Skip to main content

รูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจหรือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

(ดาวน์โหลดงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ คลิก)

 

โดย อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

คณะผู้วิจัย

กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้

[email protected], http://www.oknation.net/blog/shukur

 

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ตลอดระยะเวลา 2 ปี ๒๕๕๘-๒๕๕๙  ผู้เขียนร่วมกับดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ และคณะได้ทำการวิจัยเรื่องรูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจหรือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่ง  เทศบาลนครยะลาได้ให้งบประมาณสนับสนุนโดย   มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษา รวบรวม สังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับสภาพและรูปแบบการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมทั้งการนำเสนอข้อสรุปรูปแบบ เงื่อนไข ตลอดจนความเป็นไปได้ในการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้แบ่งระยะการวิจัยเป็น 4 ระยะ คือ 1. การศึกษารวบรวม สังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับสภาพและรูปแบบการจัดการศึกษาในระบบ       นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับองค์ความรู้เกี่ยวกับสภาพและรูปแบบการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยในเขตเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ภาคทฤษฎี จากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จำนวน 57 เรื่อง และการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพและรูปแบบการจัดการศึกษาในระบบ      นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยในเขตเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ภาคสนาม จากการสนทนากลุ่ม (Focus Group) กับครูและผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 198 คน 2. การสังเคราะห์ และสร้างรูปแบบการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยการประชุมปฏิบัติการของคณะผู้วิจัยเพื่อสังเคราะห์ข้อมูลสร้างรูปแบบการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3. การตรวจสอบรูปแบบการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการสนทนากลุ่ม(Focus Group) กับผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 29 คน และ 4. การนำเสนอข้อสรุปรูปแบบ เงื่อนไข ตลอดจนความเป็นไปได้ในการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้นำเสนอรูปแบบการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวทีประชาคมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จากจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลาและสตูล จำนวน 540 คน ทั้งนี้มีการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 -2559 และได้นำข้อมูลมาสังเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)

 

 

ผลการวิจัยสามารถสรุปได้ ดังนี้

 

           1. รูปแบบการจัดการศึกษาในช่วงอายุตั้งแต่ 0 5 ปี (ช่วงก่อนวัยเรียน)

                   1.1 รูปแบบการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยในช่วงอายุตั้งแต่ 0 – 2 ปี

                             เป็นการจัดการศึกษาสำหรับเด็กวัยทารก โดยพ่อแม่ผู้ปกครองร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานสาธารณสุข, หน่วยงานด้านพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดทำหลักสูตรสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง                                      ในด้านวิธีการส่งเสริมพัฒนาการ,การส่งเสริมภาระทางโภชนาการ อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่สมบูรณ์ตามวัย

                   1.2 รูปแบบการจัดการศึกษานอกระบบในช่วงอายุตั้งแต่ 2 3 ปี      

                             การจัดการศึกษาโดยชุมชนในพื้นที่โดยการมีศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ประจำมัสยิดหรือศูนย์เราเฎาะ ตลอดจนการศึกษาที่ร่วมกับหน่วยงานทางสาธารณสุขเกี่ยวกับการส่งเสริมความรู้ทางด้านการอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียนทางด้านพัฒนาการและโภชนาการ รวมทั้งการแหล่งเรียนรู้ในชุมชนที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยกับเด็กก่อนวัยเรียน

                  1.3 รูปแบบการจัดการศึกษาในระบบขั้นพื้นฐานในช่วงอายุตั้งแต่ 3 – 5 ปี

                             การจัดการศึกษาให้มีพัฒนาการทางด้านร่างกายที่สมบูรณ์และสมดุลตามวัย,ด้านการจัดสวัสดิศึกษาหรือสภาพความปลอดภัยในโรงเรียนให้,ด้านการสื่อสารภาษาไทยและภาษาแม่, ด้านการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมและด้านการส่งเสริมการคิด โดยมีสาระประกอบด้วย  2  ส่วน คือ 1) สาระการเรียนรู้ตามกรอบของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2546 ใน 4 สาระ คือ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับบุคคลและสภาพแวดล้อม ธรรมชาติรอบตัวและสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัว 2) สาระการเรียนรู้ตามบริบทของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ คือ สาระการเรียนรู้ด้านภาษาไทยและภาษาแม่ (มลายู) สาระการคิดและนำเสนอความคิด และสาระการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม

          เงื่อนไขความสำเร็จ

                   1. สถานศึกษาต้องมีสื่อและแหล่งเรียนรู้ ที่ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กนักเรียน ประกอบด้วย

                             1.1 สนามเด็กเล่นที่มีเครื่องเล่นสนามครบทุกด้านตามเกณฑ์มาตรฐาน

                             1.2 แหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติ เช่น สวนผลไม้ ทุ่งนา สวนหย่อม บ่อเลี้ยงปลา สวนยาง สวนปาล์ม มัสยิด วัด เป็นต้น

                             1.3 แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน เช่น สวนสมุนไพร ร้านค้าสหกรณ์ ห้องสมุด สนามกีฬา เป็นต้น

 

 

                             1.4 ศูนย์เรียนรู้ในชุมชน เช่น พิพิธภัณฑ์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ สวนสาธารณะ ศาล สถานีตำรวจ เป็นต้น  

 

                   2. สนับสนุนให้ครู/ผู้ดูแลเด็กต้องมีมาตรฐานวิชาชีพอนุบาล/ปฐมวัย และมีจำนวนครบตามสัดส่วนของเด็ก

                   3. สนับสนุนให้มีการนิเทศติดตาม ครู/ผู้ดูแลเด็ก อย่างต่อเนื่องโดยใช้ระบบพี่เลี้ยง                  ที่มีความเชี่ยวชาญให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง

           2. รูปแบบการจัดการศึกษาในช่วงอายุตั้งแต่ 7 - 22 ปี (ภาคบังคับและการเตรียมตัวทำงาน)     

                   รูปแบบการจัดศึกษาในช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยที่มีระยะยาวนานของการอยู่ในระบบการศึกษา จึงได้แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ

                   2.1 รูปแบบการศึกษาในช่วงอายุ 7 18 ปี (การศึกษาขั้นพื้นฐาน)

มีหลักการในการศึกษาดังนี้

                             2.1.1 ส่งเสริมการเรียนรู้โดยมีการบูรณาการอิสลามศึกษากับสาระเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสอดคล้องตามบริบทและความต้องการของท้องถิ่น

                             2.1.2 ส่งเสริมทักษะทางภาษาด้วยการเรียนการสอนแบบสองภาษา (ภาษาไทยและภาษามลายูถิ่น) ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น

                             2.1.3 ส่งเสริมการพัฒนาระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยบูรณาการในสาระการเรียนรู้ในลักษณะต่างๆ ตลอดจนมีการนำเสนอผลผลิตจากกระบวนการคิด

                             2.1.4 ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องด้วยการใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อในการแสวงหาความรู้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต

                             2.1.5 ส่งเสริมทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ตลอดจนจิตสำนึกความเป็นไทยและหลักการประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

                             2.1.6 ส่งเสริมการร่วมมือในการจัดการศึกษาระหว่างสถานศึกษากับชุมชนโดยอาศัยหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

                 โดยมีรูปแบบ 2 ส่วน คือ รูปแบบการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และหลักสูตรอิสลามศึกษา โดยสามารถจัดแบบบูรณาการเนื้อหาอิสลามศึกษาในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือจัดควบคู่ระหว่างหลักสูตรอิสลามศึกษาและหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยต้องมีการส่งเสริมการสอนแบบสองภาษา กระบวนการคิด และทักษะในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม

           เงื่อนไขความสำเร็จ

                   1. ครูผู้สอนมีมาตรฐานวิชาชีพตรงตามสาระการเรียนรู้และมีจำนวนครบตามมาตรฐาน

                   2. ครูผู้สอนต้องมีการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนากระบวนการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง

                   3. โรงเรียนต้องมีความพร้อมของสื่อและแหล่งเรียนรู้ เช่น ห้องปฏิบัติการทางภาษา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ห้องสมุด สื่ออิเลคทรอนนิกส์ และแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เป็นต้น

                   4. การบริหารจัดการของโรงเรียนต้องใช้โรงเรียนเป็นฐาน ยึดหลักธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วม ตามหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

                 2.2 รูปแบบการศึกษาทางวิชาชีพ                  มีการจัดการศึกษาทางวิชาชีพ ดังนี้

                             2.2.1 ส่งเสริมให้มีหลักสูตรตามความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่โดยมีการจัดการศึกษาแบบทวิภาคีเน้นการฝึกภาคปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ

                             2.2.2 ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบสมรรถนะผู้เรียนตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการในพื้นที่

                             2.2.3 ส่งเสริมการพัฒนาระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยบูรณาการในสาระการเรียนรู้ในลักษณะต่างๆ ตลอดจนมีการนำเสนอผลผลิตจากกระบวนการคิด

                             2.2.4 ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องด้วยการใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อในการแสวงหาความรู้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต

                             2.2.5 ส่งเสริมทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ตลอดจนจิตสำนึกความเป็นไทยและหลักการประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และการบูรณาการอิสลามศึกษากับการเรียนด้านวิชาชีพ

                             2.2.6 ส่งเสริมการร่วมมือในการจัดการศึกษาระหว่างสถานศึกษากับชุมชน โดยการทำกิจกรรมจิตบริการชุมชน

           เงื่อนไขความสำเร็จ

                   1. ครูผู้สอนมีมาตรฐานวิชาชีพตรงตามวิชาชีพและมีจำนวนครบตามมาตรฐาน

 

 

                   2. ครูผู้สอนต้องมีการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนากระบวนการเรียนการสอนทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง

 

                   3. สถานศึกษาต้องมีความพร้อมของสื่อและห้องปฏิบัติการทางวิชาชีพ ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ในสถานประกอบการ

                   4. การมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถานประกอบการที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้เป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

           2.3 รูปแบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ดังนี้

                 2.3.1 ส่งเสริมระบบการผลิต พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีความสามารถและมีความเข้าใจในบริบทของสังคมในท้องถิ่น

                 2.3.2 ส่งเสริมระบบการเรียนการสอนที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนท้องถิ่น โดยการบูรณาการกับหน่วยงานในชุมชนและใช้ชุมชนเป็นฐานในการเรียนรู้

                 2.3.3 ส่งเสริมการบริการวิชาการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น โดยการบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับภูมิปัญญาสากล สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

                 2.3.4 ส่งเสริมการวิจัยด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการแก้ปัญหาของชุมชนท้องถิ่น โดยการใช้โจทย์การวิจัยจากท้องถิ่นตามลักษณะพื้นที่ เพื่อสามารถสร้างองค์ความรู้ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้

                 2.3.5 ส่งเสริมการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นและการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม เพื่อให้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น และการเรียนรู้ ปรับตัวในวัฒนธรรมที่แตกต่างได้

                 2.3.6 ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการในระดับสากล เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรและนักศึกษาและสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้สำหรับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

           เงื่อนไขความสำเร็จ

                   1. อาจารย์ผู้สอนมีคุณวุฒิและผลงานวิชาการตามกรอบเกณฑ์มาตรฐาน

                   2. ความร่วมมือของหน่วยงานการใช้บัณฑิตเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการฝึกประสบการณ์สู่การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                   3. การบูรณาการและแสวงหาความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆเพื่อกำหนดโจทย์การวิจัยที่สามารถแก้ปัญหาของชุมชนท้องถิ่น

 

 

                   4. ประสิทธิภาพการบริหารงานของมหาวิทยาลัย อย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้

 

           2.4 รูปแบบการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย รูปแบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ดังนี้

