Skip to main content

ได้ฤกษ์เปิดอ่านเสียทีหลังจากตั้งประดับอยู่บนชั้นหนังสือมานาน หนังสือ “ARMY AND NATION: The Military and Indian Democracy since Independence” เขียนโดน สตีเฟ่น ไอ. วิลกินสัน (Steven I. Weilkinson) ว่าด้วยเรื่องบทบาทกองทัพกับการเมืองในประเทศอินเดีย ซึ่งขณะศึกษาอยู่ที่อินเดียผมมีเครื่องหมายคำถามตัวโตๆว่า ‘ทำไมไม่มีรัฐประหารในอินเดีย?’ ในขณะที่ประเทศอาณานิคมทั้งหลายล้วนเผชิญกับชะตากรรมการที่ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองจนเกิดรัฐประหารหรือปฏิวัติในหลายๆประเทศ แม้กระทั่งปากีสถานซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย (British Raj) ภายใต้การปกครองของอังกฤษ แต่ภายหลังก่อตั้งประเทศ ปากีสถานกลับตกอยู่ในวังวนของการทำรัฐประหารโดยกองทัพครั้งแล้วครั้งเล่าและตกอยู่ภายใต้การปกครองของทหารอยู่นับทศวรรษ

เมื่อครั้งศึกษาอยู่ที่อินเดีย หลังจากสนทนาในวงชากับเพื่อนๆชาวอินเดียเรื่องบทบาททหารกับการเมืองอยู่บ่อยครั้ง ทำให้พอจะเข้าใจว่าอินเดียมีหลายปัจจัยซึ่งเป็นข้อจำกัดในการที่ทหารจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองเพื่อยึดอำนาจรัฐบาลหรือที่เรียกว่ารัฐประหารนั้นทำได้ยากเช่น ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ซึ่งอินเดียมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีจำนวนประชากรรวมกว่าพันสองร้อยล้านคน มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา ความเชื่อ ศาสนา ดังนั้นหากทหารคิดจะยึดอำนาจ และเกิดการลุกฮือต่อต้านการรัฐประหาร ก็เป็นการยากที่จะควบคุมความสงบไว้ได้ ปัจจัยประการต่อมาคือระบบการปกครองของอินเดียนั้น เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รูปแบบของรัฐเป็นแบบสหพันธรัฐ (Federal State) หมายความว่านอกจากมีรัฐบาลกลาง (Government of India) อยู่ที่กรุงนิวเดลีแล้ว แต่ละรัฐต่างมีรัฐบาลท้องถิ่น (State Government) อินเดียมีทั้งหมด 29 รัฐ ดังนั้นหากทหารทำการยึดอำนาจในเมืองหลวง ก็ใช่ที่รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ทางตอนเหนือจะยอมรับการยึดอำนาจที่เมืองหลวงเสมอไป มิหนำซ้ำอาจใช้จังหวะนี้แยกประเทศไปเสียอีก ปัจจัยประการถัดมาคือปัจจัยเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ ปมปัญหาเรื่องการอ้างสิทธิ์เหนือรัฐจัมมูและแคชเมียร์ระหว่างอินเดียและปากีสถานเป็นเหตุให้เกิดสงครามระหว่างสองประเทศจำนวน 4 ครั้งนับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศในปีค.ศ. 1947 สงครามมีผลทางอ้อมให้ทหารจำเป็นต้องมุ่งอยู่กับความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน ลดโอกาสที่ทหารจะสร้างอิทธิพลทางการเมืองลงไป ปัจจัยสำคัญอีกประการก็คือปัจจัยเรื่องรากฐานของประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตยสถาปนามาตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครองอินเดียแล้ว การเลือกตั้งครั้งแรกเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1920 หรือ 27 ปีก่อนอินเดียจะได้รับเอกราช รากฐานของระบอบประชาธิปไตยมีส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนหวงแหนในสิทธิและอำนาจที่ตนมี ทำให้ยากที่ทหารจะเข้ามามีอิทธิพลในทางการเมือง ทั้งนี้ในบทความนี้จะขอมุ่งประเด็นศึกษาเฉพาะประเทศอินเดียเท่านั้น

