Skip to main content

 

หลักทางสายกลาง

 

โดย ชัยคฺ ดร.ยูสุฟ อัล เกาะเราะฎอวียฺ

 

 

หลักทางสายกลางข้อที่ 1 | ความเข้าใจอิสลามที่ครอบคลุม

คือความรู้ความเข้าใจในอิสลามที่ครอบคลุมสมบูรณ์ตามที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงประทานให้กับท่านเราะซูลของพระองค์ ซึ่งเป็นทั้ง หลักความเชื่อและกฎหมาย เป็นทั้งความรู้และการกระทำ เป็นทั้งการเคารพสักการะต่ออัลลอฮฺ และการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นทั้งวัฒนธรรมและจริยธรรม เป็นทั้งความยุติธรรมและอำนาจเป็นทั้งการดะอฺวะฮฺ(การเชิญชวนสู่ความเป็นหนึ่งของอัลลอฮฺ)และความเป็นรัฐ เป็นทั้งเรื่องศาสนาและทางโลก เป็นทั้งอารยธรรมและประชาชาติ

ดังนั้นหลักการและหลักคำสอนทุกส่วนของอิสลามจึงปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของกลุ่มคนที่ต้องการหลักจริยธรรแต่ปฏิเสธการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ต้องการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺที่ไร้ซึ่งหลักจริยธรรม ...ต้องการหลักความเชื่อแต่ไร้ซึ่งกฎหมาย .... ต้องการหลักแต่งงานที่ขาดหลักการหย่าร้าง .... ต้องการความสันติ หรือการยอมจำนนที่ไร้ซึ่งการต่อสู้ .... ต้องการความยุติธรรมที่ไร้ซึ่งอำนาจ .... หรือต้องการศาสนาที่ไร้ซึ่งรัฐ .....

และนี่คือสิ่งที่อิสลามเองได้ปฏิเสธดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตรัสว่า "และเจ้า จงตัดสินระหว่างพวกเขา ด้วยสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานลงมาเถิด และจงอย่าปฏิบัติตามความใคร่ใฝ่ต่ำของพวกเขา และจงระวังพวกเขา ในการที่พวกเขาจะจูงใจเจ้าให้เขวออกจากบางสิ่ง ที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานลงมาแก่เจ้า" สูเราะฮฺ อัล มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 49

 

หลักทางสายกลางข้อที่ 2 | การอ้างอิงจากอัล กุรอานและสุนนะฮฺ

คือการศรัทธาในอัล กุรอานและสุนนะฮฺของท่านนบีที่ถูกต้องนั้น ถือว่าเป็นแหล่งอ้างอิงสูงสุดเพื่อการบัญญัติกฎเกณฑ์ ตลอดจนกำหนดแนวทางชีวิตและประชาชาติอิสลามที่ปราศจากข้อบกพร่องด้วยประการทั้งปวง ทั้งหลักความเชื่อ บทบัญญัติแห่งกฎหมาย จรรยามารยาทอันดีงาม กรอบแห่งความเข้าใจ ตลอดจนระเบียบแบบแผนต่าง ๆ ที่มีความดุลยภาพ ซึ่งจำเป็นจะต้องเข้าใจถึงรายละเอียดของตัวบท(นุศูศ)ในเรื่องเจตนารมณ์ต่างๆ(มะกอศิต)ทั้งหมดของอิสลาม และหลักชะรีอะฮฺ(หลักนิติธรรมอิสลาม)

ไม่อนุญาตให้ด้านหนึ่งขัดแย้งกับอีกด้านหนึ่ง หรือพอใจกับเรื่องปลีกย่อยแต่ละเลยภาครวม หรือพอใจกับภาครวมแต่ละเลยเรื่องปลีกย่อย ด้านหนึ่งยึดติดกับตัวอักษรแต่ด้านหนึ่งตีความอย่างเลยเถิด หรือดำเนินตามตัวบทที่มีความนัย (อัล มุตะชาบิฮาต) แต่ละทิ้งตัวบทที่รัดกุมชัดเจน (อัล มุหฺกะมาต)

 

หลักทางสายกลางข้อที่ 3 | ความหมายและคุณค่าแห่งการเป็นร็อบบานีย์

คือ การให้ความสำคัญกับความหมายและคุณค่าความเป็นร็อบบานีย์(ผู้ที่มีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งต่อผู้เป็นเจ้า)ที่เป็นรากฐานแห่งศาสนานั้น นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของหลักศรัทธาและหลักเตาฮีด(การให้ความเป็นเอกภาพแด่อัลลอฮฺ)และยังเป็นการเชื่อมั่นต่อโลกอาคิเราะฮฺ ซึ่งในวันนั้นจะมีการสอบสวนและการตอบแทน

