Skip to main content

 

หลังจากอ่านบทความอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง "ให้เหล้าไม่เท่ากับแช่ง"

(อ่านบทความเต็ม https://www.matichonweekly.com/column/article_76303)

ในฐานะนักวิชาการที่คลุกคลีกับข้อมูลเรื่องสุราและแอลกอฮอล์ จึงขอเขียนคำชี้แจงบทความแก่สาธารณะ เพื่อให้ได้ความเข้าใจและมุมมองจากผม ที่เห็นต่างกับอาจารย์นิธิในหลายจุดของบทความดังกล่าว ดังต่อไปนี้

 

##############################################

 

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : "ให้เหล้าไม่มีทางเท่ากับแช่งได้เลย เพราะเหล้ามีความหมายมากกว่าน้ำเมาในวัฒนธรรมไทย อย่างน้อยที่ผมนึกออกทันทีเหล้ามีความหมายอีกสามอย่าง"

 

ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ : เหล้ามีทางที่จะตีความว่าเป็นสิ่งไม่ดี (แช่งที่อาจารย์ใช้) ได้ เพราะผลการวิจัยทางการแพทย์ ซึ่งเป็นเรื่องวิทยาการ ที่ค้นพบใหม่ตามกาลเวลา และมาทีหลังวัฒนธรรมหรือประเพณี ความเชื่อเดิมกับความเชื่อใหม่ต้องปะทะกันอยู่แล้ว ไม่แปลก แต่โดยส่วนตัวผมก็คิดว่า ให้เหล้าเท่ากับแช่งก็เป็นการเหมารวมเกินไป

 

#############################################

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : "เหล้าในที่นี้ (ทัศนของอาจารย์นิธิ) จึงมีความหมายมากกว่าน้ำเมาแน่"

 

ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ :  แต่ประเด็นที่ทาง สสส. เห็นว่าสำคัญที่สุดของเหล้าในความหมายของน้ำเมา ซึ่งมีผลการพิสูจน์มากมาย ว่าเพราะฤทธิ์ที่ทำให้เมานี่แหละที่สร้างความเสียหายหลายอย่างแก่ส่วนรวม การยกความดีบางอย่างเพื่อเบนความสนใจความเสียหายที่สิ่งนั้นก่อให้เกิดขึ้น คือความอคติ ถ้าเป็นนักวิชาการ ก็ต้องเปรียบเทียบด้วยดัชนีบางอย่างที่ชั่งน้ำหนักได้ว่าเมื่อเทียบประโยชน์กับโทษ ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งสร้างขึ้นแล้ว อะไรมากกว่ากัน และเพราะเหตุใด

 

################################################

 

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : "วงเหล้าจึงเป็น “พิธีกรรม” ที่สร้างความสัมพันธ์เสมอภาคและใกล้ชิดกัน ภายใต้คำว่า “เพื่อน” ซึ่งได้ความหมายใหม่ในหมู่คนชั้นกลางไทยในช่วงนี้"

"แล้วจะหา “พิธีกรรม” อะไรล่ะครับ ที่อาจสมานมนุษย์พันธุ์ใหม่ในสังคมไทยเหล่านี้ได้ดีไปกว่าวงเหล้า เมื่อวัฒนธรรมคนชั้นกลางระบาดออกไปในสังคมมากขึ้นเรื่อยมา เหล้าในความหมายนี้จึงถูกใช้กว้างขวางขึ้นตลอดมาด้วย"

 

ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ :  มีอีกหลายสังคมที่ไม่ได้ใช้เหล้าเป็นตัวกลางในการสร้างมิตรภาพของคนในสังคม ถ้าอาจารย์พอมีเวลา ลองมาดูสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ที่เรามีเพียงจอกน้ำชากับขนมเล็กน้อยๆ ก็สร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบที่วงเหล้าสร้างได้