แม้ปัจจัยที่กล่าวมาจะเป็นข้อจำกัดที่ทำรัฐประหารเกิดขึ้นได้ยาก แต่รัฐบาลอาจไม่สามารถรักษาประเทศให้ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมืองของทหารหากไม่มี “ยุทธศาสตร์ป้องกันการทำรัฐประหาร”  สตีเฟ่น ไอ. วิลกินสัน ได้ศึกษาเรื่องทหารกับการเมืองอินเดีย ได้สรุปว่า ชนชั้นนำทางการเมืองภายหลังได้รับเอกราช “อ่านเกมขาด” แล้วว่า รัฐบาลพลเรือนจะต้องเผชิญกับการแทรกแซงทางการเมืองโดยกองทัพเป็นแน่ ดังเช่นประเทศอื่นๆ ดังนั้นจึงต้องหายุทธศาสตร์ ‘ป้องกันการทำรัฐประหาร’ และการเข้ามาแทรงแซงทางการเมืองโดยกองทัพ

ทีมยุทธศาสตร์ต่อต้านรัฐประหารนำโดย นายกรัฐมนตรีชวาหระลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) นายกรัฐมนตรีคนแรกหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ  นายซาดาร์ ปาเทล (Sardar Patel) รองนายกรัฐมนตรี นายเอช.เอ็ม.ปาเทล (H. M. Patel) ปลัดกระทรวงกลาโหมคนแรก นายเอ็ม.เค.เวลโลดี (M.K. Vellodi) ปลัดกระทรวงกลาโหมคนถัดมา และนายกฤษณะ เมนอน (Krishna Menon) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

“โจทย์”ของพวกเขาคือ ทำอย่างไรให้ทหารอยู่ในที่ที่ควรอยู่ ทำงานในสิ่งที่ควรทำ ป้องปรามการเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง และป้องกันการทำรัฐประหาร ดังนั้น “แนวทาง” ของพวกเขาคือ ทำสถาบันทหารให้เป็นทหารมืออาชีพ ลดอำนาจของทหาร เพิ่มอำนาจถ่วงดุลในหมู่ทหารด้วยกันเอง ตัดไฟ (รัฐประหาร) แต่ต้นลม และตรวจสอบพฤติกรรมทหารอย่างใกล้ชิด

ก่อนจะพูดถึงยุทธศาสตร์ดังกล่าว ขอกล่าวถึงสถานะของสถาบันทหารช่วงก่อนที่อินเดียจะได้รับเอกราชจากอังกฤษในปีค.ศ. 1947เสียก่อน ซึ่งขณะนั้นผู้มีบทบาทนำในทางการทหารคือผู้บัญชาการทหารสูงสุด (commander in chief) ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นพลเรือนมีบทบาทรองกระทั่งอ่อนแอ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดยังมีบทบาทนำในทางการเมืองโดยมีที่นั่งในคณะรัฐมนตรี (Executive Council) หัวหน้ารัฐบาลบริทิชราช (British Raj) คือ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน(Viceroy) ทั้งนี้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็คือฝรั่งชาวอังกฤษซึ่งถูกส่งมาปกครองอินเดีย ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆนั้นมีทั้งพลเรือนอังกฤษและชาวอินเดีย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งอินเดีย (Commanders-in-Chief of India) คือผู้บัญชาการสูงสุดของเหล่าทัพบก โดยมีลำดับความสำคัญเหนือกว่าผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพเรือ (Flag Officer Commanding) และผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพอากาศ (Air Officer Commander-in-Chief) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดไม่ได้มีปัญหากับผู้สำเร็จราชการแต่มีปัญหากับฝ่ายพลเรือนคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  ดังนั้นสมมติฐานก็คือ เมื่อเหล่าผู้บัญชาการทหารชาวอังกฤษสิ้นสุดภารกิจเมื่ออินเดียได้รับเอกราช ผู้บัญชาการคนใหม่ที่เป็นทหารอินเดีย จะเข้ามาสวมบทบาทเดิมซึ่งมีอำนาจล้นเหลือ และสุดท้ายทหารก็จะเข้าแทรกแซงการเมือง

