Skip to main content

มูฮำมัดอายุบ ปาทาน

 

          คำกล่าวของนายพระนาย สุวรรณรัฐ ผอ.ศอ.บต. ในการเสวนายุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาและและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาน่าสนใจยิ่ง

          โดยผอ.ศอ.บต.บอกว่า "ปัญหาชายแดนภาคใต้ หากมองผิวเผินต้องใช้เวลาอีก 20 ปี ถึงจะแก้ไขปัญหาได้ แต่ตราบใดหากพื้นที่ยังตกอยู่ในความกลัว หรือไม่สามารถดึงมวลชนได้ ปัญหาจะแก้ได้ยาก และไม่รู้ว่าอีก 20 ปีจะแก้ได้หรือไม่"

          คำกล่าวนี้น่าสนใจยิ่งในยามที่ปฏิบัติการทางทหาร ปิดล้อม ตรวจค้นและจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบดำเนินไปอย่างเข้มข้น ซึ่งช่วยให้จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ลดลงไป แม้จะยังมีการก่อเหตุโต้กลับมาบ้าง

            แต่หากความกลัว ซึ่งไม่ว่าฝ่ายใดเป็นผู้ก่อขึ้นยังคงอยู่ ก็อย่าหมายว่าปัญหาจะยุติลงอย่างแท้จริง เพราะปัจจัยชี้ขาดชัยชนะอยู่ที่ประชาชน ว่าจะยอมรับและเข้าด้วยกับฝ่ายใด

          รัฐเองไม่ควรย่ามใจเกินไป สถานการณ์อาจใกล้ถึงขั้นปลายอย่างที่ผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาได้ประเมินเอาไว้ แต่หลังจากนั้นจะมั่นใจได้อย่างไรว่า แนวคิดจะยุติลงโดยไม่มีการสืบทอด

          สถานการณ์หลังการเปิดยุทธการปิดล้อม ตรวจค้น และจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบได้เป็นจำนวนมาก แต่มั่นใจหรือว่าอิทธิพลของขบวนการใต้ดินในพื้นที่ได้ลดลง ผู้ถูกจับกุมเหล่านี้เป็นกองกำลังซึ่งเป็นแกนปฏิบัติการก่อเหตุจริงหรือ

          และที่ควรตระหนักก็คือ การจับกุมอาจเป็นปฏิบัติการเพื่อ "ถอนแกน" แต่มิใช่การ "ถอนแนวคิด"

          ปฏิบัติการทางทหารก้าวหน้าไปไกล ขณะที่ปฏิบัติการเอาชนะทางความคิด ยังมิได้คืบหน้าไปเท่าที่ควร โดยเฉพาะในหมู่บ้าน พื้นที่อิทธิพลของขบวนการใต้ดิน

          รัฐยอมรับหรือไม่ว่า เหตุการณ์ "กรือเซะ" และ "ตากใบ" ซึ่งใช้มาตรการทางทหารแก้ปัญหา เป็นจุดพลิกผันให้ภาพลักษณ์ของรัฐในสายตาชาวบ้าน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งไม่ดีอยู่แล้ว ยิ่งแย่หนักเข้าไปอีก

            สังคมไทยควรต้องทำใจยอมรับว่า สถานการณ์ชายแดนภาคใต้อาจเป็นสงครามยืดเยื้อ แนวคิดชาตินิยมซึ่งขบวนการใต้ดินปลูกฝังมานานกว่าครึ่งศตวรรษ จะขุดรากถอนโคนให้หมดไปแค่ช่วงเวลา 5 ปี 10 ปี เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

          ความคาดหวังของสังคมไทย ซึ่งปราถนาสันติสุขให้กลับคืนมาโดยเร็วนั้นเป็นสิ่งดี และภาครัฐก็ควรหาวิธีการสกัดกั้นเหตุร้ายที่เกิดขึ้น แม้จะยุติให้หมดไปในทันทีไม่ได้ แต่ก็ควรทำให้บรรเทาเบาลงที่สุด

          การคาดหวังให้ความรุนแรงยุติลงแบบทันทีทันใด ด้วยความเห็นใจพี่น้องทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในพื้นที่ อาจกลายเป็นแรงกดดันให้ฝ่ายรัฐใช้มาตรการเด็ดขาด ซึ่งอาจถึงขั้นรุนแรง จนทำให้สถานการณ์แย่หนักลงไปอีก

          หาก 20 ปีนี้ จะเป็น 20 ปี เพื่อตรึงความรุนแรงมิให้ลุกลาม ขณะเดียวกันก็เป็นห้วงเวลาในการถอนแนวคิดต้นตอความรุนแรงให้หมดไปได้ ก็ไม่ควรตระหนกตกใจว่าเป็นเวลาที่ยาวนานเกินไป

        มีแต่การถอนแนวคิดเท่านั้นที่จะทำให้ภาวะความสงบสุขเกิดขึ้นได้จริง และคงอยู่อย่างยั่งยืน เพื่อให้เชื้อไฟความรุนแรงหมดไปอย่างสิ้นเชิง