Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้

 

ข้อมูลเชิงประจักษ์ของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ... พบว่า พื้นที่ชายแดน 3 จังหวัดภาคใต้มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด "มากชนิด" ที่สุดในประเทศไทย ทั้งใบกระท่อม สี่คูณร้อย ยาแก้ไอ ยาบ้า กัญชา และแม้กระทั่งเฮโรอีน

ขณะที่เยาวชนในสามจังหวัดประสบกับปัญหาความยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา และว่างงานกันมากอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอปัญหายาเสพติดกระหน่ำซ้ำเข้าไปอีกเลยไปกันใหญ่ ทั้งยังเสี่ยงต่อการที่พวกเขาจะถูกใช้เป็นเครื่องมือ หรือตกเป็นเหยื่อในขบวนการความไม่สงบดังที่ผ่านมา

ด้วยเหตุนี้ ป...จึงคิดอุดช่องโหว่ทั้งในแง่ของงานมวลชนและการสกัดกั้นยาเสพติดไม่ให้บ่อนทำลายอนาคตของชาติ ด้วยการดึงเยาวชนที่เสพยา รวมถึงเยาวชนกลุ่มเสี่ยงมาเข้าโปรแกรมบำบัด ในโครงการชื่อว่า "ญาลันนันบารู" ที่แปลว่า "ทางสายใหม่" ซึ่งไม่ใช่การบำบัดผู้ติดยา แต่เป็นการฝึกอบรมทำความเข้าใจกับเยาวชนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพื่อให้รู้ถึงภัยร้าย จะได้ "ลด ละ เลิก" การยุ่งเกี่ยวกับยานรกในที่สุด

 

ชัยธวัช  สาทถาพร วิทยากรจากสถาบันธัญญรักษ์ ซึ่งทำหน้าที่ฝึกอบรมเยาวชนอยู่ที่กองร้อย ตชด.432 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เล่าให้ฟังว่า การอบรมผ่านมาเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว โดยรุ่นล่าสุดมีจำนวน 135 คน โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง ป... กับกองทัพภาคที่ 4  ใช้ทีมวิทยากรจากสถาบันธัญญรักษ์, ศูนย์บำบัดยาเสพติด จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี ทำหน้าที่อบรมเยาวชนจาก 3 จังหวัดที่มีพฤติกรรมเป็น "ผู้เสพยา" หรือ "กลุ่มเสี่ยง" เป็นเวลา 7 วัน

ชัยธวัช บอกว่า เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ มาจากการประสานข้อมูลกับหน่วยเฉพาะกิจของทหารในพื้นที่ เมื่อพบว่าใครมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็จะเข้าไปแจ้งข้อมูลกับผู้นำชุมชน เพื่อให้ไปเจรจากับพ่อแม่ผู้ปกครองให้อนุญาตบุตรหลานเข้าร่วมโครงการ "ญาลันนันบารู"

เยาวชนจากแต่ละพื้นที่จะต้องไปผ่านกระบวนการคัดกรองที่ ม..ปัตตานี หากคนไหนใช้ยาเสพติดมาเป็นเวลานาน หรือมีอาการ "ติดหนัก" ก็จะส่งเข้าศูนย์บำบัดยาเสพติดที่ จ.สงขลา หรือปัตตานี ส่วนกลุ่มที่เสพเป็นครั้งคราว อาการยังไม่หนัก หรือเป็นแค่ "เยาวชนกลุ่มเสี่ยง" ก็จะส่งเข้าร่วมอบรมกับทีมวิทยากรชุดนี้

"สถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่ 3 จังหวัด ส่วนใหญ่เยาวชนจะนิยมเสพใบกระท่อม น้องๆ ที่เข้าอบรมก็ยอมรับว่า เคยใช้ใบกระท่อมไปทำยาเสพติดที่เรียกว่า สี่คูณร้อย ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกจากสูตรผสมวัตถุดิบ 4 ชนิดเข้าด้วยกัน"

ชัยธวัช บอกว่า  จุดมุ่งหมายของการอบรมจะเน้นการทำความเข้าใจถึงโทษภัยของยาเสพติด เพื่อให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยจะไม่แตะเข้าไปในเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 

"จากการติดตามประเมินผลผู้เข้าร่วมอบรมรุ่นแรกๆ พบว่า ถ้าเยาวชนเหล่านี้ได้ร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และได้รับกำลังใจจากทางบ้าน โอกาสที่พวกเขาจะตัดขาดจากเส้นทางยาเสพติดได้อย่างเด็ดขาดมีมากกว่า 80%"  ชัยธวัช ระบุ

ขณะที่ ดวงดาว ไวยปราชญ์ วิทยากรอีกคนหนึ่งจากสถาบันธัญญรักษ์ กล่าวเสริมว่า การอบรมจะเน้นความคิดทางอารมณ์ หรือ EQ เพราะเราเชื่อว่า ถ้าเยาวชนเหล่านี้มีความคิดที่ดี ก็จะเป็นกำลังใจให้ต่อสู้ต่อไป เพราะต้องเข้าใจว่าแม้พวกเขาจะผ่านการอบรม แต่สภาพภายในชุมชนหมู่บ้านของเขาเอง ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นมากนัก นั่นคือการระบาดของยาเสพติดก็ยังมีอยู่ ฉะนั้นเรื่องสภาพจิตใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

 

 

จากจุดเน้นดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้เกิดกิจกรรมสำคัญและน่ารักอย่างมากกิจกรรมหนึ่งในวันแรกๆ ของการเข้าอบรม คือการให้เยาวชนทุกคนวาดรูปภายใต้แนวคิดที่ว่า "ฉันคือใคร"          

การเปิดหน้ากระดาษให้วาดรูปอะไรก็ได้อย่างเสรี ทำให้วิทยากรและนักจิตวิทยาที่เข้าร่วมในโครงการ สามารถวิเคราะห์สภาพจิตใจของเยาวชนเหล่านี้ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง และพบว่าปมในหัวใจของพวกเขาคือความอ้างว้างจากปัญหาภายในครอบครัว หลายคนไม่มีเป้าหมายในชีวิตเพราะอุปสรรคทางการศึกษา ขณะเดียวกันก็ถูกกดดันจากภาครัฐท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่ตำรวจ ทหาร มองวัยรุ่นมุสลิมแบบเหมารวมว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ

เมื่อรับรู้ถึง "ปมในใจ" แล้ว วิทยากรก็จะเริ่มกระบวนการละลายพฤติกรรม ปรับทัศนคติ และนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ให้กับชีวิตของเยาวชนเหล่านั้น พร้อมๆ ไปกับการสอดแทรกองค์ความรู้เพื่อให้เห็นถึง "พิษภัย" ของยาเสพติดแบบตรงไปตรงมา

"ต้องเข้าใจว่าในพื้นที่นี้ ปัญหายาเสพติดไม่ได้เกิดจากเฉพาะตัวเด็กเอง แต่อยู่ที่ชุมชนด้วย เพราะเขามองว่า สี่คูณร้อย ไม่ใช่ยาเสพติด และไม่ได้มีพิษภัยอะไร ดื่มแล้วคุยกันสนุกสนานเฮฮา หลายครอบครัวสนับสนุนให้ลูกชวนเพื่อนๆ มาดื่มที่บ้านด้วยซ้ำ โดยให้เหตุผลว่าดีกว่าปล่อยไปนอกบ้านแล้วเสี่ยงอันตรายทั้งจากขบวนการก่อความไม่สงบ และเจ้าหน้าที่รัฐ" ดวงดาวบอก และว่า

"แต่เมื่อผ่านกระบวนการอบรมหลายวันเข้า เด็กๆ ก็จะเข้าใจว่ายาเสพติดไม่ใช่สิ่งที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน บางคนเมื่อหยุดใช้ในช่วงเข้าโครงการอบรม ก็มีอาการที่เรียกว่า ถอนพิษยา คือปวดกระดูก หงุดหงิด ก้าวร้าว และนอนไม่หลัง ทำให้หลายคนถึงกับบอกว่า ผมคงต้องเลิกจริงๆ แล้ว"

อย่างไรก็ดี ในช่วงกลางของการอบรมที่เยาวชนกำลังเผชิญกับภาวะ "ถอนพิษยา" จนหลายคนลังเลว่าจะเลือกหยุดดีหรือเสพต่อดีนั้น สิ่งหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญต้องหยิบมาใช้ก็คือ การให้ยาบางชนิดเพื่อช่วยให้หลับง่ายขึ้น เช่น อัลฟ่าโซแลม ซึ่งให้ผลตรงข้ามกับคุณสมบัติของใบกระท่อม คือจะทำให้ซึมและชาลง    

"สิ่งสำคัญที่เราพยายามเน้นคือการกระตุ้นให้เขาเกิดแรงจูงใจที่จะเลิกยา ด้วยการทำให้เขารู้ว่ายาเสพติดไม่ดีจริงๆ และให้โทษภัยของยาเสพติดออกมาจากปากของเขาเอง เพราะเมื่อเราสร้างแรงจูงใจในลักษณะนี้ได้แล้ว ไม่ว่าต่อไปเขาจะถูกชักชวนอย่างไร ก็จะไม่กลับมาเสพอีก และนั่นคือการแก้ปัญหาอย่างถาวร"  ดวงดาวสรุป

สำหรับผู้เข้าร่วมอบรมอย่าง "แบแอ" จาก อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานีบอกว่าตนเองติดใบกระท่อมอย่างหนัก ทั้งใบกระท่อมดิบ และประเภทคั้นน้ำมาผสมดื่มที่เรียกว่า สี่คูณร้อย' เป็นเหตุให้ต้องเข้ามาร่วมการอบรมในครั้งนี้

แบแอ วัย 40 ปีซึ่งเป็นอาสาสมัครชุมชนอยู่ในหมู่บ้านให้เหตุผลที่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดยอดฮิตของวัยรุ่นใน 3 จังหวัดว่า เพราะต้องเข้าเวรรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ซึ่งต้องถ่างตาอยู่เวรดึกๆ ดื่นๆ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกอ่อนเพลียและง่วงนอน จึงพยายามควานหาสิ่งที่ทำให้กะปรี้กะเปร่า นั่นก็คือสี่คูณร้อยจากการแนะนำของเด็กๆ วัยรุ่นในพื้นที่

"ทำให้เข้าเวรได้ทนจริง แต่ร่างกายเริ่มทรุดโทรม พอเริ่มกินหนักๆ ก็เริ่มติด จากที่ต้องแอบๆ กินไม่ให้ที่บ้านเห็น ก็เริ่มกินอย่างเปิดเผย จนถึงจุดหนึ่ง รู้สึกอายลูกมาก ทางกำนันก็เรียกไปบอกว่า ทาง ป.ป.ส.มีโครงการอบรมและบำบัดคนติดยา เลยตัดสินใจมา พอมาร่วมกิจกรรมและเรียนรู้ถึงโทษภัยของมัน ก็ยิ่งเข้าใจว่ามันน่ากลัวกว่าที่เราคิด"

แบแอถือเป็นคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมที่มีอายุมากที่สุดในระดับต้นๆ เพราะส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่างอายุ14-30 ปี แต่เขาบอกว่าไม่ใช่สิ่งสำคัญ การทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ทำให้เขาเข้าใจปัญหาของกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น สามารถนำไปปรับใช้ในงานอาสาสมัครที่ต้องเกี่ยวข้องกับมวลชนเป็นจำนวนมาก

"ยาเสพติดมันระบาดเยอะจริง อย่างในพื้นที่ของผมมันมีแทบทุกชนิด เด็กวัยรุ่นใน 3 จังหวัดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเยอะมาก ผมอายุมากแล้วมีวุฒิภาวะความรับผิดชอบเยอะพอทำให้กลับมาได้ง่าย แต่เด็กในวัยที่กำลังเสี่ยงมันกลับยาก ถ้าไม่ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง" แบแอให้ข้อคิด

ส่วน "เปาะซู" หนุ่มวัย 24 ปีจาก อ.รามัน จ.ยะลาให้ภาพว่าเขาเป็นคนที่มีปัญหาครอบครัวมาตั้งแต่อายุ 17 ปี เพราะพ่อเสียชีวิตด้วยโรคร้าย แม่แต่งงานใหม่และออกเรือนไปอยู่กับสามี พี่ชายออกจากบ้านไปหางานทำ ซึ่งล่าสุดก็เป็นอาสาสมัครทหารพรานไปแล้ว ทำให้เขารู้สึกเคว้งคว้าง จนกระทั่งอายุ 18 ปีก็เริ่มเสพกัญชาเป็นครั้งแรก และยึดมันเป็นสรณะมาจนกระทั่งก่อนเดินทางมาร่วมค่ายของ ป.ป.ส.

"ชีวิตผมเกี่ยวข้องอยู่แต่กับเพื่อน มีทั้งดีและไม่ดี แต่เราก็เลือกยาก เพราะทุกอย่างถือเป็นสิ่งแวดล้อมรอบกายที่ต้องเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา" เปาะซูพูดให้เห็นภาพชีวิตในชุมชน ซึ่งเขายังบอกว่ามียาเสพติดทุกประเภทที่ซื้อหาง่ายและขายคล่อง 

"สถานการณ์ยาเสพติดในหมู่บ้านน่ากลัวมาก มันมีทุกประเภท เพื่อนที่เสพยามาด้วยกันเป็นบ้าไป 2 คน เขากินสี่คูณร้อย แต่ทำให้ผมรู้สึกกลัว ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต พอทราบว่ามีโครงการของ ป.ป.ส.ก็ไปสมัครกับทางผู้ใหญ่บ้านทันที แต่ผมคิดว่าไม่ควรให้ยาเสพติดมันอยู่กับชุมชนหรือรอให้เด็กติดแล้วนำมาบำบัด ต้องแก้กันจริงจังและกวาดล้างกลุ่มผู้ค้าให้หมด เพราะผมถือว่าทั้งผมและเพื่อนก็คือเหยื่อ"

เปาะซูออกจากโรงเรียนมาตั้งแต่อายุ 15 ปี เพราะความยากจนทำให้เขาไม่มีโอกาสเรียนต่อ ทุกวันนี้เขาทำงานรับจ้างก่อสร้างได้ค่าแรงวันละ 200 บาท การมาร่วมค่ายครั้งนี้ทำให้เขาพบ "ทางเลือก" ในชีวิตอีกอย่างจากการได้พี่เลี้ยงที่เป็นทหาร ซึ่งให้ความเป็นกันเองและฝึกให้เขาและเพื่อนได้รู้จักกับคำว่า "ระเบียบวินัย" ของลูกผู้ชาย

"กลับไปผมจะสมัครทหารพรานตามพี่ชาย เพราะได้ใกล้ชิดกับทหารแล้วอยากรับใช้ชาติบ้าง อย่างน้อยผมก็อยากทำตนให้เป็นประโยชน์กับประเทศบ้าง แม้โอกาสในทางเลือกอื่นๆ จะไม่มี"

เช่นเดียวกับ "อาแว" หนุ่มน้อยวัย 17 ปีจาก อ.รามันผู้เป็นทั้งเหยื่อของยาบ้า กัญชา สี่คูณร้อย บอกว่า ชีวิตของเด็กติดยาเสพติดส่วนใหญ่ขาดทางเลือก และขาดผู้ชี้แนะที่จริงใจ คนส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจปูมหลังของคนที่ติดยาเสพติด โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คนมักแยกไม่ออกระหว่างคนติดยาเสพติดกับวัยรุ่นที่ก่อความรุนแรง ซึ่งเท่ากับปิดโอกาสของเด็กติดยา และผลักให้พวกเขาไปสู่ขั้วที่ใช้ความรุนแรงเป็นทางออกของชีวิต

"เด็กติดยาส่วนใหญ่อยากเลิกทั้งนั้น แต่รัฐบาลต้องบอกก่อนว่ามีทางเลือกอื่นใดอีกไหมสำหรับเด็กยากจนและขาดโอกาส" อาแวตั้งคำถาม

บทสรุปของค่าย คือน้ำตาและเสียงร่ำลา เด็กหนุ่มสัญญากับครูพี่เลี้ยงว่าจะไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยานรกอีก และตั้งหน้าตั้งตาประกอบสัมมาชีพหรือบางคนก็กลับไปเรียนหนังสืออีกครั้ง

เท่ากับว่ามวลชนกลุ่มหนึ่งได้ "ให้ใจ" กับผู้จัดไว้เรียบร้อยแล้ว โจทย์สำคัญหลังจากนี้คือ เมื่อเขาเข้าสู่ "ชีวิตจริง"นับแต่วันที่ออกจากค่าย จะมีกระบวนการใดรองรับพวกเขาบ้าง ทางผู้จัดได้เตรียมความพร้อมไว้ประการใดก็ต้องติดตามต่อ

 

สำหรับงานมวลชนเรื่องยาเสพติดในพื้นที่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทหาร หมู่บ้านเป้าหมายที่ทหารเข้าไปเอ็กซเรย์แล้วพบสถานการณ์ของยาเสพติดที่น่าตกใจคือ "หมู่บ้านกูวา" หมู่ที่ 5 ต.ริโก๋ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส  ด้วยลักษณะของพื้นที่รอยต่อระหว่าง อ.สุไหงโกลก ซึ่งถือเป็น "ปลายทาง" ของเส้นทางยาเสพติดในประเทศไทยและ อ.สุไหงปาดีทำให้ยาเสพติดหลายประเภทระบาดอยู่ในหมู่บ้านนี้อย่างหนัก

"ดรอนิง มือลี" ผู้ใหญ่บ้านบอกว่าเมื่อก่อนเด็กวัยรุ่นในหมู่บ้านติดยาเสพติดกันเป็นจำนวนมาก เพราะระยะทางระหว่างสุไหงโกลกและหมู่บ้านห่างกันไม่กี่กิโลเมตร ไปมาหาสู่กันอย่างสะดวก แต่หลังจากทหารเข้ามาแจ้งว่าทาง ป.ป.ส.จัดโครงการอบรมเยาวชนที่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดจึงบอกข่าวนี้กับกลุ่มวัยรุ่นกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเสพโดยไม่มีการบังคับ ซึ่งหลายคนก็พร้อมใจกันไปเข้าร่วมค่ายมาตั้งแต่รุ่นหนึ่ง ทำให้สถานการณ์ในชุมชนเริ่มดีขึ้นตามลำดับ คนที่ผ่านการอบรมมาตั้งแต่รุ่นหนึ่ง กลับมาทางเจ้าหน้าที่ก็นำอาชีพมาให้ทำด้วย ถึงตอนนี้เริ่มเบาใจขึ้นเป็นลำดับ

"กระบวนการต่อมาคือความรับผิดชอบของชุมชน ที่ต้องร่วมสร้างจิตสำนึกร่วมกัน" ผู้ใหญ่ดรอนิงกล่าว

ส่วน "มะรีเป็ง เล๊าะ" สมาชิก อ.บ.ต.ริโก๋กล่าวว่ายาเสพติดให้บทเรียนกับทางชุมชนอย่างมาก เพราะนี่คือปรากฏการณ์สังคมเมืองทะลักเข้ามาสู่ชนบท การสร้างเกราะป้องกันให้คนรุ่นใหม่ต้องรีบลงมือทำ        

ด้านความเห็นของ "สมาน ดรอแม" ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านให้ภาพอีกทางว่าการลงมาทำงานเรื่องยาเสพติดของทหาร ทำให้ความหวาดระแวงต่อชายในเครื่องแบบลายพรางของชาวบ้านเริ่มดีขึ้น จากที่เมื่อก่อนไม่เคยให้ความร่วมมือใดๆ ทุกกรณีและทุกวันจะมีข่าวลือในด้านลบต่อเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาเป็นอันมากก็เริ่มลดน้อยลงไป หลังจากทหารเริ่มลงมือเรื่องนี้อย่างจริงจังและทำให้ภาพของลูกหลานในชุมชนที่ติดยามีสภาพดีขึ้นหลังกลับมาจากอบรม ก็ทำให้ชาวบ้านเริ่มไว้ใจและเชื่อใจ

ถึงวันนี้การอบรมในโครงการ "ญาลันนันบารู" ผ่านไปแล้ว 4 รุ่น ปรากฏกระแสตอบรับอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเยาวชนที่กลับคืนไปสู่ชุมชนมีพฤติกรรมดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา  ส่งผลให้เกิดกระแสการชักชวนเพื่อนๆ ที่เสพยาหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้มาเข้ารับการอบรมบ้าง ทำให้เยาวชนที่เดินทางมาร่วมโครงการขยายพื้นที่กว้างออกไปเรื่อยๆ

          นางรอฮานิง มะยะโก๊ะ แห่ง ม.5 บ.กูวา ต.ริโก๋ อ.สุ ไหงปาดี จ.นราธิวาส มารดาของหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ รุ่นที่ 4 กล่าวว่า  ภายหลังจากที่ลูกชายของตนเองกลับมาบ้านสังเกตได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ก็คือกลายเป็นคนที่กล้าแสดงออกมากขึ้นและกลับมาก็ขยันขันแข็งที่จะช่วยงานบ้านซึ่งที่บ้านมีอาชีพกรีดยางก็ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี

          อย่างไรก็ตาม  ราฮานิง ให้ความเห็นว่า  สิ่งที่ที่ตนยังเป็นห่วงหลังจากลูกชายกลับมาจากการอบรมในโครงการก็คือ  เรื่องของสภาพแวดล้อมภายในหมู่บ้าน โดยตนไม่อยากให้ลูกชายกลับไปคบกับเพื่อนกลุ่มเดิมๆ เพราะกลัวจะหวนกลับไปใช้ยาเสพติดอีก 

          "ไม่อยากที่จะบังคับเขาเรื่องการคบเพื่อนเพราะกลัวเขาจะเครียดจนเกินไป  แต่จะลองหาวิธีการคือในช่วงวันหยุด  เสาร์-อาทิตย์  อาจจะพาไปช่วยทำงานในสวนเขา จะได้มีอะไรทำมากขึ้น"

          ด้านนางแสงจันทร์  วังแก้ว หนึ่งในผู้ปกครองของผู้ผ่านการเข้าค่าย "ญาลันนันบารู" รุ่นที่ 4  เล่าว่า อันที่จริงหลานของตนก็เป็นเด็กที่เรียบร้อยร้อยดี  แต่ที่ต้องมีปัญหายาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนหนึ่งน่าที่มาจากปัญหาทางบ้านเพราะพ่อกับแม่ มักจะทะเลาะให้เห็นกันอยู่เป็นประจำเป็นเหตุให้ตัวเขาไม่ชอบที่จะอยู่ที่บ้านก็เลยเริ่มคบกับเพื่อนโดยเฉพาะเพื่อนต่างวัยซึ่งมีอายุมากกว่า

          "เพื่อนๆ ของเขาอายุมากๆ กันทั้งนั้น เป็น อส.บ้าง เป็นทหารพรานบ้าง เราไม่อยากให้เขาโตเกินวัย พอเราดุว่ามากเข้า ก็จะเงียบไม่โต้เถียงแต่เรารู้ว่าเขาโกรธ   เราก็ไม่กล้าที่จะสอนมาก กลัวเขาจะไม่พอใจ"  

          คุณย่า บอกต่อว่า หลังผ่านค่ายนี้แล้วตั้งใจที่จะกลับไปดูแลเขาให้ดีกว่าเดิม  โดยจะขอร้องให้บวชที่วัดใกล้บ้านเสียก่อนเพื่อให้พระศาสนาคอยช่วยขัดเกลาด้านศีลธรรม  ก่อนที่จะให้เขากลับไปเรียนต่ออีก 1 ปีเพื่อให้จบ ม.6 คอยหากิจกรรมให้ทำในเวลาว่างให้มากขึ้น และจะคอยย้ำให้พ่อและแม่ทะเลาะกันให้น้อยลง 
 

 

          นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคนภายในครอบครัวแล้วในมุมมองของผู้นำชุมชนก็พบกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเช่นกัน "ดรอนิง มือลี"  ผู้ใหญ่บ้านแห่ง  บ.กูวา ต.ริโก๋  อ.  สุไหงปาดี  จ.นราธิวาส กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มวัยรุ่นผ่านโครงการจะกล้าที่จะเข้ามาปรึกษาผู้นำชุมชนมากขึ้น  ซึ่งก็กลายเป็นเรื่องที่ดีที่กลุ่มวัยรุ่นเหล่านี้ได้เข้ามาอยู่ใกล้หูใกล้ตา  ทำให้ดูแลได้ง่ายขึ้น

          "จะคาดหวังให้สำเร็จทั้ง 100  เปอร์เซ็นต์ก็คงจะไม่ได้เพราะปัญหาเรื่องอย่างนี้มันซับซ้อน ต้องค่อยๆ ช่วยกันแก้ แต่ยังก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่ายังไงเขาก็กล้าที่จะเข้าหาเรามากขึ้นหากมีปัญหา ต่างจากแต่ก่อนที่เห็นเราแล้วหลบหน้า บางคนก็วิ่งหนี พอเข้ามาอยู่ใกล้หูใกล้ตา เราก็สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ทันท่วงที"  ผู้ใหญ่บ้านกล่าวตอนท้าย

หากว่างานมวลชนที่ใช้ยาเสพติดเป็น "ธงนำ" เช่นนี้ สามารถแก้ปัญหาทั้งในบริบทการแพร่ระบาดของยาเสพติด และบริบทด้านความมั่นคงของชาติได้ ความหวังที่จะเห็นความสงบสุขกลับคืนมาอีกครั้ง คงไม่ไกลเกินไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- เบิกร่อง "ญาลันนันบารู" ทางสายใหม่แก้ยาเสพติด 3 จว.ใต้