การปลูกฝังเรื่องสวรรค์ นรก ความเกรงกลัวและความตักวาต่ออัลลอฮฺ ตะอาลานั้น นับว่าเป็นส่วนหนึ่งจากการงานของหัวใจ และการใจจดใจจ่อในการทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ตะอาลานั้น เป็นเป้าหมายของการสร้างมนุษย์ขึ้นมา อันมีจุดมุ่งหมายเพื่อการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺเพียงองค์เดียวเท่านั้น ซึ่งจะปรากฏอย่างชัดเจนในหลักปฏิบัติของศาสนา 4 ประการ เช่น การละหมาด การบริจาคซะกาต การถือศีลอด การทำฮัจญ์ ซึ่งถือว่าเป็นการอิบาดะฮฺในภาคบังคับ

แต่ยังมีการอิบาดะฮฺในรูปแบบอื่นๆอย่างเช่น การอ่านอัล กุรอาน การรำลึกถึงอัลลอฮฺ การดุอาอ์ การขออภัยโทษ ดังกล่าวนี้ถือว่ามีความสัมพันธ์อยู่กับอิบาดะฮฺที่เป็นเรื่องภายในของจิตใจ เช่นการมีเจตนาที่บริสุทธิ์ ความจริงใจต่ออัลลอฮฺ ความรักที่มีต่อพระองค์ ความพึงพอใจจากพระองค์ ความหวังในความเมตตาจากพระองค์ ความกลัวถึงการลงโทษของพระองค์ การรู้จักขอบคุณในความโปรดปรานของพระองค์ ความอดทนต่อการทดสอบของพระองค์ การมีความสมถะในดุนยาและการผูกพันอยู่กับโลกอาคิเราะฮฺ

ดังนั้นนี่คือรากฐานของตะเศาวุฟ(เน้นการขัดเกลามิติจากภายใน)อย่างแท้จริง ที่วางอยู่บนความถูกต้องที่เคียงคู่กับสัจธรรม หลักจรรยาที่มาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ และความจำเป็นประการหนึ่งคือ ท่านจะต้องปลูกฝังคุณค่าต่างๆของความเป็นร็อบบานียฺจากแนวทางแห่งการดะอฺวะฮฺ(การเรียกร้องเชิญชวนสู่ความเป็นหนึ่งของอัลลอฮฺ) การอบรมสั่งสอน การศึกษาและการให้ความรู้

แต่กระนั้นเราจะต้องปฏิเสธจุดยืนของผู้ที่หันหลังและต่อต้านแนวตะเศาวุฟ(เน้นการขัดเกลามิติจากภายใน)อย่างสิ้นเชิง รวมทั้งผู้ที่ยึดมาทั้งหมดโดยมิได้คัดกรอง ทั้งส่วนที่มีการตั้งภาคีซึ่งปะปนอยู่ในหลักความเชื่อ การอุตริกรรมที่ปะปนอยู่ในการอิบาดะฮฺ(การเคารพสักการะบูชาต่ออัลลอฮฺเพียงผู้เดียว) และมีความงมงายที่ปะปนอยู่ในระบบตัรบียะฮฺ(การอบรมขัดเกลา) ตลอดจนการขัดเกลาที่ปราศจากแหล่งที่มาและความชัดเจนใดๆ

 

หลักทางสายกลางข้อที่ 4 | ความเข้าใจในการลำดับความสำคัญ

คือ ความเข้าใจถึงภาระหน้าที่และการงานต่างๆอย่างถ่องแท้ด้วยความสมดุลนั้นจะต้องวางอยู่ในลำดับขั้นตอนของการใช้ชะรีอะฮฺ(บทบัญญัติอิสลาม)อย่างเหมาะสม เพราะคำบัญชาทั้งหมดถูกประทานลงมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งสอดคล้องกับตัวบทต่างๆที่มีความแตกต่างกันออกไปในการงานต่างๆ ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตรัสว่า

“พวกเจ้าได้ถือเอาการให้น้ำดื่ม แก่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ และการบูรณะมัศยิดอัล-ฮะรอม ดั่งผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และวันปรโลก และต่อสู้ในทางของอัลลอฮ์กระนั้นหรือ ? เขาเหล่านั้นย่อมไม่เท่าเทียมกัน ณ ที่อัลลอฮ์..." สูเราะฮฺ อัต เตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 19