ดังนั้นนายกรัฐมนตรีเนห์รูและทีมยุทธศาสตร์ฯจึงได้วางแผนกันจนกลายเป็นยุทธศาสตร์ป้องปรามทหารไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวการเมืองและป้องกันทหารไม่ให้ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลประชาธิปไตย ยุทธศาสตร์ดังกล่าวสรุปหลักใหญ่ใจความได้ดังต่อไปนี้

1.ปรับสมดุลด้านกำลังของพลในกองทัพ เหล่านายทหารระดับสูงต้องมาจากชาติพันธุ์ที่หลากหลาย

ในอินเดียเราจะคุ้นเคยภาพชาวซิกข์อยู่สองประการ หนึ่งเป็นพ่อค้า สองเป็นทหาร ชาวซิกข์จากรัฐปัญจาบนิยมเข้ารับราชการทหารตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครอง เพราะเป็นชาติพันธุ์ที่เก่งกาจเรื่องการรบ จนได้รับการยกย่องจากอังกฤษว่าเป็นหนึ่งในชนชาติของชนชั้นนักรบ (Martial Class) เมื่อตอนที่อินเดียได้รับเอกราช ทหารระดับสูงในกองทัพครึ่งหนึ่งเป็นชาวซิกข์ ในขณะที่สัดส่วนของทหารชาวซิกข์ในกองทัพนั้นมีอยู่กว่าร้อยละ 26 (เรื่องที่ชนชั้นนำทางการเมืองมองว่าชาวซิกข์เป็นภัยต่อความมั่นคงนั้น ดำเนินมาตลอดจนกระทั่งทศวรรษ 1980 ซึ่งรัฐบาลอินเดียปราบปรามกบฏแบ่งแยกดินแดนชาวซิกข์อย่างรุนแรง โดยชาวซิกข์ในปัญจาบต้องการแยกประเทศเป็นประเทศซิกข์ ภายใต้ชื่อขาลิสถาน -Khalistan) นายกรัฐมนตรีเนห์รูจึงกุศโลบายห้ามชาวซิกส์เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด(ต่อมาในปีค.ศ.1955เรียกว่าผู้บัญชาการทหารบก) และกีดกันชาวซิกข์ไม่ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการระดับสูงอื่นๆในกองทัพ ดังนั้นผู้บัญชาการทหารสูงสุดภายหลังปี 1947 จึงเป็นนายทหารที่มีพื้นเพหลากหลายทั้งจากคูร์ก (Coorg) ไมซอร์ (Mysore) ราชาสถาน (Rajasthan) บอมเบย์ (Bombay) ฯลฯ ยกเว้นพลเอกพราน นัท ธาปา (Pran Nath Thapar) ชาวซิกส์คนแรกที่ได้เป็นผู้บัญชาการทหารบกในปี 1961(ตำแหน่งเดิมเรียกว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุด) ซึ่งเป็นผู้จงรักภักดีต่อฝ่ายการเมือง และในประวัติศาสตร์อินเดียยุคหลังได้รับเอกราช มีผู้บัญชาการทหารบกอีกเพียงสองคนคือ พลเอกโจกินเดอร์ จัสวัส ซิงห์(Joginder Jaswant Singh) (ดำรงตำแหน่งค.ศ. 2005-2007) และพลเอกไบกรัม ซิงห์ (Bikram Singh) (ดำรงตำแหน่งค.ศ. 2012-2014)

