Skip to main content

 

เจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาผู้บริหารโรงเรียนบากงพิทยา สนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบ

 

มารียัม อัฮหมัด
ปัตตานี
180222-TH-school-1000.jpg
ครูและนักเรียนโรงเรียนบากงพิทยา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ทำกิจกรรมหน้าเสาธง เมื่อเดือนธันวาคม 2560
 มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อผู้บริหารของโรงเรียนบากงพิทยา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่สถานีตำรวจหนองจิก เนื่องจากมีหลักฐานว่ามีผู้บริหารและครูของโรงเรียนบางคน มีความเกี่ยวโยงกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งหลายข้อหา รวมถึงยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

พล.ต.จตุพร กลัมพสุต ผบ.มทบ.46 และ ผบ.ฉก.ปัตตานี ได้แถลงข่าวในเรื่องนี้ ที่มณฑลทหารบก 46 ปัตตานี ในวันพฤหัสบดี (22 กุมภาพันธ์ 2561) นี้ว่า การแจ้งความสืบเนื่องมาจากการที่เจ้าหน้าที่กำลังสามฝ่ายได้เข้าตรวจค้นโรงเรียนบากงพิทยา บ้านบากง ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2561 ซึ่งเจ้าหน้าที่ค้นพบเอกสารสำคัญและวัตถุพยานที่น่าเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุร้ายหลายรายการ ประกอบด้วย หนังสือประวัติศาสตร์และการต่อสู้ของรัฐปัตตานี ซึ่งมีเนื้อหาบิดเบือนทำให้เกิดความเกลียดชังระหว่างประชาชน เอกสารแนวทางต่อต้านรัฐซึ่งเป็นแนวทางยุทธศาสตร์สำคัญในการต่อสู้ทั้งทางการเมืองและการทหาร โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อต้านฝ่ายรัฐ และเอกสารบิดเบือนข้อเท็จจริง กรณีศาลมีคำสั่งยึดที่ดินของโรงเรียนญิฮาดวิทยาให้ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน โดยเอกสารดังกล่าวพิมพ์เป็นภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ยังตรวจพบถังแก๊ส ถังดับเพลิง ปุ๋ยยูเรีย และเครื่องมือขุดเจาะหลุมระเบิดใต้ถนน อีกหลายรายการ

เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปัตตานี กล่าวว่า ได้ตั้งข้อหาผู้บริหารโรงเรียนบางราย ฐานร่วมกันปลอมแปลงเอกสาร เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐ (ม.264) ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยการจัดทำเอกสารเท็จ (ม.157) ร่วมกันแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน (ม.137) และยุยงปลุกปั่น เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ม.116 (2)

“อาจจะมีครูบางคนในโรงเรียนใช้สถานที่ขยายแนวความคิดในการต่อสู้ เพื่อต่อต้านรัฐ ที่แอบแฝงผลประโยชน์ส่วนบุคคลจากงบประมาณของรัฐ เพื่อขับเคลื่อนการต่อสู้เพื่อหล่อเลี้ยงความรุนแรง ด้วยการบ่อนทำลายระบบการศึกษาของรัฐด้วยการยิงครูในโรงเรียนสามัญจนโรงเรียนของรัฐต้องปิดตัวลง แล้วบีบบังคับรัฐให้หันมาสนับสนุนแนวทางที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงแอบแฝงไว้โดยอำพราง” พล.ต.จตุพร กลัมพสุต กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

สำหรับการตรวจค้นโรงเรียนบากงพิทยานั้น สืบเนื่องมาจากผู้ต้องหาจากการค้นพบฐานปฏิบัติการในป่าชายเลน บ้านตันหยงเปาว์ ต.บางเขา อ.หนองจิก ปัตตานี เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2559 คือ นายซาบาหรี เจ๊ะอาลี ได้ให้การเชื่อมโยงถึงโรงเรียน รวมทั้งพยานบุคคลรายอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่มีให้การซัดทอด

“เราทราบว่า หลังจากฐานปฏิบัติการบ้านตันหยงเปาว์ถูกทำลาย ผู้ก่อการร้ายได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ ด้วยการเข้าอาศัยแฝงตัวในหมู่บ้านหลายแห่งในตำบลบางเขา อำเภอหนองจิก และน่าเชื่อว่ามีศูนย์อยู่ในพื้นที่บ้านบากง โดยพยานได้เคยเข้ามาฝึกชุดปฏิบัติการขนาดเล็กในโรงเรียนบากงพิทยาก่อนหน้านี้ไม่นาน” พล.ต.จตุพร กล่าว

