Skip to main content

 

รมช.ศึกษาธิการประชุมยะลาหวังพัฒนาการศึกษาสอดคล้องสังคมท้องถิ่น

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
ยะลา
 
TH-students-1000
เด็กหญิงนักเรียนมุสลิมในห้องเรียนภาษายาวี ที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี วันที่ 28 สิงหาคม 2557
 เอเอฟพี
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในวันพฤหัสบดี(22 ธันวาคม 2559)นี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเดินทางลงพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการนโยบายการศึกษา ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะเดินทางไปยังวิทยาลัยการอาชีพเบตง อ.เบตง จ.ยะลา

เพื่อประชุมร่วมกับนายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาในฐานะประธานกำกับดูแลการจัดทำแผน และการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในทุกระดับการศึกษาเ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ผู้บริหารหน่วยงานทางการศึกษา หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานภาคเอกชน

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวในการประชุมว่า การใช้การศึกษาแบบบูรณาการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อเป็นการตอบสนองต่อนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้ความสำคัญในการเตรียมเด็กและเยาวชน ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่จะเติบโตทุกด้านในอนาคต

“จะต้องสร้างกระบวนการสร้างคนด้วยการศึกษา ฝึกให้มีอาชีพควบคู่ให้กับเด็ก และเยาวชนอย่างทั่วถึง จะทำให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง และพื้นที่จะได้หลักสูตรการจัดการศึกษาในพื้นที่พิเศษเฉพาะมีคุณภาพยิ่งขึ้น” พล.อ.สุรเชษฐ์กล่าว

พล.อ.สุรเชษฐ์ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำกรอบการพัฒนาหลักสูตรสอดคล้องกับมิติด้านการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 6 ข้อ คือ 1.เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน 2.ยกระดับคุณภาพและสร้างโอกาสทางการศึกษา 3.ผลิตกำลังคนให้มีทักษะสอดรับกับตลาดแรงงานอาเซียน 4.พัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 5.พัฒนากลไกที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายและแลกเปลี่ยน และ 6.เสริมสร้างเครือข่ายระหว่างกันในภูมิภาค

“บูรณาการเนื้อหาสาระพื้นฐาน กิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ มุ่งเน้นการสอนใน 8 กลุ่มสาระวิชา และเพิ่มเติมในวิชาที่เกี่ยวกับการเกษตร เศรษฐกิจ โลจิสติกส์ การคลัง การธนาคาร และพลังงานทดแทน ตลอดจนส่งเสริมด้านกีฬาฟุตบอล มัคคุเทศก์ การแปรรูปสินค้าเกษตร บริษัทจำลอง และการให้ความสำคัญกับบริบทวัฒนธรรมประเพณีในสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่” รมช.กระทรวงศึกษาธิการอธิบายถึงการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับท้องถิ่น

การพัฒนาการศึกษาตามแนวทางดังกล่าว เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้สนับสนุนงบประมาณปี 2560 ในวงเงิน 532.70 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น โดยการศึกษาต้องมีการปูพื้นฐานในกลุ่มเยาวชนตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งในปีการศึกษา 2560 จะบรรจุวิชาเชิงธุรกิจ 14 วิชา 57 บทเรียน ให้นักเรียนชั้น ป.5 ได้เรียนเพื่อเป็นการเตรียมพร้อม เป็นวิชาที่สอดแทรกในเรื่องของการค้าการขาย วิชาวัฒนธรรมการบริโภค โดยจะต้องเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมของประเทศคู่ค้าอย่าง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย รวมทั้งการเรียนภาษาจีน อังกฤษ และภาษายาวีในโรงเรียน เพื่อให้เมื่อเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา ก็จะสามารถผลิตนักการตลาดได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นกลไกของเมืองต้นแบบ และยั่งยืนได้เป็นอย่างดี โดยที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางในการทำ และขยายธุรกิจ

ด้านนายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า การจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดยะลาจะต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดแรงงานด้วย

“การจัดทำแผนการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจำเป็นต้องมีการบูรณาการเชิงพื้นที่ในทุกภาคส่วน ซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และต้องพิจารณาความต้องการกำลังคนในตลาดแรงงานด้วย” นายดลเดชกล่าว

นางรอฮานา กามา ครูจากโรงแรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลาเชื่อว่า การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสังคม และสภาพแวดล้อมจะช่วยลดปัญหาการศึกษา และปัญหาสังคมได้

“การบูรณาการการศึกษาให้เข้ากับการเมืองและเศรษฐกิจในพื้นที่ คือ แนวทางที่ดีสำหรับการเตรียมพร้อมอนาคตให้กับเด็กในพื้นที่ มั่นใจว่า การศึกษาดี ปัญหาในพื้นที่จะหมดไป” นางรอฮานากล่าว

นางสาวรีฮัน ดอเลาะ นักศึกษาจากจังหวัดยะลา กล่าวว่า เชื่อว่าการวางแผนการศึกษาที่ดีต้องวางแผนให้สอดคล้องกับตลาดงานในอนาคต เพื่อรองรับผู้จบการศึกษาด้วย

“สิ่งที่ระบบการศึกษาไทยมีแค่วางแผนให้เด็กเรียนอะไร แต่ไม่ได้มีการวางแผนว่า เรียนจบแล้วเด็กจะทำงานอะไร และได้ทำงานจริงตามที่วางแผนหรือเปล่า ทุกวันนี้เราขาดจุดนี้ ทำให้เด็กจำนวนมากที่เรียนจบแล้วไม่มีงานทำ” นางสาวรีฮันระบุ

หลังจากการประชุม พล.อ.สุรเชษฐ์ และคณะได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนเบตงวีระราษฎร์ประสาน ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยโดยมีนายดำรงค์ ดีสกูล นายอำเภอเบตง นายวิโรจน์ คำนึงคุณากร ผอ.โรงเรียนเบตงวีระราษฎร์ประสาน เจ้าหน้าที่ส่วนการศึกษา ครู และนักเรียนให้การต้อนรับ