2. จำกัดอำนาจทหารบก จำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้บัญชาการทหารเหล่าทัพต่างๆ

เดิมผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอินเดียสมัยอังกฤษปกครองนั้นเป็นชาวอังกฤษ มีวาระดำรงตำแหน่งไม่แน่นอนคือระหว่าง1-8ปี แล้วแต่การแต่งตั้งจากทางรัฐบาลอังกฤษ เมื่ออินเดียได้รับเอกราช นายกรัฐมนตรีเนห์รูและทีมยุทธศาสตร์คาดการณ์ว่า หากปล่อยให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดครองตำแหน่งกันนานๆเหมือนในอดีต จะพากันสร้างสมอิทธิพลและอาจกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล ดังนั้นยุทธศาสตร์ใหม่ก็คือ

หนึ่ง ปรับสมดุลอำนาจทหารในกองทัพโดยโอนตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด (รวมทั้งตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพอากาศและกองทัพเรือ) มาให้กับประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งแทน จำกัดตำแหน่งของผู้บัญชาการทหารบกให้เทียบเท่าผู้บัญชาการทหารเรือและอากาศ (ตามพ.ร.บ.การโอนย้ายตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปีค.ศ. 1955)

สอง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังมีผลให้มีการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆไว้ที่ 3 ปี หรือเมื่ออายุครบ 62 ปี และถือว่าเกษียณอายุราชการทันทีภายหลังหมดวาระ

และสาม เพื่อป้องกันการเข้ามายุ่งเกี่ยวการเมือง อดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพภายหลังเกษียณ พวกเขาจะถูกส่งไปให้ไกลจากอินเดียโดยส่วนใหญ่ให้ไปรับตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศต่างๆเป็นเวลาสี่ถึงห้าปี(เพื่อให้แน่ใจว่าอำนาจของพวกเขาในกองทัพจะลดลงกระทั่งลบเลือน) เช่นพลเอกเค.เอ็ม. คาเรียบปา (K. M. Cariappa) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนแรกที่เป็นชาวอินเดีย (ดำรงตำแหน่งค.ศ. 1949-1953) ภายหลังเกษียณได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตประจำออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ พลเอกพราน นัท ธาปา (Pran Nath Thapar) (ดำรงตำแหน่งผบ.ทบ.ระหว่างปีค.ศ. 1961-1962) รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตอินเดียประจำอัฟกานิสถาน พลอากาศเอกอิดริส ฮาซัน ลาติฟ (Idris Hasan Latif) อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ (ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 1978-1981) รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตอินเดียประจำฝรั่งเศส พลเรือเอกนีรมาล กุมาร เวอร์มา (Nirmal Kumar Verma) อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ (ดำรงตำแหน่งค.ศ.2009-2012) รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตอินเดียประจำแคนาดา อดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพบางคนก็ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ว่าการรัฐต่างๆของอินเดีย (ผู้ว่าการรัฐ หรือ Governor โดยตำแหน่งเป็นเพียงประมุขของรัฐได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากประธานาธิบดี ไม่มีอำนาจในการบริหาร อำนาจในการบริหารอยู่ที่มุขมนตรี (Chief Minister) ของรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง) เช่นพลเอกเอส.เอ็ม.ศรีนาเกช (S. M. Shrinagesh) ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ว่าการรัฐอัสสัม  พลเอกโอม ปรากาช มาลโฮทรา (Om Prakash Malhotra) (ดำรงตำแหน่งผบ.ทบ.ค.ศ.1978-1981) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตอินเดียประจำอินโดนีเซีย และผู้ว่าการรัฐปัญจาบ พลเอกชานการ์ รอย เชาดูรี(Shankar Roy Chowdhury) (ดำรงตำแหน่งผบ.ทบ. ค.ศ.1994-1997) ได้รับการแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก และมีอดีตผู้บัญชาการกองทัพบางคนเมื่อเกษียณแล้วเลือกลงเล่นการเมือง เช่น พลเอกวีเจย์ กุมาร ซิงค์ (Vijay Kumar Singh-- ดำรงตำแหน่งผบ.ทบ. ค.ศ. 2010-2012) ลงสมัครรับเลือกตั้งสังกัดพรรคBJPในปี 2014 และชนะการเลือกตั้งในเขตกาซีอาบาด(Gaziabad) ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (โลกสภา)

