Skip to main content
ที่ ๐๐๖/๒๕๕๓                                          
วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๓
 
 
แถลงการณ์
๖ ปีตากใบ : ความล้มเหลวกระบวนการยุติธรรมไทยกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๓ ซึ่งครบ ๖ ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของประชาชนหน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส อันถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีการสูญเสียมากที่สุดครั้งหนึ่งของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และแม้รัฐบาลที่ผ่านมาจะได้เพียรพยายามเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้รอดชีวิต รวมถึงชุมชน และสังคม แต่สิ่งเดียวที่รัฐบาลในทุกสมัยไม่เคยให้แก่ประชาชนคือ ความยุติธรรม 
 
ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ มีผู้เสียชีวิตหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ ๗ คน ปัจจุบันพนักงานอัยการมีคำสั่งงดการสอบสวนเนื่องจากไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต ต่อมาได้มีการขนย้ายผู้ชุมนุมทั้งหมดไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พบมีผู้เสียชีวิตภายในรถที่ขนย้ายอีก ๗๘ คน รวมผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น ๘๕ คน ไม่นับรวมผู้บาดเจ็บ และพิการ ในกรณีการเสียชีวิตศาลจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งไต่สวนการตายเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒ สรุปว่าผู้ตายเสียชีวิตเนื่องจากการขาดอากาศหายใจ ขณะอยู่ในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ พนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งพนักงานอัยการ โดยพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดการเสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีขณะนั้นเห็นพ้องกับอัยการในการสั่งไม่ฟ้อง คดีจึงถือเป็นอันยุติ
 
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐซึ่งรวมถึงหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ต้องอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ กรณีตากใบจึงเป็นเสมือนบทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นที่ยอมรับร่วมกันว่า รากเหง้าของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจากความไม่เป็นธรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวไทยเชื้อสายมลายูในพื้นที่ดังกล่าว แม้กฎหมายจะมีพื้นที่ให้ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องต่อศาลได้เองโดยตรง แต่ผู้ครอบครัวเสียหายส่วนใหญ่เป็นผู้อยู่ในสถานะยากลำบาก อีกทั้งการฟ้องร้องหน่วยงานความมั่นคงก่อให้เกิดความหวาดกลัว และการไม่มีหลักประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำประชาชนให้ไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมบนบรรทัดฐานของความเท่าเทียมทางกฎหมายได้
 
ในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ตากใบ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย และองค์กรอิสระซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามกระบวนการยุติธรรม ดังนี้
 
๑.     ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดทบทวนความเห็นในการสั่งไม่ฟ้องคดีกรณีตากใบ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิทางศาลในการหาความเป็นธรรมได้อย่างเต็มที่
 
๒.     คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ควรเพิ่มบทบาทในการช่วยเหลือผู้เสียหายกรณีตากใบและครอบครัวให้เข้าถึงความยุติธรรมโดยการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๒๕๗(๔)
 
๓.     รัฐบาลต้องมีมาตราการในการให้ความคุ้มครองพยานซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตให้มีความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อสามารถให้การเป็นพยานในชั้นศาล และสามารถนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้
 
๔.      สังคมไทยต้องนำบทเรียนของเหตุการณ์การละเมิดสิทธิต่อประชาชน รวมทั้งการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมชนของประชาชน โดยไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในทุกกรณี และร่วมกันเฝ้าติดตามการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของกรณีการละเมิดสิทธิฯในเหตุการณ์ตากใบ
 
เพื่อสร้างความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม และเพื่อการฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจ และปรับกระบวนทัศน์ในการอยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธี ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลรวมถึงกระบวนการยุติธรรมไทยจึงต้องทบทวนบทบาทที่ผ่านมา ว่าแท้จริงแล้วกระบวนการยุติธรรมไทยยืนอยู่บนพื้นฐานของความจริง และความยุติธรรมเพื่อปกป้องบุคคลจากการถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ตามหลักนิติธรรมอย่างไร เพราะการปรองดอง และความสมานฉันท์ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากความเป็นธรรม อีกทั้งสันติภาพก็มิได้หมายถึงเพียงการยุติความรุนแรง แต่สันติภาพที่ยั่งยืนหมายถึงการที่ประชาชนทุกคนจะเป็นอิสระจากความหวาดกลัว และต้องไม่ให้มีการงดเว้นโทษ(Impunity)อีกต่อไป
 
 
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