ดังนั้นจึงไม่อนุญาตที่จะทำให้เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องเล็ก และเรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ และไม่อนุญาตให้สิ่งที่ต้องทำก่อนต้องล่าช้าออกไป แล้วนำสิ่งที่ต้องทำรายหลังกลับมาทำก่อน ด้วยเหตุนี้เองจึงจำเป็นที่หลักความเชื่อมั่น(อะกีดะฮฺ)ต้องมาก่อนทั้งการงานรากฐานและการงานปลีกย่อยต่างๆและเรื่องฟัรดู(การงานที่เป็นข้อบังคับทางศาสนา)ต้องมาก่อนเรื่องนาวาฟิล(การงานโดยสมัครใจ) และข้อบังคับทางศาสนาที่เป็นหลักปฏิบัติพื้นฐานนั้นต้องมาก่อนข้อบังคับศาสนาทั่วๆไป และฟัรดูอัยน์(ข้อบังคับในระดับปัจเจกบุคคล)ต้องมาก่อนฟัรดูกิฟายะฮฺ(ข้อบังคับในระดับส่วนรวม) เรื่องชิรกฺ(การตั้งภาคี)ต้องมาก่อนเรื่อง(มะอฺซิยะฮฺ)การกระทำความชั่ว เรื่องบาปใหญ่ต้องมาก่อนเรื่องบางปเล็ก สิ่งต้องห้ามที่เป็นมติเอกฉันท์ต้องมาก่อนสิ่งที่ยังเป็นประเด็นขัดแย้งกันอยู่

ทำนองเดียวกันเรื่องอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ข้างในต้องมาก่อนเรื่องที่เป็นเปลือกนอก เรื่องเนื้อแท้ภายในจิตใจต้องมาก่อนเรื่องภาพลักษณ์ภายนอก การงานที่อยู่ภายในต้องมาก่อนการงานที่อยู่ภายนอก การงานของหัวใจต้องมาก่อนการงานของร่างกาย เช่นเดียวกันเรื่องที่ชัดเจนหนักแน่นต้องมาก่อนเรื่องที่ยังมีข้อสงสัย สิ่งที่ยืนยันด้วยหลักฐานต้องการมาก่อนสิ่งที่ยืนยันด้วยการวินิจฉัย สิ่งที่เห็นพ้องกันต้องมาก่อนสิ่งที่มีความขัดแย้งกันอยู่ ดังกล่าวนี้คือสิ่งที่เราเรียกว่า "ฟิกฮุล เอาละวิยาต" (ความเข้าใจในการลำดับความสำคัญ)

 

หลักทางสายกลางข้อที่ 5 l คุณค่าแห่งจริยธรรมอันดีงาม

คือ อิสลามได้เอาใจใส่ต่อการปลูกฝังถึงคุณค่าทางจริยธรรมอันดีงาม ด้วยการทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของหลักศรัทธา และทำให้มันเป็นผลลัพธ์แห่งการอิบาดะฮฺ ดังที่ปรากฎในหะดีษของท่าน ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ที่ว่า

::: إنما بعثت لأتمم مكارم الأخلاق ::::

"แท้จริงฉันถูกส่งมาเพื่อความสมบูรณ์แก่จรรยามารยาทอันดีงาม" (หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยอะหฺมัด 2/381)

อีกทั้งยังเตือนถึงสิ่งที่จะทำให้จริยธรรมเกิดความเสียหาย นั่นคือคุณลักษณะแห่งการกลับกลอก(นิฟาก) ซึ่งทำลายทั้งจรรยามารยาทในระดับปัจเจกชน เช่น ความสัจจริง ความซื่อสัตย์ การให้สัญญา การรักษาสัญญา ความยุติธรรมในการโต้เถียง ความน้อบนอมถ่อมตน ความละอาย ความใจกว้าง ความกล้าหาญ และความมีศีลธรรม และทำลายจรรยามารยาทในระดับสังคม เช่น ความยุติธรรม คุณธรรม การทำดีต่อบิดามารดา การเชื่อมสัมพันธ์่ทางเครือญาติตลอดจนเพื่อนบ้าน ความเมตตาต่อผู้ที่อ่อนแอ ความร่วมมือกันบนความดีและความยำเกรง ความจำเป็นในการทำงานเป็นทีม การให้ความช่วยเหลือแก่เด็กกำพร้า คนขัดสน และผู้เดินทางตามสิทธิของพวกเขา การไม่ใช่จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายและฟุ่มเฟือย

เช่นเดียวกับการห้ามความตระหนี่ ความขี้เหนียว และการปฏิเสธถึงจุดยืนของบรรดาผู้ที่ยอมรับว่าการอิบาดะฮฺ(การเคารพสักการะ)นั้นเป็นทุกสิ่ง แต่ไม่เคยสะท้อนให้เห็นถึงจรรยามารยาทและพฤติกรรมอันดีงามของพวกเขา เช่นเดียวกับการปฏิเสธจุดยืนของบรรดาผู้ที่อ้างว่าจรรยามารยาทอันดีงามคือทุกสิ่ง แต่พวกเขาไม่เคยปรารถนาที่จะปฏิบัติตามข้อบังคับทางศาสนาที่มาจากผู้อภิบาลของพวกเขาแต่อย่างใด

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ เพจ Shaykh Yusuf al-Qaradawi