบทบาทของสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้งมีมาอยู่เสมอ เกรแฮม สเปนเซอร์ (Graham Spencer) นักวิชาการด้านสื่อมวลชนศึกษาจากมหาวิทยาลัยพอร์ธสมัธ (University of Portsmouth) สหราชอาณาจักร เขียนในหนังสือชื่อ The Media and Peace: From Vietnam to the ‘War of Terror เสนอว่าสื่อเพื่อสันติภาพตั้งคำถามกับการนำเสนอข่าวความขัดแย้งของสื่อมวลชนกระแสหลัก ซึ่งปัญหาใหญ่ก็คือการรายงานข่าวนั้นมักจะไม่มีความรอบด้านและอาจส่งผลให้ความขัดแย้งนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้น สื่อมักจะมุ่งรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มชนชั้นนำและผู้มีอำนาจและมักไม่ค่อยเปิดพื้นที่ให้กับวาทกรรมทางเลือกที่อยู่นอกวงจรของอำนาจ  ซึ่งตลอดความขัดแย้งอย่างยาวนาน สื่อจะให้ความความสำคัญเฉพาะบางช่วงบางตอนที่เห็นว่าจะเป็น "ประเด็นข่าว" ได้เท่านั้น (ดูภาพที่  2)

ภาพที่ 2 แสดงความสนใจของสื่อกระแสหลักที่มีต่อประเด็นความขัดแย้งแตกต่างกัน[3]

            นอกจากนี้เขายังได้วิพากษ์วิจารณ์สื่อว่ามักจะนำเสนอภาพความขัดแย้งในลักษณะเป็นขั้วตรงข้ามที่เป็นแบบได้หมดหรือเสียหมด (a zero-sum political game)  การนำเสนอภาพความขัดแย้งในลักษณะที่เป็นสองขั้วตรงข้ามทำให้การแสวงหาข้อตกลงร่วมกันทำได้ยากและทำให้เกิดความเข้าใจว่าความขัดแย้งนั้นมีเพียงคนสองกลุ่มนี้เท่านั้น สเปนเซอร์มองว่าปัญหาสำคัญอยู่ที่อคติในทางวิชาชีพและทัศนคติความเชื่อขององค์กรที่มักจะผลักให้ความขัดแย้งนั้นขยายตัว เขากล่าวว่าสื่อมวลชนจำเป็นต้องตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ของตนกับอำนาจและท้าทายต่อความคิดดั้งเดิมของวิชาชีพและควรตั้งคำถามต่อเรื่องความเป็นภววิสัย (objectivity) อันเป็นหลักคิดหลักของนักวารสารศาสตร์ (Spencer, 2008 เรื่องเดียวกัน)

            เขาระบุว่าสื่อมวลชนนั้นต้องมีความรับผิดชอบในทางศีลธรรมอันดับแรกในฐานะมนุษย์ในการที่จะช่วยลดหรือหยุดยั้งความรุนแรง ส่วนความรับผิดชอบในฐานะของสื่อมวลชนนั้นเป็นความรับผิดชอบที่รองลงมา คำถามของสเปนเซอร์ในประเด็นนี้จึงถือได้ว่าเป็นการยืนยันบทบาทของสื่อมวลชนในฐานะของพวกมนุษยนิยม ที่ต้องเผชิญและดำรงอยู่กับปรากฏการณ์ของความขัดแย้งซึ่งอาจถือเป็นมุมมองใหม่และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ของการสื่อข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งมุ่งเน้นไปที่การให้ความหมายของ “สันติภาพ” มากกว่าการให้ความหมายของ “สงคราม” (Spencer, 2008 เรื่องเดียวกัน)

            ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การขจัดความขัดแย้งไปให้หมดสิ้น แต่อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้การถกเถียงโต้แย้งนั้นทำได้อย่างสันติ  สิ่งสำคัญที่นักข่าวสันติภาพพึงจะทดลองทำก็คือ การนำเอาตัวแสดงอื่นๆ เข้ามาในการรายงานข่าวเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับมุมมองที่แตกต่าง  ซึ่งจะทำให้เกิดภาพของปัญหามีความลุ่มลึกมากกว่าเป็นเพียงแค่ความขัดแย้งสองขั้วแบบหยาบๆ  การทำเช่นนี้จะนำไปสู่การก้าวข้ามการมองว่าใครกำลังได้เปรียบ ใครกำลังเสียเปรียบ ไปสู่การพิจารณาเรื่องราวว่าเป็นการพูดคุยเจรจาที่มีความสมดุลซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้ง   (Spencer 2008: 180 – 182)

            ในกรณีของประเทศศรีลังกาก็เช่นกันที่ประสบปัญหาของสื่อกระแสหลักในประเทศไม่สามารถแสดงบทบาทของสื่อมวลชนได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะประเด็นของการเป็นเวทีทางความคิด (Platform) เพื่อถกเถียงกันในพื้นที่สาธารระอย่างมีเหตุผล จนกระทั่งพบการขยายตัวของสื่อภาคพลเมืองจำนวนหนึ่ง ที่สามารถแสดงบทบาทได้มีนัยสำคัญของศรีลังกา ซึ่งจะขอยกตัวอย่างผ่านโครงการที่ชื่อ ICT4Peace และเวบไซต์ที่ชื่อ Groundview

โครงการ ICT4Peace

            ICT4Peace คือโครงการโดยมูลนิธิส่งเสริมสันติภาพในเจนีวา (ICT4Peace foundation) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หรือ www.ict4peace.org  มีบทบาทหน้าที่ในการสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพในพื้นที่ความขัดแย้ง เพื่อสนับสนุนปฏิญญาสังคมข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีสาระในพันธกรณีแห่งตูนิส (Tunis Commitment) ย่อหน้าที่ 36[4] เพื่อสร้างยุทธศาสตร์นำร่องและนำ ICT มาใช้เพื่อการป้องกัน เตือนภัย และจัดการความขัดแย้ง โดยมีโครงการที่ดำเนินการอยู่ในหลายประเทศ

 