                             2.4.1 ส่งเสริมทักษะทางภาษาไทยร่วมกันสถาบันปอเนาะ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                             2.4.2 ส่งเสริมทักษะทางอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนท้องถิ่น                 เพื่อใช้สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิต

2.4.3 ส่งเสริมการเรียนรู้การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการพึ่งพาตนเอง สามารถดำรงชีวิตได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม

                             2.4.5 ส่งเสริมทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ตลอดจนจิตสำนึกความเป็นไทยและหลักการประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

           เงื่อนไขความสำเร็จ

                   1. ครูผู้สอนสังกัดการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) มีมาตรฐานวิชาชีพตรงตามสาระการเรียนรู้และมีจำนวนครบตามมาตรฐาน

                   2. ความร่วมมือระหว่างการศึกษาเอกชน สถาบันปอเนาะ และโรงเรียนตาดีกา กับการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย ต้องมีความใกล้ชิด และมีการวางแผนการศึกษาอย่างเป็นระบบ

                   3. ความพร้อมของสื่อและแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เช่น ศูนย์เรียนรู้ชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ประกอบการในชุมชน เป็นต้น

                   4. เครือข่ายความร่วมมือในชุมชน ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรในชุมชน

           3. รูปแบบการจัดการศึกษาในช่วงอายุตั้งแต่ 23 - 60 ปี (วัยทำงาน) มีรูปแบบการจัดการศึกษา ดังนี้

                 3.1 ส่งเสริมให้มีพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ชาชัก กริช หมวกกะปิเยาะ ผ้าพื้นเมือง กรงนก เป็นต้น โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

                 3.2 ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในท้องถิ่นในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล การบริหารงบประมาณ บัญชี ต้นทุน เทคโนโลยี เป็นต้น

 

 

                 3.3 ส่งเสริมการแสวงหาความร่วมมือกับสถานศึกษาในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัย วิทยาลัยชุมชน สถาบันอาชีวศึกษา เพื่อร่วมมือกันจัดทำหลักสูตรระยะสั้นที่ตรงกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่น

 

                 3.4 ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเพื่อจัดทำมาตรฐานทางวิชาชีพในท้องถิ่นและมีการกำกับติดตามเพื่อให้วิชาชีพมีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น วิชาชีพชาชัก วิชาชีพการทำกริช หรือวิชาชีพการทำกรงนก เป็นต้น

           เงื่อนไขความสำเร็จ

                   1. ความร่วมมือระหว่างองค์กรชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ/วิชาชีพ สถาบันการศึกษา รวมทั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อร่วมกันส่งเสริมพัฒนาวิชาชีพของชุมชนท้องถิ่น

                   2. การมีแหล่งเรียนรู้ในชุมชนที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีสื่อที่หลากหลาย และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการรวมทั้งประชาชนผู้สนใจทั่วไป

                   3. การรวมตัวของกลุ่มวิชาชีพ เพื่อให้เกิดเอกภาพและการพัฒนาอย่างทั่วถึง

           4. รูปแบบการจัดการศึกษาในช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป (วัยผู้สูงอายุ) การจัดการศึกษาของวัยสูงอายุ ควรเป็น ดังนี้

                 4.1 ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือแพทย์ทางเลือกร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบัน

                 4.2 ส่งเสริมการฝึกอาชีพที่เหมาะสมกับวัยผู้อายุ เช่น การจักสาน การปลูกต้นไม้ประดับ ไม้สมุนไพร อาชีพด้านการฝีมือ เป็นต้น

                 4.3 ส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดทักษะฝีมือของผู้สูงอายุที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในท้องถิ่น เพื่อสืบสานด้านอาชีพและการยกย่องคุณค่าของผู้สูงอายุ เช่น การทำกรงนกเขาชวา การทำหมวกกะปิเยาะ การทำกริช เป็นต้น

                 4.4 ส่งเสริมให้สถานประกอบการรับผู้สูงอายุที่มีฝีมือและมีสุขภาพดี เข้าทำงานเพื่อทดแทนแรงงานและสร้างรายได้สำหรับผู้อายุ

           เงื่อนไขความสำเร็จ

                   1. ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อายุ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา เป็นต้น

 

 

                   2. การมีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุสำหรับการดำรงชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ

 

                   3. ความเข้มแข็งของกลุ่มของผู้สูงอายุ เพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ

อภิปรายผลการวิจัย

          ข้อคันพบจากการวิจัยครั้งนี้มีประเด็นสำคัญ 3 ประเด็นหลัก คือ 1. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะภาษาไทย 2. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาพัฒนาทักษะการคิด และ                          3. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งสามารถอภิปรายตามประเด็น ดังนี้

1. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะภาษาไทย ทั้งนี้จากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2557 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6, ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของนักเรียนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้                                  ได้คะแนนเฉลี่ย 40.56 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ระดับประเทศ (44.48) แสดงให้เห็นว่าปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นปัญหาที่สำคัญ จะเห็นจากการสนทนากลุ่มของผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา “เราจะพบว่าการใช้ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาทางราชการในการสื่อสารรวมทั้งใช้สำหรับการเรียนการสอน การออกข้อสอบ                                  แต่นักเรียนเราอ่านภาษาไทยไม่ได้ อันนี้เราก็เสียเปรียบแล้ว เมื่อเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ อย่างอื่นก็เดินยาก” ดั้งนั้นจะพบว่ามีการพัฒนาวิธีการสอนภาษาไทยรวมถึงสื่อการสอน                            จะเห็นได้จาก การจัดเรียนการสอนโดยใช้ภาภาษาถิ่นและภาษาไทยเป็นสื่อการสอน กรณีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษาไทย-มลายูถิ่น) ในโรงเรียนเขตพื้นที่สี่จังหวัดภาคใต้                            (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ 2551) โดยมีการดำเนินการนำร่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ถึงปัจจุบันผลการศึกษาพบว่าสามารถพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระยะการขยายผล รวมถึงการใช้สื่อที่เป็นภาษามลายู ร่วมกับภาษาไทย เช่น การพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่านชุดพหุภาษาสำหรับผู้เริ่มเรียนเพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สุนทร ปิยะวสันต์ 2552) ผลการศึกษาก็พบว่าเป็นสื่อการสอนที่เหมาะกับบริบทวัฒนธรรมและสามารถพัฒนาทักษะทางภาษา ปัญหาการอ่านภาษาไทย                            ไม่ออก ก็เป็นวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ จะเห็นได้จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนในจังหวัดยะลา “ผมใช้การแจกลูกประสมคำสำหรับเด็กที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้                                  ซึ่งใช้ได้ผลมาตั้งแต่อดีตแล้วและปัจจุบันยังใช้ได้ดีนะครับ” (ประถม เตโช 2559)  นอกจากนั้นก็ยังมีการวิจัยในชั้นเรียนที่มีการพัฒนาการใช้ภาษาไทยอีกมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้แบบฝึกทักษะการพูด ฟัง อ่าน และเขียน แต่อย่างไรก็ตามปัญหาการพัฒนาทักษะภาษาไทยก็ยังต้องมีการพัฒนารูปแบบในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนานักเรียนที่ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 ที่ใช้ภาษามลายยูถิ่นในการสื่อสารในชีวิตประจำวันจะใช้ภาษาไทยเฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น ดังนั้นจึงควรมีการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนภาษาไทยที่เหมาะสมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการนำรูปแบบการสอนที่ใช้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่มาประยุกต์ใช้ เช่นการสอนทวิภาษา การสอนแบบพหุภาษา และการสอนแบบแจกลูกประสมคำ เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการสอนเหล่านี้ต้องมีการบูรณาการและมีการขยายผลให้มีการใช้การพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทย รวมทั้งต้องมีการจัดตั้งสถาบันการพัฒนาทางด้านทักษะภาษาไทย เพื่อให้มีการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนทางด้านภาษาและเผยแพร่สำหรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยที่เหมาะสมหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

 

 

2. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาพัฒนาทักษะการคิด จากผลการประเมินการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2557 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6,                                ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของนักเรียนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวิชาคณิตศาสตร์ ได้คะแนนเฉลี่ย 34.04 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ระดับประเทศ (38.06)  นอกจากนั้นยังพบว่าการศึกษาต่อของนักเรียนในพื้นที่สนใจเข้าเรียนสาขาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษามีจำนวนน้อย จะเห็นได้จากการเปิดรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาต้องเปิดรับนักศึกษาเพิ่มเติมเข้าเรียนในสาขาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในทุกปีการศึกษา จากปัญหาดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถหรือทักษะทางด้านการคิดคำนวนซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์ รวมทั้งการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งเป็นกระบวนการทางด้านสมองในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ทิศนา แขมมณี 2554 : 188 - 189) สำหรับการแก้ปัญหาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในพื้นที่มีการศึกษารูปแบบการบริหารและจัดห้องเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Program : SMP) ที่เหมาะสมสำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในโรงเรียนจังหวัดภาคใต้ เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 ผลการประเมินเบื้องต้นอยู่ในระดับดี (มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา 2559 ฐานข้อมูลออนไลน์ smp-yru.blogspot.com) และจากผลการจัดเวทีประชาคม มีการเสนอแนะให้มีการขยายโครงการ ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Program : SMP) ทั่วทุกจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีศูนย์ประสานงานแต่ละจังหวัด แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีการพิจารณาถึงส่งเสริมทักษะการคิดขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นและใช้มากในชีวิตประจำวันรวมทั้งใช้เป็นพื้นฐานในการคิดขั้นสูงต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และความคิดสร้างสรรค์ ไตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์ ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานที่ 4 (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา องค์กรมหาชน (2547 : 6) จากผลการศึกษาครั้งนี้ยังพบรูปแบบการพัฒนาทักษะการคิดดังกล่าวค่อนข้างน้อย ทั้งนี้เพราะการคิดเป็นลักษณะของกระบวนการหรือวิธีการไม่ใช่เนื้อหาสาระหรือเนื้อหาความรู้ การสอนจึงเป็นเรื่องยากสำหรับครูซึ่งต้องอาศัยความรู้ทั้งด้านความหมาย ขั้นตอนการคิด และตัวบ่งชี้ในการคิด (ทิศนา                                แขมมณี 2554 : 191 - 192)  

 

 

 

ดังนั้นการส่งเสริมรูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาด้านความคิดควรจัดควบคู่ไปกับการพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง การศึกษารูปแบบการส่งเสริมผู้เรียนให้มีการประดิษฐ์                                    การวิเคราะห์เหตุการณ์ การตัดสินใจ การรับรู้เท่าทันสื่อ รูปแบบของโรงเรียนที่ส่งเสริมการคิดเพื่อสร้างนวัตกรรมสำหรับแก้ปัญหาโดยมีการสนับสนุนทางด้านนโยบายและงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาการคิดทั้งระบบต่อไป

 

3. รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม จากผลการวิจัยที่พบว่าทุกระดับการศึกษาจำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งผลปรากฏจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนกระทั่งปัจจุบัน สาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งคือความไม่เข้าใจถึงการอยู่ร่วมกันในต่างวัฒนธรรม การยอมรับซึ่งกันและกัน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสร้างความสมานฉันท์ในการอยู่ร่วมกัน และเป็นหัวใจที่สำคัญในการดำเนินงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2551) ดังนั้นการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงจำเป็นต้องส่งเสริมความเข้าใจที่มุ่งสู่สันติภาพหรือสันติศึกษา (Peace Education) โดยการส่งเสริมทักษะที่จำเป็นได้แก่ ทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ความร่วมมือ การสะท้อนคิด ไม่ใช้ความรุนแรงในการสื่อสาร การเห็นอกเห็นใจ การคิดเชิงวิเคราะห์ และการมีจินตนาการเชิงสันติ รวมทั้งรูปแบบการจัดการศึกษาแบบพหุวัฒนธรรม (Multicultural Education) ที่ต้องทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของความแตกต่างและยอมรับในความหลากหลายของแต่ละบุคคล โดยมุ่งให้ความสำคัญกับสิทธิและความเสมอภาค และความเป็นพลเมืองตามแบบประชาธิปไตย ทั้งนี้ต้องส่งเสริมในนักเรียนเกิดความเชื่อมั่นและมีความภาคภูมิใจในตนเองและยอมรับความหลากหลายได้ (จิรภรณ์ มั่นเศรษฐวิทย์ และคณะ 2556)าาา 

