Skip to main content

 

คณิตศาสตร์ว่าด้วยการสร้างจักรวาลเปรียบเทียบวิทยาศาสตร์กับอิสลาม

 

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

วันนี้ขอลองวิชาคณิตศาสตร์ง่ายๆว่าด้วยการกำเนิดจักรวาลที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอ่านเปรียบเทียบกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์สักหน่อย เป็นการคำนวณกันแบบไม่จริงจังอะไรขออย่าได้ถือเป็นสาระใครเชื่ออย่างไรก็ว่ากันไปตามที่เชื่อเถอะ

ในอัลกุรอานมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์อยู่ร้อยละ 8 หรือ 500 วรรค จำนวนนั้นส่วนหนึ่งว่าด้วยการกำเนิดจักรวาล โลกและชีวิต เป็นถ้อยความที่อธิบายไว้เมื่อ 1,400 ปีล่วงมาแล้ว ลองนำมาเปรียบเทียบกับทฤษฎีบิ๊กแบง (Bigbang) ทางวิทยาศาสตร์ที่แทบทุกฝ่ายเชื่อว่าเป็นเรื่องของการกำเนิดจักรวาล ทฤษฎีนี้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1948 ลองดูว่าขัดแย้งกันไหม

วิทยาศาสตร์ระบุว่าจักรวาลมีอายุ 13.8 พันล้านปีโดยเริ่มจากบิ๊กแบง ขณะที่อัลกุรอ่านระบุว่าจักรวาลสร้างใน 6 วัน อันเป็น 6 วันจากบัลลังก์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มิใช่วันในโลก “แท้จริงพระเจ้าของพวกท่านคืออัลลอฮ์ผู้ทรงสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินในเวลา 6 วันแล้วพระองค์ทรงประทับบนบัลลังก์ ทรงบริหารกิจการ ไม่มีผู้ให้ความช่วยเหลือคนใด เว้นแต่ต้องได้รับอนุมัติจากพระองค์ นั่นคืออัลลอฮ์พระเจ้าของพวกท่าน พวกท่านจงเคารพภักดีต่อพระองค์เถิด พวกท่านมิได้ใคร่ครวญกันดอกหรือ” ยูนุส 10: 3

เปรียบเทียบกันระหว่างอิสลามกับวิทยาศาสตร์ 6 วันของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) จึงมีค่าเท่ากับ 13.8 พันล้านปี แต่ละวันของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) จึงเท่ากับ 2.3 พันล้านปี เมื่อเวลาผ่านเข้าช่วง 4.6 พันล้านปีหรือวันที่สองของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) วิทยาศาสตร์พบว่าซูเปอร์คลัสเตอร์ ซูเปอร์โนวา กาแลกซี่และดวงดาวต่างๆถือกำเนิดขึ้นในช่วงนี้ ขณะที่อัลกุรอานกล่าวว่า “ดังนั้นพระองค์ทรงสร้างมันสำเร็จเป็นชั้นฟ้าทั้งเจ็ดในระยะเวลาสองวัน และทรงกำหนดในทุกชั้นฟ้าให้ทำหน้าที่ของมัน” ฟุศศิลัต 41: 12

ตัวเลข 2.3 พันล้านปีหรือ 1 วันของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) จึงน่าสนใจ ลองย้อนกลับมาพิจารณาคนที่เชื่อเรื่องพระเจ้าทรงสร้างจักรวาลในหกวันอันได้แก่คนยิว คนคริสต์และมุสลิม นับเฉพาะที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งพันธสัญญาคือปาเลสไตน์และอิสราเอลปัจจุบัน คนเหล่านั้นไม่ว่าชายหรือหญิงปรากฏว่ามีอายุขัยเฉลี่ย 2.3 พันล้านวินาทีพอดิบพอดี ทั้งนี้โดยการคำนวณจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่ระบุไว้ใน ค.ศ.2015 ว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนที่อาศัยในดินแดนอิสราเอลและปาเลสไตน์มีค่าเท่ากับ 72.8 ปีนับตามปฏิทินเกรกอเรียน หรือแม้จะนับแบบปฏิทินอาหรับย่อมมีค่าตรงกันคือเท่ากับ 26,590.2 วัน

หากนำตัวเลข 26,590.2 วันมากระจายเป็นวินาทีทำได้ดังนี้ 26,590.2 วัน x 24 ชั่วโมง x 60 นาที x 60 วินาที จะได้ค่าเท่ากับ 2,297,393,280 วินาที หรือ 2.3 พันล้านวินาที เป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับสมมติฐานที่ว่าหนึ่งวันของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) มีค่าเท่ากับ 2.3 พันล้านปี หากจะบอกว่า 1 ปีในโลกมนุษย์เท่ากับ 1 วินาทีบริเวณบัลลังก์หรือ “อะรัซ” ของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ก็ไม่ผิด เขียนขึ้นเพื่อให้สนุกกับตัวเลขในทางคณิตศาสตร์เท่านั้น บอกแล้วไงว่าอย่าได้ถือเป็นสาระมากนัก