แผนภาพที่ 3 เวบไซต์มูลนิธิส่งเสริมสันติภาพในเจนีวา  www.ict4peace.org

            เมื่อกล่าวไปถึง ICT4Peace ในประเทศศรีลังกา มีความจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึง บทบาทของนักกิจกรรมสื่อภาคพลเมืองที่สำคัญและน่าจับตามองคนหนึ่ง ก็คือ ซันจานา หัตโถธุวะ (Sanjana Yajitha Hattotuwa : 1977 ปัจจุบัน) โดยในส่วนนี้จะกล่าวถึงบทบาทของเขาและตัวงานซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ  ICT4Peace

            ซันจานา เป็นชาวสิงหล - ศรีลังกา มีพื้นฐานการศึกษาด้านวรรณคดีอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยเดลลี ประเทศอินเดีย ก่อนจะจบการศึกษาสาขา International Studies ด้านการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งและสิทธิมนุษยชนจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย

            ซันจานาร่วมงานในฐานะนักวิจัยให้กับศูนย์ศึกษานโยบายทางเลือก (Centre for Policy Alternative : CPA) มาตั้งแต่ปี 2544 นับตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษของมูลนิธิส่งเสริมสันติภาพในเจนีวา (ICT4Peace foundation) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อีกทั้งยังทำงานขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการวิกฤติและการรักษาสันติภาพให้กับองค์การสหประชาชาติ ในปี 2553 เขาเป็นชาวศรีลังกาคนแรกที่ได้รับทุน TED Fellowship และทุนด้านการเป็นผู้ประกอบการข่าวสารและความรู้จากมูลนิธิ Ashoka (Ashoka Foundation News & Knowledge Fellow 2008 - 2011)

            ซันจานา เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านสื่อภาคพลเมืองและสื่อใหม่อย่างแข็งขัน เขายังเป็นนักออกแบบการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่และสนใจศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับระบบนิเวศของสื่อมวลชนในการสร้างสันติภาพ การแก้ปัญหาความขัดแย้งและการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่สันติภาพ หนึ่งในโครงการที่น่าสนใจของเขาคือ เว็บไซต์สื่อชุมชนเพื่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในศรีลังกา และโครงการ ICT4Peace[5]         

            นอกจากนี้เขายังนิยามตัวเองและโน้มน้าวผู้อื่นว่าการเข้ามาจัดการความขัดแย้งจะต้องจะมีส่วนผสมของนักวิชาการและนักปฏิบัติเข้าด้วยกันซึ่งเขาเรียกว่า Pracademic โดยมาจากการสนธิคำสองคำเข้าด้วยกัน (practitioner+academic) นั่นเอง (ในวงเล็บเป็นข้อสังเกตของผู้เขียน)

ภาพที่ 4 ซันจานา หัตโถธุวะ

 

ภารกิจเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งและฟื้นฟูสังคมหลังสงคราม

         “เราจะต้องดึงคนที่พูดคุยสื่อสารกันในสื่อ ออกมาเจอกันในทางกายภาพด้วย[6]

         ความขัดแย้งยืดเยื้อยาวนานในศรีลังดำเนินต่อเนื่องจนเรียกได้ว่าเป็นความขัดแย้งยืดเยื้อเรื้อรัง (Protracted Violence) ทั้งยังเป็นความขัดแย้งแบบถึงตาย (Deadly Conflict) กระทั่งปี 2552 ที่ความขัดแย้งยุติลง แต่ผลพวงอันต่อเนื่องจากสงคราม ความเกลียดชังและความขัดแย้งยังคงมีอยู่ในจิตใจของผู้คน ซันจานา ระบุว่ากรณีเช่นนี้มีความจำเป็นที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความขัดแย้ง จะต้องรู้จักศึกษาศิลปะของการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง

         ผู้เขียนมีโอกาสได้ฟังทัศนะของ ซันจานา ครั้งหนึ่งเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2557 ในปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ระหว่างสองทางเลือกอันเป็นหายนะ : การใช้ศักยภาพของสื่อใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง (Between Scylla and Charybdis : Harnessing the Potential of New Media for Conflict Transformation) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยเขากล่าวว่า

            "หลังจากปี 2009 หลังสงครามสิ้นสุดลงในศรีลังกา ดูเหมือนว่าเรากำลังมีอนาคตที่ค่อนข้างสดใส เนื่องจากเรามีความเบิกบานแบบนี้ แต่เราต้องตระหนักด้วยว่า ความขัดแย้งและความเกลียดชังยังคงอยู่ในจิตใจของใครหลายคน เราจะต้องศึกษาศิลปะของการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง"  (เหมือนฝัน เรณุมาศ และ อิมรอน ซาเหาะ, 2557)

         ศิลปะที่ว่านี้หมายถึง การแสวงหาวิธีการที่แนบเนียนเหมาะที่ทำให้ผู้คนได้เข้ามาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน นัยว่าเป็นการถักทอสายสัมพันธ์ของผู้คนเสียใหม่ เพื่อฟื้นฟูสังคมจากสงครามความขัดแย้งทางชาติพันธุ์อันต่อเนื่องยาวนาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อช่วยจัดการความขัดแย้ง ซันจานา เสนอว่า มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือสองอย่างเข้ามาใช้คือการใช้ "สื่อ" และการใช้ "เทคโนโลยี" ด้านการสื่อสารเข้ามาช่วยในการจัดการความขัดแย้ง ซึ่งแม้ว่าสำหรับงานในภาคประชาชน การใช้สื่อเป็นสิ่งที่เหนื่อยยาก แต่ได้ผลในการที่ทำให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองจากหลายฝ่ายในเรื่องกระบวนการสันติภาพ

         จุดเน้นที่สำคัญของการใช้ "สื่อ" และ "เทคโนโลยี" ด้านการสื่อสารมาใช้ก็คือ นักปฏิบัติการจะต้องสังเกตความเป็นไปของสังคม จะต้องจับตา (monitoring) ความเปลี่ยนไปของสังคม กระบวนการสร้างสันติภาพในความหมายของซันจานา คือ “การใช้ชีวิต” โดยเขานำวรรคทองของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์ นักเคลื่อนไหวผิวสีชาวอเมริกันที่ว่า “If a man hasn't discovered something that he will die for, he isn't fit to live” ซันจานา เขาจึงนำมาคิดว่ากระบวนการสร้างสันติภาพในความหมายนี้ นั่นก็คือ  I’m interest in what the people to live for and these are the stories”[7] (Hattotuwa, 2015, Nov 1)

         โดยเขาระบุว่า ประเทศอย่างศรีลังกาที่เคยมีการใช้ระเบิดพลีชีพเป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลก ระบบเหตุผลของสังคมจะต้องได้รับการรื้อฟื้น ฉะนั้นการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่สันติภาพจะต้องเน้น "การสื่อสาร"  คือพูดคุยระหว่างผู้คนในประเทศที่เกิดความขัดแย้งให้แปรเปลี่ยนไปสู่ทิศทางบวก ทั้งนี้ต้องทำให้การ "พูดคุย" มีคุณภาพมากพอที่ดึงผู้คนที่สนทนาถกเถียงในพื้นที่สื่อ (online) เข้ามาสนทนาอย่างมีเหตุผลและอดทนอดกลั้นในพื้นที่จริง (offline) ได้ด้วย

ภาพที่ 5 วรรคของมาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์ นักเคลื่อนไหวเพื่อชนผิวสี ชาวแอฟริกัน อเมริกัน

สื่อใหม่, เสรีภาพการสื่อสาร, ฉันทามติ[8]

            “เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หล่อหลอมทัศนคติของเราได้ด้วยเช่นกัน ทั่วโลกมีการเข้าเฟสบุ๊ค และทวิตข้อมูลกันจำนวนหลายล้านคน กว่า 100 ล้านเทราไบต์ต่อวัน เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า คนทั่วทุกมุมโลกกำลังตื่นตัวที่จะเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ แล้วการส่งผ่านข้อมูลจำนวนมากนี้”[9]

         ประเด็นสำคัญที่ซันจานาให้ความสนใจมากคือการที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจการใช้ "สื่อใหม่" (New Media) เพื่อนำมาใช้ในการจัดการความขัดแย้งอย่างมีคุณภาพ ข้อเสนอของเขาน่าสนใจโดยระบุว่า มีความจำเป็นที่ภาคพลเมืองจะต้องทำคว่ามเข้าใจเรื่อง "สื่อใหม่" เป็นโอกาสสำคัญของภาคประชาชนในการทำหน้าที่เพื่อสืบค้นงานวิจัยและแบ่งปันเรื่องราวความเป็นจริง ศักยภาพของสื่อใหม่มีศักยภาพของการสร้าง "ฉันทามติ" (Consensus) ต่อประเด็นถกเถียงต่างๆ ในสังคม ความจำเป็นของการมีเสรีภาพทางการสื่อสารนั้น จะนำไปสู่ฉันทามติที่ดีต่อเรื่องต่างๆ แต่กระนั้นการใช้สื่อใหม่ ก็เป็นการท้าทายต่อรัฐบาลของศรีลังกาซึ่งไม่ได้คิดเช่นนั้น ในทางกลับกันได้พยายามหาทางที่จะเซ็นเซอร์ข้อมูลบางอย่างที่คิดว่าเป็นภัยต่อรัฐบาล

         ข้อค้นพบของซันจานาในห้วงของการเปิดเว็บไซต์ให้คนมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและสื่อภาคพลเมืองนั้นพบว่าช่วงก่อนสงครามจะยุติ ความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬ รวมทั้งมีแนวคิดเหยียดชาติพันธุ์ ศาสนา ทำให้เขาต้องดูแลตรวจสอบและกรองข้อความแสดงความคิดเห็นเองทุกๆ วัน โดยคัดกรองเรื่องที่เป็นอันตรายจริงๆ ตามนโยบายของเว็บ หรือเรื่องที่ผิดกฎหมาย เช่น การหมิ่นประมาท ขู่ฆ่า นัดกันก่อความรุนแรง ฯลฯ ท้ายที่สุดก็พบว่า ในสังคมออนไลน์หรือสังคมโลกจริงต่างก็ต้องเรียนรู้ที่จะจัดการและอยู่ร่วมกับความเห็นต่าง โดยถือเป็นเรื่องปกติ ถ้ามีพื้นที่เปิดทางการเมืองบนสื่อ ใครๆ ก็สามารถพิมพ์แสดงความคิดเห็นเข้าไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องยอมรับความคิดเห็นที่อ่านดูก็รู้ว่าเป็น "ตัวป่วน" ซันจานายังพบว่า ในพื้นที่สาธารณะเช่นนี้ ยังมีคนอื่นๆ ที่ยังรักษาบรรยากาศการสนทนาด้วยเหตุด้วยผลก็สามารถคุยกันต่อได้ โดยเมื่อเทียบกับสังคมปกติ เราก็มีพวกตัวป่วนแบบนี้ ก็ขอให้ถือว่าเป็นบทเรียนว่าการสร้างสันติภาพ การอยู่ร่วมกับความหลากหลายเราต้องมีความอดทนกับสิ่งที่เราไม่ชอบหรือไม่เห็นด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องทนถ้าทำผิดกติกามากๆ ผู้ใช้คนอื่นอาจจะรายงานให้บล็อค หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ถ้าเป็นเรื่องผิดกฎหมายก็ได้ (จุฑิมาศ สุกใส, 2557, 1 พฤศจิกายน)

         พื้นที่ของความแตกต่างหลากหลายเช่นนี้ จึงเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญมากต่อการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งในการยอมรับความแตกต่างของผู้คน การยอมรับกติกา การยอมรับเหตุและผล ซึ่งถือเป็นทักษะของการสื่อสาร ซึ่งนำมาสู่การสร้างฉันทามติที่แท้จริงในอนาคต

"เหยื่อ" ก็เป็น "ผู้กระทำ" ในการแก้ไขความขัดแย้งได้

         การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ข่าวสารในยุคที่มีสื่อใหม่ก็คือบทบาทของผู้รับสารที่เคยเป็นฝ่ายตั้งรับ (Passive) ให้สามารถสลับบทบาทให้มาเป็นผู้ส่งสารที่กระตือรือล้น (Active) ผ่านการเสริมความเข็มแข็งและเสริมสร้างศักยภาพในภาคประชาชน บทบาทของ ICT4Peace คือการมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ผู้คนทั่วไป ต่างใช้สื่อสังคมในการสื่อสาร โดยใช้เทคโนโลยีจนทำให้เราสามารถเห็นโลกในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลย เราไม่เคยเห็นข้อมูลข่าวสารของโลกกว้าง แต่สื่อใหม่ทำให้เราเห็น และความสามารถที่สำคัญของสื่อใหม่ ที่สร้างสำนึกใหม่ให้กับผู้คนก็คือ หารสร้างข้อมูลของเรามาแบ่งปัน (แชร์) ต่อให้คนอื่นๆ รอบโลกได้อ่าน

         ในกรณีผู้ที่เป็นเหยื่อของความขัดแย้ง จึงไม่เพียงแค่เป็น "เหยื่อ" อีกต่อไป หากพวกเขามีศักยภาพในการที่จะสื่อสารและใช้สื่อใหม่ในสถานการณ์ความขัดแย้งได้  ก็สามารถที่จะพลิกบทบาทในฐานะผู้ถูกกระทำทำหน้าที่เป็นตัวกระทำการในการแก้ไขความขัดแย้งได้ด้วย ด้วยการใช้เทคโนโลยีในการเขียนเล่าเรื่องราวของตัวเอง เสนอเรื่องราวเพื่อให้ได้ข้อคิดเห็นหลากหลายมาช่วยจัดการความขัดแย้งนั้นๆ ข้อค้นพบที่สำคัญจากการทำงานของเขาพบว่า ในปี 2554 ชาวศรีลังกาใช้โทรศัพท์มือถือถึงร้อยละ 82 ขณะที่คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น การขยายตัวของโทรศัพท์มือถือเช่นนี้สามารถเอื้อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในพื้นที่ความขัดแย้ง โดยสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานต่อเหตุการณ์ความขัดแย้งต่างๆ ได้ เพียงแค่เป็นโทรศัพท์ที่อยู่ในมือเรา[10] แนวคิดที่ว่านี้ ซันจานา เสนอว่า เราสามารถที่จะใช้อุปกรณ์พื้นฐานที่ไม่ต้องลงทุนสูงก็สามารถที่จะนำมาใช้งานได้แล้ว รวมไปถึงจะช่วยก่อรูปก่อร่างสันติภาพให้เกิดขึ้นในความรู้สึกของผู้คนด้วย

ภาพที่ 6 ปริมาณการใช้โทรศัพท์มือถือของประชาชนศรีลังกา

เปิดพื้นที่เพิ่มเสียงให้ 'คนชายขอบ' นิยามตนเอง

         งานของ ICT4Peace ที่ปรากฏในเวบไซต์ www.grounviews.org ซึ่งเผยแพร่ด้วยภาษาอังกฤษ และเวบไซต์ http://www.vikalpa.org/ ซึ่งสื่อสารด้วยภาษาสิงหลและทมิฬ ถือเป็นพื้นที่กลางและเวทีสาธาณะ (platform) เพื่อหารูปแบบการสื่อสารที่เหมาะสมกับคนที่เราต้องการคุยด้วยและเปิดโอกาสให้ผู้คนในช่วงของการฟื้นฟูสังคมและสร้างสันติภาพ ได้มีส่วนร่วมในการสื่อสาร การสร้างเนื้อหา สร้างเรื่องเล่าของตนเอง การนิยามตนเองว่าเขาเป็นใคร

         ซันจานา ได้ให้สัมภาษณ์กับ จุฑิมาศ สุกใส[11] ในเวบไซต์ http://www.deepsouthwatch.org  ที่ปัตตานีว่า เมื่อพื้นที่เวทีๆ บรรจุเรื่องราวของผู้คนเช่นนี้ ช่วยตอบคำถามของผู้คนธรรมดาว่าพวกเขาต้องการอะไร ศักยภาพอันหนึ่งได้เปิดเผย "อัตลักษณ์" ที่ถูกกดทับไว้อย่างยาวนานเป็นสิ่งที่มีพลังมาก การที่เล่าเรื่องและเผยแพร่เรื่องของตนเอง เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและมีพลัง โดยเฉพาะคนชายขอบ คนที่คุยเป็น “เหยื่อ” ในสังคม ที่ไม่ค่อยมีปากเสียง และมีคนพูดแทนพวกเขาตลอดเวลา เรื่องเล่าช่วยทำลาย “มายาคติ” และทำให้เราเห็นมุมมองที่แตกต่างจากการเล่าเรื่องกระแสหลัก ซึ่งบางทีก็เป็นเหยื่อของการนำเสนอแบบผิวเผินที่อาจตอกย้ำอคติ อาจจะไม่ถึงขนาดสร้างความเกลียดชัง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้จักเพื่อนร่วมสังคมของเราอย่างลึกซึ้ง ไม่ทำให้เราสัมผัสถึงความแตกต่างหลากหลายในสังคมของเรา การเปิดพื้นที่สื่อใหม่เพื่อเข้าไปทำความรู้จักกับความหลากหลาย จึงเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างสังคมที่อดทนต่อความเห็นต่าง ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และเคารพความเป็นมนุษย์

ใช้ 'ภาพถ่าย' แทนการเเขียนเพื่อขับเคลื่อนประเด็น

         ความยากลำบากประการหนึ่งของแอคทิวิสต์สื่อสารในพื้นที่ความขัดแย้ง โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาก็คือการเสริมสร้างให้ผู้คนสามารถ "เขียน" และเล่าเรื่องได้ ข้อเสนอของซันจานาที่น่าสนใจก็คือเทคโนโลยีสื่อใหม่ ไม่ได้มีเพียงการนำเสนอด้วยการเขียนเท่านั้น แต่ยังเครื่องมืออีกหลากหลายที่ช่วยในการสื่อสารได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ "ภาพ" เขาเล่าว่าหากเราลองไปดูโครงการภาพถ่ายเล่าเรื่องในอินสตาแกรมที่ดังๆ ก็จะเป็นเรื่องเล่าของคนธรรมดาๆ ที่เราเคยคิดว่าใครจะไปสนใจ แต่จริงๆ แล้วโครงการภาพเล่าเรื่อง หรือวิดีโอเล่าเรื่องที่จับภาพชีวิตคนธรรมดาดังมาก เช่น โครงการ Humans of New York  ก็ได้  http://www.humansofnewyork.com/ หรือในอินสตาแกรมก็มีตัวอย่างหลายราย

         "เรื่องในมุมมองที่น่าสนใจของคนธรรมดา ทุกคนมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจเพียงแต่รอการบันทึกและการถ่ายทอดอยู่ วิธีนี้เป็นการสร้างพลังให้กับคนธรรมดาๆ และทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจและเข้าถึงเรื่องราวความเป็นมนุษย์ได้มากขึ้น ถ้าทำในอินสตาแกรมแล้วคนแชร์มากๆ ก็ยิ่งเป็นการประชาสัมพันธ์เรื่องที่เราอยากจะสื่อสารไปในตัว" (เน้นโดยผู้เขียน)

         ภาพถ่ายในสื่อใหม่ยังสามารถพลิกแพลงเพื่อใช้ในการรณรงค์ขับเคลื่อนทางสังคมได้อีกมาก ซันจานาได้ยกตัวอย่างโครงการภัณฑารักษ์หมุนเวียน ในอินสตาแกรม (INstagram.com) ว่าแค่เปิดอินสตาแกรมอันหนึ่ง แล้วก็เริ่มถ่ายรูปที่สะท้อนปรากฏการณ์เชิงประเด็นของคุณสักสองสัปดาห์ โดยอาจจะมีการคุยเพื่อตระเตรียมกระบวนการและประเด็นกันว่าเราจะถ่ายภาพเชิงประเด็นอะไร แล้วจึงให้เขียน เขียนคำบรรยาย ติดแฮชแท็ก (hashtag : #) ที่กำหนดร่วมกัน พอครบสองอาทิตย์ แล้วก็เอาชื่อผู้ใช้กับรหัสผ่านส่งต่อให้คนอื่น ๆ ที่เข้าร่วมโครงการภัณฑารักษ์หมุนเวียนไปถ่ายรูป เขียนคำบรรยายต่อ พอจบโครงการ ก็จะได้ภาพเเละเรื่องเล่าจากที่ต่างๆ ที่เชื่อมร้อยหัวข้อที่กำหนด หรือจะให้คนอื่นถ่ายภาพไว้ที่แอคเคาท์ของเขาเองแล้วติดแฮชแท็กที่คุณกำหนดก็ได้เหมือนกัน วิธีการเช่นนี้น่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นวิธีการที่ใช้ทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี ให้สามารถมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดเรื่องเล่าหรือประสบการณ์ในชีวิตประจำวันผ่านภาพ ซึ่งเหมาะกับกรณีที่เราอยากดึงให้คนที่มีปัญหาเรื่องการเขียน หรือไม่สามารถหาเครื่องมือและตัดต่อวิดีโอได้คล่องให้เข้ามามีส่วนร่วมสื่อสารขับเคลื่อนเชิงประเด็นได้อย่างหลากหลาย โดยที่ไม่ต้องลงทุนทำเว็บไซต์ขึ้นมาใหม่

         อินสตาแกรมเป็นแอพพลิเคชั่นที่ให้บริการฟรีและมีผู้ใช้จำนวนมาก ทั้งยังเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้นด้วย จึงเป็นเครื่องมือในการสื่อสารแทบไม่ต้องลงทุนอะไร แต่สามารถแผยแพร่ไปให้ผู้รับสารได้จำนวนมาก ถ้ามีการประชาสัมพันธ์ที่ดี ก็จะมีคนเข้ามาร่วมถ่ายภาพเล่าเรื่องได้มากก็จะได้นิทรรศการออนไลน์ที่รวบรวมมุมมองและความคิดที่หลากหลายจากการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ที่สามารถนำไปต่อยอดได้อีก ซึ่งพลังส่วนหนึ่งในระดับที่เป็น "คราวซอร์สซิ่ง" ในปริมาณมากๆ ก็สามารถสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ ให้กับพื้นที่ความขัดแย้งที่มักมีแต่ภาพด้านลบ ซึ่งเครื่องเหล่านี้สร้างสามารถสร้างสำนึกใหม่ๆ ด้านสันติภาพให้กับพื้นที่ได้

ภาพที่ 7 โครงการภัณฑารักษ์หมุนเวียนผ่านอินสตาแกรม

สื่อออนไลน์กับการจัดการ "ความจริง" ในพื้นที่ความขัดแย้ง

         บทบาทที่สำคัญของสื่อสังคมออนไลน์อีกประการหนึ่ง คือ การค้นหาความจริงระยะสั้นอย่างรวดเร็ว ซันจานา วางข้อสังเกตว่า ในโลกทุกวันนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ความขัดแย้งที่สายสัมพันธ์ของผู้คนยังไม่คืนกลับสภาพปกติและมีระบบพื้นฐานของการสื่อสารได้ไม่ดีพอ สิ่งที่ต้องผจญอยู่เสมอก็คือ "ข่าวลือ" ที่ยากจะตรวจสอบ จากประสบการณ์การทำงานมายาวนานเขาเสนอว่า การมีสื่อใหม่นั้นเป็นประโยชน์มากในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ตรวจสอบความจริงแม้หลายคนจะแย้งว่า สังคมออนไลน์นี่แหละที่เป็นต้นทางของ "ข่าวลือ" ขนาดใหญ่ แต่จริงแล้ว เราสามารถส่งสารหาคนในพื้นที่ให้สามารถไปถ่ายรูป ตรวจสอบข้อมูล  แล้วก็เอามาโพสต์ ก็เป็นการต่อต้านการสร้างข่าวลือหรือช่วยสลายข่าวลือได้ อย่างถ้าใช้ทวิตเตอร์ (twitter.com) หรืออินสตาแกรม ก็สามารถถ่ายภาพสดแล้วก็แท็กสถานที่ เวลา เพื่อยืนยันและแชร์กันไป อันนี้ก็ช่วยจัดการข่าวลือได้อย่างดี

         การสยบข่าวลวงและข่าวลือมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้าใจและความรับรู้ที่ถูกต้องต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในบริบทของความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางการเมืองหรือความขัดเเย้งที่ใช้อาวุธและทำให้ประชาชนไม่ตกเป็นเครื่องมือใน “การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง” ที่ชาวศรีลังกาต้องผจญตลอดมาในช่วงของสงครามกลางเมือง

ICT4Peace กับ "ยุทธศาสตร์" การสื่อสารภาคประชาชนกับสันติภาพ

            ในระยะหลัง ตั้งแต่ช่วงปี 2556 เป็นต้นมา หากติดตามตามเคลื่อนไหวของ ICT4peace และคำบรรยายของ ซันจานาในห้วงหลังๆ ก็จะพบว่าเขาพูดถึงการจัดการข้อมูลแบบใหม่ๆ ซึ่งประเด็นที่พูดบ่อยครั้งก็คือ การพูดถึง การใช้ "บิ๊กดาต้า" (Big Data) สร้างยุทธศาสตร์การสื่อสาร บิ๊กดาต้าคือข้อมูลที่เกิดจากการสำรวจเเละติดตามดูพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจากแหล่งต่างๆ เช่น คำค้นในกูเกิ้ล (Google) คำที่ใช้บ่อยเเละมากที่สุดในทวิตเตอร์ (Trending)  หรือแม้กระทั่งคำค้นที่ผู้อ่านใช้เพื่อหาบล็อก (Blog) หรือเว็บไซต์ขององค์กร ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นแนวโน้ม ความต้องการของคนที่ค้นหาข้อมูล หรือคำที่คนนิยมพูดถึงในบล็อก 10 อันดับแรก ข้อมูลเหล่านี้อาจเก็บผ่านเว็บไซต์สำหรับค้นหาข้อมูลโซเชียลเน็ตเวิร์ก อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือแม้กระทั่งได้มาง่ายๆ โดยใช้โปรแกรมวิเคราะห์การใช้เว็บของกูเกิ้ล เช่น กูเกิ้ล อนาลิติค (Google Analytic) หรือเครื่องมือวิเคราะห์การเข้าชมและกิจกรรมในบล็อก หรือเว็บไซต์ ฯลฯ ที่สามารถสื่อถึงความต้องการ ความคิด หรือประเด็นที่เป็นที่สนใจของผู้อ่านหรือผู้ใช้ในขณะนั้น[12]

         ซันจานาแนะว่าข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์มาก ในทุกระดับ ทั้งในการปรับแต่งและออกแบบการสื่อสาร ให้เหมาะกับความต้องการของผู้อ่านเเละ/หรือใช้ข้อมูล ใช้เพื่อวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การสื่อสารในอนาคต รวมทั้งยังสามารถร่วมกับองค์กรที่ทำหน้าที่รวบรวมบิ๊กดาต้า เพื่อวิเคราะห์แนวโน้ม ความเป็นไปได้ของสถานการณ์ด้วย เช่น พื้นที่มีความขัดแย้งใช้คำค้นอะไรในกูเกิ้ล หรือสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ เราย่อมสามารถ “วัดอุณหภูมิ” หรือคาดคะเนทิศทางความสนใจของประชาชนในพื้นที่  การวิเคราะห์คำค้น จึงเป็นทั้งเครื่องมือในการทำนายความสนใจและทิศทางของสาธารณะ เเละยังสามารถส่งสัญญาณเตือนหรือยืนยันให้เห็นแนวโน้มที่อาจส่งผลกระทบต่อความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพต่างๆ  ได้ก่อนที่จะเกิดเหตุนั้นจริงๆ  ทำให้เหมือนสามารถมองเห็นแนวโน้มลางๆ จากโลกออนไลน์ไปสู่โลกจริงได้บ้าง

         ข้อเสนอที่สำคัญมากต่อผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นนักสร้างสันติภาพ ซันจานาชี้ว่าต้องอ่านอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนหรือจับเค้าลางของความรู้สึกของผู้คนให้ได้ การสังเกตเเละติดตามอย่างต่อเนื่องจะเป็นประโยชน์อย่างมากถ้าเราทำงานกับความขัดแย้ง เราสามารถหาตัวแสดงที่มีอิทธิพล ตัวป่วน ฯลฯ  และสามารถพิจารณาว่าจะใช้การสื่อสารเพื่อสร้างกระแสลดความชอบธรรมในการกระตุ้นเร้าความเกลียดชังและความรุนแรงได้อย่างไร เรายังสามารถสร้างระบบการเตือนเเละเตรียมตัวรับมือกับความรุนแรงที่เป็นแรงกระเพื่อมจากโลกออนไลน์มาสู่ชีวิตจริง และเตรียมการป้องกันล่วงหน้าได้[13] (S.himelfarb, 2014) แต่น่าเสียดายที่เครื่องมือเหล่านี้ ต้องอาศัยต้นทุนความชำนาญมาก จึงทำให้เครื่องมือเหล่านี้อยู่ในวงแคบๆ และเป็นของคนบางกลุ่ม ถ้าหากทำให้เป็นมีการการสื่อสารกลับมายังเจ้าของเว็บไซต์ เจ้าของบล็อก หรือแม้กระทั่งคนที่มีเครื่องมือการรับฟัง “เสียง” ที่สะท้อนผ่านพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต  น่าเสียดายที่เราไม่ค่อยใช้ข้อมูลด้านนี้ให้เป็นประโยชน์ในการออกแบบการสื่อสารให้เหมาะกับผู้รับสารเท่าที่ควร โดยเฉพาะผู้ใช้การสื่อสารขับเคลื่อนสังคมมือใหม่ โดยเครื่องมือเทคโนโลยีที่อยู่ในกระเป๋าของพวกเรา จะมีส่วนในการนำพวกเราไปสู่สังคมที่มีความเท่าเทียมกันได้ในอนาคต (Sanjana: 2013, อ้างแล้ว)