ดังนั้นการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม จึงควรจัดทำหลักสูตรด้านสันติศึกษาในแต่ละระดับโดยมีเนื้อหาให้เหมาะสมในแต่ละระดับ และใช้หลักการในการยอมรับความแตกต่าง การเคารพในความเชื่อความเห็นของแต่ละบุคคล การ                              ไม่ใช้ความรุนแรงในการสื่อสารและการแก้ปัญหา และการน้อมนำแนวทางพระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาใช้สำหรับการพัฒนารูปแบบดังกล่าว รวมทั้งมีการบูรณาการเนื้อหาเหล่านี้อยู่ในรายวิชาต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดทักษะการอยู่ร่วมกันด้วยสันติภาพในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

 

ข้อเสนอแนะสำหรับการจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจหรือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

1. ด้านนโยบาย

1.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับแผนการศึกษา

ชาติโดยมีการสำรวจสภาพปัญหา บริบทและความพร้อมของโรงเรียนก่อนกำหนดนโยบาย

                   1.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีการศึกษานำร่องก่อนนำนโยบายสู่การปฏิบัติ เพื่อทราบปัญหาที่จะเกิดขึ้นและมีวิธีการป้องกัน

1.3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรการมีนโนบายในการกำหนดมาตรฐานการสนับสนุนงบประมาณและดำเนินการให้มีความเท่าเทียม

2. ด้านหลักสูตร

                   2.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาด้วยการเรียนการสอนแบบสองภาษา (ภาษาไทยและภาษามลายูถิ่น) ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น

                   2.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมหลักสูตรการพัฒนาระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยบูรณาการในสาระการเรียนรู้ในลักษณะต่างๆ ตลอดจนมีการนำเสนอผลผลิตจากกระบวนการคิด

                   2.3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมทักษะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องด้วยการใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อในการแสวงหาความรู้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต

                   2.4 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคม                                    พหุวัฒนธรรม การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ตลอดจนจิตสำนึกความเป็นไทยและหลักการประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

                   2.5 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบสมรรถนะผู้เรียนทางวิชาชีพตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการในพื้นที่

 

 

                  2.6 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งเสริมให้มีพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ชาชัก กริช หมวกกะปิเยาะ ผ้าพื้นเมือง กรงนก เป็นต้น โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

                 2.7 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมหลักสูตรด้านการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในท้องถิ่นในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล การบริหารงบประมาณ บัญชี ต้นทุน เทคโนโลยี เป็นต้น

                 2.8 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมความร่วมมือกับสถานศึกษาในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัย วิทยาลัยชุมชน สถาบันอาชีวศึกษา เพื่อร่วมมือกันจัดทำหลักสูตรระยะสั้นที่ตรงกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่น

                 2.9 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือแพทย์ทางเลือกร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบัน

                 2.10 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมการหลักสูตรสำหรับฝึกอาชีพที่เหมาะสมกับวัยผู้อายุ เช่น การจักสาน การปลูกต้นไม้ประดับ ไม้สมุนไพร อาชีพด้านการฝีมือ เป็นต้น

                 2.11 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมให้มีหลักสูตรการถ่ายทอดทักษะฝีมือของผู้สูงอายุที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในท้องถิ่น เพื่อสืบสานด้านอาชีพและการยกย่องคุณค่าของผู้สูงอายุ เช่น การทำกรงนกเขาชวา การทำหมวกกะปิเยาะ การทำกริช เป็นต้น

