Skip to main content

 

ตะวันออกกลางยุคอาณานิคมและการก่อเกิดรัฐสมัยใหม่ (5)

ซีเรียในอาณัติฝรั่งเศส

 

ดร.ศราวุฒิ อารีย์

ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ฝรั่งเศสได้รับมอบดินแดนซีเรียจากอังกฤษซึ่งถอนตัวออกไปในปี ค.ศ. 1919 และปกครองซีเรียในอาณัติตั้งแต่ ค.ศ. 1920 เป็นต้นมา การที่ฝรั่งเศสเข้าครอบครองซีเรียนั้นขัดต่อความต้องการของสภาแห่งชาติซีเรีย (The Syrian National Congress) ที่ระบุไว้ในบันทึกของคณะกรรมการคิง-เครน (The King-Crane Commission) ว่าต้องการให้อะมีรไฟซอลเป็นผู้ปกครองซีเรียในระบบกษัตริย์ และให้สหรัฐอเมริกาได้รับมอบอาณัติดินแดนซีเรียจนกว่าจะสามารถปกครองตนเองได้อย่างอิสระ มิใช่ฝรั่งเศส

กระแสกบฏต่อต้านเจ้าอาณัติฝรั่งเศสจึงปะทุขึ้นอย่างรุนแรงตลอดระยะเวลา ๓ ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1920 - 1923

การปกครองดินแดนซีเรียใต้อาณัติของฝรั่งเศสประสบปัญหาและอุปสรรคต่างๆ มากมาย จนรัฐบาลฝรั่งเศสปราบปรามขบวนการชาตินิยมซีเรียด้วยวิธีการแบ่งแยกและปกครอง (divide and rule) โดยแบ่งซีเรียออกเป็น ๔ รัฐย่อย ได้แก่ ดามัสกัส (Damascus) อเล็ปโป (Aleppo) อลาไวต์ (Alawites) ญาบัล-ดรูซ (Jabal Druze) และเลบานอน (Lebanon) โดยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดท้องถิ่นปกครองในนามของฝรั่งเศส

การแบ่งแยกดินแดนเพื่อปกครองของฝรั่งเศสนี้แบ่งตามความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ และศาสนาของประชากรในซีเรีย ซึ่งนอกจากจะบั่นทอนพลังรวมตัวต่อต้านฝรั่งเศสของชาวซีเรียลงแล้ว ยังป้องกันการแผ่ขยายอิทธิพลของแนวคิดชาตินิยมอาหรับ (Arab Nationalism) ซึ่งฝรั่งเศสมองว่าเป็นสิ่งท้าทายอำนาจการปกครองและความเป็นอยู่ของชุมชนชาวคริสต์และชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม เช่น ชาวดรูซ และ ชาวอลาไวต์ เป็นต้น

การปกครองในลักษณะดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อกีดกันมิให้กลุ่มขบวนการชาตินิยมซีเรียมีโอกาสแผ่ขยายอิทธิพลและสร้างฐานสนับสนุนในเขตพื้นที่หรือรัฐอื่นๆนอกเหนือจากดามัสกัส อเล็ปโป ฮามา และฮอมส์ได้ ผลกระทบที่ตามมาคือ ชนกลุ่มน้อยในเชิงศาสนาและชาติพันธุ์ในซีเรีย เช่น ชาวเคิร์ด อาร์เมเนียน ยิว และคริสต์ต่างไม่สามารถรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นได้

อย่างไรก็ตาม แม้ชาวอลาไวต์และดรูซจะมีพลังรวมตัวทางการเมืองอย่างแนบแน่น แต่ท้ายที่สุดแล้ว ฝรั่งเศสก็รวมสองกลุ่มชนนี้เข้ากับรัฐซีเรียภายหลังระบบอาณัติสิ้นสุดลง ระบบการปกครองดินแดนซีเรียใต้อาณัติของฝรั่งเศสจึงไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนาของประชากรในซีเรีย

แต่ยังได้กลายเป็นจุดเปราะบางที่ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในรัฐซีเรียในเวลาต่อมาอีกด้วย

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ตะวันออกกลางยุคอาณานิคมและการก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ (1)

ตะวันออกกลางยุคอาณานิคมและการก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ (2) : ที่มาของระบบดินแดนใต้อาณัติ

ตะวันออกกลางในยุคอาณานิคมและการก่อเกิดรัฐสมัยใหม่ (3) : รูปแบบและระบบการปกครองภายใต้อาณัติ

ตะวันออกกลางยุคอาณานิคมและการก่อเกิดรัฐสมัยใหม่ (4) : ปาเลสไตน์ในอาณัติอังกฤษ (British Mandate of Palestine)