นอกจากนั้นการที่กองทัพอินเดียมีทหารยศนายพลจำนวนน้อยยังเป็นข้อดีต่อการควบคุมดูแล โดยแต่ละเหล่าทัพจะมีทหารยศพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก เพียงเหล่าทัพละหนึ่งคนนั่นก็คือ ผู้บัญชาการกองทัพบก ผู้บัญชาการกองทัพเรือและผู้บัญชาการกองทัพอากาศ ส่วนทหารชั้นพลตรี พลโท ก็มีเพียงจำนวนจำกัด การที่มีจำนวนทหารชั้นนายพลอยู่อย่างจำกัดนี้นอกจากจะง่ายต่อการควบคุมดูแลจากรัฐบาลแล้ว ยังทำให้ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณไปกับค่าตำแหน่ง ค่าอำนวยความสะดวกต่างๆอีกด้วย รวมทั้งลดโอกาสการที่นายทหารจะนำยศระดับสูงไปหาผลประโยชน์อีกด้วย นอกจากนั้นทหารที่เกษียณอายุราชการไปแล้วนั้น จะมีคำกำกับบอกสถานะห้อยท้ายตำแหน่งอย่างชัดเจนว่าเป็นทหารนอกราชการ เช่นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีฆัรของอินเดียมีชื่อว่า พลโท(เกษียณ) ซามีรุดดิน ชาห์ (Lt Gen (retd) Zameeruddin Shah) อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ภายหลังเกษียณอายุราชการจากกองทัพท่านได้รับแต่งตั้งจากทางรัฐบาลอินเดียให้มาดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย

3. เพิ่มจำนวนโรงเรียนทหารและสถาบันฝึกอบรมหลักสูตรทหาร ลดโอกาสเสี่ยงจากระบบความเป็นพี่น้องในหมู่ทหารอันอาจเป็นภัยคุกคามต่อการเมืองในอนาคต

สมัยที่อังกฤษปกครองอินเดียนั้น โรงเรียนทหารในอินเดียมีเพียงแห่งเดียวโดยเป็นของเหล่าทัพบกคือ สถาบันทหารอินเดีย (The Indian Military Academy) ตั้งอยู่ในเมืองเดราดูน (Dehradun) รัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) ทางตอนเหนือของอินเดียในปัจจุบัน ก่อตั้งในปีค.ศ. 1932 ให้เป็นโรงเรียนฝึกหัดเพื่อเตรียมนักเรียนทหารก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อยังโรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ (Royal Military Academy Sandhurst) ที่ประเทศอังกฤษ นักเรียนเตรียมทหารส่วนใหญ่มาจากครอบครัวมีฐานะและลูกหลานทหารในชนชั้นนักรบ (martial class) ส่วนนักเรียนนายเรือและนายเรืออากาศชาวอินเดียเดินทางไปศึกษาที่อังกฤษโดยตรง