3. ด้านการบริหารจัดการ

                 3.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมให้การบริหารจัดการของโรงเรียนต้องใช้โรงเรียนเป็นฐาน ยึดหลักธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วม ตามหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

        3.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมให้โรงเรียนมีการจัดทำภาระงานและมีการ

กำหนดกรอบอัตราตำแหน่งให้เหมาะสมตามเกณฑ์มาตรฐาน

4. ด้านการส่งเสริมและการพัฒนาครู

4.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรวางแผนร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อผลิตครูให้ตอบสนองสาขาที่ขาดแคลนอย่างเป็นระบบ

4.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีการวางแผนการพัฒนาครูอย่างเป็นระบบโดยมีสถาบันพัฒนาครูที่ได้มาตรฐาน

                 4.3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมให้มีระบบการนิเทศติดตามครูอย่างต่อเนื่องโดยใช้ระบบพี่เลี้ยงที่มีความเชี่ยวชาญให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง

 

 

4.4 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรส่งเสริมครูผู้สอนต้องมีการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนากระบวนการเรียนการสอนทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง

 

5. ด้านกิจกรรมการพัฒนาผู้เรียน

                 5.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรกำหนดให้สถานศึกษาต้องมีสื่อและแหล่งเรียนรู้ ที่ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กนักเรียน ประกอบด้วย สนามเด็กเล่นตามเกณฑ์มาตรฐาน ห้องปฏิบัติการทางภาษา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ห้องสมุด สื่ออิเลคทรอนนิกส์, แหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติ, แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน และ ศูนย์เรียนรู้ในชุมชน

5.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเพื่อจัดทำฐานข้อมูลแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ตลอดจนการสนับสนุนอินเตอร์เน็ต/อุปกรณ์ให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียน

5.3 การจัดกิจกรรมการพัฒนาผู้เรียนควรกำหนดให้สอดคล้องตามหลักศาสนาและมีความหลากหลาย

5.4 ควรมีรูปแบบการช่วยเหลือนักเรียนเป็นเฉพาะรายกรณีควบคู่กับการให้คำปรึกษา สำหรับการบำบัดยาเสพติดควรมีการบูรณาการกับหน่วยงานด้านการบำบัด/ความมั่นคงและครอบครัว

ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป

1. ควรศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใน                              แต่ละรูปแบบ เช่น รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะภาษาไทย รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาพัฒนาทักษะการคิด และรูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม เป็นต้น

2. ควรมีการวิจัยศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาทักษะทางภาษาไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Program : SMP) ศูนย์พัฒนาทางด้านการคิด และศูนย์ส่งเสริมสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม

3. ควรมีการศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาตลอดชีวิตต้นแบบที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ชายแดนภาคใต้

 

หมายเหตุ สำหรับผู้เขียนมีทัศนะดังนี้

1.การส่งเสริมภาษาในโครงการทวิภาษาภึงเเม้จะสามารถพัฒนาด้านภาษาไทยเด็กในพื้นที่ตามผลการวิจัยเเต่ในเเง่รัฐศาสตร์การเมืองอาจมีผลเสียสร้างความเเตกเเยกมากกว่าเพราะสังคมมลายูอีกหลายส่วนมีทัศนะว่าจะทำให้อักษรยาวีมลายูหายไป

2.ไม่มีเเต่พัฒนาศูนย์ภาษาไทยเเต่ควรพัฒนาศูนย์มลายูไปพร้อมกันเพราะนับวันภาษามลายูมาตรฐานทางวิชาการของคนในพื้นที่ก็กำลังหายไปด้วย

3. องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นควรหนุนเสริมการศึกษาศาสนาตลอดชีพเเก่คนพื้นที่เพื่อให้สังคมเป็นสังคมที่มีคุณธรรมจริยธรรม(นอกจากการศึกษาศาสนาในระบบโรงเรียน)

 

File attachment
Attachment Size
rwmeln_khaadphaakhphnwk.pdf (2.74 MB) 2.74 MB