Skip to main content

 

เราต้องการความเป็นธรรม

 

อัญชนา  หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ

 

3 เมษายน 2560
จากกรณีเหตุวิสามัญฆาตกรรมที่อำเภอรือเสาะเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 ที่เกิดข้อกังขาจากการให้ข้อมูลที่แตกต่างกันระหว่าง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ทหาร (สำนักข่าวอิศรา : 2 ชีวิตที่สูญไป เด็กหญิงที่รอดตาย...กับวิสามัญฯปริศนาที่รือเสาะ ) วันนี้กลุ่มด้วยใจและองค์กร HAP จึงได้ลงพื้นที่เพื่อตอบคำถามให้กับข้อสงสัยต่างๆที่ปรากฎในข่าวจากแหล่งต่างๆ 
ครอบครัวนายอิสมาแอมีพี่น้อง 2 คน ชายหนึ่งคนคือนายอิสมาแอและผู้หญิงหนึ่งคนคือน้องสาวซึ่งมีอายุ 15 ปี นายอิสมาแอเพิ่งกลับจากเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยที่อินโดนีเซียได้ปีกว่าและกลับมาทำงานที่บ้านและสอนที่โรงเรียนตาดีกาเขาไม่เคยถูกควบคุมตัว ไม่เคยถูกตรวจค้นที่บ้านเลย
วันนั้นนายอิสมาแอ ได้ชวนน้องสาวไปข้างนอกและได้พบกับนายอาเซ็งซึ่งเป็นเพื่อนบ้านและเขาได้ขอให้ช่วยไปส่งที่บ้านเพื่อนโดยนายอาเซ็งเป็นคนบอกทางระหว่างทางผ่านด่านหลายด่านแต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ตรวจแต่ละด่านเลยจนมาถึงจุดที่เกิดเหตุได้มีรถเจ้าหน้าที่ขับมาจอดที่ข้างหน้ารถที่นายอิสมาแอขับอยู่นายอิสมาแอจึงหยุดรถ และอีกคันจอดที่ด้านหลังรถ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธได้ลงจากรถหลายคน และบอกให้ทุกคนลงจากรถให้หมด ทุกคนจึงลงจากรถแล้วนั่งลงบนถนนและยกมือขึ้นทั้งสองข้างโดยนายอิสมาแออยู่ที่ข้างหน้ารถและนายอาเซ็งซึ่งนั่งที่ห้องผู้โดยสารลงมาจากรถและอยู่ที่ด้านข้างซ้ายของรถ แล้วเจ้าหน้าผู้ชายจึงจับไหล่น้องสาวของนายอิสมาแอเพื่อให้เดินไปทางด้านหลังรถ และได้ใช้ไหล่โอบไหล่น้องสาวแน่นขึ้นเพื่อให้เดินไปตามที่เจ้าหน้าที่ต้องการ ต่อมาจึงได้ยินเสียงปืนดัง 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ได้ยินเสียง 2-3 นัด ต่อมาจึงได้ยินอีก 3-5 นัด และครั้งสุดท้ายอีก 1 นัด โดยเจ้าหน้าที่ได้พาน้องสาวไปที่ ฉก 46 เมื่อเวลา 14:30 น ต่อมาเวลา 16 :00 น แม่ได้ทราบข่าวจากน้องสาวของแม่ว่ามีเหตุปะทะและมีบุคคลที่คล้ายลูกชายแม่กับพ่อจึงไปที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ไปดูที่ศพจึงถามหาน้องสาวจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าอยู่ที่ ฉก 46 แม่จึงให้ญาติไปดูที่นั่นแต่เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มี แม่จึงสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกิดเหตุอีกครั้ง เจ้าหน้าที่จึงบอกว่าอยู่ที่นั่นและให้โทรศัพท์สอบถามโดยตรง ระหว่างที่อยู่ที่ ฉก 46 ได้มีการเก็บดีเอ็นเอ น้องสาวด้วย และมีการซักถามประวัติ เพื่อนบ้าน เพื่อนสนิท ครู โต๊ะอิหม่าม ต่อมาจึงส่งน้องไปที่โรงพักรือเสาะ ที่นั้นก็มีการซักถามอีกครั้งและได้รับการปล่อยตัวเวลา 22:00 น 
ทั้งนี้เจ้าหน้าทีได้พูดกับน้องสาวว่าพี่ชายของเธอพยายามไปเอาอาวุธปืนเพื่อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่แต่เธอยืนยันว่าพี่ชายและนายอาเซ็ง ไม่มีอาวุธ และเมื่อเจ้าหน้าที่ให้หยุดรถก็หยุด ให้ลงจากรถก็ลง ให้ยกมือและนั่งลงก็ทำตาม แล้วจะลุกขึ้นมาต่อสู้ได้อย่างไรในห้วงเวลา 2-3 นาทีที่เธอถูกบังคับให้หันหลังและเดินจากจุดนั้น 
จากกรณีที่มีประเด็นที่เจ้าหน้าที่ทหารแถลงว่ามีการตั้งด่านและรถที่เธอนั่งมามีพิรุธนั้นไม่เป็นความจริงเลยไม่มีการตั้งด่านและเป็นรถเจ้าหน้าที่ที่ขับมาและบอกให้พี่ชายจอดรถ 
สำหรับนายอาเซ็ง อุเซ็ง ก็เหมือนกับหลายๆครอบครัวในพื้นที่รือเสาะที่เป็นการเหมารวมตระกูลนั้นตระกุลนี้เป็นผู้ก่อความไม่สงบเพราะ พี่ชายของเขาถูกวิสามัญ ฆาตกรรมไปเมื่อ 5 ปีก่อน อาชองเขาก็ถูกฆ่าโดยไม่รู้ว่าใครทำ พี่ชายของเขาถูกทรมานระหว่างการควบคุมตัวด้วยกฎมายพิเศษ ตระกูลของเขาในสายตาของเจ้าหน้าที่ถูกเหมารวมไปแล้ว เหมือนตระกูล ยะกูมอ ที่คนในครอบครัวถูกวิสามัญฆาตกรรมไป 2 คน เมื่อปี 2558และ 2559 และอีกคนถูกจับกุม 2 ครั้ง ยกฟ้องครั้งแรกและถูกตัดสินประหารชีวิตในครั้งที่สองที่ถูกจับกุม (คำถามคือการให้ครอบครัวที่ถูกเหมารวมแบบนี้อยู่ในสังคมได้มีความปลอดภัย เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ยอมรับในรัฐ ได้อย่างไร)
 จากประเด็นการวิสามัญฆาตกรรมที่เกิดขึ้นคำถามของครอบครัวทั้งสองก็คือว่า ไม่มีวิธีการที่ดีกว่าการวิสามัญฆาตกรรมหรือ ทำไมเมื่อเขายอมมอบตัวจึงยังถูกวิสามัญฆาตกรรมอีก ครอบครัวของพวกเขามีความเสียใจที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้และต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตโดยเฉพาะครอบครัวของนายอิสมาแอที่รับไม่ได้เมื่อลูกถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ครอบครัวจึงอยากให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้ความเป็นธรรมกับลูกชายด้วย
เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ความขัดแย้งนี้จึงขอเสนอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความเข้าใจในการปฎิบัติงานของจ้าหน้าที่และเกิดความเชื่อมั่นในกลไกของรัฐโดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมและการให้ความสำคัญกับการขจัดวัฒนธรรมการไม่รับผิดซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการสันติภาพ

หมายเหตุ กรณีนี้พบว่ามีการตรวจดีเอ็นเอเด็ก และมีการควบคุมตัวเด็ก ซักถามเด็ก โดยไม่มีผู้ปกครองยินยอมหรืออยู่ร่วมในการซักถามหรือตรวจดีเอ็นเอ ไม่มีการแจ้งให้ครอบครัวทราบว่ามีการควบคุมตัวเด็กที่ไหน และส่งไปที่ไหน

ภาพในวันที่นายอิสมาแอรับปริญญาที่ประเทศอินโดนีเซีย และ บอร์ดที่เขาใช้สอนเด็กๆที่บ้าน