"กระบวนการสร้างสัมพันธ์ภาพ" ของมนุษย์ถูกผูกติดกับเหล้าจนทำให้เราไม่มีทางเลือกอื่นแล้วหรือ

 

################################################

 

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : "พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ คนไทยกินเหล้าด้วยเหตุอะไรอื่นที่ไม่ใช่เมาหัวราน้ำแยะมาก แต่เหตุเหล่านี้ไม่ถูกนำมาพิจารณาในการรณรงค์งดเหล้าเด็ดขาดของ สสส. แต่อย่างไร รณรงค์อะไรก็ตามที่ไม่ตั้งอยู่บนฐานของความเป็นจริง มันจะสำเร็จได้ละหรือ ถึงสำเร็จได้ด้วยอำนาจรัฐประหาร มันจะยั่งยืนละหรือ"

 

ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ :  อาจารย์พูดถูกครับ ว่าคนไทยกินเหล้าด้วยเหตุผลที่หลากหลาย และข้อความดังกล่าวของอาจารย์ อาจารย์ได้ยอมรับโดยนัยว่า ปัญหาของเหล้าที่เกิดขึ้นเพราะพฤติกรรมกินเหล้าหัวราน้ำ ความจริงแล้วกลุ่มที่การรณรงค์ของ สสส. ต้องการสื่อให้ไปถึงมากที่สุดคือ กลุ่มที่กินเหล้าหัวราน้ำนี่แหละครับ สสส. ใช้ "ชุดความจริง" หลายอย่างที่ได้จากการสำรวจ การประเมิน ด้วยวิธีทางสถิติ และอ้างอิงหลักวิชาการ ส่วนจะสำเร็จหรือหรือยั่งยืนหรือไม่ ความจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตน่าจะตอบได้มากกว่า

 

###############################################

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : "ครับ ไม่มีใครสาปแช่งคนไทยยิ่งไปกว่า สสส. หรอกครับ ขอให้มึงตายอย่างทรมานในซองบุหรี่ และขอให้มึงจนและป่วยจนไม่มีทางรักษาในโฆษณาต่อต้านเหล้า"

 

ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ :  การยกความจริงที่มีคนบางกลุ่มไม่อยากฟังเป็นคำแช่งไปแล้วหรอครับ

 

###############################################

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : "ดังนั้น ตั้งด่านกันสักเท่าไร ก็หนีไม่พ้นเหยื่อของเมาแล้วขับไปได้หรอกครับ ผมไม่ได้หมายความว่าเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ไม่สำคัญ สำคัญอย่างยิ่งและขาดไม่ได้เลย แต่ไม่เพียงพอครับ ส่วนที่กล่อมเกลาทัศนคติให้มองเห็นคนอื่นก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน หรืออาจมากกว่าด้วยซ้ำ แต่เป็นส่วนที่การรณรงค์ต่อต้านเหล้าของ สสส. ไม่เคยใส่ใจเลย"

 

ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ : เห็นด้วยกับอาจารย์อย่างยิ่งครับในวรรคแรกที่ ส่วนประโยคที่ว่าการรณรงค์ต่อต้านเหล้าของ สสส.ไม่เคยใส่ใจเลย ขอเห้นต่างดังนี้ครับ

การมองเห็นคนอื่นสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันในความหมายของอาจารย์คือมองผ่านมุมของผู้บริโภคสุรา ซึ่งรู้สึกว่าถูกนักรณรงค์กระทำโดยกระบวนรณรงค์ที่ลดทอนความสำคัญของนักดื่ม หรือพูดให้เข้าใจง่ายคือ ไม่เห็นความสำคัญของนักดื่มเลย