พล.ต.จตุพร กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตรวจพบความสัมพันธ์ทางเครือญาติของผู้บริหารโรงเรียนบางคน มีความเกี่ยวข้องผู้ก่อเหตุรุนแรงรายสำคัญหลายคน เช่น นายเมาลานา สาเมาะ นายฮุสเซ็น ดือรามะ และนายเสรี แวมามุ โดยให้การสนับสนุนบุคคลเหล่านี้ด้วย นอกจากนั้น มีความเกี่ยวพันกับข่ายงานกลุ่มปฏิบัติการที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่หลายอำเภอในปัตตานี เช่น หนองจิก โคกโพธิ์ ยะรัง สายบุรี อ.เมืองปัตตานี และในอำเภอของจังหวัดสงขลา รวมทั้ง กลุ่มที่ก่อเหตุระเบิดห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาปัตตานี เมื่อ 9 พ.ค. 2560 ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 80 ราย อีกด้วย

นอกจากนั้น พล.ต.จตุพร กล่าวว่า จากการตรวจสอบการเงินของโรงเรียน ยังพบพิรุธว่ามีการยักยอกเงินอุดหนุนการศึกษาของทางการไปใช้ในการก่อความไม่สงบอีกด้วย

“เจ้าหน้าที่ยังตรวจพบหลักฐานสำคัญที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตงบประมาณของรัฐ ในโครงการอุดหนุนรายหัวนักเรียนและค่าตอบแทนครู เงินค่าเสี่ยงภัยครู เงินช่วยเหลือค่าครองชีพครูและสวัสดิการอื่นๆ ของครู รวมทั้งค่าอาหารกลางวันและอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนด้วย” พล.ต.จตุพร กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

“พบบัญชีรายชื่อครูสอนศาสนาที่โรงเรียนจ้างเพิ่มเติมจำนวน 76 คน ตรวจพบว่าบางคนเป็นผู้มีพฤติกรรมเป็นสมาชิกผู้ก่อเหตุรุนแรง และหลายคนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้ก่อการร้ายที่มีหมายจับในคดีอาญา” พล.ต.จตุพร กล่าวเพิ่มเติม

ภายหลังจากได้ตรวจสอบกับสำนักงานบริหารบัญชีที่มีหลักฐานว่าโรงเรียนจ้างให้บริษัทจัดทำและตรวจสอบบัญชี ทำให้ทราบว่า โรงเรียนบากงพิทยาได้รับเงินอุดหนุนปีละประมาณ 33 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นค่าตอบแทนรายเดือนของครูจำนวน 17 ล้านบาท จากรายชื่อครู จำนวน 121 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่เกินจริงไป 76 คน หรือประมาณ 12 ล้านบาทต่อปี และหากรวมเงินอุดหนุนอื่นๆ อีกคาดว่า ผู้บริหารโรงเรียนบางคน อาจจะทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษาของรัฐในโครงการเรียนฟรี 17 ปี

ด้านนายแพทย์ธีระ เกียรติเจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ประกอบมาตรา 7 มาตรา 87 มาตรา 88 และมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2560 อีกด้วย

นายอุสมาน อับดุลมาแน ผู้รับใบอนุญาต โรงเรียนบากงพิทยา กล่าวว่า ตนเองเพิ่งทราบเรื่องดังกล่าว หลังจากการแถลงข่าวของทางทหาร และจะดำเนินการเรียนการสอนต่อไปตามปกติ

“ไม่ทราบว่ามีการแจ้งความผู้บริหารโรงเรียนบากงพิทยา ตอนนี้ก็ยังไม่มีหนังสืออะไรมาถึง พึ่งทราบหลังจากที่เป็นข่าวว่ามีการแถลงเรื่องนี้ ทางโรงเรียนพร้อมที่จะชี้แจงข้อกล่าวหาทั้งหมด เพราะทางโรงเรียนไม่รู้เห็นเกี่ยวกับเรื่องของเครือข่ายที่มีการเชื่อมโยง รวมทั้งอุปกรณ์ที่เจ้าหน้าที่ยึดมาได้ เครื่องตัดเหล็ก เครื่องเชื่อม ส่วนใหญ่เป็นของโรงเรียน เพราะโรงเรียนจะเหมาก่อสร้าง ในการสร้างอาคารโรงเรียนเองโดยให้บุคลากรของโรงเรียนรวมกันสร้างเอง” นายอุสมาน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“เบื้องต้น ยังไม่ทราบข้อมูลเรื่องของการตั้งคณะกรรมการที่จะเข้ามาตรวจสอบ แต่ทางโรงเรียนพร้อมที่จะให้ตรวจสอบ... ยืนยันว่าจะขอเปิดโรงเรียนสอนต่อไป นายอุสมาน กล่าวเพิ่มเติม

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ www.benarnews.org