ต่อมาเมื่ออินเดียได้รับเอกราช นายกฯเนห์รูและทีมนักยุทธศาสตร์เห็นถึงความเสี่ยงว่า หากนักเรียนเตรียมทหารเหล่านี้ถูกฝึกจากที่เดียวกัน ย่อมมีความสมัครสมานกลมเกลียม ซึ่งอาจดีต่อความเข้มแข็งของกองทัพ แต่หากมีมากเกินไปจะทำให้นักเรียนทหารเหล่านี้ซึ่งต่อไปจะเป็นใหญ่ในกองทัพคิดรวมหัวกันกระด้างกระเดื่องสร้างอำนาจทางการเมืองหรือกระทำรัฐประหารในภายภาคหน้า ดังนั้นจึงตั้งโรงเรียนเตรียมทหารขึ้นอีกแห่งชื่อว่าสถาบันการทหารแห่งชาติ (The National Defence Academy -NDA) ตั้งอยู่ใกล้เมืองปูเณ ทางภาคใต้ ก่อตั้งปีค.ศ. 1954 โดยเป็นโรงเรียนเตรียมทหารแห่งแรกของโลกซึ่งประกอบด้วยนักเรียนเตรียมทหารจากสามเหล่าทัพศึกษาในหลักสูตรสามปี ก่อนจะแยกกันไปศึกษาตามโรงเรียนนายร้อยของแต่ละเหล่าทัพอีกหนึ่งปีจึงจะบรรจุเป็นทหารประจำการ กลยุทธ์ที่ให้นักเรียนเตรียมทหารทั้งสามเหล่าทัพมาเรียนรวมกันนี้ก็เพื่อให้มีการแข่งขันกันเอง ป้องกันการผูกขาดอำนาจแต่เพียงเหล่าทหารบก ทั้งยังเปิดรับนักเรียนเตรียมทหารอย่างไม่จำกัดชาติพันธุ์ชนชั้นต่างจากในอดีต นอกจากนั้นเหล่านักยุทธศาสตร์ป้องกันรัฐประหารยังมีดำริให้ก่อตั้งสถาบันฝึกอบรมทหารเฉพาะด้านขึ้นมาหลายแห่งและให้ตั้งอยู่กระจายไปทั่วประเทศเพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวของสถาบันการศึกษาของทหารซึ่งอาจสร้างเครือข่ายและอิทธิพลจนเป็นภัยต่อการเมืองในภายภาคหน้า

4. ให้สำนักข่าวกรองตรวจสอบความเคลื่อนไหวและพฤติกรรมของเหล่าทหารอย่างใกล้ชิด

สำนักข่าวกรองแห่งชาติอินเดีย (The Intelligent Bureau-India) เป็นสำนักข่าวกรองซึ่งเก่าแก่ที่สุดในโลก ก่อตั้งในปีค.ศ. 1887 เพื่อติดตามสถานการณ์ภายในประเทศที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของสำนักข่าวกรองคือข้าราชการตำรวจ (เพื่อมาถ่วงดุลทหาร) นายกรัฐมนตรีเนห์รูได้มอบหมายภารกิจพิเศษให้สำนักข่าวกรองในการติดตามและตรวจสอบความเคลื่อนไหว กิจการ กิจกรรมและพฤติกรรมของเหล่าทหารทุกกรมกองอย่างใกล้ชิด มีรายงานว่าผู้บัญชาการทหารบกโดยเฉพาะยุคแรกเริ่มเมื่ออินเดียได้รับเอกราชถูกหน่วยข่าวกรองติดตามอย่างใกล้ชิดทั้งลอบบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์ ตรวจสอบจดหมาย เหล่าผู้บัญชาการทหารจะถูกติดตามตรวจสอบแม้กระทั่งเกษียณอายุราชการไปแล้วก็ตาม

5.ยึดครองสัญลักษณ์เดิมของสถาบันทหาร ตั้งกองพันทหารราบซึ่งประกอบด้วยทหารไม่จำกัดชาติพันธุ์ วรรณะและศาสนา

ภายหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ นายกรัฐมนตรีฯเนห์รูได้ออกคำสั่งยึดบ้านพักประจำตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด (Teen Murti Bhavan) เปลี่ยนเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ส่วนปลัดกระทรวงกลาโหมนาย H.M. Patel ได้เปลี่ยนแปลงลำดับการยืนในรัฐพิธี โดยให้เหล่าผู้บัญชาการทหารเหล่าต่างๆยืนอยู่ต่ำกว่าข้าราชการพลเรือนและสมาชิกผู้แทนราษฎร นอกจากนั้นเมื่อชาวอินเดียได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นครั้งแรกในปี 1949 รัฐบาลได้จัดตั้งกองพันทหารราบขึ้นมาใหม่เรียกว่า (The Guards) โดยให้ทหารที่มาสังกัดมีที่มาที่หลากหลาย ไม่จำกัดอยู่เพียงชนชั้นนักรบ (martial class) เหมือนก่อน