บทสรุป

            กรณีการศึกษาของโครงการ ICT4Peaceโดยมี เวบไซต์ Groundview และ เวบไซต์ Vikalpa ดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้นในบริบทของการสร้างสันติภาพและฟื้นฟูสังคมในสภาวะหลังความขัดแย้งช่วยให้เราเห็นบทบาทและความสำคัญนักกิจกรรมทางสังคมด้านสื่ออย่างซันจานาที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการสื่อสารภาคพลเมือง โดยเน้นการหน้าที่สื่อสารในฐานะประจักษ์พยานในห้วงของความขัดแย้งและฟื้นฟูสังคมขึ้นมาใหม่ โดยมีความต้องการความยุติธรรมใหม่ การลดความรุนแรงที่ซึมลึกลงในระดับวัฒนธรรม อันเป็นผลมาจากความต่อเนื่องในห้วงสงครามอันยืดเยื้อด้วยกิจกรรมอันหลากหลาย

            การเกิดขึ้นของสื่อใหม่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในหลายคำบรรยายของซันจานาได้กล่าวถึงว่า นี่คือการปฏิวัติการเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งสำคัญ เพราะนี่คือการพลิกบทบาทของผู้คนซึ่งขาดอำนาจมาอย่างยาวนาน เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ทำหน้าที่ในการหนุนเสริมสร้างพลังให้กับภาคพลเมือง เป็นเครื่องขยายเสียงให้กับกลุ่มคนชายขอบ จากเดิมที่เคยเป็นการสื่อสารทางเดียว (one - way communication) ข้อมูลข่าวเป็นเพียงข่าวสารที่ผู้ส่งสาร ต้องการจะส่งให้ในฐานะลูกค้าเท่านั้น (news as package) ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้เป็นแปลงให้ผู้รับสาร มีสถานภาพเป็นประจักษ์พยาน การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้บทบาทของการสื่อสารมีความสัมพันธ์เป็นแบบการสื่อสารสองทาง (two – way communication) ความสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้ข้อมูลข่าวสาร กลายเป็นบทสนทนา และทำหน้าที่เป็นเวทีสาธารณะเพื่อการพูดคุยสันติภาพของคนภายในสังคม[14] (platform) ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญมากในกระบวนการสันติภาพเพื่อสร้างผู้คนได้ถักทอสายสัมพันธ์ภายในสังคมขึ้นมาใหม่ รวมถึงการสร้างสำนึกเรื่องสันติภาพในสังคมใหม่ ให้สามารถยอมรับความแตกต่างกันได้ ด้วยการเป็นพื้นที่ในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งและสร้างตรรกะทางเหตุผลทางสังคมขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญของการสื่อสารในฐานะพื้นที่สาธารณะในบริบทของความขัดแย้งที่พื้นที่ๆ ทางเหตุผลมักหดแคบลง (ภาพที่ 8) ประกอบ

            นอกจากนี้ยังพบว่าในภาวะวิกฤติต่างๆ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการตัดสินใจแก่ภาคประชาสังคมเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เพราะเป็นเรื่องของ "การมีชีวิต" และ "การเอาตัวรอด" อย่างแท้จริง เราจึงพบการพัฒนาเครื่องและในการใช้เทคโนโลยี โดยเน้นใช้เทคโนโลยีพื้นฐาน แอพลิเคชั่นที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียแต่เน้นการใช้การจัดการข้อมูลอย่างลึกซึ้งและมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม เฝ้าระวังและติดตามอารมณ์ ความรู้สึกของผู้คนซึ่งพบได้จากการที่ซันจานาหันมาให้ความสนใจกับกับการพัฒนา "บิ๊กดาต้า" มากยิ่งขึ้น

ภาพที่ 8 แสดงบทบาทและความสัมพันธ์ของผู้ส่งสารและผู้รับสารเมื่อสื่อใหม่เกิดขึ้น

            ปฏิบัติการการสื่อสารที่คึกคักและเข้มข้นเช่นนี้ในภาคประชาสังคมของศรีลังกา ได้ชี้ให้เราเห็นบทบาทหน้าที่ของการสื่อสารภาคพลเมืองในการสร้างพื้นที่สาธารณะ (Public Sphere) ที่เน้นจากพื้นฐาน (สังเกตจากชื่อไซต์ว่า Groundviews) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนและเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งจากความเคยชินที่สังคมใช้ความรุนแรงมาสู่การใช้ "เหตุผล" ซึ่งถือเป็น "ทางเลือก" ใหม่ๆ มากกว่าคู่ขัดแย้งที่มีเพียงสองฝ่ายเท่านั้น (สังเกตจากความหมายของเวบไซต์ Vigalpa แปลว่า “ทางเลือก) นี่คือนัยสำคัญของการสร้างกระบวนการสื่อสารเพื่อสันติภาพในภาคประชาสังคม โดยอาศัยเรื่องเล่าที่มี "ชีวิต" ของผู้คนบรรจุอยู่ในนั้น เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่การสื่อสาร ได้มีปฏิบัติการของการสื่อสาร (speech act) ในฐานะของมนุษย์ โดยสามารถเห็นองค์ประกอบของการสื่อสารทั้งหมดนี้ก็คือ "Peace is an idea, Technology gives voice, Stories give hope, Citizen journalism transforms”[15] ทั้งยังชี้ให้เป็นความสำคัญของการสื่อสารอย่างยิ่งว่ามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนสันติภาพ เมื่อเขาได้ทิ้งท้่ายไว้ในปาฐกถาพิเศษงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง "การสื่อสาร ความขัดแย้ง และกระบวนการสันติภาพ : ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย" หรือ CCPP ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีว่า

"เรื่องของสื่อไม่สามารถแบ่งแยกออกจากเรื่องสันติภาพและสังคมการเมืองได้แล้ว ตอนนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจกับเรื่องการใช้สื่อ และการใช้เทคโนโลยีที่การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งสู่สันติภาพให้ได้"[16]

แผนภาพที่ 9 แสดงความสัมพันธ์ของการสื่อสารในฐานะพื้นที่เพื่อการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง

 

รายการอ้างอิง

           

หนังสือ

ฟารีดา ปันจอร์. (2558) คู่มือกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ ปาตานีเราจะทำงานร่วมกันได้อย่างไร?” รวมแนว        ความคิดของ ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส. ปัตตานี, โครงการจัดพิมพ์ดีพบุ๊ค ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Berghof Foundation. (2012). Berghof Grossary on Conflict Tranformation: 20 notion for theory and practice. Berlin: Berghof Foundation Operations GmbH.

Spencer, Graham. (2008). The Media and Peace: from Vietnam to the ‘War on Terror’. Basingstoke: Palgrave.

 

เวบไซต์

กรมเอเชียใต้ กระทรวงการต่างประเทศ (2558, 1 พฤศจิกายน) สืบค้นจาก http://sameaf.mfa.go.th/th/country/south-asia/detail.php?ID=11

จุฑิมาศ สุกใส. บทเรียนจากสื่อพลเมืองศรีลังกา “ซันจานา หัตโถธุวะ”: สื่อสังคมออนไลน์ช่วยแก้ไขความขัดแย้งได้อย่างไร?
 (2558, 1 พฤศจิกายน). สืบค้นจาก http://www.deepsouthwatch.org/node/6623

เหมือนฝัน เรณุมาศ และ อิมรอน ซาเหาะ, (2558, 1 พฤศจิกายน). “ไม่สามารถแยกการสื่อสารออกจากสันติภาพได้”      ปาฐกถาพิเศษของ Sanjana Hattotuwa สืบค้น จากhttp://www.deepsouthwatch.org/dsj/6075

Sanjana Hattotuwa. (2015, Nov 1). Using citizen journalism to bear witness to violence, TED TALK. Retrieved from             (https://www.youtube.com/watch?v=IMfX5YCrwN0)

Sanjana Hattotuwa. (2015, Nov 1).  Big Data and Peacebuilding, Retrieved from http://www.stabilityjournal.org/articles/10.5334/sta.ct/

 

 



[1] ศรีลังกาถือได้ว่าเป็นประเทศต้นกำเนิดของระเบิดพลีชีพ และมีสถิติระเบิดพลีชีพสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

[2] ดูรายละเอียดในเวบไซต์ กรมเอเชียใต้ http://sameaf.mfa.go.th/th/country/south-asia/detail.php?ID=11

[3] NAE report on ICT and Peacebuilding gets it right. And also very wrong. ใน https://ict4peace.wordpress.com/2008/08/02/nae-report-on-ict-and-peacebu...

[4] ถ้อยแถลงที่ชื่อพันธกรณีแห่งตูนิสเป็นผลมาจากการประชุมระดับโลกว่าด้วยสังคมข้อมูลข่าวสารในปี 2548 ย่อหน้าที่ 36 ระบุเอาไว้ว่า “เราให้คุณค่ากับศักยภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการส่งเสริมสันติภาพและในการป้องกันความขัดแย้งซึ่งส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายในการพัฒนา เทคโนโลยีสารสนเทศนั้นถูกใช้เพื่อการระบุบ่งชี้สถานการณ์ความขัดแย้งผ่านระบบเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อป้องกันความขัดแย้ง ส่งเสริมการหาทางออกอย่างสันติ หนุนเสริมปฏิบัติการทางด้านมนุษยธรรม ซึ่งรวมไปถึงการปกป้องพลเรือนจากการขัดกันทางอาวุธ เอื้ออำนวยปฏิบัติการรักษาสันติภาพ หรือช่วยเสริมการสร้างสันติภาพและการบูรณะสังคมหลังความขัดแย้ง” กรุณาดูรายละเอียดที่ http://www.itu.int/net/wsis/docs2/tunis/off/7.html

[5] ดูเพิ่มเติมใน จุฑิมาศ สุกใส http://www.deepsouthwatch.org/node/6623

[6] สาระในปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ระหว่างสองทางเลือกอันเป็นหายนะ : การใช้ศักยภาพของสื่อใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง (Between Scylla and Charybdis : Harnessing the Potential of New Media for Conflict Transformation)  ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง "การสื่อสาร ความขัดแย้ง และกระบวนการสันติภาพ : ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย" (Communication, Conflicts and Peace Processes :Landscape of Knowledge from Asia and the Deep South of Thailand) หรือ CCPP ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ. ปัตตานี) วันที่ 21 สิงหาคม 2557

[7] Sanjana Hattotuwa - Using citizen journalism to bear witness to violence, TED TALK (https://www.youtube.com/watch?v=IMfX5YCrwN0)

[8] สาระในปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ระหว่างสองทางเลือกอันเป็นหายนะ : การใช้ศักยภาพของสื่อใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง (Between Scylla and Charybdis : Harnessing the Potential of New Media for Conflict Transformation) (อ้างแล้ว)

[9] เรื่องเดียวกัน, อ้างแล้ว

[10] ดูสไลด์ประกอบการบรรยายเรื่อง Using citizen journalism to bear witness to violence, TED 2011 http://www.slideshare.net/yajitha/ted-2011-using-citizen-journalism-to-b...

[11] ดู  http://www.deepsouthwatch.org/node/6623 (เข้าถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558)

[12] Sanjana Hattotuwa, Big Data and Peacebuilding,  http://www.stabilityjournal.org/articles/10.5334/sta.ct/

[14] ดูในฟารีดา ภาคที่ 3, อ้างแล้ว

[15] สาระในช่วงท้ายของ TED TALK, Sanjana Hattotuwa - Using citizen journalism to bear witness to violence, TED TALK (อ้างแล้ว)

[16] ดู เหมือนฝัน เรณุมาศ และ อิมรอน ซาเหาะ, (2558, 1 พฤศจิกายน). อ้างแล้ว