ในกรณีเดียวกัน หากผมใช้มุมมองของคนไม่ดื่ม ซื่งเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากกว่าในสังคมไทย (นักดื่มในไทยมีสัดส่วนประมาณ 30%) เหตุใดความต้องการของคนกลุ่มนี้ ที่ต้องการชีวิตที่ปลอดภัย ไม่ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์ถึงไม่มีความหมายในมุมมองของอาจารย์นิธิไปเสียอย่างนั้น การรณรงค์เรื่องแอลกอฮอล์ในไทยมาจากชุดความจริงที่ว่า 8 ใน 10 คนในสังคมเรานั้นเคยได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์ ทั้งในรูปแบบของการล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรง อาชญากรรม อุบัติเหตุบนท้องถนน และเศรษฐกิจวิถีชีวิต ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเสียงของคนกลุ่มไหนที่มีน้ำหนักมากกว่ากัน เราอยู่ร่วมในสังคมที่ตามใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทุกอย่างไม่ได้ ระบบ check and balance จึงจำเป็น โดยเฉพาะเรื่องนโยบายควบคุมแอลกอฮอล์นี้ด้วย

 

###############################################

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : "เช่นเดียวกับเรื่องวงเหล้าเป็น “พิธีกรรม” นะครับ สังคมไทยไม่ค่อยมีกิจกรรมที่เปิดให้ทำอะไรร่วมกัน มองไปรอบตัวสิครับ เราไม่มีห้องสมุดที่กระจายไปทั่วจนคนเข้าถึงได้ง่าย, โรงหนังเล็กๆ ที่ฉายหนังทางเลือก, เวทีแสดงที่ “นักแสดง” ทุกประเภทสามารถขึ้นไปได้ง่ายๆ เพราะมันอยู่นอกตลาด, สถานที่ร่วมกิจกรรมของชมรมคนที่สนใจร่วมกัน (เช่น “สวน” ของมูลนิธิไชยวนาของอาจารย์องุ่น มาลิก) ฯลฯ และเราไม่มีอะไรอีกหลายอย่างที่ทำให้เราสามารถมี “เพื่อน” ได้นอกวงเหล้า"

 

ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ :  ผมมองว่าการรณรงค์ให้ประชาชนบริโภคเหล้าน้อยลง จะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนหาพื้นที่อื่นในการสังสรรค์และสร้างภราดรภาพ ถ้าประชาชนโหยหามิตรภาพ มากกว่าฤทธิ์น้ำเมา เมื่อไม่มีน้ำเมา ก็ย่อมหาสิ่งทดแทนอื่นที่มาสร้างมิตรภาพได้ เหมือนที่ผมยกตัวอย่างชุมชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่กระบวนการเหล่านั้นสะสมมาเป็นร้อยปี

 

###############################################

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : "หลายคนพูดว่าการต่อต้านบุหรี่, เหล้า และยาเสพติด กลายเป็นการประกอบการทางเศรษฐกิจของคนบางกลุ่มไปเสียแล้ว หากเป็นจริงตามนั้น ก็เข้าใจล่ะครับว่า เหตุใดจึงไม่สนใจต่อมิติด้านอื่นเลย"

 

ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ :  ค่อนข้างประหลาดใจที่อาจารย์เลือกใช้คำนี้ เพราะเป็นการดูแคลนความเป็นนักวิชาการ ที่ต้องนำเสนอความจริงต่อสังคมของฝ่ายรณรงค์เรื่องแอลกอฮอล์ ความจริงข้อกล่าวหาเช่นนี้ก็ได้ยินกันบ่อยในการปะทะกันของแนวคิดทางการเมือง ซึ่งไม่ค่อยยุติธรรมสักเท่าไหร่กับผู้ถูกกล่าวหา และสำหรับผมแล้วเป็นการลดคุณค่าของผู้กล่าวหาเองอีกต่างหาก สิ่งที่อาจารย์ควรตระหนักคือการประกอบการทางเศรษฐกิจของนายทุนผู้ผลิตสุราทั้งหลายเสียมากกว่า ที่เป็นนายทุนกินรวบ ซึ่งมีผลเสียทางเศษรฐศาสตร์มากกว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ เหล้า และยาเสพติด ซึ่งบริโภคทรัพยากรน้อยมาก

 

################################################

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ : "จะรณรงค์อย่างไรก็ตาม อย่าลืมด้วยว่าทางเลือกชีวิตที่เสรี เป็นเรื่องสำคัญในโลกปัจจุบันไปแล้ว ผู้คนจำนวนมากขึ้นยอมเสี่ยงเลือกทางชีวิตที่แตกต่าง การกินเหล้าก็เป็นทางเลือกชีวิตอย่างหนึ่ง รณรงค์ต่อต้านเหล้าอย่างไรจึงไม่ปิดทางเลือกชีวิตของผู้คน

เหล้ามีอันตรายต่อตนเอง, ครอบครัว, สังคม ฯลฯ ก็ต่อเมื่อกิน “ไม่เป็น” ไม่ใช่หรือ การสอนให้คนกินเหล้า “เป็น” จึงสำคัญไม่น้อยไปกว่าสอนให้ไม่กินเหล้าเลย ผมคิดมานานแล้วว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยทุกคนควรถูกบังคับเรียนวิชาสุรา 101 ซึ่งนอกจากสอนให้กินเหล้า “เป็น” แล้ว ยังสอนให้รู้จักวิธีปฏิเสธอย่างที่คนอื่นไม่รู้สึกว่าตัวด้อยลงไปด้วย"

 

ดร.นพ.มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ :  ในสังคมนี้มีคนกินเหล้าและไม่กินเหล้า ความเคารพซึ่งกันและกันนำมาซึ่งความผาสุขร่วมกัน ผมเข้าใจสิ่งนี้จากบทความที่อาจารย์เขียนทั้งหมด เสรีสุดโต่งที่ไม่มีข้อกำหนดควบคุมใดๆกับสิ่งที่มีแนวโน้มจะสร้างอันตราย ย่อมทำให้เกิดผลกระทบกับสังคมทั้งหมด หากฤทธิ์สุราทำให้เกิดผลด้านลบต่อผู้ดื่มเท่านั้นคงไม่เป็นปัญหาของสังคมส่วนรวม แต่ที่เป็นประเด็นนำมาถกเถียงกันคือ ขอบเขตของผลกระทบนั้นขยายวงไปยังผู้ที่ไม่ได้บริโภคสุราด้วย

 

เหล้ามีอันตรายต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ฯลฯ เมื่อมันถูกบริโภค

ตรรกะเดียวกับรถ มันจะมีอันตรายเมื่อถูกขับขี่ แต่อันตรายของมันจะน้อยลงหากมีการควบคุมที่เหมาะสม คนขับรถบนท้องถนนล้วนขับรถเป็นทั้งนั้น แต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุ

 

การกินเป็นหรือไม่เป็น เหมือนกับการขับรถเป็นหรือไม่เป็น ไม่ได้การันตีว่าจะทำให้ไม่เกิดสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดได้

ในสังคมที่เจริญแล้วจึงวางข้อกฏหมายในเรื่องเหล่านี้อย่างเคร่งครัด และนั่นคือสิ่งที่กลุ่มรณรงค์กำลังพยายามทำให้เกิดขึ้น

 

############## Final ##############

ผมเคารพความเป็นนักวิชาการของอาจารย์นิธิ อาจารย์ชี้นำสังคมด้วยหลักความรู้และทัศนคติที่กว้างไกล แต่อยากให้อาจารย์ลองทำความเข้าใจมุมมองของนักรณรงค์เรื่องเหล่านี้เพิ่มขึ้นอีกสักนิด ผมเชื่อว่านักรณรงค์เหล่านี้ไม่ใช่ปิศาจร้าย หรือคนมุ่งร้ายต่อสังคม และปราถนาให้เกิดสิ่งดีๆ ต่อสังคมเช่นเดียวกับอาจารย์ครับ