6 ตั้งกองกำลังกึ่งทหารมาดูแลความมั่นคงในประเทศ จำกัดบทบาททหารอาชีพไว้ดูแลเฉพาะภัยคุกคามจากนอกประเทศ

กองกำลังกึ่งทหาร (paramilitaries) เป็นกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งติดอาวุธเบากว่าทหาร แต่ติดอาวุธหนักกว่าตำรวจทั่วไป สังกัดกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วยหน่วยสำคัญคือเจ้าหน้าที่ตำรวจสำรองส่วนกลาง (The Central Reserve Police Force –CRPF) และตำรวจตระเวนชายแดน (The Border Security Force-BSF) กองกำลังกึ่งทหารกำเนิดขึ้นภายหลังสงครามจีน-อินเดีย (The Sino-Indian War 1962) ซึ่งอินเดียเป็นฝ่ายแพ้ ทำให้มีการปรับปรุงกองทัพครั้งใหญ่โดยเพิ่มจำนวนทหารกว่าเท่าตัว เมื่อจำนวนทหารเพิ่มขึ้น นายกรัฐมนตรีเนห์รูจึงจัดตั้งกองกำลังกึ่งทหารขึ้นโดยให้มีหน้าที่ปฏิบัติงานในเรื่องความมั่นคงภายในและต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายเช่น คุมฝูงชน สลายฝูงชน ต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดน ปฏิบัติหน้าที่ในยามสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์คือจำกัดบทบาททหารอาชีพให้รับผิดชอบเฉพาะภัยคุกคามจากนอกประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารมีบทบาทต่อความมั่นคงภายในประเทศ ไม่ให้ทหารมีบทบาทในที่ชุมชน ปัจจุบันอินเดียมีกองกำลังกึ่งทหารอยู่ 2.2 ล้านคน มากกว่าจำนวนทหารซึ่งมี 1.3 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีการวางแผนเรื่องอัตรากำลังพลในเมืองหลวงให้กำลังพลเจ้าหน้าที่กึ่งทหารนี้มีจำนวนมากกว่ากำลังพลทหาร ทำให้การรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลในเมืองหลวงนั้นทำได้ยาก

แม้ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ระบบการปกครอง ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และรากฐานของประชาธิปไตย จะเป็นข้อจำกัดหลักที่ทำให้รัฐประหารเกิดขึ้นได้ยากในอินเดีย แต่ยุทธศาสตร์ของนายกรัฐมนตรีชวาหระลาล เนห์รูและทีมยุทธศาสตร์ที่เน้นการตัดไฟแต่ต้นลม และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐประหารไม่เคยเกิดขึ้นในอินเดีย เป้าหมายที่แท้จริงของยุทธศาสตร์ป้องกันรัฐประหารคือ การปฏิรูปกองทัพนั่นเอง สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของรัฐประหารก็คือ การที่กองทัพยึดถือว่าตนเป็นสถาบันที่มีความรับผิดชอบในยามที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตทางการเมืองซึ่งทำให้เกิดช่องว่างที่ทหารจะเข้ามาแทรกแซง แก้ปัญหา และล้มรัฐบาลได้ ดังนั้นยุทธศาสตร์ป้องกันรัฐประหารของอินเดียมีขึ้นเพื่อปรับความเข้าใจของทหารในเรื่องความรับผิดชอบทางการเมืองเสียใหม่ สร้างทหารให้เป็นทหารอาชีพที่รู้จักหน้าที่และเคารพระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง