Skip to main content

ทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (10) :

นัยยะของการบังคับใช้คำสั่งแบน 6 ชาติมุสลิมแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

ในภาพอาจจะมี 10 คน, คนที่ยิ้ม, ผู้คนกำลังยืน และ ชุดสูท

 

ในที่สุดศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาก็มีคำตัดสินให้คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าด้วยการห้ามพลเรือน 6 ประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐอเมริกามีผลบังคับใช้บางส่วน ซึ่งถูกตีความว่าเป็นชัยชนะของทรัมป์ในระดับหนึ่ง หลังจากที่พ่ายแพ้มาจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ความเคลื่อนไหวล่าสุดถือเป็นผลมาจากความพยายามรอบที่สามของทรัมป์ หลังจากที่คำสั่งพิเศษของเขาเป็นหมั้นมาสองครั้ง

ทรัมป์ลงนามในคำสั่งที่เรียกกันว่า “แทรเวลแยน แยน” ฉบับแรกเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2017 ซึ่งเป็นการห้ามพลเรือนจาก 7 ประเทศมุสลิมเข้าประเทศโดยเด็ดขาด ได้แก่ อิรัก อิหร่าน ลิเบีย โซมาเลีย ซูดาน ซีเรีย และเยเมน โดยมีระยะเวลา 90 วัน ส่วนซีเรียถูกระงับอย่างไม่มีกำหนด นอกจากนี้ยังงดรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศด้วย คำสั่งนี้ทำให้เกิดความโกลาหลมากมายในสนามบินต่าง ๆ และการประท้วงในหลายเมืองทั่วสหรัฐอเมริกา แต่สุดท้ายก็ถูกผู้พิพากษาเจมส์ โรบาร์ต แห่งศาลรัฐวอชิงตัน สั่งระงับเป็นการชั่วคราวโดยให้มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ

ในความพยายามครั้งที่สอง ทรัมป์ได้ลงนามฉบับใหม่ในวันที่ 6 มีนาคม ซึ่งมีการปรับปรุงสาระสำคัญบางอย่างที่ผ่อนปรนมากขึ้น โดยเฉพาะตัดอิรักออกจากกลุ่มประเทศที่ถูกแบน แต่อีก 6 ประเทศที่เหลือยังคงอยู่ในคำสั่งแบนเป็นเวลา 90 วัน ห้ามผู้ลี้ภัยเดินทางเข้าสหรัฐฯ 120 วัน จากคำสั่งเดิมที่ห้ามผู้ลี้ภัยซีเรียเข้าประเทศอย่างไม่มีกำหนด อย่างไรก็ตาม คำสั่งพิเศษฉบับนี้ก็ถูกศาลชั้นต้นของมลรัฐฮาวายและแมริแลนด์สั่งระงับอีกด้วยเหตุผลว่าเข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ เพราะเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม ศาลอุทธรณ์ก็ยืนตามคำตัดสินของศาลชั้นต้นทำให้ทรัมป์ไม่พอใจเป็นอย่างมากและวิจารณ์ศาลว่าใช้อำนาจเกินขอบเขตของฝ่ายตุลาการ ที่สำคัญคือทรัมป์ยืนยันจะสู้ต่อถึงศาลสูงสุดหรือศาลฎีกา

กระทั้งวันที่ 26 มิถุนายน ทรัมป์เริ่มมีความหวังมากขึ้นเมื่อศาลสูงสุดรับคำฟ้องกรณีดังกล่าวโดยจะพิจารณาออกคำวินิจฉัยอย่างสมบูรณ์ในเดือนตุลาคม แต่ที่สร้างความฮือฮาให้ต้องจับตามองคือศาลมีคำตัดสินในเบื้องต้นให้คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีมีผลบังคับใช้บางส่วน โดยจะยกเว้นสำหรับบุคคลจาก 6 ประเทศดังกล่าวที่สามารถพิสูจน์ความสัมพันธ์กับบุคคลหรือองค์กรในสหรัฐฯได้ แต่ต้องมีเอกสารยืนชัดเจน เช่น มีความครอบครัวหรือมีธุรกิจอยู่ในสหรัฐฯ หรือนักศึกษาที่จะเข้าศึกษาต่อในสหรัฐฯ หรือได้รับการเสนองานในสหรัฐฯโดยมีนายจ้างที่ชัดเจน ทั้งนี้ให้มีผลบังคับใช้ภายใน 72 ชั่วโมง

แม้ศาลสูงสุดยังไม่ได้ตัดสินแบบชี้ชัดว่ามาตรการ “แทรเวล แยน” ของฝ่ายบริหารเป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญหรือขัดรัฐธรรมนูญ ตลอดจนเป็นการละเมิดกฎหมายผู้อพยพเข้าเมืองหรือไม่อย่างไร แต่ก็มีความพยายามตีความกันมากมาย โดยเฉพาะประธานาธิบดีทรัมป์ที่ชี้ว่าเป็น“ชัยชนะสำหรับความมั่นคงของชาติ” และกล่าวอีกว่า “ผมจะไม่ยอมให้ใครก็ตามที่จะทำร้ายพวกเราเข้ามาในประเทศนี้ได้”

นายสตีฟ วลาเดก ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาและนักวิเคราะห์ของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น วิเคราะห์คำตัดสินนี้โดยชี้ให้เห็นว่า “ผู้พิพากษาส่วนใหญ่เห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินเกินขอบเขตของอำนาจ”

อย่างไรก็ตาม หากมองจากคณะตุลาการศาลสูงสุดที่ประกอบด้วยผู้พิพากษาสายอนุรักษ์นิยมและสายเสรีนิยมซึ่งเดิมมีสัดส่วนพอ ๆ กัน หรือ 4 ต่อ 4 จากนั้นมีนายนีล กอร์ซุช ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาภายหลังโดยประธานาธิบดีทรัมป์ อาจทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมคำตัดสินจึงมีลักษณะที่ออกมาแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เช่นนี้ กล่าวคือให้บังคับใช้บางส่วนและยกเว้นบางส่วน รับฟ้องแต่ไม่ได้ตัดสินว่าอยู่ในกรอบหรือละเมิดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามในการจำกัดผลกระทบที่จะตามมา คำตัดสินเช่นนี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงการประนีประนอมหรือการพบกันครึ่งทางของคณะผู้พิพากษาศาลสูงสุด ซึ่งอาจพอให้เห็นแนวโน้มของคำวินิจฉัยที่จะถือเป็นที่สิ้นสุดในช่วงปลายปีนี้

แต่ทว่า ผู้พิพากษาสายอนุรักษ์นิยมหลายคน รวมทั้งนายกอร์ซุช ยังคงแสดงความไม่พอใจต่อคำตัดสินในลักษณะครึ่ง ๆ กลาง ๆ เช่นนี้ โดยมองว่าขาดความเด็ดขาดและในทางปฏิบัติยิ่งจะทำได้ยากเพราะเจ้าหน้าที่จะต้องพิจารณาและตัดสินใจเป็นรายกรณี

อาจกล่าวได้ว่าการบังคับใช้คำสั่งของฝ่ายบริหารแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เช่นนี้ โดยเฉพาะข้อยกเว้นสำหรับบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯตามลักษณะที่กล่าวไปแล้ว คือการทำให้มาตรการนี้เดินหน้าต่อไปได้ชั่วคราวภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ โดยปลดล็อคข้อกล่าวหาว่าเลือกปฏิบัติบนฐานของความแตกต่างทางศาสนา แต่หันมาใช้เงื่อนไขข้อยกเว้นบนฐานของความสัมพันธ์แบบเครือญาติ เหตุผลด้านการศึกษา และการทำงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีหลายประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบหรือกระแสต่อต้านที่จะตามมาหลังบังคับใช้มาตรการนี้ และแน่นอนว่าคำวินิจฉัยที่จะถือเป็นที่สิ้นสุดในเดือนตุลาคมนี้เป็นที่น่าจับตามองมากที่สุด

 

 

อ่านความเดิมตอนที่แล้ว

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 1: Executive Order สะเทือนโลก (มุสลิม)

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 2: ปฏิกิริยาของนานาชาติและการโต้กลับของประเทศมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 3: Executive Order ปรากฎการณ์ “Solidarity with Muslims” เมื่อคนอเมริกันแสดงพลังปกป้องมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 4: Executive Order ถอดรหัสและนัยยะสำคัญบางประการ

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 5 : ตุลาการภิวัฒน์ฉบับอเมริกา “วันนี้รัฐธรรมนูญชนะ...ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย แม้แต่ประธานาธิบดี”

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 6: นโยบายต่ออิหร่าน วัฏจักรการเมืองเรื่องนิวเคลียร์และการคว่ำบาตร

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 7: ทำไมสหรัฐไม่เปิดสงครามกับอิหร่าน มองอดีตวิเคราะห์ปัจจุบัน

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอน 8/1) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอน 8/2) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (จบตอนที่ 8) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (9) : สหรัฐในวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับกับกาตาร์

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (จบตอนที่ 9): สหรัฐในวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับกับกาตาร์